การตรวจการติดพยาธิหนอนหัวใจในแมว ต้องอาศัยการตรวจด้วยหลากหลายวิธีร่วมกัน ได้แก่ การตรวจแอนติเจน แอนติบอดี้ การตรวจหาไมโครฟิลาเรีย การถ่ายภาพรังสี และการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง การตรวจแอนติเจน และการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง เป็นการตรวจยืนยันการติดพยาธิตัวเต็มวัย แต่การติดพยาธิหนอนหัวใจในแมวมักไม่พบตัวเต็มวัย การตรวจด้วยวิธีการดังกล่าวจึงมีโอกาสตรวจไม่พบพยาธิสูง เช่นเดียวกับการตรวจไมโครฟิลาเรีย เนื่องจากตัวอ่อนพยาธิมักไม่สามารถเจริญไปตัวเต็มวัย โอกาสที่จะมีตัวอ่อนพยาธิในระยะที่ 1 หรือไมโครฟิลาเรียจึงน้อยไปด้วย ส่วนการตรวจแอนติบอดี้ อาจช่วยบอกโอกาสการสัมผัสพยาธิในระยะต่าง ๆ แต่ไม่ได้เป็นการตรวจยืนยันการติดพยาธิในปัจจุบัน ส่วนภาพถ่ายรังสี อาจช่วยแสดงพยาธิสภาพจากการติดพยาธิได้ เช่น bronchointerstitial lung pattern จากการอักเสบของปอด หรือ pulmonary vascular enlargement จากการอุดตันของพยาธิ อย่างไรก็ตามรอยโรคที่พบอาจมีลักษณะคล้ายคลึงกับโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่น feline asthma หรือ chronic bronchitis
การติดพยาธิหนอนหัวใจในแมวสามารถทำการรักษาได้โดยการให้ยาลดการอักเสบ เช่น prednisolone ขนาด 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน เป็นเวลา 2 สัปดาห์ และค่อย ๆ ลดขนาดลง ในกรณีที่พบพยาธิตัวเต็มวัย ไม่แนะนำให้ใช้ยาฆ่าตัวเต็มวัยเนื่องจากอาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้สูง
การป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ ควรเริ่มการป้องกันตั้งแต่ลูกแมวอายุ 2 เดือน อย่างไรก็ตามในแมวโตเต็มวัยที่ไม่เคยได้รับการป้องกัน หรือสงสัยว่ามีการติดพยาธิสามารถเริ่มการป้องกันได้เลยเช่นเดียวกัน โดยยาที่ได้รับการจัดทะเบียนเพื่อใช้ป้องกันพยาธิหนอนหัวใจในแมว ในรูปแบบยากิน ได้แก่ ivermectin และ milbemycin oxime ส่วนรูปแบบยาหยดหลัง เช่น selamectin moxidection และ eprinomectin โดยแต่ละผลิตภัณฑ์ อาจประกอบด้วยยาหลายชนิด ที่อาจออกฤทธิ์ ป้องกันปรสิตภายในและภายนอกชนิดอื่น นอกเหนือจากพยาธิหนอนหัวใจด้วย สัตวแพทย์จึงควรศึกษาผลิตภัณฑ์ในรายละเอียด เพื่อสามารถให้คำแนะนำให้กับเจ้าของแมวได้อย่างถูกต้องต่อไป