พยาธิหนอนหัวใจในสุนัขและแมว ที่พบได้บ่อยในบ้านเรา เกิดจากพยาธิตัวกลม Dirofilaria immitis มีพาหะนำโรค คือยุงสายพันธุ์ Aedes spp. และ Culex spp. ซึ่งมักจะพบในประเทศแถบเขตร้อนหรือเขตอบอุ่น วงจรชีวิตของ Dirofilaria immitis ในสุนัขและแมวจะเหมือนกัน (รูปที่ 1) เริ่มจากยุงตัวเมียกินไมโครฟิลาเรียจากเลือดสุนัขที่มีพยาธิหัวใจ ไมโครฟิลาเรียจะพัฒนาเป็นตัวอ่อนระยะแรก (first-stage larva) และพัฒนาเป็นระยะที่ 3 (infective third-stage larvae; L3) จะมีการลอกคราบ 2 ครั้งในยุงโดยใช้เวลาประมาณ 8-30 วัน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ เมื่อยุงกัดสัตว์เลี้ยง ยุงจะปล่อยตัวอ่อนของพยาธิหนอนหัวใจระยะ L3 ผ่านผิวหนังในบริเวณที่ยุงกัด จากนั้นตัวอ่อนจะเริ่มลอกคราบพัฒนาเป็นตัวอ่อนระยะที่ 4 (L4) ในชั้นใต้ผิวหนังและกล้ามเนื้อประมาณ 3 วัน หลังจากนั้นประมาณ 2 เดือน ตัวอ่อนระยะนี้จะเคลื่อนย้ายออกจากชั้นไขมันและกล้ามเนื้อไปเป็นตัวไม่เต็มวัย (immature adult) ซึ่งจะเข้าสู่หลอดเลือดดำตามร่างกาย และไปยัง caudal pulmonary artery และพัฒนากลายเป็นตัวเต็มวัย ส่วนใหญ่ในสุนัขจะพบพยาธิหนอนหัวใจตัวเต็มวัยที่มีอายุเฉลี่ย 7.5 ปี ส่วนใหญ่แมวจะพบตัวเต็มวัยได้น้อยประมาณ 2 - 4 ตัว อีกทั้งในแมวยังมักพบการเคลื่อนย้ายของพยาธิหนอนหัวใจผิดที่ไปยังอวัยวะอื่น ๆ มักพบในแมวมากกว่าสุนัข (ตารางที่ 1)
สุนัขอาจแสดงอาการน้อย หรือไม่แสดงอาการใด ๆ เลย กรณีที่มีพยาธิหนอนหัวใจปานกลาง สุนัขจะแสดงอาการไอ ไม่อยากออกกำลังกาย ไม่อยากเดินหรือลุกนั่ง ความอยากอาหารลดลง น้ำหนักตัวลดลง เป็นต้น กรณีที่อาการรุนแรงเนื่องจากมีตัวพยาธิอุดตันการไหลเวียนของเลือดที่หัวใจห้องล่าง ขวารวมทั้ง caudal vena cava สุนัขอาจมีภาวะของ caval syndrome คือจะมีอาการ tricuspid regurgitation, right ventricular filling ลดลง และระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว (circulatory collapse)

อาการในแมวจะมีอาการรุนแรงมากกว่า คือ การเจริญเติบโตของตัวไม่เต็มวัยของพยาธิในหลอดเลือดพัลโมนารีนั้น จะทำให้เกิดอาการทางระบบทางเดินหายใจได้ (Heartworm-associated respiratory disease; HARD) แมวจะมีอาการไอ รุนแรง (asthma-like attacks) อาเจียนเป็นครั้งคราว ไม่อยากกินอาหาร น้ำหนักตัวลดลง กรณีที่มีอาการรุนแรงและมีการเคลื่อนที่ของพยาธิไปยังอวัยะอื่น ๆ อาจจะทำให้แมวตายอย่างเฉียบพลันได้

นอกเหนือจากนี้เชื้อ Wolbachia ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ร่วมกับพยาธิหัวใจ ที่พบได้ทุกระยะของพยาธิหัวใจและจะถูกปลดปล่อยออกมาจำนวนมาก ภายหลังการตายของพยาธิ และจะเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดการอักเสบ

ตารางที่ 1 เปรียบเทียบระหว่างพยาธิหัวใจในสุนัขและในแมว
การวินิจฉัยโรคพยาธิหัวใจในสุนัขและแมว

1. การตรวจไมโครฟิลาเรียในสุนัข

สามารถตรวจได้ในสุนัขตั้งแต่เมื่ออายุ 7 เดือนขึ้นไป โดยการตรวจไมโครฟิลาเรียจะใช้วิธีการ modified Knott or filtration test ซึ่งเป็นการปั่นเลือดที่เก็บไว้ในหลอด EDTA 1 มิลลิลิตรกับสารละลาย 2% ฟอร์มาลิน 9 มิลลิลิตร ไปปั่นตกและนำตะกอนมาย้อมด้วยสี methylene blue ส่องดูไมโครฟิลาเรียภายใต้กล้องจุลทรรศน์ ส่วนในแมวการตรวจไมโครฟิลาเรียมักไม่ค่อยได้ผลดีนัก เนื่องจากจะพบไมโครฟิลาเรียในกระแสเลือดได้ในช่วงสั้น ๆ

2. การตรวจแอนติเจนของพยาธิหนอนหัวใจ

ทำได้โดยวิธี ELISA เป็นการตรวจแอนติเจนของพยาธิตัวเมียที่หลุดออกมาในกระแสเลือด วิธีนี้เป็นการตรวจที่มีความไวสูง ดังนั้นถ้าพบว่าผลออกมาเป็นบวก จึงควรตรวจยืนยันด้วยการตรวจไมโครฟิลาเรียก่อนทำการรักษา และยังต้องพิจารณาเรื่องความชุกและอุบัติการณ์ของโรคในพื้นที่นั้น ๆ ควบคู่ไปด้วย หากว่าพื้นที่นั้นมีความชุกของโรคน้อย แต่ผลที่ได้เป็นบวกก็มีโอกาสที่จะเป็นผลบวกลวงสูง แต่ถ้าได้ผลลบก็ยังไม่สามารถแปลผลได้ว่าสุนัขไม่มีพยาธิหัวใจ เพราะอาจยังมีแอนติเจนในระดับที่ตรวจไม่พบ ดังนั้นควรตรวจยันยืนด้วยวิธีการอื่นควบคู่เช่นกัน ส่วนในแมวสามารถพบพยาธิหนอนหัวใจได้จำนวนน้อยกว่าในสุนัข ทำให้มีแอนติเจนในกระแสเลือดค่อนข้างต่ำ การวินิจฉัยจึงจำเป็นต้องใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกัน

3. วิธีการทางซีรั่มวิทยา

เป็นการตรวจแอนติบอดีต่อแอนติเจนที่ยังคงอยู่ในกระแสเลือด เป็นข้อมูลที่ดีแต่แปลผลได้ยาก ซึ่งผลที่เป็นบวกคือสัตว์มีการติดพยาธิหัวใจ และมีการพัฒนาของตัวอ่อนเป็นระยะที่ 4 (L4) เป็นอย่างน้อย ดังนั้นการตรวจทางซีรั่มวิทยาจะสามารถช่วยวินิจฉัย ในกรณีที่สงสัยว่าเป็นพยาธิหัวใจมากกว่าจะเป็นการวินิจฉัยขั้นสุดท้าย เนื่องจากไม่จำเพาะกับพยาธิตัวเต็มวัย

4. การตรวจด้วยภาพถ่ายรังสี

ในสุนัขจะพบลักษณะที่ค่อนข้างจำเพาะ คือหัวใจโต ปอดมีลักษณะ interstitial pattern หลอดเลือดเป็นแบบ truncated peripheral intralobar และ interlobar branches ของ pulmonary arteries, particularly ของปอดกลีบ diaphragmatic (caudal) lobes ส่วนในแมวมักไม่มีรอยโรคที่จำเพาะเจาะจง ซึ่งอาจพบลักษณะปอดเป็นแบบ bronchointerstitial lung pattern แต่ไม่ค่อยพบ pure bronchial, interstitial หรือ alveolar pattern หลอดเลือดแดงพัลโมนารีขยายขนาด นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของปอดยังอาจสับสนกับรอยโรคปอดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น allergic bronchitis, asthma หรือ aelurostrongylosis จึงอาจทำให้การวินิจฉัยผิดพลาดได้

5. Echocardiography

สามารถช่วยวินิจฉัยได้ในสุนัขและแมวที่สงสัยว่ามีพยาธิหนอนหัวใจ กรณีที่มีพยาธิไม่มาก อาจพบภาพของพยาธิในหัวใจได้บ้าง ส่วนกรณีที่มีพยาธิจำนวนมากสามารถพบตัวพยาธิได้ในหลอดเลือดพัลโมนารีขวาและหัวใจห้องล่างขวา โดยจะเห็นเป็นลักษณะ double-lined hyperechoic structure อยู่ภายในหลอดเลือดแดงพัลโมนารีหรือห้องหัวใจ ความไวของการตรวจด้วยวิธีนี้ในแมวจะดีกว่าในสุนัข เนื่องจากหลอดเลือดแดงพัลโมนารีมีแขนงค่อนข้างเล็กกว่าสุนัขจึงทำให้สังเกตได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยก็ยังขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค จึงควรใช้หลาย ๆ วิธีการในการตรวจ และการวินิจฉัยยืนยันที่มีความน่าเชื่อถือที่สุดคือการชันสูตร

การรักษาพยาธิหัวใจตัวเต็มวัยในสุนัขและแมว

ในสุนัขการรักษาพยาธิหัวใจมีเป้าหมายคือ ทำให้อาการทางคลินิกต่าง ๆ ดีขึ้น และกำจัดพยาธิหนอนหัวใจในระยะต่าง ๆ เพื่อลดปัญหาแทรกซ้อนของการรักษา ในเบื้องต้นควรรักษาอาการผิดปกติต่าง ๆ ก่อนที่จะเริ่มทำการฆ่าพยาธิตัวเต็มวัย (adulticide) เช่น ให้ยาสเตรียรอยด์ ยาขับน้ำ และสารน้ำ เป็นต้น การฆ่าพยาธิตัวเต็มวัย โดยทั่วไปจะใช้ Melarsomine ฉีดเข้ากล้ามเนื้อลึก ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อในกลุ่ม epaxial lumbar muscles (บริเวณ L3 and L5) ฉีดทั้งหมด 2 ครั้ง ขนาดยา 2.5 mg/kg ห่างกัน 24 ชั่วโมง และสุนัขควรงดการออกกำลังกาย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแทรกซ้อนจากการอุดตันของพยาธิหัวใจตาย การรักษาอื่น ๆ ที่พอช่วยได้ เช่น การให้ยา doxycycline ขนาดยา 10 mg/kg BID เป็นเวลา 4 สัปดาห์ เพื่อลดจำนวนของ Wolbachia และลดความรุนแรงของโรค การให้ยากลุ่ม macrocyclic lactone เช่น ivermectin, moxidectin และ selamectin เป็นต้น โดยสามารถให้ยาเพื่อเป็นการป้องกัน และลดจำนวนตัวอ่อนของพยาธิหนอนหัวใจอย่างน้อย 2 เดือนก่อนจะมาทำการรักษาด้วยการฆ่าพยาธิตัวเต็มวัย และมักได้ผลดีเมื่อให้ยารักษาควบคู่ไปกับการให้ doxycycline 4 สัปดาห์ ส่วนกรณีที่สุนัขอยู่ในภาวะ caval syndrome อาจพิจารณาผ่าตัดเพื่อนำพยาธิบางส่วนออก ซึ่งการผ่าตัดนั้นก็มีหลายวิธี คือ jugular venotomy โดยใช้ alligator forceps, endoscopic forceps, basket snares หรือ loop snare เพื่อหยิบจับตัวพยาธิออก อย่างไรก็ตามควรมีการประเมินสภาพสุนัขก่อนการผ่าตัด

สำหรับในแมว การรักษาพยาธิหนอนหัวใจจะค่อนข้างจำกัดมากกว่าในสุนัข และไม่แนะนำให้รักษาด้วยการฆ่าพยาธิตัวเต็มวัย (adulticidal therapy) เพราะจะทำให้แมวเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเนื่องจากการอุดตันของพยาธิที่ตายในหลอดเลือดพัลโมนารี และอาจเหนี่ยวนำให้แมวเกิดอาการแพ้แบบ anaphylactic-like reaction ดังนั้นในแมวที่มีอาการร่วมกับมีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อปอด ควรให้ยาลดการอักเสบ คือ prednisolone ขนาด 1-2 มิลลิกรัม ทุก ๆ 12- 48 ชั่วโมง และลดขนาดลงในช่วง 3-4 สัปดาห์ ส่วนในแมวที่ยังมีอาการอย่างต่อเนื่อง หรือกลับมามีอาการซ้ำอีก ควรให้ prednisolone วันเว้นวันในขนาดต่ำที่สุด เพราะการรักษาด้วยการผ่าตัดนำตัวพยาธิหัวใจออก จะมีความเสี่ยงทำให้หลอดเลือดมีความเสียหาย เลือดออก และหากพยาธิหนอนหัวใจฉีกขาดจะมีแอนติเจนออกมา ทำให้แมวเกิดภาวะ anaphylactic shock ได้ และไม่ควรผ่าตัดโดยเฉพาะในกรณีที่แมวอยู่ในภาวะฉุกเฉินหรือมีภาวะของ caval syndrome

ส่วนการรักษาภาวะ HARD ในแมว มักเป็นการรักษาแบบพยุงอาการ คือให้ออกซิเจน ยากลูโคคอร์ติคอยด์ ยาขยายหลอดลม เช่น Aminophylline 4 mg/kg PO q24h หรือ Terbutaline 1.25 mg/kg PO q12h การรักษาแบบ adjunctive therapy ควรให้ยาลดการอาเจียน และให้ยา doxycycline เพื่อลดจำนวนของ Wolbachia เนื่องจากจะทำให้พยาธิอ่อนแรงและเพิ่มจำนวนไม่ได้ นอกจากนี้ยังควรมีการให้สารน้ำ หรือการให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ทั้งนี้หากเราสามารถดูแลแมวได้อย่างเหมาะสม พบว่าจะมีเพียงประมาณ 10 - 20% ของแมวที่แสดงอาการเท่านั้นที่เสียชีวิตจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลว

อ้างอิงข้อมูล :

1. American Heartworm Society. 2020.  Current Canine Guidelines for the Prevention, Diagnosis, and Management of Heartworm (Dirofilaria immitis) Infection in Dogs. https://www.heartwormsociety.org.

2. Lee. A.C.Y. and Atkins, C.E. 2010. Understanding Feline Heartworm Infection: Disease, Diagnosis, and Treatment. Topical in companion animal medicine. Volume 25, Number 4. 224-230.

3. Mandese,W. 2014. Feline Heartworm infection. Clinician’s brief. 69-71.