พยาธิหนอนหัวใจในสุนัข

พยาธิหนอนหัวใจ (Dirofilaria immitis) เป็นพยาธิชนิดหนึ่ง ที่มีสุนัขเป็นโฮสต์แท้ และมียุงเป็นพาหะ โดยเมื่อยุงกัดสุนัขที่มีตัวอ่อนของพยาธิหนอนหัวใจระยะที่ 1 ตัวอ่อนนั้นจะเข้าสู่ตัวยุง และเจริญเป็นตัวอ่อนระยะที่ 2 และ 3 โดยตัวอ่อนระยะที่ 3 ถือเป็นระยะติดโรค จากนั้นเมื่อยุงไปกัดสุนัขตัวถัดไป ก็จะปล่อยตัวอ่อนระยะติดโรคนี้เข้าสู่ร่างกายสุนัข ตัวอ่อนระยะที่ 3 นี้ก็จะเคลื่อนผ่านชั้นใต้ผิวหนัง และเจริญเป็นตัวอ่อนระยะที่ 4 โดยใช้เวลาในการเจริญเติบโตประมาณ 45-60 วัน จากนั้นจึงเคลื่อนเข้าสู่หลอดเลือด ไปตามกระแสเลือด เข้าสู่หลอดเลือดพัลโมนารีอาเทอรี่ที่ปอด และเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัย โดยใช้เวลารวมทั้งสิ้นประมาณ 6-7 เดือน และพยาธิตัวเต็มวัยจะมีอายุเฉลี่ยประมาณ 6-7 ปี
ตัวอ่อนและตัวแก่ของพยาธิหนอนหัวใจที่อาศัยอยู่ที่หลอดเลือดที่ปอดจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ทำให้สุนัขมีภาวะปอดอักเสบ เกิดอาการไอ และหายใจลำบาก นอกจากนี้กรณีที่มีพยาธิหนอนหัวใจจำนวนมาก พยาธิเหล่านี้อาจเคลื่อนจากหลอดเลือดพัลโมนารีที่ปอด มาอาศัยอยู่ในหัวใจทางด้านขวา หรืออาจเกิดการอุดตันในหลอดเลือด ขัดขวางการไหลเวียนเลือด และทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในที่สุด สุนัขจะแสดงอาการท้องมาน หรือมีการสะสมของของเหลวในช่องท้อง บางตัวอาจมีอาการบวมตามขา และอาจมีภาวะหายใจลำบาก เนื่องจากการสะสมของของเหลวในช่องอก นอกจากนี้ภายในตัวพยาธิยังมีแบคทีเรียชื่อ โวบาเคีย (Wolbachia) ที่อาศัยแบบพึ่งพากัน กล่าวคือ หากแบคทีเรียนี้ตาย พยาธิก็จะตาย และในทางกลับกัน ถ้าพยาธิตาย แบคทีเรียก็จะอยู่ไม่ได้ และในกรณีที่พยาธิตาย ชิ้นส่วนของพยาธิ และแบคทีเรียโวบาเคีย จะมีผลกระตุ้นกระบวนการอักเสบในร่างกายได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้นเศษของพยาธิที่ตายอาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันตามมาได้

การวินิจฉัย

วิธีมาตรฐาน (gold standard) ในการวินิจฉัยการติดพยาธิหนอนหัวใจในสุนัข คือ การตรวจหาแอนติเจนของพยาธิหนอนหัวใจ (antigen test) แต่มักให้ผลการติดเชื้อแบบ “แฝง” หรือ occult infection หมายความว่า พบพยาธิตัวแก่แต่ไม่พบ microfilaria ในเลือด อย่างไรก็ตามแม้การตรวจนี้จะมีความจำเพาะสูง แต่จะใช้ได้เฉพาะกรณีที่สุนัขมีพยาธิหนอนหัวใจตัวเต็มวัยตัวเมียอย่างน้อย 1 ตัวเท่านั้น ในกรณีที่ได้ผลเป็นบวก นอกจากจะหมายถึงการติดเชื้อ ณ ปัจจุบันแล้ว ยังอาจบ่งชี้ถึงการติดเชื้อก่อนหน้า (preexisting infection) จึงแนะนำให้สุนัขตัวดังกล่าวตรวจซ้ำในอีก 6 เดือนต่อมา ก่อนที่จะเริ่มต้นโปรแกรมการป้องกัน สำหรับผลลบลวง (false negative) สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น ในกรณีที่สุนัขติดพยาธิหนอนหัวใจจำนวนน้อย การติดพยาธิหนอนหัวใจเฉพาะเพศผู้ หรือบางรายอาจเกิดเป็น Ag-Ab complex เป็นต้น ดังนั้น การตรวจที่ให้ผลเป็นลบ จึงไม่สามารถยืนยันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าสุนัขตัวนั้นติดพยาธิหนอนหัวใจ

นอกจากนี้ยังสามารถวินิจฉัยด้วยการตรวจหาไมโครฟิลาเรีย ที่สามารถตรวจได้ในสุนัขที่อายุ 7 เดือนขึ้นไป โดยใช้วิธีการเรียกว่า modified knott or filtration test ด้วยวิธีการนี้จะสามารถช่วยยืนยันการติดเชื้อได้ อีกทั้งการเจอไมโครฟิลาเรียเป็นจำนวนมาก ยังบ่งบอกได้ว่าสุนัขตัวนั้นเป็น reservoir ของพยาธิหนอนหัวใจที่สำคัญ ที่อาจแพร่เชื้อไปยังสุนัขตัวอื่น ๆ ได้ หรือกรณีที่สุนัขติดพยาธิหนอนหัวใจจำนวนมาก บางครั้งอาจวินิจฉัยได้จากภาพถ่ายรังสี โดยจะพบว่าหัวใจโต และปอดมีลักษณะเป็น interstitial pattern หลอดเลือดเป็นแบบ truncated peripheral intralobar และ interlobar branches เป็นต้น

การรักษาและการป้องกัน

การรักษาสุนัขที่ติดพยาธิหนอนหัวใจ มีเป้าหมายเพื่อทำให้สุนัขอาการดีขึ้น และกำจัดพยาธิหนอนหัวใจในระยะต่าง ๆ เพื่อลดปัญหาแทรกซ้อนระหว่างการรักษา ในสุนัขที่ยืนยันว่าติดพยาธิหนอนหัวใจ การรักษาจะเริ่มที่การให้ยาในกลุ่ม macrocyclic lactones ร่วมกับ doxycycline ก่อนเพื่อกำจัดพยาธิตัวอ่อนและกำจัด Wolbachia หลังจากนั้นให้เว้น 1 เดือน แล้วจึงเริ่มทำ 3-dose protocol เพื่อกำจัดตัวเต็มวัยของพยาธิหนอนหัวใจ โดยการให้ melarsomine จากนั้นเว้น 1 เดือน แล้วจึงฉีดอีก 2 ครั้งห่างกัน 24 ชั่วโมง ด้วยวิธีการนี้จะทำให้ตัวเต็มวัยของพยาธิหนอนหัวใจค่อย ๆ ตายอย่างช้า ๆ และลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนในการรักษา เช่น Caval syndrome ได้

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ป้องกันพยาธิหนอนหัวใจที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration หรือ FDA) รับรอง คือยาในกลุ่ม Macrocyclic lactones ได้แก่ ivermectin, milbemycin oxime, moxidectin และ selamectin โดยตัวยามีประสิทธิภาพในการกำจัด microfilaria และ larval state L3 – L4 ของพยาธิหัวใจ และเป็นยาที่ใช้ได้ค่อนข้างปลอดภัยในทางสัตวแพทย์

Milbemycin oxime จัดเป็นกลุ่มยาที่น่าสนใจ เพราะนอกจากคุณสมบัติข้างต้นแล้ว ยังมีฤทธิ์ในการกำจัดพยาธิในทางเดินอาหาร เช่น roundworm, hookworm และ whipworm นอกจากนี้ตัวผลิตภัณฑ์ยังมีการพัฒนาโดยเพิ่มยากลุ่ม Afoxolaner เข้าไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมปรสิตภายนอก เช่น เห็บ หมัด และไร อีกด้วย

โดยทั่วไป สุนัขสามารถเริ่มใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันพยาธิหนอนหัวใจได้ตั้งแต่อายุ 8 สัปดาห์ขึ้นไป และควรให้ยาอย่างต่อเนื่องทุกรอบการป้องกันของตัวผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตามก่อนให้ยาครั้งแรกนั้น สัตวแพทย์ควรทำการตรวจสุขภาพทั่วไปของสุนัข ร่วมกับการตรวจหาพยาธิหนอนหัวใจด้วยการตรวจหาแอนติเจน และตรวจหาไมโครฟิลาเรีย ถ้าได้ผลเป็นบวกแสดงว่ามีตัวแก่ของพยาธิหนอนหัวใจ จำเป็นต้องทำการรักษาก่อนเริ่มเข้าโปรแกรมการป้องกัน นอกจากนี้ยังควรแนะนำให้เจ้าของพาสุนัขมาตรวจสุขภาพ และตรวจพยาธิหนอนหัวใจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และที่สำคัญควรแนะนำให้มีการป้องกันยุง ซึ่งเป็นพาหะนำโรคสำคัญของพยาธิหนอนหัวใจ โดยควรป้องกันทั้งบนตัวสุนัขและในสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ

เอกสารอ้างอิง

Nelson T., McCall JW., Jones S., and Moorhead A. 2020. Highlights of the current canine guidelines for the prevent, diagnosis, and management of heartworm (Dirofilaria immitis) infection in dogs. American Heartworm Society. 1-6.

Lebon W, Beccati M, Bourdeau P, et al. Efficacy of two formulations of afoxolaner (NexGard® and NexGard Spectra®) for the treatment of generalised demodicosis in dogs, in veterinary dermatology referral centers in Europe. Parasites & Vectors volume. 2018.11(506): 1-10.