พยาธินัยน์ตา คืออะไร ?
รูปที่ 1 แสดงพยาธิ Thelazia callipaeda ตัวเต็มวัย (Centers for Disease Control and Prevention, 2019.)
พยาธินัยน์ตา คือพยาธิตัวกลมที่อยู่ในไฟลัม (phylum) Nematoda ชั้น (class) Chromadorea ลำดับ (order) Rhabditida วงศ์ (family) Thelaziidae สกุล (genus) Thelazia ซึ่งจัดเป็นพยาธิตัวกลมที่มีโฮสต์แท้แตกต่างกันไปในแต่ละสปีชีส์ (species) โดยสปีชีส์ที่สามารถพบได้ในประเทศไทยและเป็นอันตรายกับสุนัขและแมว ได้แก่ Thelazia callipaeda (รูปที่ 1)
รูปที่ 2 แสดงแมลงวันผลไม้ ชนิด Phortica variegata ตัวเต็มวัยเพศผู้ (m) และเพศเมีย (f) ซึ่งเป็นพาหะของพยาธินัยน์ตาในสุนัข (Dr Thomas Werner, Department of Biological Sciences, Michigan Technological University.)
Thelazia callipaeda คือพยาธินัยน์ตาที่เป็นสาเหตุของโรคพยาธินัยน์ตา (thelaziasis) มีโฮสต์แท้ (definitive host) ได้แก่ สุนัขและแมว นอกจากนี้ยังสามารถพบได้ในสุนัขป่า สุนัขจิ้งจอกแดง กระต่ายป่า และกระต่ายบ้าน สามารถพบได้ในหลากหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย พยาธิชนิดนี้มีพาหะเป็นแมลงวันตอมตา หรือ แมลงวันผลไม้ (Phortica variegata หรือ Phortica okadai) (รูปที่ 2) ซึ่งจะหาอาหารและกินน้ำตาของสัตว์เป็นอาหาร ในบางครั้งอาจพบการติดเชื้อมาสู่มนุษย์โดยบังเอิญได้
รูปที่ 3 แสดงวงจรชีวิตของพยาธินัยน์ตา (Centers for Disease Control and Prevention, 2019.)
วงจรชีวิตของพยาธินัยน์ตา (รูปที่ 3)
พยาธินัยน์ตาตัวเต็มวัยจะดำรงชีวิตอยู่ในถุงเยื่อบุตา (conjunctival sac) ของโฮสต์ ตัวเต็มวัยเพศเมียจะปล่อยตัวอ่อนระยะ L1 ซึ่งอยู่ภายในถุงหุ้ม (shell membrane) ออกสู่น้ำตาของโฮสต์ เมื่อแมลงวันซึ่งเป็นพาหะมากินน้ำตาที่ดวงตาของโฮสต์ แมลงวันจะได้รับตัวอ่อนระยะ L1 เข้าสู่ร่างกาย เมื่อตัวอ่อนระยะ L1 ซึ่งอยู่ภายในถุงหุ้มเข้าสู่ทางเดินอาหารของแมลงวันพาหะ ตัวอ่อนจะออกจากถุงหุ้มและชอนไชไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแมลงวันพาหะ เช่น แอ่งเลือดภายในตัวแมลงวัน (hemocoel) เนื้อเยื่อไขมัน (fat body) อัณฑะ (testis) หรือไข่ (egg follicles) จากนั้นตัวอ่อนของพยาธินัยน์ตาจะพัฒนาตัวเองให้อยู่ในรูปแคปซูล (encapsulated larvae) และลอกคราบเป็นจำนวน 2 ครั้ง จนกลายเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อ หรือตัวอ่อนระยะ L3 (infective L3 larvae) เมื่อตัวอ่อนระยะ L3 พัฒนาเต็มที่ ตัวอ่อนจะออกจากแคปซูลและเคลื่อนไปอยู่บริเวณปากของแมลงวันต่อไป เมื่อแมลงวันบินไปกินน้ำตาที่ดวงตาของสัตว์ตัวใหม่ ตัวอ่อนระยะติดต่อจะเคลื่อนที่ผ่านปากของแมลงวันเข้าสู่ดวงตาของโฮสต์ จากนั้นเคลื่อนตัวไปยังถุงเยื่อบุตา พยาธินัยน์ตาในระยะนี้จะอาศัยการลอกคราบอีก 2 ครั้ง โดยใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 1 เดือนเพื่อเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยต่อไป
อาการทางคลินิก
สุนัขและแมวที่ป่วยด้วยโรคพยาธินัยน์ตาอาจไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมาให้เห็น (asymptomatic) แต่ในรายที่แสดงอาการมักจะแสดงอาการเยื่อบุตาอักเสบ (conjunctivitis) หรือตาแดง เปลือกตาอักเสบ (blepharitis) น้ำตาไหลมาก ตาแฉะ (epiphora) คันรอบดวงตา (periocular pruritus) มองเห็นได้ไม่ชัดเจน เกิดแผลบริเวณกระจกตา ในบางครั้งอาจเกิดภาวะกระจกตาอักเสบ (keratitis) ติดเชื้อจนเกิดหนองในดวงตา ตาปิด เกิดภาวะบวมน้ำที่กระจกตา (corneal edema) ในรายที่รุนแรงอาจถึงขั้นตาบอดได้
การตรวจวินิจฉัย
รูปที่ 4 แสดงพยาธินัยน์ตาตัวเต็มวัยที่สามารถสังเกตเห็นได้ในตาของสุนัข (Wilfried, L., et al. 2019.)
การตรวจวินิจฉัยโรคพยาธินัยน์ตาสามารถทำได้ด้วยการตรวจหาตัวอ่อนระยะ L1 ในน้ำตาและตัวเต็มวัยของพยาธิบริเวณดวงตาซึ่งสามารถสังเกตเห็นด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน (รูปที่ 4)
การรักษา
การรักษาพยาธินัยน์ตาสามารถทำได้ด้วยการกำจัดตัวเต็มวัยของพยาธินัยน์ตาออกจากดวงตาโดยการล้างออกด้วยน้ำเกลือ (saline solution) หรือหยดยาชาเข้าเยื่อบุตา แล้วใช้ปากคีบทำการคีบพยาธินัยน์ตาออก นอกจากนี้ยังมีรายงานการใช้ยาหยดหลัง imidacloprid ร่วมกับ moxidectin (2.5 mg/kg) ซึ่งสามารถกำจัดพยาธิได้ภายใน 7 วันหลังการใช้ยา หรือการใช้ยา milbemycin oxime ชนิดกิน (0.5 mg/kg) ห่างกันหนึ่งสัปดาห์ซึ่งพบว่าสามารถกำจัดพยาธิได้ดีภายในระยะเวลา 28 วัน ตลอดจนการใช้ ivermectin ชนิดกิน (200 µg/kg) หนึ่งครั้งพบว่าสามารถกำจัดพยาธิได้ภายในระยะเวลา 25 วัน ทั้งนี้แนวทางการรักษาและการเลือกใช้ยาขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและประวัติการแพ้ยาของสัตว์ซึ่งสัตวแพทย์ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสัตว์แต่ละตัวต่อไป
การป้องกัน
การป้องกันพยาธินัยน์ตานับเป็นอีกหนึ่งการดูแลสุขภาพของสัตว์เลี้ยงที่สัตวแพทย์ควรแนะนำให้เจ้าของปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยการดูแลรักษาความสะอาดของสิ่งแวดล้อมให้ปราศจากแมลงวันตอมตาหรือแมลงวันผลไม้ หากยังไม่สามารถกำจัดแมลงวันตอมตาหรือแมลงวันผลไม้ได้หมดสัตวแพทย์ควรแนะนำให้เจ้าของเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันพยาธิซึ่งออกฤทธิ์ครอบคลุมพยาธินัยน์ตา โดยมีรายงานว่าการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูตรผสม (combination drug) ที่มีตัวยา milbemycin oxime และ afoxolaner สามารถออกฤทธิ์ป้องกันพยาธินัยน์ตาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถป้องกันปรสิตชนิดอื่น เช่น พยาธิปากขอ พยาธิไส้เดือน พยาธิแส้ม้า พยาธิหลอดอาหาร หรือพยาธิในปอด ได้อีกด้วย
พยาธินัยน์ตานับเป็นปรสิตที่มีความสำคัญและเป็นสาเหตุของโรคในสุนัขและแมวที่ควรได้รับการป้องกัน อีกทั้งยังสามารถติดต่อมาสู่คนได้อีกด้วย การแนะนำให้เจ้าของใส่ใจในการป้องกันปรสิตชนิดดังกล่าวจึงเป็นอีกหนึ่งหน้าที่ที่สัตวแพทย์ควรให้ความสำคัญเพื่อสามารถป้องกันการเกิดโรคในสัตว์และสามารถช่วยให้สุนัขและแมวมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ต่อไป
เอกสารอ้างอิง
1. Centers for Disease Control and Prevention. 2019. Thelaziasis. [Online]. Available: https://www.cdc.gov/dpdx/thelaziasis/index.html. Accessed 22 July 2023.
2. Jennifer, C. 2018. Eyeworm Infection in Dogs. [Online]. Available: https://www.petmd.com/dog/conditions/eyes/eyeworm-infection-dogs. Accessed 30 July 2023.
3. Lebon, W., Guillot, J., Álvarez, M.J., Bazaga, J.A., Cortes-Dubly, M.L., Dumont, P., Eberhardt, M., Gómez, H., Pennant, O., Siméon, N., Beugnet, F. and Halos, L. 2019. "Prevention of canine ocular thelaziosis (Thelazia callipaeda) with a combination of milbemycin and afoxolaner (Nexgard spectra) in endemic areas in France and Spain." Parasite. 26 (1).
4. Viriyavejakul, P., Krudsood, S., Monkhonmu, S., Punsawad, C., Riganti, M. and Radomyos, P. 2012. Thelasia callipaeda: a human case report. Southeast Asian J. Trop. Med. Public Health. 43 (4): 851-856.
5. Schwartz, A.B., Lejeune, M., Verocai, G.G., Young, R. and Schwartz, P.H. 2021. "Autochthonous Thelazia callipaeda Infection in dog New York USA 2020." [Online]. Available: https://wwwnc.cdc.gov/eid/article/27/7/21-0019_article. Accessed 30 July 2023.
6. TroCCAP. 2023. Oriental Eyeworm (Thelazia callipaeda). [Online]. Available: https://www.troccap.com/canine-guidelines/other-systems/oriental-eyeworm/. Accessed 26 July 2023.