พยาธิปากขอ (Hookworm)

รศ. น.สพ. ดร.ปิยนันท์ ทวีถาวรสวัสดิ์
พยาธิปากขอ (hookworm) เป็นพยาธิตัวกลมที่สำคัญชนิดหนึ่งที่พบได้ในคนและสัตว์หลายชนิด และพบได้ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย สำหรับชนิดที่พบได้ในสุนัข ได้แก่ Ancylostoma caninum, A. ceylanicum และ A. braziliense ส่วนชนิดที่พบในแมว ได้แก่ A. ceylanicum, A. tubaeforme และ A. braziliense ซึ่งในประเทศไทยมีรายงานการพบพยาธิปากขอในสุนัขและแมวเพียง 2 ชนิดเท่านั้น คือ A. caninum และ A. ceylanicum พยาธิปากขออาศัยอยู่ในลำไส้เล็กของโฮสต์ พยาธิเหล่านี้ดูดเลือดและทำอันตรายต่อโฮสต์เป็นอย่างมาก เช่น ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ขาดสารอาหาร เป็นต้น มีรายงานการติดโรคพยาธิปากขอในคนทั่วโลกสูงถึง 740 ล้านคน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการศึกษาถึงความรุนแรงของโรค พยาธิกำเนิดของโรค ชีวโมเลกุลของพยาธิปากขอในคนอย่างกว้างขวาง รวมไปถึงแนวทางการพัฒนาเพื่อที่จะผลิตวัคซีน ซึ่งจากการรายงานของผู้วิจัยหลายท่านยังแสดงให้เห็นว่า การผลิตวัคซีนพยาธิปากขอยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาถึงแนวทางการผลิตวัคซีนป้องกันพยาธิปากขอในหนู ซึ่งให้ผลป้องกันหรือผลการลดความรุนแรงของโรคได้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อทำการศึกษาเกี่ยวกับวัคซีนพยาธิปากขอในสุนัข ผลการศึกษายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ส่วนข้อมูลด้านระบาดวิทยาในประเทศไทย Taweethavonsawat และคณะ (2007) รายงานการติดพยาธิในระบบทางเดินอาหารในสุนัขจรจัดทั่วไปในกรุงเทพฯ พบว่า พยาธิที่พบมากที่สุด คือ พยาธิปากขอ และในปีถัดมา Traub และคณะก็มีรายงานการติดพยาธิปากขอในสุนัขพบในปริมาณที่สูงที่สุดเช่นกัน คิดเป็น 58% และในคนคิดเป็น 3.4 % ซึ่งเป็นการศึกษาในชุมชนวัดของกรุงเทพมหานคร จำนวน 20 วัด จากสุนัข 224 ตัวอย่าง ซึ่งพยาธิปากขอชนิดที่ติดสูงที่สุด คิดเป็น 77% คือ A. ceylanicum ซึ่งพยาธิชนิดนี้มีความสำคัญในสุนัขและแมวรวมถึงคนด้วย พยาธิดังกล่าวจัดเป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน (zoonoses) ที่สำคัญในประเทศไทย (Traub et.al., 2008) จากรายงานล่าสุดพบการติดพยาธิปากขอชนิด A. Ceylanicum ในผู้อพยพจากพม่าที่พักอาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยผู้ป่วยติดพยาธิปากขอชนิดดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับการสำรวจพบการติดพยาธิปากขอชนิด A. ceylanicum ในคนในประเทศไทยที่เคยมีการรายงานมาก่อน การตรวจหาพยาธิปากขอในปัจจุบันนิยมตรวจด้วยวิธี PCR ซึ่งสามารถทราบถึงชนิดของพยาธิปากขอได้ (O’Connell el.al., 2018) และข้อมูลระบาดวิทยาในแมว ปี พ.ศ. 2561 ปิยนันท์และคณะได้ทำการสำรวจพยาธิปากขอในแมวที่อาศัยอยู่ในวัดเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 16 วัด พบไข่พยาธิปากขอจากอุจจาระแมวสูงถึง 14 วัด คิดเป็น 87.5% (ข้อมูลยังไม่ได้รับการเผยแพร่) จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโรคพยาธิปากขอเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สำคัญทางปรสิตโรคหนึ่งที่เราไม่ควรมองข้าม

การติดต่อที่สำคัญ

โฮสต์สามารถติดพยาธิชนิดนี้ได้โดยตรงไม่ต้องอาศัยโฮสต์กึ่งกลาง การติดโรคเกิดขึ้นโดยการกินตัวอ่อนระยะติดต่อ (L3) หรือ โดยการไชของ L3 ผ่านผิวหนัง จากนั้นตัวอ่อนจะเข้าไปเจริญเป็นตัวเต็มวัยที่ลำไส้เล็กใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ จึงสามารถตรวจพบไข่พยาธิปนออกมากับอุจจาระได้ บางครั้งถ้ามีพยาธิจำนวนมากอาจพบที่ลำไส้ใหญ่ (Rep et al., 1971) ในการวินิจฉัยการติดโรคพยาธิปากขอทางห้องปฏิบัติการ ยังคงอาศัยการตรวจอุจจาระเพื่อตรวจหาไข่พยาธิโดยวิธีมาตรฐานทั่วไป แต่มีข้อจำกัดคือยังไม่สามารถบอกชนิดของพยาธิปากขอได้ ปัจจุบันมีการใช้เทคนิค PCR ทำให้สามารถบอกถึงชนิดของพยาธิที่ติดได้ แต่เทคนิคนี้ยังมีข้อจำกัดคือมีการตรวจเฉพาะในส่วนงานวิจัย ยังไม่มีการให้บริการทั่วไป

การรักษา

ปัจจุบันมียาหลายชนิดที่สามารถเลือกใช้ในการถ่ายพยาธิปากขอได้ ไม่ว่าจะเป็นยารูปแบบกิน หรือยาหยอดหลังซึ่งจะมีความสะดวกสำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยง ซึ่งสัตวแพทย์สามารถแนะนำให้ใช้ตามความเหมาะสม (ดังตารางที่ 1) และข้อมูลล่าสุด คือ การทดสอบประสิทธิภาพยาหยอดหลังที่มีส่วนประกอบของ fipronil, (S)-methoprene, eprinomectin และ praziquantel ในการกำจัดตัวอ่อนระยะที่ 4 และตัวเต็มวัยของพยาธิปากขอชนิด A. ceylanicum ในแมว ผลการทดลองพบว่ายาที่มีส่วนส่วนประกอบของ fipronil, (S)-methoprene, eprinomectin และ praziquantel มีประสิทธิภาพในการรักษาตัวอ่อนระยะที่ 4 และตัวเต็มวัยของพยาธิปากขอชนิด A. ceylanicum ในแมวได้ 100 เปอร์เซ็นต์ (Knus et al., 2020)

ตารางที่ 1 ยาถ่ายพยาธิและขนาดยาที่ใช้ในการรักษาพยาธิปากขอในสัตว์เลี้ยง

เอกสารอ้างอิง

1. Rep BH, van Joost KS, Vetter JC. Pathogenicity of Ancylostoma ceylanicum. VI. Lethal blood loss in hookworm infection. Trop Geogr Med .1971; 23: 184-193

2. Taweethavonsawat P, Chungpivat S, Viseshakul N. Update: Status of intestinal parasites in stray dogs in Bangkok. Joint International Tropical Medicine Meeting. 29-30 Nov. 2007 Imperial Queen’s Park Hotel, Bangkok, Thailand. P.225

3. Traub RJ, Inpankaew T, Sutthikornchai C, Sukthana Y, Thompson RC. PCR-based coprodiagnostic tools reveal dogs as reservoirs of zoonotic ancylostomiasis caused by Ancylostoma ceylanicum in temple communities in Bangkok. Vet Parasitol. 2008; 155: 67-73.

4. O’Connell EM, Mitchell T, Papaiakovou M, Pilotte N, Lee D, Weinberg M, et al. Ancylostoma ceylanicum Hookworm in Myanmar Refugees, Thailand, 2012–2015. Emerg Infect Dis. 2018;24(8):1472-1481.

5. Knus M., Taweethavonsawat P, Cheesman T, et al. Efficacy of Broadline® in cats against induced infections with developing fourth-stage larval and adult Ancylostoma ceylanicum hookworms. Vet Parasitol 2020; https://doi.org/10.1016/j.vpoa.2020.1000025

1. Ancylostoma caninum
2. Ancylostoma ceylanicum