ปัจจุบันผู้คนนิยมเลี้ยงสุนัขให้อยู่ภายในพื้นที่ที่จำกัดไว้หรือเลี้ยงแบบระบบปิดกันมากขึ้นเนื่องจากความสะดวกที่ต่างกันของแต่ละบุคคล หรือรูปแบบที่พักอาศัยบางประเภทที่ผู้เลี้ยงอาศัยอยู่นั้นอาจไม่เอื้ออำนวยต่อการเลี้ยงระบบเปิด แต่ก็มีผู้เลี้ยงอีกหลายครัวเรือนยังคงเลี้ยงแบบระบบเปิด มีการปล่อยให้สุนัขออกไปหรือพาออกไปเดินเล่นนอกบริเวณที่พัก ทำให้สุนัขมีโอกาสสัมผัสกับตัวอ่อนหนอนพยาธิในสิ่งแวดล้อมที่อยู่ตามพื้นดินหรือแหล่งน้ำ ซึ่งหนอนพยาธิเหล่านี้เป็นปรสิตภายในที่สามารถสร้างความเสียหายให้กับระบบร่างกายสุนัขทั้งยังมีการติดต่อได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสกับดินแล้วถูกตัวอ่อนพยาธิบางชนิดไชเข้าร่างกายผ่านผิวหนังบริเวณอุ้งเท้า การกินอุจจาระที่ปนเปื้อนไข่พยาธิหรือตัวอ่อนพยาธิระยะติดต่อโดยตรง การกินโฮสต์กึ่งกลาง ปรสิตภายนอกอย่างตัวหมัด ถูกสัตว์พาหะกัด หรือการล่าสัตว์ชนิดเล็กๆ ที่เป็นโฮสต์ข้างเคียงของพยาธิ อย่างเช่น หนู กินเป็นอาหาร ซึ่งสัตว์เหล่านี้อาจมีไข่หรือตัวอ่อนพยาธิระยะติดต่อที่เจริญอยู่ภายในตัว เมื่อสุนัขได้รับเข้าไป ไข่พยาธิหรือตัวอ่อนพยาธิเหล่านี้ก็จะไปเจริญต่อเป็นตัวเต็มวัยและก่อพยาธิสภาพภายในร่างกายสุนัข ด้วยเหตุนี้เองโรคหนอนพยาธิจึงเป็นปัญหาสำคัญที่ยังพบได้ทั่วไปในการเลี้ยงสุนัขในประเทศไทย อย่างไรก็ตามในส่วนของสุนัขที่ถูกเลี้ยงในระบบปิดก็อาจพบปัญหาโรคหนอนพยาธิได้เช่นกันหากภายในรั้วบริเวณที่พักอาศัยมีสัตว์ชนิดเล็กที่เป็นพาหะเล็ดลอดเข้ามาในพื้นที่ หรือมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเป็นแหล่งที่อยู่ของไข่พยาธิกับตัวอ่อนพยาธิและไม่มีการดูแลความสะอาดพื้นที่บริเวณดังกล่าวอย่างเพียงพอ

นอกจากนั้นโรคหนอนพยาธิไม่เพียงอันตรายต่อตัวสุนัข แต่อาจสร้างผลกระทบต่อผู้เลี้ยงได้ด้วยได้เพราะหนอนพยาธิบางชนิดมีความสำคัญในแง่ที่เป็นสาเหตุของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนหรือ zoonosis บทความนี้จะกล่าวถึงพยาธิภายในสุนัขที่สำคัญที่สามารถพบได้และแนวทางการป้องกัน เพื่อให้ทราบรูปแบบการก่อพยาธิสภาพแบบต่างๆ ของพยาธิในสุนัข วิธีการป้องกันรวมถึงสามารถให้คำแนะนำในการดูแลแก่ผู้เลี้ยงไม่ให้สุนัขมีโอกาสสัมผัสกับปรสิตกลุ่มดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อลดโอกาสที่จะติดต่อไปยังตัวผู้เลี้ยงเองด้วย

พยาธิภายในสุนัขที่พบได้

1. พยาธิตัวกลม (nematode)

1.1 พยาธิปากขอ (hookworm) เป็นพยาธิที่พบได้บ่อยที่สุดในสุนัข สุนัขสามารถติดพยาธิกลุ่มนี้ได้หลายชนิดไม่ว่าจะเป็น Ancylostoma ceylanicum, Ancylostoma caninum หรือ Uncinaria stenocephala แต่ชนิดที่มักพบในพื้นที่ประเทศไทย ได้แก่ A. ceylanicum กับ A. caninum ซึ่ง A. ceylanicum ยังเป็นชนิดที่ก่อโรคสัตว์สู่คน สุนัขติดพยาธิได้จากการถูกตัวอ่อนพยาธิระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะติดต่อที่อยู่ตามดินในสิ่งแวดล้อมไชเข้าผิวหนัง หรือกินอาหารหรืออุจจาระที่ปนเปื้อนตัวอ่อนระยะที่ 3 เข้าไป แล้วตัวอ่อนก็จะไปเจริญต่อจนเป็นตัวเต็มวัยที่ลำไส้เล็ก ในส่วนของลูกสุนัขสามารถติดผ่านทางรกกับน้ำนมได้ในกรณีที่มีแม่สุนัขเป็นโรคพยาธิปากขอชนิด A. caninum พยาธิปากขอตัวเต็มวัยในลำไส้เล็กจะสร้างและปล่อยไข่ออกมาสู่สิ่งแวดล้อมโดยปะปนออกมากับอุจจาระสุนัข จากนั้นตัวอ่อนในไข่ก็จะฟักออกมาแล้วพัฒนาจนกลายเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อต่อไป อย่างไรก็ตามตัวเต็มวัยจะไม่ปล่อยไข่ออกมาจนกระทั่งถึงช่วงปลายสัปดาห์ที่ 2 หลังการติดเชื้อ ทำให้การตรวจวินิจฉัยโรคในระยะแรกๆ ทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากพยาธิตัวเต็มวัยจะหาอาหารโดยการเกาะยึดกับเยื่อบุลำไส้เล็กด้วยโครงสร้างที่เหมือนฟันซึ่งอยู่บริเวณปาก สร้างความเสียหายให้กับเยื่อบุลำไส้เพื่อดูดซึมแย่งสารอาหารจากโฮสต์ ทำให้ลูกสุนัขที่ติดพยาธิชนิดนี้สามารถพบอาการถ่ายเหลวปนเลือด ซึม อ่อนแรง เยื่อเมือกซีด มีภาวะโปรตีนในเลือดต่ำ ขนหยาบ โตช้า และอาจเสียชีวิตได้ ส่วนในสุนัขโตอาจมีอาการเลือดออกในลำไส้ ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นสีดำปนเลือด พบภาวะโลหิตจาง ภาวะทุพโภชนาการ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด แห้งน้ำ อ่อนแรง นอกจากนั้นอาจมีผิวหนังอักเสบร่วมด้วยจากการเคลื่อนที่ของตัวอ่อนพยาธิ

1.2 พยาธิไส้เดือน (roundworm) พยาธิไส้เดือนชนิดที่พบมากสุดในสุนัข ได้แก่ Toxocara canis ซึ่งเป็นพยาธิอีกชนิดสามารถก่อโรคสัตว์สู่คนได้ สุนัขจะติดโรคจากการกินไข่พยาธิที่ภายในมีตัวอ่อนระยะที่ 3 ติดต่อเข้าไปโดยตรง หรือกินสัตว์เล็กๆ ที่เป็นโฮสต์ข้างเคียง (paratenic host) มีตัวอ่อนระยะติดต่ออยู่ในตัว เช่น หนู เป็นต้น อาการทางคลินิกที่พบได้ เช่น การไอ หายใจลำบาก เพราะมีตัวอ่อนพยาธิไชเข้าไปในระบบทางเดินหายใจ สำหรับพยาธิตัวเต็มวัยจะอาศัยอยู่บริเวณลำไส้เล็กและปล่อยไข่ออกมาปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมพร้อมอุจจาระของสุนัข หรือบางครั้งก็อาจพบตัวเต็มวัยที่ออกมาด้วยได้เช่นกัน นอกจากนั้นในส่วนของลูกสุนัขก็สามารถติดพยาธิชนิดนี้จากการได้รับตัวอ่อนระยะติดต่อผ่านทางรกขณะยังอยู่ในท้องแม่หรือผ่านน้ำนม ลูกสุนัขที่มีพยาธิไส้เดือนจำนวนมากจะมีอาการพุงกาง ตัวแคระแกร็น เบื่ออาหาร ท้องเสีย อาเจียน และในบางรายที่ได้รับตัวอ่อนพยาธิผ่านทางรกตั้งแต่อยู่ในท้องแม่อาจเสียชีวิตแบบเฉียบพลันได้หลังเกิดมาไม่กี่วันเนื่องจากพยาธิทำให้เกิดปอดอักเสบ ลำไส้อักเสบ และระบบทางเดินอาหารอุดตัน

1.3 พยาธิแส้ม้า (whipworm) ชนิดที่พบบ่อยในสุนัข ได้แก่ Trichuris vulpis ไข่ของพยาธิแส้ม้ามีความคงทนจึงสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานแม้สภาพแวดล้อมจะไม่เหมาะสมทำให้กำจัดหรือทำลายได้ค่อนข้างยาก สุนัขสามารถติดได้โดยการกินไข่ที่มีตัวอ่อนพยาธิระยะที่ 1 ซึ่งเป็นระยะติดต่อที่ปะปนอยู่ตามพื้นดินหรือแหล่งน้ำ และเนื่องจากพยาธิแส้ม้าไม่มีการติดผ่านทารกหรือน้ำนมแม่ ทำให้ลูกสุนัขมีโอกาสเป็นโรคพยาธิชนิดนี้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับสุนัขอายุโตเต็มวัย เมื่อสุนัขกินไข่พยาธิเข้าไป ตัวอ่อนพยาธิก็จะฟักออกจากไข่ ลอกคราบเจริญต่อเป็นตัวเต็มวัยอาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ส่วน caecum หรือ colon และปล่อยไข่ออกมากับอุจจาระสู่สิ่งแวดล้อมได้อีกเป็นระยะเวลานาน สุนัขที่มีพยาธิแส้ม้าจำนวนน้อยจะไม่ค่อยแสดงอาการ แต่ถ้ามีจำนวนมากจะพบอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ อุจจาระมีเมือกหรือเลือดสดปน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เสียดท้อง มีภาวะโลหิตจาง ส่วนในลูกสุนัขแม้มีโอกาสน้อยในการติดพยาธิแส้ม้า แต่หากติดขึ้นมาและมีพยาธิเป็นจำนวนมากก็สามารถพบว่ามีน้ำหนักลดลง โตช้า และเกิดภาวะติดเชื้อแทรกซ้อนชนิดอื่น นอกจากนั้นอาจพบการอักเสบแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรังของลำไส้ใหญ่ส่วน caecum หรือ colon ร่วมด้วยจากการเคลื่อนที่ชอนไชของพยาธิตัวเต็มวัยไปตามเยื่อบุลำไส้

1.4 พยาธิเส้นด้าย (threadworm) ชนิดที่พบในสุนัข ได้แก่ Strongyloides stercoralis ซึ่งสามารถติดต่อสู่คนได้ สุนัขติดได้จากการถูกตัวอ่อนพยาธิระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะติดต่อที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมไชผิวหนังเข้าร่างกาย หรือได้รับผ่านการกินน้ำนมแม่ในกรณีที่เป็นลูกสุนัข เมื่อตัวอ่อนพยาธิเข้ามาในร่างกายได้ก็จะเคลื่อนที่ไปยังบริเวณปอด ทำให้สุนัขเกิดอาการระคายเคือง ไอจนตัวอ่อนย้อนกลับขึ้นมาแล้วถูกกลืนลงไปในทางเดินอาหารแล้วไปเจริญต่อเป็นตัวเต็มวัยในลำไส้เล็ก พยาธิเพศเมียตัวเต็มวัยที่เป็นปรสิตจะสร้างไข่ ตัวอ่อนพยาธิระยะแรกที่ฟักออกจากไข่จะปะปนออกมากับอุจจาระก่อนพัฒนาเป็นระยะติดต่อต่อไป แต่บางส่วนก็สามารถลอกคราบพัฒนาเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อและเจริญต่อได้ภายในลำไส้ กลายเป็นกระบวนการติดเชื้อพยาธิที่เกิดขึ้นในตัวโฮสต์โดยไม่ต้องออกมาสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก หรือ autoinfection สุนัขส่วนใหญ่ที่ติดพยาธิเส้นด้ายมักไม่แสดงอาการ แต่ในลูกสุนัขซึ่งมีระดับภูมิต้านทานของร่างกายน้อยเมื่อเทียบกับสุนัขโตเต็มวัยอาจมีอาการท้องเสียถ่ายเหลวเป็นน้ำหรือมีเมือกปนระดับปานกลาง ส่วนในรายที่ติดพยาธิเป็นจำนวนมากจะพบอาการปอดอักเสบบริเวณหลอดลมหรือผิวหนังอักเสบบริเวณอุ้งเท้าจากการชอนไชของตัวอ่อนพยาธิ

1.5 พยาธิหนอนหัวใจ (heartworm) หรือ Dirofilaria immitis เป็นพยาธิฟิลาเรีย (filarial worm) ที่ติดต่อมายังคน แมวและสุนัขได้โดยมียุงเป็นสัตว์พาหะ พบได้บ่อยในประเทศไทยเนื่องจากเป็นประเทศที่มีที่ตั้งในเขตร้อนชื้น สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการแพร่พันธุ์ยุง สำหรับสุนัขเมื่อถูกยุงที่มีตัวอ่อนพยาธิระยะติดต่อ หรือ ไมโครฟิลาเรีย (microfilaria) กัด ตัวอ่อนก็จะเข้าสู่กระแสเลือดและไปเจริญต่อจนกลายเป็นตัวเต็มวัยที่หัวใจห้องขวากับหลอดเลือดแดงพัลโมนารี (pulmonary artery) ในระยะแรกๆ สุนัขที่ติดพยาธิหนอนหัวใจจะไม่ค่อยแสดงอาการ แต่เมื่อเวลาผ่านไป จำนวนพยาธิที่เพิ่มมากขึ้นจะไปรบกวนการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิต สุนัขจะเริ่มมีอาการเหนื่อยง่าย ไอเรื้อรัง น้ำหนักลด อ่อนแรง ในช่วงที่การดำเนินของโรคพัฒนาไปมากกว่าเดิมอาจพบอาการอื่นๆ ตามมา เช่น หายใจลำบาก หายใจเร็ว ไอปนเลือด หัวใจเต้นเร็ว การเต้นของหัวใจผิดปกติ หมดสติ มีภาวะตับโต ท้องมาน หากสุนัขไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่การเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวได้ นอกจากนั้นในตัวพยาธิหนอนหัวใจยังมีเชื้อ Wolbachia เป็นแบคทีเรียแกรมลบชนิดอาศัยในเซลล์ ซึ่งแบคทีเรียชนิดนี้สามารถทำให้เกิดการอักเสบที่ไตอีกด้วย

2. พยาธิใบไม้ (trematode; fluke)

พยาธิใบไม้ในตับ (liver fluke) ชนิดที่พบได้ในสุนัข คือ Opisthorchis viverrini สุนัขติดพยาธิได้จากการกินตัวอ่อนพยาธิระยะเมตาเซอร์คาเรียที่อยู่ในปลาน้ำจืดซึ่งเป็นโฮสต์กึ่งกลาง (intermediate host) ตัวอ่อนจะไปเจริญต่อเป็นตัวเต็มวัยอยู่ตามท่อน้ำดี ตับ ถุงน้ำดี หรือท่อน้ำย่อยของตับอ่อน สุนัขที่เป็นมักไม่แสดงอาการทางคลินิก แต่หากแสดงอาการ อาการที่พบได้จะมีภาวะแห้งน้ำ อ่อนแรงและท้องเสีย รวมไปถึงตับอักเสบและตับอ่อนอักเสบแบบเฉียบพลันในกรณีที่มีการเคลื่อนที่ของตัวอ่อนพยาธิไปยังบริเวณดังกล่าว นอกจากนั้นคนก็สามารถติดพยาธิชนิดนี้ได้เช่นกันจากการบริโภคปลาน้ำจืดที่ไม่ผ่านการปรุงสุก หรือติดจากการคลุกคลีกับโฮสต์กักเก็บ (reservoir host) อย่างสุนัขและแมวที่กินปลาดิบเข้าไป อาการของโรคในคนพบว่าเป็นโรคตับกับระบบท่อน้ำดีอักเสบ และในระยะยาวอาจกลายเป็นมะเร็งท่อน้ำดีด้วย อย่างไรก็ตามโอกาสที่สุนัขจะเป็นโฮสต์กักเก็บของพยาธิชนิดนี้ก่อนติดต่อไปยังคนค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นแมวมากกว่า

3. พยาธิตัวตืด (cestode; tapeworm)

พยาธิเมล็ดแตงกวา หรือ พยาธิตืดหมัด (Dipylidium caninum) เป็นพยาธิตัวตืดชนิดที่พบได้บ่อยในสุนัข มีปล้องสุกลักษณะคล้ายเมล็ดแตงกวา มักพบในสุนัขที่มีประวัติไม่ได้รับการดูแลกำจัดหมัดหรือถ่ายพยาธิอย่างสม่ำเสมอ พยาธิตืดหมัดติดมายังสุนัขได้ผ่านการกินตัวหมัดที่มีตัวอ่อนพยาธิ cysticercoid ซึ่งเป็นระยะติดต่อเข้าไป ตัวอ่อนจะไปเจริญเป็นตัวเต็มวัยที่ลำไส้เล็ก ปกติสุนัขที่เป็นไม่ค่อยแสดงอาการ แต่หากมีพยาธิในลำไส้จำนวนมากจะทำให้เกิดอาการลำไส้อักเสบและลำไส้อุดตันได้โดยเฉพาะในรายที่เป็นลูกสุนัข ปล้องสุกของพยาธิที่ถูกปล่อยออกมาข้างนอกจะมีสีขาว พบเห็นได้ตามขนรอบๆ รูทวารของสุนัขหรือปะปนอยู่ในกองอุจจาระ สามารถทำให้เกิดการคันระคายเคืองบริเวณรูทวาร จึงอาจพบว่าสุนัขที่ติดพยาธิจะมีพฤติกรรมหย่อนก้นถูไปกับพื้นได้ นอกจากนี้พยาธิตืดหมัดสามารถติดมายังคนได้แต่เป็นกรณีที่พบไม่บ่อยนัก

แนวทางการป้องกัน

การใช้ยา

- ใช้ยาถ่ายพยาธิที่มีประสิทธิภาพในการต้านตัวเต็มวัยกับตัวอ่อนของพยาธิ ในลูกสุนัขสามารถเริ่มถ่ายพยาธิได้ตั้งแต่อายุ 2 สัปดาห์ แล้วทำต่อไปทุกๆ 2 สัปดาห์จนกระทั่งลูกสุนัขอายุ 8 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้ถ่ายพยาธิทุกเดือน ในสุนัขที่โตเต็มวัยควรได้รับการถ่ายพยาธิเดือนละครั้ง และอาจถี่กว่านั้นได้ในกรณีที่สุนัขกำลังติดเชื้อพยาธิจำนวนมากหรืออยู่ในแผนการรักษาที่ต้องการใช้ยามุ่งกำจัดเฉพาะพยาธิตัวเต็มวัย

- วางแผนใช้ยาป้องกันปรสิตภายนอกให้สุนัขควบคู่ไปกับการใช้ยาถ่ายพยาธิเนื่องจากตัวอ่อนพยาธิบางชนิด เช่น พยาธิเมล็ดแตงกวา จะแฝงมากับตัวหมัดด้วย

การจัดการ

- ดูแลสุนัขไม่ให้มีโอกาสล่าหรือสัมผัสสัตว์เล็กๆ ที่อาจเป็นโฮสต์กึ่งกลางหรือโฮสต์ข้างเคียงของตัวอ่อนพยาธิ เลี้ยงสุนัขด้วยอาหารที่ผ่านการปรุงสุกแล้ว เลี่ยงการให้เนื้อดิบเพื่อป้องกันการติดตัวอ่อนพยาธิชนิดที่แฝงมากับเนื้อดิบ และเตรียมน้ำสะอาดสำหรับดื่มไว้ให้สุนัขเสมอ

- เก็บกวาดอุจจาระสุนัข เป็นการลดโอกาสการปนเปื้อนของพยาธิ ไข่พยาธิหรือตัวอ่อนพยาธิระยะติดต่อไม่ให้เพิ่มขึ้นในสิ่งแวดล้อมและควรทำทุกวัน

- รักษาความสะอาดของพื้นที่บริเวณที่พักอาศัย หมั่นทำความสะอาดพื้นเพื่อกำจัดหรือลดจำนวนไข่พยาธิกับตัวอ่อนพยาธิโดยบริเวณพื้นคอนกรีตกับพื้นที่ปูด้วยวัสดุชนิดอื่นๆ อาจใช้สารฆ่าเชื้อเป็น sodium hypochlorite ความเข้มข้น 1%

- ควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์กับประชากรยุง หลีกเลี่ยงการให้สุนัขออกไปนอกบ้านในช่วงเวลาออกหากินของยุงเพื่อไม่ให้สุนัขเสี่ยงติดตัวอ่อนไมโครฟิลาเรียของพยาธิหนอนหัวใจ

การให้ความรู้และคำแนะนำแก่ผู้เลี้ยงสัตว์

- สัตวแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เกี่ยวข้องควรให้ความรู้ผู้เลี้ยงเกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้หากมีการวางแผนใช้โปรแกรมต้านพยาธิที่ไม่เหมาะสมกับตัวสุนัข เนื่องจากมีพยาธิหลายชนิดที่ติดต่อสู่คนได้และอาจส่งผลกระทบต่อคนอื่นโดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกับผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

- สัตวแพทย์สามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขอนามัยที่ดีแก่ผู้เลี้ยงสุนัข เช่น การล้างมือ การสวมรองเท้ามิดชิดขณะอยู่นอกบ้าน และการเก็บอุจจาระทันทีหลังสุนัขขับถ่ายเสร็จ เป็นต้น เพื่อลดความเสี่ยงของผู้เลี้ยงในการติดพยาธิชนิดที่สามารถติดต่อสู่คน

อ้างอิงข้อมูล

Enes JE, Wages AJ, Malone JB and Tesana S. 2010. Prevalence of Opisthorchis viverrini infection in the canine and feline hosts in three villages, Khon Kaen Province, northeastern Thailand. The Southeast Asian journal of tropical medicine and public health. 41(1), 36–42.

Kamyingkird K, Junsiri W, Chimnoi W, Kengradomkij C, Saengow S, Sangchuto K, Kajeerum W, Pangjai D, Nimsuphan B, Inpankaew T and Jittapalapong S. 2017. Prevalence and risk factors associated with Dirofilaria immitis infection in dogs and cats in Songkhla and Satun provinces, Thailand. Agriculture and Natural Resources. 51. 299-302.

Kladkempetch D, Tangtrongsup S and Tiwananthagorn S. 2020. Ancylostoma ceylanicum: The Neglected Zoonotic Parasite of Community Dogs in Thailand and Its Genetic Diversity among Asian Countries. Animals : an open access journal from MDPI. 10(11), 2154. https://doi.org/10.3390/ani10112154

Okewole E. 2016. The prevalence, pathogenesis and control of canine and human toxocariosis in Ibadan, Nigeria. Sokoto Journal of Veterinary Sciences. 14. 34. 10.4314/sokjvs.v14i2.5.

Pinyopanuwat N, Kengradomkij C, Kamyingkird K, Chimnoi W, Suraruangchai D and Inpankaew T. 2018. Stray animals (dogs and cats) as sources of soil-transmitted parasite eggs/cysts in temple grounds of Bangkok Metropolitan, Thailand. J Trop Med Parasitol. 41(2):15-20.

Raza A, Rand J, Qamar AG, Jabbar A and Kopp S. 2018. Gastrointestinal Parasites in Shelter Dogs: Occurrence, Pathology, Treatment and Risk to Shelter Workers. Animals : an open access journal from MDPI, 8(7), 108. https://doi.org/10.3390/ani8070108

Rojekittikhun W, Chaisiri K, Mahittikorn A, Pubampen S, Sa-Nguankiat S, Kusolsuk T, Maipanich W, Udonsom R and Mori H. 2014. Gastrointestinal parasites of dogs and cats in a refuge in Nakhon Nayok, Thailand. The Southeast Asian journal of tropical medicine and public health. 45. 31-9.

Saini VK, Gupta S, Kasondra A, Rakesh RL and Latchumikanthan A. 2016. Diagnosis and therapeutic management of Dipylidium caninum in dogs: a case report. Journal of parasitic diseases : official organ of the Indian Society for Parasitology. 40(4), 1426–1428. https://doi.org/10.1007/s12639-015-0706-9

Sonnberger K, Fuehrer HP, Sonnberger B and Leschnik M. 2021. The Incidence of Dirofilaria immitis in Shelter Dogs and Mosquitoes in Austria. Pathogens. 10. 550. 10.3390/pathogens10050550.

Cfsph.iastate.edu. 2022. [online] Available at: https://www.cfsph.iastate.edu/Factsheets/pdfs/hookworms.pdf [Accessed 21 April 2022].

https://www.esccap.org/guidelines/gl1/

https://www.heartwormsociety.org/veterinary-resources/american-heartworm-society-guidelines

https://www.troccap.com/canine-guidelines/