การป้องกันปรสิตภายใน โดยเฉพาะพยาธิ นับเป็นหนึ่งในการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงเบื้องต้นที่สัตวแพทย์ควรแนะนำให้เจ้าของทำอยู่เป็นประจำ “พยาธิตัวกลม” นับเป็นหนึ่งในปรสิตภายในที่สามารถพบได้บ่อย และป้องกันได้ด้วยการดูแลความสะอาดอย่างเหมาะสม และการใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับการป้องกัน บทความนี้จะพาคุณหมอไปทบทวนความรู้ที่ควรทราบเกี่ยวกับพยาธิตัวกลม และแนวทางการป้องกันเพื่อสามารถให้ความรู้กับเจ้าของได้อย่างเหมาะสมต่อไป
พยาธิตัวกลม (roundworms) ที่สามารถพบได้ในสุนัขมีหลายชนิด เช่น พยาธิไส้เดือน (Toxocara canis) พยาธิปากขอ (Ancylostoma caninum) พยาธิตัวจี๊ด (Gnathostoma spinigerum) และพยาธิหลอดอาหาร (Spirocerca lupi) เป็นพยาธิที่มีแหล่งอาศัยอยู่ภายในระบบทางเดินอาหารเป็นหลัก ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในสุนัข อีกท้ังยังแพร่ระบาดได้ง่ายผ่านทางการปนเปื้อนของอุจจาระ โดยพยาธิหลายชนิดในที่นี้ โดยเฉพาะพยาธิไส้เดือนยังสามารถติดต่อมาสู่มนุษย์ได้ผ่านทางการกินไข่พยาธิซึ่งอาจพบปนเปื้อนมากับดิน หรือสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เกิดปัญหาทางด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะในเด็กเล็กได้อีกด้วย
การติดพยาธิตัวกลม สำหรับลูกสุนัขนับว่ามีความอันตรายเป็นอย่างมาก เพราะอาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้ โดยในลูกสุนัขสามารถติดพยาธิตัวกลมได้จากแม่สุนัขตั้งแต่อยู่ในท้องผ่านทางรก (transplacental transmission) และเมื่อลูกสุนัขคลอดออกมาแล้วยังสามารถติดได้ผ่านทางการกินน้ำนม (transmammary transmission) หรือการได้รับไข่พยาธิซึ่งปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม สำหรับในสุนัขโตสามารถพบการติดพยาธิตัวกลมได้ แต่อาการอาจไม่รุนแรงเท่าในลูกสุนัข โดยมักติดผ่านทางการกินไข่พยาธิซึ่งอาจปนเปื้อนอยู่ภายในดิน สิ่งแวดล้อม หรือการกินสัตว์พาหะที่มีไข่พยาธิภายในร่างกาย เช่น หนู เป็นต้น
วงจรชีวิตของพยาธิตัวกลม เป็นดังนี้
1. พยาธิตัวกลมเพศผู้ และเพศเมียจะผสมพันธุ์กันในลำไส้ของสุนัข จากนั้นพยาธิตัวกลมเพศเมียจะออกไข่เฉลี่ยวันละหลายพันฟองซึ่งจะปนเปื้อนออกมากับอุจจาระของสุนัข ไข่ที่ปนเปื้อนออกมากับอุจจาระจะยังอยู่ในระยะที่ไม่พัฒนา (undeveloped) และไม่ก่อให้เกิดการติดต่อในทันที แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปประมาณ 2-4 สัปดาห์ และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไข่จะพัฒนาเป็นระยะติดต่อซึ่งภายในจะมีตัวอ่อนระยะ L3 อาศัยอยู่ภายใน (embryonated egg with infective third-stage larvae)
2. เมื่อสุนัขได้รับไข่พยาธิระยะติดต่อเข้าสู่ร่างกายผ่านทางการกิน ไข่จะฟัก และปล่อยตัวอ่อนระยะ L3 เข้าสู่ลำไส้ของสุนัข ตัวอ่อนเหล่านี้จะชอนไชเข้าสู่ผนังลำไส้ของสุนัข เข้าสู่หลอดเลือด และเดินทางไปยังตับ และปอด ส่งผลให้เกิดภาวะปอดอักเสบตามมาได้ โดยตัวอ่อนที่อยู่บริเวณปอดจะมีช่องทางต่อไป 2 ช่องทาง คือ
1) ไปยังหลอดลม (tracheal migration) ตัวอ่อนที่เคลื่อนที่จนมาถึงบริเวณปอดจะเดินทางไปยังหลอดลม ซึ่งส่งผลให้สุนัขเกิดการสำลัก สุนัขจะกลืนพยาธิกลับเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร พยาธิเหล่านี้จะเกิดการเจริญเติบโตจนเป็นตัวเต็มวัย (adult) ซึ่งพยาธิไส้เดือนจะสามารถสังเกตได้ชัดเจน ด้วยขนาดความยาวประมาณ 4-6 นิ้ว ลำตัวอวบอ้วน และมีสีขาวทั่วทั้งตัว ในกรณีที่มีพยาธิสะสมภายในร่างกายจำนวนมาก บางครั้งอาจพบพยาธิตัวเต็มวัยปนออกมากับกองอาเจียน และอุจจาระของสุนัขได้
2) ไปยังส่วนอื่นของร่างกาย (somatic migration) ตัวอ่อนที่เคลื่อนที่จนมาถึงบริเวณปอดจะกลับเข้าสู่หลอดเลือดที่ปอด (alveolar blood vessels) และเดินทางต่อไปยังกล้ามเนื้อ และอวัยวะอื่น ๆ พยาธิเหล่านี้จะสร้างถุงหุ้มตัวเอง (encysted larvae) และหยุดการเจริญเติบโตชั่วคราวอยู่ภายในกล้ามเนื้อบริเวณนั้น ๆ แต่เมื่อแม่สุนัขเกิดการตั้งครรภ์ พยาธิจะเกิดการ reactivate ตัวเองอีกครั้ง และเดินทางผ่าน umbilical vein ไปยังลูกสุนัข เกิดเป็นการติดต่อของพยาธิผ่านทางรก และสามารถเดินทางผ่านการกินน้ำนมของลูกสุนัขผ่านทางเต้านม เกิดเป็นการติดต่อของพยาธิผ่านทางเต้านมได้อีกด้วย
สำหรับการป้องกันพยาธิตัวกลมในสุนัขจะแบ่งเป็น 3 กรณี ดังนี้
1. ลูกสุนัข สำหรับลูกสุนัขแนะนำให้เริ่มทำการป้องกันด้วยการถ่ายพยาธิได้ตั้งแต่ลูกสุนัขมีอายุ 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้ซ้ำทุก ๆ 2 สัปดาห์จนลูกสุนัขอายุได้ 12 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของพยาธิที่ติดมาผ่านทางรก และเต้านมของแม่สุนัข ร่วมไปกับการดูแลความสะอาดของสิ่งแวดล้อมเพื่อลดโอกาสการปนเปื้อนของไข่พยาธิ
2. สุนัขโต สัตวแพทย์ควรแนะนำให้เจ้าของใช้ผลิตภัณฑ์ที่ออกฤทธิ์ในการป้องกันพยาธิภายใน ร่วมไปกับการถ่ายพยาธิสุนัขเป็นประจำอย่างน้อย 3 เดือนต่อ 1 ครั้ง ทั้งนี้นอกจากการป้องกันพยาธิตัวกลมแล้ว การถ่ายพยาธิยังช่วยลดโอกาสการสะสม และก่อโรคของพยาธิชนิดอื่น ๆ เช่น พยาธิตัวตืด ได้อีกด้วย โดยตัวยาที่สามารถเลือกใช้ได้มีหลายชนิด เช่น fenbendazole, milbemycin oxime, moxidectin, piperazine และ pyrantel โดยแนะนำให้ยา 2 ครั้งห่างกัน 10-14 วัน หลังจากนั้นควรทำการตรวจอุจจาระเพื่อหาไข่ของพยาธิภายหลังการใช้ยาภายใน 7-14 วัน เพื่อดูประสิทธิภาพของยาในการกำจัดพยาธิ
3. แม่สุนัข เช่นเดียวกับสุนัขโตสัตวแพทย์ควรแนะนำให้เจ้าของใช้ผลิตภัณฑ์ที่ออกฤทธิ์ในการป้องกันพยาธิภายใน ร่วมไปกับการถ่ายพยาธิสุนัขเป็นประจำ สำหรับกรณีที่แม่สุนัขไม่เคยได้รับการถ่ายพยาธิ หรือป้องกันพยาธิภายในมาก่อนอาจพิจารณาให้ยากำจัดพยาธิดังนี้
1. Fenbendazole 25 mg/kg SID PO ตั้งแต่วันที่ 40 ของการตั้งท้องจนถึง 2 สัปดาห์หลังคลอด
2. Ivermectin 0.3 mg/kg SC ที่วันที่ 0, 30, 60 วันของการตั้งท้อง และ วันที่ 10 หลังคลอด
3. Ivermectin 0.5 mg/kg SC ที่วันที่ 38, 41, 44, 47 วันของการตั้งท้อง
4. Ivermectin 1 mg/kg SC ที่วันที่ 20 และ 42 วันของการตั้งท้อง
ทั้งนี้ควรสังเกตอาการของสุนัขภายหลังการใช้ยาทุกครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาแพ้ยาซึ่งอาจเกิดตามมาได้
พยาธิตัวกลมนับเป็นอีกหนึ่งต้นเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในสุนัข สัตวแพทย์ควรทำความเข้าใจ และให้ความรู้กับเจ้าของเพื่อการป้องกันที่เหมาะสม โดยคำนึงถึง 2 ปัจจัยหลัก คือการป้องกันที่ตัวสัตว์ด้วยการแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันพยาธิอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการถ่ายพยาธิเป็นประจำ และการดูแลความสะอาดของสิ่งแวดล้อม เพียงเท่านี้ก็สามารถช่วยดูแลสุขภาพของสุนัข ช่วยให้สุนัขมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
แหล่งอ้างอิง
1. Aly, C. 2016. Roundworms. [online]. Available : https://www.vet.cornell.edu/departments-centers-and-institutes/riney-canine-health-center/health-info/roundworms. Accessed date : 13 March 2023.
2. Andy, M. 2019. Roundworms in Dogs. [online]. Available : https://todaysveterinarypractice.com/parasitology/roundworms-in-dogs/. Accessed date : 2 March 2023.
3. Arliss, P. 2015. Roundworms in Dogs: Symptoms, Treatment, and Prevention. [online]. Available : https://www.akc.org/expert-advice/health/roundworms-in-dogs-symptoms-treatment-and-prevention/. Accessed date : 13 March 2023.
4. Bowman, DD. 2016. Top 5 Transplacental Parasitic Infections in Dogs. [Online]. Available : https://www.cliniciansbrief.com. Accessed date : 13 March 2023.
5. Peregrine, AS. 2022. Roundworms in Small Animals. [Online]. Available : https://www.msdvetmanual.com. Accessed date : 12 March 2023.