พยาธิทางเดินอาหารในแมวนับเป็นปัญหาที่พบบ่อยในแมว โดยเฉพาะแมวกลุ่มที่มีการเลี้ยงปล่อยจะมีอัตราการติดที่สูงมาก ซึ่งแมวเหล่านี้มักจะเป็นพาหะแพร่กระจายโรคมาสู่คนและแมวที่เลี้ยงบริเวณนั้น พยาธิที่พบมีทั้งชนิดที่รูปร่างคล้ายหนอน กลุ่มเฮลมินท์ (helminth) และโปรโตซัว (protozoan parasites) ส่วนมากแมวที่มีพยาธิมักจะแดงอาการที่ไม่เจาะจง โดยพบได้ตั้งแต่ขนยุ่ง ไอ อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายออกมาเป็นมูกหรือเลือดปน เบื่ออาหาร ตัวซีด หรือท้องกาง โดยอาการจำพวกอาเจียน ท้องเสีย โลหิตจาง ตัวแห้งน้ำ นับเป็นอาการที่ทำให้แมวตัวนั้นอ่อนแอ และอาจทำให้ง่ายต่อการติดเชื้อตัวอื่นตามมาได้ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส
กลุ่มพยาธิตัวกลม(Roundworms)
1. พยาธิไส้เดือน (Ascarids)
Toxocaris leonine หรือ Toxocara cati เป็นพยาธิทางเดินอาหารที่พบบ่อยมากที่สุดในแมว โดยเฉพาะในกลุ่มลูกแมว ตัวพยาธิโตเต็มวัยจะมีสีครีมขาว ขนาดยาว 3-5 นิ้ว อาศัยอยู่ในลำไส้ของแมว โดยไม่มีการเกาะติดกับผนังลำไส้ พยาธิจะอาศัยอาหารจากการกินของโฮสต์ ตัวโตเต็มเต็มวัยเพศเมียจะผลิตไข่ออกมาปะปนกับอุจจาระของแมวตัวนั้น ซึ่งจะใช้เวลาอีกหลายวันถึงหลายสัปดาห์ในการที่ไข่พัฒนาไปเป็นตัวอ่อน แมวสามารถติด Toxocara cati ได้โดยการเผลอกินไข่หรือพาหะ เช่น หนูที่มีระยะตัวอ่อนฝังในเนื้อเยื่อ ส่วนลูกแมวสามารถติด ได้โดยการกินตัวอ่อนผ่านทางน้ำนมจากแม่แมว ส่วน Toxocaris leonina แมวสามารถติดได้โดยการกินไข่ตามสิ่งแวดล้อม หรือตัวอ่อนที่อยู่ในเนื้อเยื่อของหนู ซึ่งพยาธิชนิดนี้ไม่สามารถข้ามผ่านทางรกหรือน้ำนมได้ ดังนั้นในลูกแมวที่อายุต่ำกว่า 2 เดือนจะมีโอกาสน้อยมากที่จะเจอพยาธิชนิดนี้
การติดพยาธิตัวกลมมักไม่รุนแรง แต่ลูกแมวที่ติดพยาธิชนิดนี้มักจะแสดงอาการ อาเจียน ท้องเสีย ท้องผูก หรือเบื่ออาหารได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลให้ลูกสัตว์เสียชีวิตได้จากภาวะโลหิตจาง และในบางรายที่มีการติดเชื้อรุนแรงอาจพบภาวะกระเพาะอาหารทะลุได้ ดังนั้นถ้าตรวจพบควรรีบให้การรักษาอย่างทันที ซึ่งการตรวจสามารถทำได้โดยตรวจหาไข่ในอุจจาระภายใต้กล้องจุลทรรศน์ ซึ่งในการรักษามียาหลายชนิดที่สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในแมว แต่เจ้าของสามารถลดความเป็นไปได้ในการติดเชื้อ โดยจำกัดการออกล่าเหยื่อของแมว และให้การรักษาแก่แม่แมวก่อนที่จะตั้งครรภ์ก็จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อในลูกแมวได้ และที่สำคัญในมนุษย์สามารถติด Toxocara ได้โดยจะพบตัวอ่อนไชภายใต้เนื้อเยื่อ อวัยวะภายใน (visceral larval migrans) ต่าง ๆ รวมถึงลูกตา (ocular larval migrans) ได้ ซึ่งอาการจะรุนแรงมากขึ้นในเด็กเล็ก ดังนั้นการป้องกันจึงควรห้ามเด็ก ๆ ไปเล่นบริเวณดินทรายที่มีการปะปนของไข่พยาธิ เพื่อกันการเผลอกินเข้าปาก
2. พยาธิปากขอ (Hookworms)
Ancylostoma พยาธิชนิดนี้จะมีรูปร่างผอมเรียวเป็นเส้นเล็ก ๆ ความยาวของตัวสั้นกว่าครึ่งนิ้ว จะอาศัยโดยเกาะอยู่ที่ผนังของลำไส้ แล้วคอยดูดเลือดจากโฮสต์ เนื่องด้วยขนาดตัวที่เล็กทำให้เวลาปะปนออกมากับอุจจาระ เจ้าของมักสังเกตไม่เห็น พยาธิปากขอมักมีอายุที่ยืนยาวและสามารถอาศัยอยู่ในตัวแมวจนกว่าแมวจะเสียชีวิต
แมวสามารถติดได้โดยการกินหรือโดนตัวอ่อนพยาธิไชผิว (cutaneous larval migrans) ส่วนลูกแมวสามารถติดจากการกินนมแม่ที่มีติดเชื้อ เมื่อโดนไชแล้วพยาธิจะไปต่อที่ปอดและลำไส้ ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นระยะตัวเต็มวัยต่อไป ซึ่งระยะแรกของการติดพยาธิ แมวจะมีอาการท้องเสีย น้ำหนักลด ส่วนในรายที่ติดเชื้อรุนแรง แมวอาจเป็นโรคโลหิตจางได้เนื่องจากเสียเลือดและอาจตายได้ถ้าไม่ได้รับการรักษา ในช่วงนี้แมวมักถ่ายออกมาเป็นสีดำ ซึ่งเป็นสีของเลือดที่ถูกย่อยแล้ว นอกจากนี้พยาธิปากขอยังสามารถติดมายังมนุษย์ได้โดยจะไชเข้าทางผิวหนัง เมื่อมีการสัมผัสดินที่มีการปนเปื้อนเชื้อ คนจะแสดงอาการคัน ระคายเคืองผิวหนังและเห็นรอยไชของพยาธิ
กลุ่มพยาธิตัวแบน (Tapeworms)
ลักษณะรูปร่างที่แบนคล้ายริบบิ้น มีหัวเล็ก ๆ ซึ่งต่อกับร่างกายที่เป็นปล้องภายในบรรจุไปด้วยไข่ ตัวเต็มวัยจะอาศัยในลำไส้เล็ก โดยฝังส่วนหัวเอาไว้ในชั้น mucous membrane ของผนังลำไส้ ปล้องท้ายสุดจะเป็นเป็นปล้องที่สมบูรณ์ที่สุด ซึ่งจะหลุดออกมาปะปนกับอุจจาระสัตว์ โดยเราสามารถสังเกตเห็นปล้องนี้ได้ที่บริเวณหางแมว รูทวาร หรือในอุจจาระ เป็นลักษณะเม็ดแบน ๆ ยาวประมาณ ¼ นิ้ว คล้ายเมล็ดแตงกวา ตัวอ่อนหมัดจะกินไข่พยาธิที่กระจายตามสิ่งแวดล้อม แล้วพัฒนาไปเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อในหมัด ทำให้แมวสามารถรับพยาธิตัวตืดเข้าไปในตัวได้โดยการกินหมัดเข้าไปจากการเลียตัวทำความสะอาดร่างกาย ในกรณีที่ติดพยาธิจำนวนไม่มาก แมวอาจไม่แสดงอาการใด ๆ แต่ในบางตัวอาจมีภาวะขาดสารอาหาร และแสดงอาการไถก้นเนื่องจากมีอาการคัน ในกรณีที่ติดพยาธิ เป็นจำนวนมาก สัตว์จะโตช้า บางตัวมีอาการท้องเสีย สลับกับท้องผูก ขนหยาบสากแห้ง เนื่องจากถูกแย่งสารอาหาร ดังนั้นการป้องกันการติดพยาธิชนิดนี้ ควรที่จะทำการป้องกันปรสิตภายนอกให้แก่สัตว์ควบคู่ไปด้วย
ในประเทศไทยพยาธิที่พบบ่อย ได้แก่ พยาธิไส้เดือน พยาธิปากขอและพยาธิตัวตืด ดังนั้นการป้องกันควรเลือกใช้ยาที่มีประสิทธิภาพออกฤทธิ์ครอบคลุมต่อพยาธิทั้งสามชนิดนี้ได้ ซึ่งจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้แมวเกิดการติดพยาธิ เช่น Praziquantel เป็นยาที่นิยมใช้ในการรักษาพยาธิกลุ่มตัวตืดในแมว เช่น Dipylidium caninum, Taenia taeniaeformis ซึ่งมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง โดยตัวยาจะถูกดูดซึมที่ผนังของพยาธิส่งผลต่อ membrane permeability โดยเฉพาะสภาวะสมดุลของ calcium ion ส่งผลให้กล้ามเนื้อเกิดการหดตัวและมีช่องว่างภายในตัว ทำให้พยาธิตายและระเบิดได้ ยาชนิดนี้สามารถใช้ได้ในลูกแมวตั้งแต่ 6 สัปดาห์ขึ้นไป อีกทั้งยังปลอดภัยกับสัตว์ตั้งครรภ์ ส่วน Eprinomectin เป็นยากลุ่ม macrocyclic lactone จะไปออกฤทธิ์รบกวน glutamate-gated chloride ion channel ที่ทำการแลกเปลี่ยนประจุ chloride ของเซลล์ประสาทและกล้ามเนื้อของกลุ่มพยาธิตัวกลม(nematode) ให้เพิ่มอัตราการไหลเข้ามากขึ้น เกิดเป็น hyperpolarisation ส่งผลให้พยาธิเกิดภาวะอัมพาตและตายได้
ดังนั้นการเลือกใช้ยาต้านปรสิตโดยเฉพาะพยาธิในทางเดินอาหารในแมว คุณหมอจึงควรเลือกให้เหมาะสมกับอายุ วงจรชีวิต พาหะของพยาธิ ชนิดของพยาธิที่เจอ เพื่อวางแผนการรักษา ป้องกันและคุยกับเจ้าของสัตว์เลี้ยงได้อย่างถูกต้อง ถ้ามีการประเมินแล้วว่าแมวตัวนั้นมีโอกาสในการติดพยาธิร่วมกันหลายๆชนิด คุณหมออาจตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ที่สามารถป้องกันและรักษาครอบคลุมต่อพยาธิทุกชนิดดังที่กล่าวมา รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่สามารถต้านปรสิตภายนอกได้ด้วยก็จะเป็นประโยชน์ต่อตัวสัตว์ในการกำจัดปรสิตภายนอกและภายในไปได้ในคราวเดียว
อ้างอิงข้อมูล
1.Gastrointestinal parasites of cats, Cornell feline health center, https://www.vet.cornell.edu/departments-centers-and-institutes/cornell-feline-health-center/health-information/feline-health-topics/gastrointestinal-parasites-cats, (accessed October 22, 2020)
2.Product index: Broadline, Annex1 Summary of product characteristics, Union register, https://ec.europa.eu/health/documents/community-register/2013/20131204127147/anx_127147_en.pdf, (accessed October 22, 2020)