ปัจจุบันแมวถือว่าเป็นสัตว์ที่ได้รับความนิยมในการเลี้ยงมากขึ้น ด้วยความใกล้ชิดระหว่างแมวและคนเลี้ยง ทำให้คนมีโอกาสได้รับเชื้อต่าง ๆ จากแมวได้ โดยข้อมูลจาก CDC (Centers for Disease Control and Prevention) พบว่าโรค zoonosis จากแมวที่มีการรายงานบ่อยที่สุด คือ โรคเชื้อรา, toxoplasmosis, salmonellosis, giardiasis, campyrobacteriosis, พยาธิปากขอ, พยาธิตัวกลม, พยาธิตัวตืด, โรคแมวข่วน, MRSA และโรคพิษสุนัขบ้า
สำหรับบทความนี้จะขอเน้นความสำคัญไปที่ โรคพยาธิ เนื่องจากเป็นโรคสัตว์สู่คนที่สามารถป้องกันได้ง่าย และประเทศไทยยังพบการรายงานอยู่มาก โดยมีการศึกษาพยาธิในทางเดินอาหารสุนัขและแมวที่ติดสู่คนได้ พบว่าพยาธิปากขอ (Ancylostoma spp.), พยาธิไส้เดือน (Toxocara spp.), พยาธิตัวตืด (Spirometra spp., Taenia spp., Dipylidium caninumi), พยาธิตัวกลม (Toxocara spp., Strongyloides spp.), พยาธิใบไม้ (O. viverrine) และพยาธิแส้ม้า (Trichuris spp.) เป็นพยาธิที่พบมาก และพบได้ในหลายพื้นที่ โดยแมวที่ติดพยาธิส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการที่ไม่จำเพาะ ไม่รุนแรง เช่น ซึม ไม่อยากอาหาร ไอ อาเจียน ท้องเสียหรือท้องผูก ซีด พุงโล (pot-bellied) ซึ่งจะขอยกตัวอย่างพยาธิที่พบบ่อย ดังนี้

Intestinal helminth

1. พยาธิปากขอ

พยาธิปากขอที่ติดต่อสู่คนได้แก่ A. ceylanicum , A. caninum และ A. braziliense ในแมวจะติดพยาธิโดยการถูกตัวอ่อนพยาธิไชเข้าผิวหนัง การกินตัวอ่อนในสิ่งแวดล้อม หรือกิน paratenic host เช่น สัตว์ฟันแทะ ส่วนคนจะติดจากการถูกตัวอ่อนในดินหรือทรายไชเข้าผิวหนัง เมื่อถูกพยาธิไช จะทำให้เกิดรอยโรค cutaneous larva migrans เป็นลักษณะผื่น เส้นนูนแดงคดเคี้ยวใต้ผิวหนัง ส่วนมากมักพบในเด็ก เมื่อพยาธิอยู่ในลำไส้จะเกาะผนังลำไส้และดูดเลือดพร้อมหลั่งสารป้องกันการแข็งตัวของเลือด ทำให้ในลูกสัตว์มีโอกาสเสียชีวิตจากภาวะโลหิตจาง และปอดอักเสบจากการเคลื่อนที่ผ่านปอดของพยาธิ

2. พยาธิไส้เดือน

พยาธิไส้เดือนที่พบได้ในแมว ได้แก่ Toxocara cati และ Toxascaris leonina โดย T. cati สามารถติดต่อสู่คนได้ และสามารถติดต่อจากแม่แมวสู่ลูกแมวผ่านทางรกได้ ในแมวและสุนัขพยาธิจะเจริญในลำไส้เล็ก แต่หากมีจำนวนมากอาจพบว่าสัตว์อาเจียนออกมาเป็นพยาธิ สำหรับ paratenic host ได้แก่ กระต่าย หนู นก คน พยาธิจะไชไปอวัยวะต่าง ๆ ผ่าน hepatic portal system ไปอวัยวะภายใน เช่น ตับ ปอด จากนั้นจะถูกกลืนกลับไปทางเดินอาหาร และเจริญเต็มวัยในลำไส้ หรือไชไปในลูกตาทำให้ตาบอด หรือไชไประบบประสาทส่วนกลาง โดยแมวที่ติดพยาธินี้ อาจพบรอยโรคในลักษณะ pulmonary arteriole hypertension ที่อาจพบรอยโรคนี้ได้ในรายที่ติดพยาธิหนอนหัวใจหรือพยาธิในปอดได้เช่นกัน

3. พยาธิตืดหมัด/พยาธิเม็ดแตงกวา (Dipylidium caninum)

พยาธิชนิดนี้สามารถติดต่อสู่คนได้ โดยสุนัข แมว และคนจะติดผ่านทางการกินหมัดสุนัข หมัดแมว หรือเหาสุนัขที่มีไข่พยาธิเข้าไป พยาธิจะเจริญเป็นตัวเต็มวัยในลำไส้เล็ก จากนั้นพยาธิจะปล่อยปล้องที่มีไข่ออกมา โดยอาจพบพยาธิไชออกมาทางก้นของสัตว์ มีลักษณะคล้ายหนอนแมลงวันหรือเม็ดแตงกวา จากนั้นไข่จะตกสู่สิ่งแวดล้อม และรอให้หมัดมากิน เพื่อเจริญเติบโตต่อไป

4. Echinococcus spp.

ชนิดที่ก่อโรคมาก พบว่ามี 2 ชนิด ได้แก่ E. multilocularis ที่พบมากในสุนัข แต่ก็สามารถพบในแมวได้ สุนัขและแมวจะติดโดยการกินหนู (intermediate host) และคนติดโดยการกินไข่ที่ปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อม จะก่อโรค Alveolar echinococcosis คือ มี parasitic tumor ในอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะปอด ตับ สมอง แม้จะมีการรายงานโรคน้อยแต่เป็นโรคที่มีความรุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิตสูง อีกชนิดคือ E. granulosus พบในสุนัข พยาธิจะก่อโรค Cystic echinococcosis (หรือ hydatid disease) ทำให้เกิด cyst ในอวัยวะต่าง ๆ

Extraintestinal helminth

1. Paragonimus spp.

. ในประเทศไทยพบเพียง 2 ชนิด คือ P. westermani และ P. heterotremus ตัวอ่อนพยาธิจะไชเข้าสู่หอย จากนั้นจะเจริญและไชเข้าสู่ปูหรือกุ้งน้ำจืด คนจะติดจากการกินปูหรือกุ้งน้ำจืดที่มีเชื้อ ส่วนแมวอาจติดจากการกินปูหรือกุ้งน้ำจืดหรือสัตว์อื่นที่มีเชื้ออยู่ได้ด้วย เช่น หนู จากนั้นตัวอ่อนจะไชเข้าสู่ปอด ฝังตัวเป็น cyst เมื่อเจริญเต็มวัยจะปล่อยไข่ออกมาทาง bronchioles เมื่อสัตว์ไอแล้วกลืนไข่ลงไป ไข่จะถูกขับออกมากับอุจจาระ

2. Opisthorchis spp.

. มี 2 ชนิด ได้แก่ O. felineus (cat liver fluke) และ O. viverrini (Southeast Asian liver fluke) ซึ่ง O. viverrini พบมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีการระบาดมากในทุกภาคของประเทศไทย ทั้ง 2 ชนิด สามารถติดสู่คคนได้ไข่พยาธิจะออกมากับมูลสัตว์ แล้วเข้าสู่หอยน้ำและปลา แมวและคนจะติดจากการกินปลาที่มีตัวอ่อนพยาธิอยู่ โดยพยาธิจะเคลื่อนที่ผ่าน minor duodenal papillae ไปสู่ bile duct เพื่อเจริญเป็นตัวเต็มวัย แต่ก็อาจพบพยาธิในตับอ่อนได้ในบางราย พยาธิจะทำให้มีการอักเสบของผนัง bile duct และตับ แมวส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ แต่หากมีพยาธิจำนวนมากอาจทำให้มีอาการดีซ่าน ช่องท้องขยาย สุขภาพขนไม่ดีหรือขนร่วงแบบไม่สมมาตร และในระยะยาวอาจทำให้เกิดมะเร็งตับและท่อน้ำดีได้

การวินิจฉัย

สำหรับพยาธิที่เป็น intestinal helminth จะใช้การตรวจอุจจาระเป็นหลัก ซึ่งตัวอย่างอุจจาระดังกล่าว ควรเก็บมาไม่เกิน 24 ชั่วโมง ปริมาณ 1-2 กรัม หากอุจจาระมีลักษณะนิ่ม มีน้ำปนมากควรเก็บ 4 กรัม หรือปริมาณเท่าเหรียญบาท สำหรับวิธีตรวจ ได้แก่ Direct smear โดยใช้ NSS หยดบนตัวอย่างอุจจาระ และส่องใต้กล้องเพื่อดูลักษณะของพยาธิ เม็ดเลือดแดง และเชื้อโปรโตซัว, Fecal Floatation เหมาะสำหรับการตรวจหาไข่พยาธิที่ไม่มีฝา เช่น พยาธิไส้เดือน พยาธิปากขอ โดยสารละลายที่นิยมใช้ ได้แก่ sodium nitrate, zinc sulfate, magnesium sulfate, sodium chloride และ sucrose ควรทำการปั่นเหวี่ยงด้วย เนื่องจากมีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่าง floatation และ centrifugal floatation พบว่าหากไม่ทำการปั่นเหวี่ยงจะมีโอกาสพบ false negative มากกว่า และพบจำนวนไข่พยาธิน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ, Sedimentation เหมาะกับการตรวจหาไข่พยาธิตัวตืด, Baermann technique เพื่อหาพยาธิในปอดแมว ส่วนพยาธิที่เป็น extraintestinal helminth สามารถตรวจได้จากระบบที่ก่อโรค เช่น Capillaria plica ตรวจหาได้จากปัสสาวะ, Dirofilaria immitis ตรวจหาได้จากเลือด เป็นต้น

การป้องกันและกำจัดพยาธิ

ปัจจุบันยาที่ใช้ป้องกันและกำจัดปรสิต มีทั้งหมด 6 กลุ่ม ได้แก่ 1. Benzimidazole ได้แก่ febantel, fenbendazole, 2. Cyclic depsipeptide ได้แก่ emodepside, 3. Isoquinolones ได้แก่ epsiprantel, praziquantel, 4. Macrocyclics ได้แก่ ivermectin, milbemycine oxime, moxidectin, selamectin, eprinomectin, 5. Piperazines ได้แก่ piperazine และ 6. Tetrahydropyrimidines ได้แก่ pyrantel โดยยาที่ออกฤทธิ์ต่อ nematode ได้ ยกเว้นกลุ่ม piperazine ไม่สามารถออกฤทธิ์ต่อ hookworm และกลุ่ม isoquinolones ไม่สามารถออกฤทธิ์ต่อ nematode ได้แต่ออกฤทธิ์ต่อ cestode ได้ รวมถึงกลุ่ม benzimidazole ก็สามารถออกฤทธิ์ต่อ cestode ยกเว้น dipylidium ได้
สำหรับแนวทางการถ่ายพยาธิที่แนะนำโดย ESCCAP 6th edition, May 2021 (European Scientific Counsel Companion Animal Parasites) แนวทางหลัก จะแบ่งแมวออกเป็น 2 กลุ่มตามความเสี่ยงการรับพยาธิ คือ

1. กลุ่มแมวเลี้ยงในบ้าน

โดยกลุ่มนี้มีโอกาสสัมผัสพยาธิในสิ่งแวดล้อมน้อยมาก ไม่ค่อยนิยมล่าสัตว์ฟันแทะ ควรได้รับการตรวจอุจจาระ อย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง โดยเน้นตรวจหาพยาธิตัวกลม และให้การรักษาเมื่อพบพยาธิ หรือให้ยารักษากรณีติดพยาธิตัวกลม อย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง

2. กลุ่มแมวที่เลี้ยงนอกบ้าน

โดยแมวกลุ่มนี้มีโอกาสสัมผัสเชื้อในสิ่งแวดล้อม และมักมีนิสัยล่าสัตว์ฟันแทะ ควรได้รับการตรวจอุจจาระอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง โดยเน้นหาพยาธิตัวกลมและพยาธิตัวตืด และรักษาตามที่พบ หรือให้ยารักษากรณีติดพยาธิตัวกลมและพยาธิตัวตืด อย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง

ส่วนกรณีที่ต้องการป้องกันแบบเน้นพยาธิแต่ละชนิด จะมีแนวทางดังต่อไปนี้

1. พยาธิตัวกลม

แม่แมวควรได้รับการหยดยาถ่ายพยาธิชนิด emodepside ก่อนคลอด 7 วัน และถ่ายพยาธิอีกครั้งที่ 3 สัปดาห์หลังคลอด ส่วนลูกแมวควรได้รับการถ่ายพยาธิครั้งแรกที่อายุ 3 สัปดาห์ และถ่ายพยาธิซ้ำทุก 2 สัปดาห์ จนกว่าจะหย่านม และหลังจากนั้นทุก ๆ เดือนจนอายุครบ 6 เดือน สำหรับแมวจรจัดและแมวเลี้ยงร่วมกับผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ควรได้รับการตรวจอุจจาระและถ่ายพยาธิทุกเดือน

2. พยาธิตัวตืด

ในแมวที่กินเนื้อดิบ หรือมีนิสัยชอบล่าสัตว์ ควรได้รับการถ่ายพยาธิอย่างน้อย 4 ครั้งต่อปี และหยดยากำจัดหมัดร่วมด้วย

3. พยาธิหนอนหัวใจ

ในแมวที่อาศัยในพื้นที่ที่มีการระบาด ควรได้รับยาป้องกันพยาธิหนอนหัวใจทุกเดือน หากเป็นแมวที่จะนำเข้า/ส่งออกจากพื้นที่ที่มีการระบาดควรได้รับยาป้องกันหลังย้ายเข้าพื้นที่และก่อนออกพื้นที่ภายใน 30 วัน
อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญในการป้องกันพยาธิภายนอกและภายใน คือนอกจากการป้องกันบนตัวสัตว์แล้ว ยังควรป้องกันในสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย เช่น ควรเปลี่ยนกระบะทรายทุกวัน และทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้ออย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง ไม่ให้เนื้อดิบแก่สัตว์ ไม่ให้อาหารบนดินหรือปล่อยให้ล่าสัตว์ รวมทั้งให้ยาป้องกันหมัดและไข่หมัด เนื่องจากหมัดจะวางไข่บนตัวสัตว์ จากนั้นไข่จึงจะตกสู่สิ่งแวดล้อมและเจริญต่อไป หากสามารถกำจัดได้ตั้งแต่ระยะไข่ จะทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เอกสารอ้างอิง

European Scientific Counsel Companion Animal Parasites. Worm Control in Dogs and Cats ESCCAP Guideline 01 Sixth Edition – May 2021. ESCCAP. 2021

Centers for Disease Control and Prevention. DPDx – Laboratory Identification of Parasitic Diseases of Public Health Concern. https://www.cdc.gov/dpdx/index.html