พยาธิที่สำคัญในลูกสุนัขและแมว
ปัญหาพยาธิในสัตว์เลี้ยงนั้น ถือเป็นปัญหาที่สำคัญที่พบได้บ่อยในสุนัขและแมวในประเทศไทย อีกทั้งพยาธิบางชนิดสามารถติดต่อสู่คนได้อีกด้วย เนื่องจากช่วงลูกสัตว์ถือเป็นช่วงที่ระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่เต็มที่ จึงมีโอกาสติดพยาธิมากกว่าสัตว์ที่โตเต็มวัย ในบทความนี้ผู้เขียนจึงขอกล่าวถึงพยาธิที่สำคัญในลูกสุนัขและแมว อันได้แก่ พยาธิทางเดินอาหารและพยาธิหนอนหัวใจ ตั้งแต่ชนิดของพยาธิ อาการของสัตว์ป่วย ตลอดแนะนำแนวทางการป้องกัน ดังต่อไปนี้
พยาธิทางเดินอาหาร
พยาธิทางเดินอาหารที่สำคัญในลูกสุนัขและลูกแมว ได้แก่ พยาธิไส้เดือน และพยาธิปากขอ อันตรายของพยาธิสองชนิดนี้คือการไปแย่งสารอาหาร หรือทำลายผนังกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้การย่อยและดูดซึมสารอาหารของสัตว์ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร สารอาหารจึงไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ ส่งผลให้ลูกสัตว์เจริญเติบโตช้า ขนหยาบ และภูมิคุ้มกันต่ำ นอกจากนี้การติดพยาธิในช่วงที่ลูกสัตว์ต้องได้รับวัคซีน ยังอาจส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพของการกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส ทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้เต็มที่ เสี่ยงต่อการติดโรคต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น
- พยาธิไส้เดือน
พยาธิไส้เดือนเป็นพยาธิที่พบได้บ่อยในลูกสัตว์ ทั้ง Toxocara canis ในสุนัข และ Toxocara cati ในแมว โดยที่ลูกสัตว์สามารถติดพยาธิชนิดนี้จากแม่ตั้งแต่ช่วงตั้งท้อง ผ่านทางน้ำนมแม่ หรือติดทางการกินไข่พยาธิที่ปนเปื้อนในอุจจาระที่อยู่ที่ตัวแม่หรือในสิ่งแวดล้อม โดยตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้จะชอนไชผ่านอวัยวะภายในต่าง ๆ เช่น ทางเดินหายใจ ส่งผลให้ลูกสัตว์มีอาการไอ มีน้ำมูก รวมไปถึงปอดบวมได้ หรือในลูกสุนัขหากเป็นมาก ๆ อาจพบลักษณะที่เรียกว่า "pot bellieds" คือ ผอม ทองกาง ขนแห้งหยาบ หรือบางครั้งอาจพบตัวพยาธิปนมากับอุจจาระหรืออาเจียนได้ นอกจากนี้ในเด็กที่ไม่มีสุขอนามัยที่ดี ยังอาจได้รับไข่พยาธิในระยะติดต่อจากการกินน้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อนอุจจาระของสัตว์เลี้ยง ซึ่งตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้สามารถชอนไชไปยังอวัยวะต่าง ๆ ได้ ทั้งตับ ปอด สมอง หรือตา เป็นต้น
- พยาธิปากขอ
พยาธิปากขอหรือ Ancyclostoma caninum ในสุนัข หรือ Ancyclostoma ceylanicum ในแมว ถือเป็นพยาธิอีกชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญ โดยสุนัขและแมวสามารถติดพยาธิชนิดนี้ได้หลายช่องทาง ทั้งการกิน ทางบาดแผล หรือลูกสัตว์อาจติดจากแม่ตั้งแต่ช่วงที่กำลังตั้งท้อง หรืออาจติดผ่านทางน้ำนมจากแม่ที่ติดพยาธิได้ และพยาธิชนิดนี้มักจะอาศัยอยู่ในลำไส้เล็กและดูดเลือดสัตว์เป็นอาหาร จึงทำให้สุนัขและแมวแสดงอาการป่วยที่รุนแรงมากกว่าการติดพยาธิชนิดอื่น ๆ เช่น อ่อนแรง ขนหยาบ แคระแกร็น ท้องเสียแบบมีเลือดปน ในกรณีลูกสัตว์ที่ติดพยาธิในปริมาณมาก อาจพบภาวะโลหิตจางร่วมด้วย นอกจากอันตรายต่อสุนัขและแมวแล้ว พยาธิชนิดนี้ยังเป็นอันตรายต่อคนอีกด้วย โดยเฉพาะชนิด A. ceylanicum ที่เป็นโรคสัตว์ติดคน (zoonoses) ที่สำคัญในประเทศไทย
การป้องกันพยาธิทางเดินอาหาร อ้างอิงจากคำแนะนำของ TroCCAP กล่าวว่าสามารถเริ่มให้ยาถ่ายพยาธิที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดพยาธิปากขอและพยาธิไส้เดือนได้ตั้งแต่ลูกสัตว์อายุ 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้ยาถ่ายพยาธิซ้ำทุก ๆ 2 สัปดาห์ จนกระทั่งอายุ 10 สัปดาห์ และให้การป้องกันอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ นอกจากนี้การป้องกันพยาธิในแม่สัตว์ก่อนที่จะตั้งครรภ์ยังช่วยลดโอกาสการติดพยาธิในลูกสัตว์ได้
พยาธิหนอนหัวใจ
พยาธิหนอนหัวใจในสุนัขและแมว มีสาเหตุมาจากพยาธิตัวกลมที่มีชื่อว่า Dirofilaria immitis ที่มีพาหะคือยุงสายพันธุ์ Aedes spp. และ Culex spp. โดยส่วนใหญ่สุนัขมักไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการเล็กน้อย แต่กรณีที่ติดพยาธิในปริมาณมาก สุนัขจะแสดงอาการไอ ไม่อยากเคลื่อนไหว เบื่ออาหาร เป็นต้น หรือกรณีที่พยาธิไปอุดตันการไหลเวียนของเลือดที่หัวใจห้องล่างขวา และ caudal vena cava อาจทำให้สุนัขมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตจากภาวะที่เรียกว่า Caval syndrome
นอกจากนี้แมวก็สามารถเป็นโฮสต์ของพยาธิหนอนหัวใจได้เช่นกันแม้พบได้ไม่บ่อยเท่ากับสุนัข แต่พบว่าหากแมวติดพยาธิหนอนหัวใจแล้วมักมีอาการที่รุนแรงมาก นั่นคือ อาการทางระบบทางเดินหายใจ (Heartworm-associated respiratory disease; HARD) โดยจะพบว่าแมวมีอาการไออย่างไอรุนแรง (asthma-like attacks) อาเจียน เบื่ออาหาร ยิ่งไปกว่านั้นหากพยาธิเคลื่อนที่ไปยังอวัยะอื่น ๆ อาจทำให้แมวเสียชีวิตแบบเฉียบพลันได้
การป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ อ้างอิงจาก American heartworm society กล่าวว่าสามารถเริ่มทำการป้องกันได้ตั้งแต่สัตว์อายุ 2 เดือน ส่วนกรณีที่สัตว์อายุมากกว่า 6 เดือนและยังไม่เคยป้องกันพยาธิหนอนหัวใจมาก่อน หรือเจ้าของไม่ได้ป้องกันอย่างสม่ำเสมอ สัตวแพทย์ควรทำการตรวจแอนติเจนของพยาธิหนอนหัวใจตัวเต็มวัยก่อนที่จะเริ่มโปรแกรมทุกครั้ง และนอกจากการให้ยาป้องกันตัวพยาธิโดยตรงแล้ว ยังควรป้องกันยุงที่เป็นพาหะของโรค ด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฤทธิ์ไล่ยุ่ง หรือกำจัดยุงร่วมด้วย
สรุป
จากข้างต้นจะเห็นว่าพยาธิในทางเดินอาหารและพยาธิหนอนหัวใจ เป็นอันตรายต่อทั้งลูกสุนัขและลูกแมวมาก แต่อย่างไรก็ตามเรายังสามารถป้องกันได้ด้วยการให้ยาถ่ายพยาธิ ยาป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ และการกำจัดยุงที่เป็นพาหะของพยาธิหนอนหัวใจได้ ทั้งนี้ก่อนที่จะเลือกให้ยาหรือผลิตภัณฑ์ดังกล่าว สัตวแพทย์ควรพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ร่วมด้วย ทั้งเรื่องอายุของสัตว์ ชนิดของพยาธิ หรือพาหะของพยาธิ อีกทั้งยังควรพูดคุยกับเจ้าของสัตว์เพื่อประเมินความเสี่ยงในการติดพยาธิแต่ละชนิด โดยหากประเมินแล้วพบว่าสัตว์มีโอกาสในการติดพยาธิมากกว่าหนึ่งชนิด อาจเลือกผลิตภัณฑ์ที่สามารถป้องกันและรักษาอย่างครอบคลุม เพื่อการป้องกันที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
เอกสารอ้างอิง :
1. Adolph C. 2015. Top 5 GI parasites in companion animal practice. Clinician’s Brief. p. 11-14.
2.American Heartworm Society. 2020. Current Canine Guidelines for the Prevention, Diagnosis, and Management of Heartworm (Dirofilaria immitis) Infection in Dogs. https://www.heartwormsociety.org.
3.Lee. A.C.Y. and Atkins, C.E. 2010. Understanding Feline Heartworm Infection: Disease, Diagnosis, and Treatment. Topical in companion animal medicine. Volume 25, Number 4. 224-230.
4.Mandese,W. 2014. Feline Heartworm infection. Clinician’s brief. 69-71.
5.TroCCAP. 2019. Guideline for the diagnosis, treatment and control of canine endoparasites in the tropics. second edition. TroCCAP_Canine_Endo_Guidelines_English_Ver2.pdf