จากข้อมูลปี ค.ศ. 2022 โดยอ้างอิงจาก American Animal Hospital Association (AAHA) สามารถจำแนกวัคซีนที่ใช้ในสัตว์เลี้ยงได้เป็น 4 ประเภทตามคุณลักษณะของวัคซีนได้ดังนี้

1. วัคซีนเชื้อเป็น (Attenuated/ Live/ Modified live Vaccine)

คือวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อก่อโรคมีชีวิตที่ถูกนำไปผ่านกระบวนการเพื่อทำให้เชื้ออ่อนแรง เชื้อจะสามารถแบ่งตัวหรือเพิ่มจำนวนได้อย่างจำกัด ทำให้ไม่สามารถก่อโรครุนแรงในสัตว์ที่ได้รับวัคซีนได้ แอนติเจนที่เชื้อผลิตขึ้นในเซลล์ (intracellular antigen) จะถูกนำเสนอให้เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันเห็นผ่านทาง antigen presenting cells (APCs) โดยการใช้ major histocompatibility complex (MHC) class I ในขณะที่เชื้อบางส่วนที่ตายและลอยอยู่นอกเซลล์ (extracellular antigen) จะถูก APCs เก็บกินและถูกนำเสนอผ่าน MHC Class II ทำให้วัคซีนชนิดนี้สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ (adaptive immunity) ได้ทั้ง 2 ชนิด คือ ทั้งแบบพึ่งเซลล์ (cell mediated immune response; CMI) ผ่านการสร้าง cytotoxic T cells ซึ่งเซลล์ชนิดนี้มีบทบาทสำคัญในการหาและกำจัดเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส และแบบพึ่งสารน้ำ (humoral immune response; HMI) ที่จะกระตุ้นการสร้างแอนติบอดี (antibody; Ab) ซึ่งมีด้วยกันหลายชนิด ได้แก่ IgM, IgG, IgA, IgD และ IgE แต่ชนิดที่สำคัญคือ IgG ซึ่งทำหน้าคอยดักจับเชื้อที่อยู่นอกเซลล์ที่ลอยเข้ามาทางกระแสเลือดเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าสู่เซลล์ และอีกชนิดที่เริ่มให้ความสำคัญกันมากขึ้นคือ secretory IgA ที่จะคอยดักจับเชื้อบริเวณทางเดินหายใจหรือทางเดินอาหาร ชนิดของ Ig ที่จะถูกเหนี่ยวนำให้สร้างว่าจะเป็นชนิดใดนั้น จะขึ้นอยู่กับช่องทางการบริหารทำวัคซีน เช่น ให้วัคซีนด้วยการฉีด ป้อน หรือหยอดจมูก เป็นต้น รวมไปถึงชนิดของเชื้อด้วยว่าเป็น ไวรัส แบคทีเรีย หรือ ปรสิต จากนั้นระบบภูมิคุ้มกันจะประมวลสัญญาณทั้งหมด ก่อนกระตุ้นให้เกิดการสร้าง Ab ชนิดที่เหมาะสมในการกำจัดเชื้อชนิดนั้น ๆ โรคระบาดในสุนัขและแมวที่เป็นอันตรายถึงชีวิต โดยมากมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส ซึ่งต้องอาศัยการป้องกันและกำจัดเชื้อทั้งจาก Ab และ cytotoxic T cells การทำวัคซีนเชื้อเป็นจึงเหมาะสมและเป็นที่นิยม ด้วยคุณลักษณะของวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อเป็นจึงมีความหลากหลายของแอนติเจน (broad antigenic profile) ซึ่งช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันรับรู้ เรียนรู้ และจดจำรูปร่างหน้าตาของเชื้อได้ดี ส่งผลให้สร้างภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะต่อแอนติเจนของเชื้อได้หลากหลายตามไปด้วย ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อจึงมีความจำเพาะสูงและอยู่ได้เป็นระยะเวลานาน (strong and long-lasting immune response) โดยเรียกระยะนี้ว่า duration of immunity (DOI) ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สัตว์ที่ได้รับวัคซีน มีภูมิคุ้มกันหลังทำวัคซีนเพียงพอที่จะป้องกันโรค จากข้อมูลที่ได้จากงานวิจัย วัคซีนเชื้อเป็นสำหรับเชื้อไวรัสก่อโรคที่สำคัญในสุนัขและแมวสามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะโดยมี DOI อย่างน้อย 3 ปี และสามารถเหนี่ยวนำให้สร้างเซลล์ภูมิคุ้มกันที่จดจำเชื้อได้นาน (long-lived memory cells) ซึ่งช่วยป้องกันการติดเชื้อได้อีกทาง แม้ว่าจะเกินระยะ DOI ของวัคซีนแล้ว
ข้อควรระวังของการเลือกใช้วัคซีนชนิดนี้คือ ต้องซื้อวัคซีนจากแหล่งผลิตที่มีมาตรฐานเพราะมีบางกรณีที่กระบวนการผลิตไม่เหมาะสมทำให้เชื้อไวรัสจากวัคซีนก่อโรครุนแรงและทำให้เกิดการระบาดของโรคได้ ในประเทศไทยวัคซีนที่นำเข้ามาใช้ส่วนใหญ่จะผลิตจากบริษัทชั้นนำที่มีมาตรฐานในระดับสากล ทำให้ปัญหาการก่อโรคของวัคซีนน้อยมาก อีกข้อที่ควรระวังคือ การทำวัคซีนในสัตว์เลี้ยงอายุน้อยที่มักประสบปัญหาทำวัคซีนแล้วล้มเหลวจากอิทธิพลของ maternally derived antibodies (MDA) ทำให้บางบริษัทเริ่มนำเชื้อไวรัสที่เป็น “high-titer, low-passage” มาใช้ ซึ่งการผลิตจะใช้เชื้อเป็นในปริมาณมากขึ้นและรุนแรงขึ้น เพื่อหวังผลให้ชนะอิทธิพลของ MDA ดังนั้น ถ้าจะเลือกใช้วัคซีนเชื้อเป็นชนิดนี้ ต้องมั่นใจว่าลูกสุนัขและแมวอยู่ในสภาพแข็งแรง มีระดับโภชนการที่เหมาะสม ไม่อยู่ในกลุ่มที่ต้องสงสัยว่าอยู่ในภาวะ immunocompromised เช่น กำลังป่วย อยู่ระยะพักฟื้นตั้งครรภ์ มีประวัติเป็นแมวที่ติดเชื้อ FIV หรือ FeLV หรืออยู่ระหว่างการกินยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น เพราะอาจเป็นสาเหตุให้สัตว์ป่วยได้ หรือภูมิคุ้มกันขึ้นได้ไม่ดีเท่าที่ควร และข้อที่ควรระวังสุดท้ายคือ ขั้นตอนการเตรียมและการบริหารวัคซีนเชื้อเป็น โดยส่วนใหญ่วัคซีนเชื้อเป็นจะอยู่ในรูปแบบ lyophilized ที่ต้องผสมกับ diluent การเตรียมวัคซีนชนิดนี้ควรเตรียมก่อนใช้ทันที ไม่ควรผสมวัคซีนเชื้อเป็นทิ้งไว้ล่วงหน้าเกิน 15-30 นาทีหรือวางทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องเพราะจะทำให้เชื้อไวรัสในวัคซีนตายได้ ส่งผลให้เชื้อขาดคุณสมบัติที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะชนิดพึ่งเซลล์ โดยเฉพาะวัคซีนป้องกัน CDV หรือวัคซีนป้องกัน FHV-1 ที่เชื้อจะค่อนข้างอ่อนแอ และการบริหารวัคซีนเชื้อเป็นให้กับสัตว์ด้วยวิธีการฉีด สัตวแพทย์ควรหลีกเลี่ยงการเช็ดแอลกอฮอล์บริเวณที่จะทำการฉีด หรือควรรอจนกว่าแอลกอฮอล์จะแห้งสนิทก่อนฉีด

2. วัคซีนเชื้อตาย (Killed/ inactivated vaccine)

คือวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อทั้งตัวที่ถูกนำไปผ่านกระบวนการเพื่อทำให้เชื้อตายสนิท ไม่สามารถก่อโรคในสัตว์ได้ แต่ตัวโครงสร้างของเชื้อที่มีแอนติเจนคงเหลืออยู่บริเวณผิวนอกจะยังสามารถกระตุ้นเซลล์ในเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันได้ โดยเชื้อตายในวัคซีนเมื่อถูกบริหารเข้าสู่ตัวสัตว์จะลอยอยู่นอกเซลล์ จากนั้นจะถูก APCs เก็บกินและถูกนำเสนอผ่าน MHC Class II ให้กับเซลล์ T helper cell โดยเฉพาะ T-helper 2 และ T-follicular helper ซึ่งสัญญาณที่ได้จากการนำเสนอแอนติเจนผ่าน MHC Class II จะกระตุ้น HMI เพื่อสร้าง Ab ที่มีความจำเพาะกับเชื้อ จึงเหมาะสำหรับใช้ป้องกันเชื้อที่อยู่ภายนอกเซลล์ เช่น กลุ่มปรสิต หรือแบคทีเรียบางชนิด เนื่องจากเชื้อตายในวัคซีนไม่สามารถเข้าสู่เซลล์และเพิ่มจำนวนได้ เชื้อจึงไม่สามารถถูกนำเสนอผ่าน MHC Class I ทำให้ไม่สามารถกระตุ้น CMI ได้หมือนการใช้วัคซีนเชื้อเป็น ข้อดีของวัคซีนเชื้อตายคือ มีความปลอดภัยกว่าวัคซีนเชื้อเป็นเพราะสามารถใช้ได้ในสัตว์ที่มีภาวะ immunocompromised อีกทั้งมีความหลากหลายของแอนติเจนคล้ายวัคซีนเชื้อเป็น ขั้นตอนการผลิตไม่ยุ่งยากและราคาไม่แพง แต่ด้วยคุณลักษณะของวัคซีนที่เป็นเชื้อตาย เชื้อเข้าสู่เซลล์ไม่ได้และเพิ่มจำนวนไม่ได้ ทำให้เชื้อส่วนใหญ่สามารถถูกกลไกของระบบภูมิคุ้มกันแบบไม่จำเพาะของร่างกายกำจัดเชื้อออกไปได้โดยที่ไม่กระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ วัคซีนเชื้อตายจึงมักมีการผสมสารเสริมฤทธิ์ (adjuvant) เข้าไปเพื่อช่วยคงสภาพเชื้อตายให้คงอยู่เป็นกลุ่มก้อนและค่อยๆปลดปล่อยแอนติเจนออกมา จึงช่วยในเรื่องของการส่งสัญญาณให้กับระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันได้สูงขึ้นและส่งเสริมให้การสร้างภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างรไรตาม ข้อเสียของวัคซีนเชื้อตายคือต้องกระตุ้นวัคซีนบ่อยกว่าวัคซีนเชื้อเป็นเนื่องจากมีระยะ DOI สั้นและส่วนมากมักไม่สามารถเหนี่ยวนำให้เกิด long-lasting immune response ได้ ประกอบกับ adjuvant บางชนิดสามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ภาวะ feline injection-site sarcomas (FISS) ซึ่งพบอุบัติการณ์นี้ในแมวที่ฉีดวัคซีนเชื้อตาย FeLV หรือ rabies ที่ผสม aluminum ในสัดส่วน 1: 5,000-12,500 ตัว จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการทำวัคซีนที่มีส่วนผสมของ adjuvant ถ้าจำเป็นต้องให้ ควรเลือกฉีดวัคซีนเชื้อตายที่มีส่วนผสมของ adjuvant ในบริเวณที่ง่ายแก่การผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออก เช่น บริเวณขาหลังท่อนล่าง ข้างลำตัว หรือที่หาง ร่วมกับการฉีดสลับตำแหน่ง ไม่ควรฉีดวัคซีนที่ตำแหน่งเดิมซ้ำๆ

3. วัคซีนที่ใช้ส่วนหนึ่งของเชื้อก่อโรค

คือ วัคซีนที่ผลิตโดยไม่ใช้เชื้อก่อโรคทั้งตัว แต่จะใช้เพียงผนังเซลล์หรือองค์ประกอบบางส่วนของเชื้อ เช่น แอนติเจนที่เปลือกของเชื้อหรือโปรตีนบางอย่างของเชื้อที่ต้องการให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันมาต่อต้านเพื่อป้องกันโรคที่ก่อโดยเชื้อนั้น วัคซีนประเภทนี้สามารถแบ่งย่อยได้เป็น 2 รุ่น ด้วยกัน ดังนี้
3.1 วัคซีนรุ่น second generation จะได้แก่ วัคซีนที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein Subunit Vaccine) ซึ่งผลิตโดยตัดต่อสารพันธุกรรมของเชื้อก่อโรคเข้าไปในสารพันธุกรรมของพลาสมิดที่ใช้สำหรับการแสดงออกของยีน (Expression plasmid) แล้วนำพลาสมิดนั้นไปใส่ในเซลล์เพาะเลี้ยงเพื่อให้ช่วยผลิตแอนติเจนหรือโปรตีนของเชื้อก่อโรค (subunit protein) ที่ต้องการให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อต้านเพื่อป้องกันโรคที่ก่อโดยเชื้อนั้น แอนติเจนหรือโปรตีนของเชื้อก่อโรคที่เซลล์เพาะเลี้ยงผลิตได้จะถูกนำไปผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์เพื่อผลิตออกมาเป็นวัคซีนสำหรับใช้งาน วัคซีนชนิดนี้จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อแอนติเจนหรือโปรตีนของเชื้อก่อโรคที่สำคัญเพียงชนิดเดียวที่สำคัญต่อการป้องกันโรค หรือสามารถออกแบบให้เซลล์เพาะเลี้ยงผลิตแอนติเจนหรือโปรตีนหลายๆชนิดเพื่อให้มาประกอบร่างรวมกันเป็นโปรตีนสังเคราะห์ชนิดใหม่ที่มีแอนติเจนมากกว่าหนึ่งชนิดได้ (chimeric protein) ทำให้เมื่อนำไปใช้งาน จะช่วยเพิ่มความสามารถในการกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ป้องกันแอนติเจนของเชื้อได้หลากหลายชนิดขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นสามารถออกแบบเพื่อทำให้แอนติเจนเหล่านั้นมาประกอบร่างกันจนมีรูปร่างคล้ายไวรัส (viral-like particle) ได้ ซึ่งจะช่วยทำให้โครงสร้างโปรตีนสังเคราะห์มีความเสถียรกว่าแบบแอนติเจนชนิดเดียว มีความหลากหลายของแอนติเจนสูงขึ้น ทำให้ส่งสัญญาณกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพราะมีรูปร่างที่ชัดเจนคล้ายเชื้อจริง แต่อย่างไรก็ตาม แอนติเจนหรือโปรตีนที่สังเคราะห์นี้มักมีรูปร่างหรือโครงสร้างไม่เสถียร จึงถูกย่อยสลายและทำลายได้ง่ายโดยกลไกของระบบภูมิคุ้มกันแบบไม่จำเพาะของร่างกาย ทำให้ส่งสัญญาณให้ระบบภูมิคุ้มกันได้ไม่นานหรือไม่มากพอที่จะกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ จึงต้องนำไปผสมกับ adjuvant เช่น aluminum หรือผนังของแบคทีเรียที่เป็น polysaccharide เพื่อให้การส่งสัญญาณให้ระบบภูมิคุ้มกันมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะได้ วัคซีนกลุ่มนี้จะมีกลไกการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเหมือนกันวัคซีนเชื้อตาย เนื่องจากเข้าสู่เซลล์และเพิ่มจำนวนไม่ได้ แอนติเจนหรือโปรตีนสังเคราะห์ในวัคซีนจะถูกนำเสนอผ่าน MHC Class II ทำให้กระตุ้น HMI เพื่อให้สร้าง Ab ที่มีความจำเพาะกับแอนติเจนหรือโปรตีนสังเคราะห์ ในปัจจุบันมี adjuvant บางชนิดที่สามารถเหนี่ยวนำตอบสนองชนิด CMI ได้ แต่ยังไม่มีการนำมาใช้เพื่อผลิตวัคซีนสำหรับสุนัขและแมว วัคซีนกลุ่มนี้สามารถรู้จักได้ในหลายชื่อเรียก ได้แก่ recombinant protein subunit polysaccharide vaccine chimeric protein vaccine หรือ viral-like particles เป็นต้น
3.2 วัคซีนรุ่น third generation จะได้แก่ วัคซีนชนิดสารพันธุกรรม DNA วัคซีนชนิดสารพันธุกรรม mRNA และ วัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Recombinant viral vector vaccine) ซึ่งวัคซีนกลุ่มนี้ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อลดข้อจำกัดของวัคซีนรุ่น second generation ที่ไม่สามารถกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะชนิด CMI ได้ ปัจจุบัน วัคซีนในกลุ่มนี้ที่ผลิตมาเพื่อใช้เป็นวัคซีนสำหรับสุนัขและแมวจะมีเพียงวัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะเท่านั้น ซึ่งผลิตโดยตัดต่อสารพันธุกรรมบางส่วนที่สำคัญของเชื้อก่อโรคเข้าไปในสารพันธุกรรมของไวรัสขนส่ง (viral vector) ก่อนจะบริหารวัคซีนเข้าสู่สัตว์ โดยไวรัสขนส่งจะมีคุณสมบัติเด่น คือ เป็นไวรัสที่เข้าสู่เซลล์สัตว์ที่ต้องการทำวัคซีนได้ แต่จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและก่อโรคในสัตว์ที่ได้รับวัคซีนไม่ได้ ในสุนัขและแมวจะใช้ canarypox virus เป็นไวรัสขนส่ง ซึ่งเป็นไวรัสก่อโรคในสัตว์ปีก เมื่อไวรัสขนส่งพาตัวเองเข้าสู่เซลล์ของสัตว์ที่ได้รับวัคซีน ไวรัสขนส่งจะพยายามแบ่งตัวทำให้มีการถอดรหัสสารพันธุกรรมของไวรัสก่อโรคที่ตัดต่อเข้าไปด้วย ทำให้แอนติเจนของไวรัสก่อโรคถูกนำเสนอภายในเซลล์สัตว์ผ่าน MHC Class I และกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันจำเพาะชนิด CMI ไวรัสขนส่งบางส่วนที่ตายภายนอกเซลล์จะถูก APCs เก็บกินทำให้แอนติเจนของทั้งเชื้อก่อโรคและของไวรัสขนส่งจะถูกนำเสนอผ่าน MHC Class II และกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันจำเพาะชนิด HMI เพื่อสร้าง Ab ที่มีความจำเพาะกับแอนติเจนของเชื้อไวรัสก่อโรคและของไวรัสขนส่ง ซึ่งกลไกนี้จะเหมือนกับการใช้วัคซีนเชื้อเป็น ภูมิคุ้มกันต่อแอนติเจนของเชื้อก่อโรคจะมีระยะ DOI อย่างน้อย 3 ปีโดยไม่ต้องผสม adjuvant จึงพบปัญหาเรื่องการอักเสบบริเวณที่ฉีดวัคซีนได้น้อย ข้อดีจากการที่ไวรัสขนส่งไม่สามารถก่อโรคได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทำให้วัคซีนชนิดนี้มีความปลอดภัยสูงกว่าวัคซีนเชื้อเป็น สามารถใช้ได้ในสัตว์ที่ภาวะ immunocompromised อีกด้วยคุณสมบัติของ canarypox virus ที่เป็นไวรัสที่ทนอุณหภูมิสูงได้ระดับหนึ่งทำให้สามารถทนต่ออุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงระหว่างขนส่งได้ดีกว่าวัคซีนเชื้อเป็น แต่ข้อจำกัดของวัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะคือ แอนติเจนต่อเชื้อก่อโรคจะไม่หลากหลายเท่าวัคซีนเชื้อเป็น และกรณีที่ต้องการทำวัคซีนต่อแอนติเจนของเชื้อไวรัสชนิดอื่นที่มีการใช้ไวรัสขนส่งชนิดเดียวกัน การกระตุ้นภูมิอาจถูกรบกวนได้จาก Ab ที่มีต่อไวรัสขนส่งจากการทำวัคซีนชนิดก่อนหน้า ดังนั้นทราบประวัติ ชนิดของวัคซีนและระยะเวลาที่สัตว์เคยได้รับวัคซีนจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการวางแผนการทำวัคซีนในสัตว์ให้ประสบผลสำเร็จ

4. วัคซีนประเภทท็อกซอยด์ (Toxoid vaccine)

คือ วัคซีนที่ผลิตจากสารพิษของเชื้อก่อโรคที่นำไปผ่านกระบวนการไม่ให้มีความเป็นพิษ เช่นวัคซีนบาดทะยักที่ผลิตจากสารพิษ tetanus toxin ของเชื้อ Clostridium tetani สารพิษที่ผลิตออกมานอกเซลล์ของเชื้อจะถูกแยกออกมาและนำไปผ่านกระบวนการให้ความร้อนหรือสารเคมีเพื่อกำจัดความเป็นพิษออก ทำให้ไม่มีความเป็นพิษหลงเหลืออยู่ สารพิษของเชื้อจัดว่าเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง วัคซีนกลุ่มนี้จึงมีกลไกการกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันเหมือนกับวัคซีนที่ใช้ส่วนหนึ่งของเชื้อก่อโรครุ่น second generation จึงต้องผสมร่วมกับ adjuvant เพื่อให้สามารถกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะได้ โดยจะกระตุ้นได้เฉพาะชนิด HMI ที่จำเพาะต่อสารพิษเพื่อใช้สำหรับป้องกันโรคที่ก่อโดยสารพิษ
ตารางสรุปประเภทของวัคซีนและคุณลักษณะเฉพาะ
ประเภทของวัคซีน ชนิดการตอบสนองของภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ ระยะ DOI ภูมิคุ้มกันต่อแอนติเจนชนิดต่างๆของเชื้อ สารเสริมฤทธิ์ ความเสี่ยง/ข้อควรระวัง
วัคซีนเชื้อเป็น CMI และ HMI อย่างน้อย 3 ปี หลากหลาย ไม่จำเป็น อาจทำให้ป่วยได้
วัคซีนเชื้อตาย HMI ประมาณ 1 ปี หลากหลาย จำเป็น อาจทำให้เกิดการอักเสบบริเวณที่ฉีด หรือเหนี่ยวนำให้เกิดเนื้องอกบริเวณที่ฉีดได้
วัคซีนรุ่น second generation HMI ประมาณ 1 ปี จำเพาะ จำเป็น อาจทำให้เกิดการอักเสบบริเวณที่ฉีด หรือเหนี่ยวนำให้เกิดเนื้องอกบริเวณที่ฉีดได้
วัคซีนรุ่น third generation CMI & HMI อย่างน้อย 3 ปี จำเพาะ ไม่จำเป็น มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสขนส่งที่อาจรบกวนการทำวัคซีนชนิดอื่นที่มีการใช้ไวรัสขนส่งชนิดเดียวกันได้
วัคซีนประเภทท็อกซอยด์ HMI อย่างน้อย 1 ปี จำเพาะ จำเป็น อาจทำให้เกิดการอักเสบบริเวณที่ฉีด หรือเหนี่ยวนำให้เกิดเนื้องอกบริเวณที่ฉีดได้

วัคซีนสำหรับสุนัขและแมวที่มีในประเทศไทยและหลักการเลือกใช้เป็นอย่างไร?

จากข้อมูลของ World Small Animal Veterinary Association (WSAVA) (2016) และ AAHA guidelines(2022) แนะนำว่าสัตว์เลี้ยงทุกตัวต้องได้รับวัคซีนหลัก (core vaccine) เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อที่มีความสำคัญที่มักทำให้เมื่อติดเชื้อแล้วสัตว์จะมีโอกาสตายหรือเจ็บป่วยรุนแรง และเป็นสาเหตุของการแพร่กระจายในวงกว้างได้ โดยวัคซีนหลักในสุนัข ได้แก่วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส canine distemper (CDV) ไวรัส canine adenovirus (CAV type 1& 2) และ ไวรัส canine parvovirus type 2 (CPV-2) สำหรับแมววัคซีนหลักที่ต้องได้รับ คือวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส feline parvovirus (FPV) feline herpesvirus-1 (FHV-1) และ feline calicivirus (FCV) ซึ่งวัคซีนที่ใช้ป้องกันติดเชื้อไวรัสเหล่านี้ สามารถพบได้ในรูปแบบวัคซีนที่มีเชื้อเดียวในเข็มเดียว หรืออยู่ในรูปแบบวัคซีนรวมที่มีหลายเชื้อในเข็มเดียวกัน ประเทศไทยจัดเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า จึงมีพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.๒๕๓๕ ที่กำหนดให้เจ้าของสัตว์ ที่มีสุนัขและแมวที่มีอายุตั้งแต่ 2 ขึ้นไปแต่ไม่เกิน 4 เดือนไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเข็มแรก และครั้งต่อไปตามที่กำหนดในใบรับรองการฉีด จากข้อมูลแบบสำรวจโรคระบาดในประเทศไทยปี 2014 โดยทีมงาน WSAVA พบอุบัติการณ์ของการติดเชื้อ feline leukemia virus (FeLV) ในแมวอยู่ที่ 75.3% ซึ่งบ่งชี้ว่าเป็นโรคที่สำคัญ ชมมรมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคแมวแห่งประเทศไทยจึงได้แนะนำให้วัคซีนป้องกันเชื้อ FeLV เป็นวัคซีนหลักของแมวในประเทศไทย และควรตรวจยืนยันก่อนว่าสัตว์ไม่ติดเชื้อก่อนการให้วัคซีน ในขณะที่วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้ออื่น ๆ จัดเป็นวัคซีนทางเลือก (non-core vaccines) ซึ่งการให้จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าของและสัตวแพทย์ โดยพิจารณาจากพฤติกรรมและองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น สัตว์อยู่ในพื้นที่ระบาด เลี้ยงแบบปล่อย เลี้ยงหนาแน่นหรือเป็นฟาร์มเพาะเลี้ยง ชอบพาสัตว์ไปทำกิจกรรมนอกบ้านหรือมีการพาเข้าโรงเรียน โดยวัคซีนทางเลือกในสุนัขจะได้แก่ วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส parainfluenza (CPiV) แบคทีเรีย Bordetella bronchiseptica แบคทีเรีย Leptospira interrogans และไวรัส canine influenza (CIV) ส่วนวัคซีนทางเลือกในแมวจะได้แก่ วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส feline immunodeficiency (FIV) แบคทีเรีย Bordetella bronchiseptica และ แบคทีเรีย Chlamydia felis สำหรับวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส canine coronavirus (CCV) และไวรัส feline infectious peritonitis (FIP) จะจัดเป็นวัคซีนที่ไม่แนะนำให้ฉีดเนื่องจากผลการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนมีจำกัด ไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าวัคซีนสามารถช่วยป้องกันโรคได้ สำหรับการเลือกใช้วัคซีนในสุนัขและแมวจะแนะนำให้ฉีดวัคซีนหลักประเภทวัคซีนเชื้อเป็นหรือวัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะเพื่อให้สามารถกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันได้ทั้งชนิด CMI และ HMI ทำให้ป้องการติดเชื้อได้ดี โดยสามารถเลือกให้เป็นวัคซีนชนิดที่มีเชื้อเดียวแบบแยกเข็ม ซึ่งต้องฉีดแยกหลายชนิดเพื่อป้องเชื้อไวรัสหลัก (core antigen) ชนิดต่างๆให้ได้ครบตามคำแนะนำ หรือเลือกให้เป็นวัคซีนรวมที่มีหลายเชื้อไวรัสหลักในเข็มเดียวกันซึ่งจะสะดวกมากกว่า ถ้าวัคซีนหลักนั้นอยู่ในรูปแบบที่ต้องผสมกับสารละลายก่อนฉีด จะแนะนำให้เลือกใช้ตัวทำละลายที่ไม่มีส่วนประกอบของเชื้ออื่นๆที่สัตว์ไม่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพื่อลดความเสี่ยงของการแพ้วัคซีนหรือกระตุ้นภูมิคุ้มกันเกินความจำเป็น สำหรับสุนัขและแมวควรเริ่มให้วัคซีนหลักเข็มแรกที่อายุ 8-9 สัปดาห์ กระตุ้นเข็มที่ 2 ให้ห่างจากเข็มแรก 3-4 สัปดาห์ และกระตุ้นเข็มที่ 3 (เข็มสุดท้าย) ที่อายุ 16 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น เพื่อให้มั่นใจว่าการทำวัคซีนได้ผลดี ไม่ถูกรบกวนจากภูมิคุ้มกันที่ได้จากแม่ผ่าน MDA กรณีที่สัตว์อยู่ในพื้นที่ระบาดอาจจะพิจารณาเริ่มให้วัคซีนเข็มแรกที่อายุ 6 สัปดาห์ และกระตุ้นทุก 3 สัปดาห์ จนกระทั่งสัตว์อายุครบ 16 สัปดาห์ และพิจารณาให้ตรวจระดับภูมิคุ้มกันหลังให้วัคซีนเข็มสุดท้ายเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์เพื่อตรวจสอบว่าลูกสัตว์สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสหลักได้หรือไม่ และใช้ข้อมูลดังกล่าวสำหรับวางแผนการให้วัคซีนในครั้งถัดไป ถ้ามีภูมิคุ้มกันขึ้นสามารถเว้นระยะการกระตุ้นวัคซีนหลักเป็นทุก 3 ปี หรือไม่ได้ตรวจระดับภูมิคุ้มกันจะแนะนำให้กระตุ้นวัคซีนหลักอีกครั้งเมื่อสัตว์อายุครบ 26 หรือ 52 สัปดาห์ จากนั้นให้เว้นระยะการกระตุ้นวัคซีนหลักเป็นทุก 3 ปีโดยไม่จำเป็นต้องกระตุ้นวัคซีนทุกปีเนื่องจากในปัจจุบันมีหลักฐานจากวิจัยรับรองแล้วว่า วัคซีนหลักประเภทวัคซีนเชื้อเป็นหรือวัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะมี DOI อย่าง 3 ปีหรือมากกว่านั้น กรณีเป็นสัตว์ที่โตเต็มวัยแต่ไม่ทราบประวัติวัคซีนจะแนะนำให้ทำวัคซีนหลัก 2 เข็ม ห่างกัน 2-4 สัปดาห์ จากนั้นกระตุ้นวัคซีนหลักซ้ำอีกครั้งเมื่อครบ 26 หรือ 52 สัปดาห์จึงค่อยเว้นระยะการกระตุ้นวัคซีนหลักเป็นทุก 3 ปีเช่นกัน สำหรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า WSAVA จะแนะนำให้เริ่มเข็มแรกเมื่อสัตว์อายุครบ 12 สัปดาห์ และกระตุ้นเข็มที่ 2 ให้ห่างจากเข็มแรก 4 สัปดาห์ ก่อนจะเว้นระยะกระตุ้นวัคซีนเป็นทุก 1 หรือ 3 ปีตามทีบริษัทผู้ผลิตวัคซีนแนะนำหรือตามระยะ DOI ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน ซึ่งปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่มี DOI 3 ปี ได้รับการจดทะเบียนและถูกนำเข้าใช้ในประเทศไทยแล้ว สัตว์แพทย์จึงควรปรับเปลี่ยนโปรแกรมการกระตุ้นวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจากการฉีดทุกปี มาเป็นทุกๆ 3 ปี โดยเฉพาะสัตว์ที่มีความเสี่ยงต่อโรคต่ำ เช่น เลี้ยงในบ้าน หรือ ในพื้นที่ไม่มีการระบาดของโรค
จากรายงายโดยทีมงาน WSAVA ปี 2014 ปัญหาที่พบในประเทศแถบเอเชียรวมทั้งประเทศไทย พบว่ามีอุบัติการณ์ของการติดเชื้อในสุนัขจากไวรัสCDV 96.2% ไวรัสCPV-2 95.5% และไวรัสRabies 26.6% และมีอุบัติการณ์ของการติดเชื้อในแมวจากไวรัสFPV อยู่ที่ 88.4% ไวรัสFHV-1 71.2% ไวรัสFCV 71.5% ไวรัสFeLV 75.3% และไวรัส Rabies 9.7% ข้อมูลที่ทีมงาน WSAVA ได้จากการลงพื้นที่สำรวจและแบบสอบถามในสัตว์แพทย์ พบว่าสัตวแพทย์ยังมีความเข้าใจเรื่องภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) และการจัดการวัคซีนทั้งในขั้นตอนการขนส่ง จัดเก็บตลอดจนการบริหารวัคซีนเข้าสู่ตัวสัตว์ (vaccine husbandry) ไม่เพียงพอ จึงอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พบอุบัติการณ์ของการติดเชื้อจากไวรัสหลักมีเปอร์เซ็นต์ที่สูง อีกข้อสังเกตที่ทีมงานพบคือ ในฝั่งยุโรป บริษัทผู้ผลิตวัคซีนจะระบุว่าวัคซีนหลักมีระยะ DOI 3-4 ปี ในขณะที่ผลิตภัณฑ์วัคซีนชนิดเดียวกันเมื่อนำมาขายในฝั่งเอเชีย บริษัทผู้ผลิตกลับแจ้งว่ามี DOI 1 ปีหรือไม่แจ้งระบุข้อมูล ทำให้สัตวแพทย์หลายท่านเลือกที่จะแนะนำให้กระตุ้นวัคซีนซ้ำเป็นประจำทุกปี เพื่อที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงจะได้พาสัตว์มาตรวจสุขภาพทุกปี อีกทั้งมีความเข้าใจว่า ถ้าสัตว์อยู่ในพื้นที่ระบาดควรได้รับการกระตุ้นจากวัคซีนเป็นประจำเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันในระดับสูงสำหรับป้องกันโรค ซึ่งตามหลักการของการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เพื่อป้องกันการระบาดที่ควรปฏิบัติคือ ควรเลือกใช้วัคซีนที่มีคุณภาพเพื่อให้วัคซีนแก่กลุ่มประชากรของสัตว์ในพื้นที่นั้นๆให้ครอบคลุมมากที่สุดและเร็วที่สุด (อย่างน้อย 70% ของจำนวนสัตว์) จึงจะสามารถการคุมการระบาดและลดการติดเชื้อรายใหม่ได้ทันสถานการณ์ ซึ่งหลักการนี้สำคัญกว่าการฉีดกระตุ้นวัคซีนทุกปีในสัตว์ตัวเดิม ควรเปลี่ยนมารณรงค์ให้เจ้าของพาสัตว์เลี้ยงทุกตัวมาวัคซีนหลักให้ครบตามคำแนะนำเมื่อสัตว์เลี้ยงมีอายุครบตามที่แนะนำ และชักชวนให้อาสาพาสัตว์เลี้ยงที่ไม่มีเจ้าของในพื้นที่มาทำวัคซีนหลักด้วยถ้าสามารถพามาได้เป็นต้น สัตวแพทย์สามารถแนะนำและนัดให้เจ้าของพาสัตว์เลี้ยงมาตรวจเลือดเพื่อเช็คสุขภาพ ให้ยาถ่ายพยาธิ ยาป้องกันเห็บหมัด ขูดหินปูน ตรวจภูมิคุ้มกันประจำปีหรือดูแลสุขภาพในด้านอื่นๆ แทนการกระตุ้นวัคซีนหลักซ้ำทุกปีในสัตว์ที่มีประวัติทำวัคซีนครบแล้ว สำหรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบวัคซีนเชื้อตายมีหลักฐานจากงานวิจัยบ่งชี้ว่ามีระยะอยู่ได้นานถึง 3 ปี ประกอบมีวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่มีระยะ DOI 3 ปีขึ้นทะเบียนให้ใช้แล้วในประเทศไทย ทำให้สัตวแพทย์สามารถเว้นระยะกระตุ้นวัคซีนเพื่อช่วยลดปัญหาผลข้างเคียงจากการทำวัคซีนเชื้อตายได้ และได้มีการจดทะเบียนวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำหรับแมวซึ่งเป็นวัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะให้ใช้แล้ว จึงถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจที่สัตวแพทย์จะแนะนำให้เปลี่ยนไปใช้กันมากขึ้นเพื่อลดโอกาสเกิด FISS สำหรับรายชื่อวัคซีนในสุนัขและแมวที่ได้มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องในประเทศไทยจะอยู่ในตารางที่ 1 และ 2 ตามลำดับ
ตารางที่ 1 รายชื่อวัคซีนสำหรับสุนัขที่มีการจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2565)
ชื่อทางการค้า ไวรัสหลักในวัคซีน เชื้อทางเลือกในวัคซีน เริ่มให้ได้ที่อายุ (สัปดาห์) ระยะ DOI ที่ได้รับการจดทะเบียน (ปี) ระยะกระตุ้นวัคซีนทีแนะนำโดยบริษัทผู้ผลิต (ปี)
CDV CAV type 2 CPV-2 Rabie CPiV CCV Leptospira*2,4 Bordetella
Nobivac DHPPi L L L - L - - - 6 3 1 หรือ 2
Nobivac DHP L L L - - - - - 6 3 3
Nobivac PUPPY DP L - L - - - - - 6 - -
Nobivac CANINE 1-DAPPvL2 L L L - L - K2 - 6 - 1
Nobivac CANINE 1-DAPPvL2+Cv L L L - L K K2 - 6 - 1
Nobivac CANINE 1-PV - - L - - - - - 6 - -
Vanguard 5/L L L L - L - K2 - 6 - 1
Biocan Novel DHPP L L L - L - - - 6 - 3
Biocan Novel DHPPI/L4 L L L - L - K4 - 6 - 3
Biocan Novel DHPPI/L4R L L L K L - K4 - 6 - 3
Biocan DP L - L - - - - - 6 - 1
Biocan DHPPI+L L L L - L - K4 - 6 - 1
Vanguard HTLP 5/L L L L - L - K2 - 6 2.5 1
Vanguard HTLP 5/CV - L L L L - L K K2 - 6 2.5 1
RECOMBITEK C3 Rc L L - - - - - 6 3 1 หรือตามสัตวแพทย์แนะนำ
RECOMBITEK C4/CV Rc L L - L L - - 6 3 1 หรือตามสัตวแพทย์แนะนำ
RECOMBITEK C4 Rc L L - - L - - 6 3 1 หรือตามสัตวแพทย์แนะนำ
RECOMBITEK C6/CV Rc L L - L L K2 - 6 3 1 หรือตามสัตวแพทย์แนะนำ
RECOMBITEK C6 Rc L L - L - K2 - 6 3 1 หรือตามสัตวแพทย์แนะนำ
Canigen DHA2 PPIL L L L - L - K2 - 8 - 1
Canigen DHA2 PPILR L L L K L - - - 8 - 1
Defensor 3 - - - K - - - - 12 3 3 หรือตามกฎหมายในประเทศ
Nobivac RABIES - - - K - - - - 12 1 1
Nobivac RL - - - K - - K2 - 8 - 3 (RV), 1 (Lepto)
Rabisin - - - K - - - - 12 3 3 หรือตามกฎหมายในประเทศ
Rabigen Mono - - - K - - - - 12 3 3 หรือตามกฎหมายในประเทศ
Rabies killed VAC - - - K - - - - 12 3 3 หรือตามกฎหมายในประเทศ
Nobivac L4 - - - - - - K4 - 6 - 1
Nobivac LEPTO - - - - - - K2 - 6 1 1
Nobivac KC - - - - L - - L 3 1 1
Bronchi - SHIELD III - L - - L - - L 8 - 1
Biocan Novel PI/L4 - - - - L - K4 - 6 - 1
Pneumodog - - - - K - - K 6 - 1
L= วัคซีนเชื้อเป็น K= วัคซีนเชื้อตาย Rc= วัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ, *K2 ประกอบด้วยแบคทีเรีย L. interrogans serogroup Canicola/ Icterohaemorrhagiae *K4 ประกอบด้วยแบคทีเรีย include killed L. interrogans serogroup Canicola/ Icterohaemorrhagiae/ Australis & L. kirschneri serogroup Grippotyphosa
ตารางที่ 2 รายชื่อวัคซีนสำหรับแมวที่มีการจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2565)
ชื่อทางการค้า ไวรัสหลักในวัคซีน เชื้อทางเลือกในวัคซีน เริ่มให้ได้ที่อายุ (สัปดาห์) ระยะ DOI ที่ได้รับการจดทะเบียน (ปี) ระยะกระตุ้นวัคซีนทีแนะนำโดยบริษัทผู้ผลิต (ปี)
FPV FHV-1 FCV FeLV RV FIV FIP Chlamydophila
Nobivac TRICAT TRIO L L L - - - - - 8 3 3
Nobivac DUCAT - L L - - - - - 6 1 1
Purevax FeLV - - - K - - - - 9 2 ตามสัตวแพทย์แนะนำ
Nobivac FELINE 2-FELV - - - Rc - - - - 8 - 1
Nobivac FELINE 1-HCPCh+FELV L L L K - - - L 9 2 (FeLV) ตามสัตวแพทย์แนะนำ
Nobivac FELINE 1-HCPCh L L L - - - - K 9 - ตามสัตวแพทย์แนะนำ
Feligen CRP L L L - - - - - 6 - ตาม WSAVA
Felocell 4 L L L - - - - K 12 - 1
Felocell CVR L L L - - - - - 12 - 1
PUREVAX RCP FELV L L K Rc - - - - 8 - 1
BIOFEL PCH K K K - - - - - 8 - 1
BIOFEL PCHR K K K - K - - - 8 - 1
Fel-O-VAX LV-K IV K K K - K - - K 8 - 1
Nobivac RABIES - - - - K - - - 12 1 1
Rabisin - - - - K - - - 12 3 3 หรือตามกฎหมายในประเทศ
Rabies killed VAC - - - - K - - - 12 3 3 หรือตามกฎหมายในประเทศ
Rabigen Mono - - - - K - - - 12 3 3 หรือตามกฎหมายในประเทศ
Defensor 3 - - - - K - - - 12 3 3 หรือตามกฎหมายในประเทศ
PUREVAX rabiES - - - - Rc - - - 12 3 3 หรือตามกฎหมายในประเทศ
Fel-O-VAX FIV - - - - - K - - 8 - 1
Primucell FIP - - - - - - L - 16 - 1
L= วัคซีนเชื้อเป็น K= วัคซีนเชื้อตาย Rc= วัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ

เอกสารอ้างอิง

1. Aida, V. and et al. (2022). Novel Vaccine Technologies in Veterinary Medicine: A Herald to Human Medicine Vaccines. 8(654289): 1-20.

2. Day, M.J. and et al. (2014). Recommendations on vaccination for Asian small animal practitioners: a report of the WSAVA vaccination guidelines group. Journal of Small Animal Practice. 56(2):77-95.

3. Day, M.J. and et al. (2016). WSAVA vaccination guidelines for the dog and the cats. Journal of Small Animal Practice. 57(1):4-8

4. Ellis, J. and et al. (2022). 2022 AAHA Canine Vaccination Guidelines. Journal of the American Animal Hospital Association. 58(5):213-230.

5. Lakshmanan, N. and et al. (2006). Three-year rabies duration of immunity in dogs following vaccination with a core combination vaccine against canine distemper virus, canine adenovirus type-1, canine parvovirus, and rabies virus. Veterinary Therapeutics. 7(3):223-31.