บทความสรุปจากการบรรยาย Professor Joanna Dukes-McEwan จากงานประชุม ISFM Virtual Congress 2022
รองศาสตราจารย์ สพ.ญ.ดร. สิริลักษณ์ สุรเชษฐพงษ์

ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

1. โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าปกติพบได้บ่อยแค่ไหน

โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าปกติ (hypertrophic cardiomyopathy; HCM) เป็นโรคหัวใจที่พบได้มากที่สุดในแมว โดยพบได้ประมาณ 14.7% ของแมว อุบัติการณ์การเกิดโรคพบได้มากขึ้นในแมวอายุมาก โดยเฉพาะแมวที่อายุมากกว่า 9 ปี พบในแมวเพศผู้ได้มากกว่าเพศเมีย รวมทั้งในแมวที่มีน้ำหนักเกินและแมวที่มีเมอร์เมอร์

2. จะรู้ได้อย่างไรว่าแมวเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าปกติ

แมวบางตัวที่มีเสียงหัวใจเมอร์เมอร์อาจไม่ได้เป็น HCM อย่างไรก็ตามแมวที่มีเสียงหัวใจเมอร์เมอร์ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เมอร์เมอร์ในแมวที่เป็น HCM อาจเกิดจาก left ventricular outflow tract obstruction หรือ systolic anterior motion ความดังเบาของเมอร์เมอร์ อาจเปลี่ยนแปลงไปตามระดับความเครียดของแมวได้ การตรวจด้วยตัวชี้วัดทางชีวภาพ เช่น NT-proBNP (cut-off 100 pmol/L) และ cTNI (cut-off 0.06 ng/ml) อาจช่วยในการแยกแยะโรคได้เบื้องต้น อย่างไรก็ตามควรได้รับการตรวจ ยืนยันด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (echocardiography) ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการตรวจยืนยันโรค การวินิจฉัยโรค HCM สามารถทำได้โดยการวัดความหนาของผนังห้องหัวใจล่างซ้าย หากมีความหนาเกิน 6 มิลลิเมตร ในช่วงหัวใจคลายตัว จะแสดงถึงการเป็นโรค HCM โดยการหนาตัวอาจเกิดขึ้นเฉพาะบางบริเวณ หรือเกิดทั่วทุกบริเวณของผนังห้องหัวใจก็ได้ HCM อาจเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของยีน หรืออาจเกิดจากการเกิดโรคอื่นๆ เหนี่ยวนำให้เกิดการหนาตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ เช่น ภาวะความดันเลือดสูง การแทรกของเซลล์มะเร็งในกล้ามเนื้อหัวใจ การหนาตัวของกล้ามเนื้อหัวใจชั่วคราว (transient myocardial thickening) หรือ โรคอื่นๆ เช่น acromegaly hyperthyroidism

3. ปัจจัยที่มีผลต่อการพยากรณ์โรค

แมวบางตัวอาจอยู่ในภาวะ preclinical stage อยู่เป็นเวลานาน ปัจจัยที่ทำให้โรคแย่ลงในแมวแต่ละตัวอาจแตกต่างกันไป ปัจจัยที่มีผลต่อการพยากรณ์โรคที่แย่ลง ได้แก่ อายุที่มากขึ้น การพบเสียงหัวใจเแกลลอป หรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจล้มเหลว และการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ปัจจัยจากการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง ได้แก่ ผนังกล้ามเนื้อที่หนากว่า 9 มิลลิเมตร การเสียหน้าที่ในการหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจทั้งหัวใจห้องบนและห้องล่าง การเพิ่มขึ้นของขนาดหัวใจห้องบน การพบตะกอนเลือดในหัวใจห้องบน และการเสียหน้าที่ในช่วงหัวใจคลายตัว แบบ restrictive pattern ร่วมกับการเพิ่มขึ้นของความดันในหัวใจห้องบน

4. การจัดการ preclinical HCM

Clopidogrel ช่วยลดการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน โดยเฉพาะในกรณีที่มีหัวใจห้องบนขยายใหญ่หรือเสียหน้าที่
ACE inhibitors (ACEi) เช่น benazepril enalapril และ ramipril ถึงแม้ว่าจากการศึกษาที่ผ่านมาจะพบการกระตุ้นของระบบ renin angiotensin aldosterone system ในแมวที่เป็น HCM แต่ยังไม่พบประโยชน์จากการให้ ACEi ในกลุ่มแมวที่มีภาวะ preclinical HCM
Spironolactone จากการศึกษาไม่พบ การเปลี่ยนแปลงของมวลกล้ามเนื้อ และหน้าที่ในช่วงกล้ามเนื้อหัวใจคลายตัว ในแมวที่มีภาวะ preclinical HCM ปัจจุบันจึงยังไม่แนะนำให้ใช้ในกลุ่มแมวที่เป็น HCM และยังไม่มีภาวะหัวใจล้มเหลว
Diltiazem จากการศึกษาในแมวทดลองพบว่า diltiazem สามารถช่วยให้การคลายตัวของกล้ามเนื้อหัวใจดีขึ้น อย่างไรก็ตามไม่พบประโยชน์จากการใช้ diltiazem ในแมวที่มีภาวะ preclinical HCM ปัจจุบันส่วนใหญ่จึงใช้ diltiazem เพื่อช่วยเป็นยาต้านการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ
Atenolol เป็นยากลุ่มยับยั้งตัวรับเบต้า (beta blockers) ที่สามารถช่วยลดความรุนแรงของภาวะ left ventricular outflow tract obstruction ซึ่งอาจมีส่วนช่วยลดภาวะ pressure overload และการหนาตัวที่เพิ่มขึ้นของกล้ามเนื้อหัวใจได้ อย่างไรก็ตามจากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าการให้ atenolol ไม่ได้มีผลต่อการรอดชีวิต คุณภาพชีวิต หรือระดับการทำกิจกรรมของแมวที่เป็นโรค HCM ไม่ว่าจะมีภาวะ left ventricular outflow tract obstruction ร่วมด้วยหรือไม่ ไม่ควรพิจารณาให้ beta blockers ในกรณีที่แมวมีภาวะหัวใจล้มเหลวแบบควบคุมไม่ได้ รวมทั้งแมวที่มีหัวใจห้องบนซ้ายขยายใหญ่มากๆ เพราะอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
แมวที่เป็นโรค HCM ส่วนใหญ่ มักเป็นแมวเพศผู้ ขนาดใหญ่ และมีน้ำหนักเกิน จากการศึกษาพบว่าแมวที่มีภาวะ preclinical HCM จะมีระดับของอินซูลิน และ insulin growth factor-1 (IGF-1) สูงขึ้น รวมทั้งในแมวที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวจะมีกระบวนการอักเสบเกิดขึ้น โดยพบว่ามีระดับ tumor necrotic factor alpha (TNF-α) สูงขึ้น โดยที่ปัจจุบัน ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าการเพิ่มขึ้นของ TNF-α นั้น เพิ่มขึ้นตั้งแต่ในระยะ preclinical หรือไม่ นอกจากนั้นยังพบการเพิ่มขึ้นของ serum amyloid A ซึ่งเป็น acute phase protein เพิ่มขึ้นในแมวที่มีภาวะ preclinical HCM โดยระดับที่เพิ่มขึ้นมีความสัมพันธ์กับจำนวนพื้นที่ที่มีการหนาตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ จึงมีความเป็นไปได้ว่าหากลดระดับอินซูลินหรือการอักเสบอาจช่วยลดการพัฒนาของโรคในแมวที่มีภาวะ preclinical HCM ได้ จากการศึกษาโดยการให้อาหารกลุ่มที่จำกัดปริมาณแป้ง เพิ่มระดับโปรตีน และเสริมกรดไขมันโอเมก้า 3 ในแมวเป็นเวลา 12 เดือนในแมวที่เป็นโรค HCM พบว่าสามารถช่วยลดความหนาของกล้ามเนื้อหัวใจ และลดระดับ IGF-1 และ troponin I ได้ เมื่อเทียบกับก่อนกินอาหาร อย่างไรก็ตามไม่พบความแตกต่างเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มแมวเป็น HCM ที่ได้รับอาหารกลุ่มควบคุม ผลของอาหารต่อการลดความรุนแรงของโรค HCM จึงจำเป็นต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

5. การเฝ้าระวังแมวที่มีภาวะ preclinical HCM

แมวหลายตัวที่อยู่ในภาวะ preclinical HCM อาจอยู่ในภาวะคงที่ และไม่แสดงอาการป่วยได้เป็นเวลานาน การพยากรณ์โรคในแมวที่เป็น HCM ค่อนข้างยาก ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้มากที่สุดคือ การเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว โดยสามารถเฝ้าระวังได้โดยการนับอัตราการหายใจขณะพัก การเฝ้าระวังโดยการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงอาจทำได้ยาก เนื่องจากต้องอาศัยความร่วมมือจากเจ้าของและแมว ในบางกรณีเจ้าของอาจไม่ยินยอมให้ทำเนื่องจากความกังวลว่าการตรวจอาจก่อให้เกิดความเครียดต่อตัวแมว
โดยสรุป แมวที่มีภาวะ preclinical HCM สามารถพบได้มาก (ประมาณ 15% ของประชากรแมว) แต่มีเพียงส่วนน้อยของแมวที่จะพัฒนาไปจนมีภาวะหัวใจล้มเหลว ลิ่มเลือดอุดตัน หรือภาวะตายเฉียบพลัน ด้วยเหตุนี้จึงควรหาวิธีเพื่อช่วยลดการพัฒนาของโรคและให้แมวอยู่ในระยะที่ไม่แสดงอาการให้ยาวนานที่สุด