ปรสิตในแมวที่สามารถติดคนได้

ปรสิต นับเป็นอีกหนึ่งตัวการของปัญญายอดฮิตที่สามารถพบเจอได้บ่อยในแมว โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ ปรสิตภายใน และปรสิตภายนอก โดยปรสิตเหล่านี้นับเป็นตัวการของปัญหาสุขภาพ ส่งผลให้แมวมีสุขภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรง เติบโตช้า และในแมวอายุน้อย อาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ดีปรสิตไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสุขภาพในแมว ปรสิตบางชนิดยังสามารถติดต่อมาสู่มนุษย์ เป็นที่มาของโรคสัตว์สู่คน (zoonosis) ได้อีกด้วย บทความนี้จะพาคุณหมอไปทำความรู้จักกับปรสิตในแมวที่สามารถติดคนได้ และแนะนำแนวทางในการป้องกันเพื่อสามารถให้ความรู้กับเจ้าของแมวได้อย่างถูกต้องต่อไป

1. พยาธิตืดแตงกวา (Dipylidium caninum) : หรือที่รู้จักกันอีกชื่อในนาม “พยาธิตืดหมัด” เป็นพยาธิในกลุ่มพยาธิตัวตืด (tapeworm) ที่สามารถพบได้ในระบบทางเดินอาหารทั้งในสุนัข และแมว มีลักษณะรูปร่างยาว แบน และเป็นปล้อง ๆ มีสีขาว (คล้ายแตงกวา) มีโฮสต์จำเพาะ (definitive host) คือแมว และโฮสต์ตัวกลาง (intermediate host) คือหมัด วงจรชีวิตของพยาธิตืดแตงกวาจะเริ่มจากการที่แมวบังเอิญได้รับตัวอ่อนของพยาธิเข้าสู่ร่างกายผ่านทางการกินหมัด ซึ่งมักเผลอกินเข้าไปในระหว่างการเลียตัวเพื่อทำความสะอาดขนของแมว เมื่อเข้าสู่ร่างกาย พยาธิจะใช้ปากที่มีลักษณะคล้ายตะขอเกาะติดกับลำไส้เล็กเพื่อดูดซึมสารอาหารจากโฮสต์ แมวที่มีพยาธิตืดแตงกวาจำนวนมากจึงมักมีอาการซึม และน้ำหนักตัวลดลง นอกจากนี้เมื่อพยาธิโตเต็มวัย ปล้องแก่ที่มีไข่อยู่ภายในจะหลุดออกปะปนไปกับอุจจาระ ในบางคร้ังจึงอาจสังเกตเห็นไข่ของพยาธิได้บริเวณรอบรูก้น หรือภายในอุจจาระภายหลังแมวขับถ่าย อีกทั้งยังอาจพบพฤติกรรมการคันก้น หรือถูก้นไปกับพื้น เมื่อไข่ออกสู่สิ่งแวดล้อม ตัวอ่อนของหมัดก็จะกินไข่พยาธิเข้าไป เมื่อหมัดโตเต็มวัย ตัวอ่อนของพยาธิก็จะพัฒนาสู่ระยะติดต่ออยู่ภายในตัวหมัด จนเมื่อแมวตัวอื่น ๆ กินหมัดเข้าไปก็จะพัฒนาเป็นวงจรเช่นนี้ต่อไป

สำหรับการติดต่อจากสัตว์สู่คนของพยาธิตืดแตงกวาสามารถพบได้บ้าง แต่อาจพบได้น้อย โดยมีโอกาสพบได้ในเด็กเล็กที่มีพฤติกรรมการเล่นกับแมว เนื่องจากอาจเผลอเลีย หรือกินหมัดเข้าไปโดยบังเอิญ

2. พยาธิปากขอในแมว (Ancylostoma ceylanicum) : พยาธิปากขอในแมว เป็นพยาธิที่อยู่ในกลุ่มพยาธิปากขอ (hookworm) มีชื่อเรียกตามลักษณะของปากที่มีรูปร่างคล้ายตะขอ โดยปากนี้จะทำหน้าที่ในการเกี่ยวกับผนังลำไส้เพื่อดูดซึมสารอาหารจากโฮสต์ ชนิดของพยาธิปากขอที่สามารถพบได้บ่อยที่สุดในแมว คือ Ancylostoma ceylanicum นอกจากนี้ยังอาจพบ Ancylostoma tubaeforme และ Ancylostoma braziliense ได้อีกด้วย วงจรชีวิตของพยาธิปากขอในแมวจะเริ่มจากการที่แมวได้รับพยาธิเข้าสู่ร่างกายผ่านทางการกินสัตว์ตัวกลางจำพวกหนู กินตัวอ่อนของพยาธิที่อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำ หรือโดนพยาธิไชผ่านผิวหนัง โดยมีรายงานพบว่าอาจพบการติดต่อจากแม่สู่ลูกผ่านทางน้ำนมได้ ตัวอ่อนของพยาธิเหล่านั้นจะเติบโตภายในร่างกายของแมวบริเวณลำไส้ ส่งผลให้แมวเกิดภาวะโลหิตจาง ถ่ายเป็นเลือดสีคล้ำ หรือถ่ายมีเลือดปน นอกจากนี้ หากตัวอ่อนของพยาธิมีการเคลื่อนที่ทะลุไปยังระบบทางเดินหายใจ อาจส่งผลให้แมวเกิดอาการไอ จาม มีน้ำมูก และปอดอักเสบร่วมด้วยได้

สำหรับการติดต่อจากสัตว์สู่คนของพยาธิปากขอในแมวสามารถพบได้จากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น การกินผักสดที่ปนเปื้อนอุจจาระสัตว์ป่วยที่มีตัวอ่อนของพยาธิ อีกทั้งยังอาจพบการติดผ่านการไชเข้าผิวหนัง ในรายที่มีพฤติกรรมการสัมผัสกับดิน เช่น ชาวสวน หรือชาวไร่ ซึ่งส่งผลทำให้เกิดรอยโรคแดงตามเส้นทางที่พยาธิไชผ่าน นอกจากนี้ Ancylostoma ceylanicum ยังอาจพบเจริญเป็นตัวเต็มวัยได้ในลำไส้เล็กของมนุษย์ได้อีกด้วย

3. พยาธิตัวกลมในแมว (Toxocara cati) : พยาธิตัวกลมในแมว เป็นพยาธิที่อยู่ในกลุ่มพยาธิตัวกลม (roundworm) นับเป็นปรสิตอีกหนึ่งกลุ่มที่มีความสำคัญในการดูแลสุขภาพแมวเนื่องจากก่อให้เกิดความผิดปกติได้หลายระบบ วงจรชีวิตของพยาธิตัวกลมในแมว เริ่มจากการที่แมวได้รับพยาธิเข้าสู่ร่างกายผ่านทางการกินโฮสต์ตัวกลาง เช่น หนู กระต่าย หรือไส้เดือน ซึ่งมีไข่พยาธิอยู่ภายใน จากนั้นตัวอ่อนจะฟักออกจากไข่ และชอนไชไปยังอวัยวะข้างเคียง เช่น เยื่อบุลำไส้ หลอดเลือดดำที่ตับ (portal system) ปอด หลอดลม หรือคอหอย ส่งผลให้แมวเกิดการไอ และสำรอก ในระยะนี้เอง แมวจะกลืนพยาธิกลับเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารอีกครั้ง เมื่อพยาธิเติบโตเต็มที่ พยาธิจะไข่และแพร่ระบาดเป็นวงจรเช่นนี้ต่อไป นอกจากอาการดังกล่าวแล้ว แมวอาจแสดงอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลดออกมาให้เห็น ในกรณีลูกแมว หรือแมวอายุน้อยที่มีการสะสมของพยาธิจำนวนมาก อาจเป็นเหตุทำให้เสียชีวิตได้

สำหรับการติดต่อจากสัตว์สู่คนของพยาธิตัวกลมในแมวสามารถพบได้จากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น บังเอิญรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนอุจจาระของแมวที่ปนเปื้อนไข่พยาธิ หรือการไม่ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร นอกจากนี้ยังอาจพบการติดผ่านการไชเข้าผิวหนัง ในรายที่มีพฤติกรรมการสัมผัสกับดิน หรือสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนไข่พยาธิ ซึ่งส่งผลทำให้เกิดรอยโรคแดงตามเส้นทางที่พยาธิไชผ่านได้เช่นเดียวกับพยาธิปากขอในแมวอีกด้วย

4. ไรขี้เรื้อนแห้งในแมว (Notoedes cati) : หรือที่รู้จักกันอีกชื่อในนาม “feline scabies” เป็นไรชนิดขุดโพรงที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับ canine scabies ที่สามารถพบได้ในสุนัข แต่มีรูปร่างที่แตกต่างกัน (feline scabies มี anus ที่บริเวณ dorsal ในขณะที่ canine scabies มี anus ที่บริเวณ terminal) สามารถพบได้บนผิวหนังแมว โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า หู และลำคอ โดยอาจพบลามไปยังบริเวณขา และรอบก้นในกรณีที่ไม่ได้รับการรักษาจากพฤติกรรมการเลียตัวของแมว วงจรชีวิตของไรขี้เรื้อนแห้งในแมว เริ่มจากการที่ไรเพศผู้ และเพศเมียที่อยู่บนตัวแมวเกิดการผสมพันธุ์กัน จากนั้นไรเพศเมียจะขุดโพรงบนชั้นผิวหนังกำพร้า (stratum corneum) เพื่อวางไข่ หลังจากไข่ฟักตัว ตัวอ่อนจะเคลื่อนที่สู่ผิวหนังของแมวเพื่อหาเศษซากผิวหนัง (skin debris) กินเป็นอาหาร และตัวอ่อนจะเจริญเติบโต ผสมพันธุ์เพื่อวางไข่เป็นวงจรเช่นนี้เรื่อยไป โดยการขุดโพรงของไรขี้เรื้อนแห้งในแมวนี้เองจะส่งผลให้เกิดรอยโรคในลักษณะเป็นรอยบุ๋มตรงกลางของ papules ส่งผลให้ผิวหนังเกิดการอักเสบ แมวแสดงอาการคันมาก และมีขนร่วงตามมาได้

สำหรับการติดต่อจากสัตว์สู่คนของไรขี้เรื้อนแห้งในแมวสามารถพบได้บ้าง แต่อาจพบได้น้อย โดยมีโอกาสพบได้ในกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมการเล่นกับแมวอย่างใกล้ชิด โดยก่อให้เกิดรอยโรคตุ่มแดงบริเวณมือ และขา

แนวทางการป้องกันปรสิตในแมวที่สามารถติดคนได้ มีดังนี้

1. แนะนำให้เจ้าของใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันปรสิตภายใน และภายนอก : จจุบันการป้องกันปรสิตโดยการใช้ยานับเป็นข้อแนะนำสำคัญที่สัตวแพทย์ควรให้ความรู้กับเจ้าของ โดยในท้องตลอดมีผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยสูงให้เลือกใช้ได้หลายชนิด ทั้งในรูปแบบยาเดี่ยว และยาผสมร่วมกัน รูปแบบของยาที่นิยมใช้สำหรับแมวคือ รูปแบบยาหยดหลัง เนื่องจากสามารถใช้ได้ง่าย ไม่ต้องจับบังคับ ซึ่งตอบโจทย์การใช้ในแมวที่เกิดความเครียดได้ง่ายเมื่อต้องจับบังคับฉีด หรือป้อนยา ตัวยาที่นิยม และมีความปลอดภัยในแมว ได้แก่ selamectin, fipronil, fluralaner, moxidectin, methoprene, imidacloprid, praziquantel หรือ eprinomectin เป็นต้น

2. แนะนำให้เจ้าของพาแมวมาถ่ายพยาธิเป็นประจำ : นอกจากการใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันปรสิตภายนอก และภายในแล้ว การถ่ายพยาธิยังเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ควรแนะนำให้เจ้าของพาแมวมาทำอย่างสม่ำเสมอ โดย European Scientific Counsel for Companion Animal Parasites; ESCCAP ได้ให้คำแนะนำในการถ่ายพยาธิว่าแมวควรได้รับการถ่ายพยาธิอย่างน้อย 4 ครั้งต่อปี ขึ้นอยู่กับความเสี่ยง และพฤติกรรมของแมว โดยตัวยาที่นิยมใช้ในการถ่ายพยาธิแมวได้แก่ emodepside และ praziquantel

3. แนะนำให้เจ้าของดูแล รักษาความสะอาดของสิ่งแวดล้อม : จะเห็นได้ว่าวงจรชีวิตของทั้งปรสิตภายนอก และภายในแมวหลายชนิดขึ้นอยู่กับความสะอาดของสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ สัตวแพทย์ควรแนะนำให้เจ้าของดูแลรักษาความสะอาดของสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ เช่น ทำความสะอาดทันทีเมื่อสิ่งแวดล้อมมีการปนเปื้อนของอุจจาระ หรือใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเพื่อป้องกันการสะสมของไข่พยาธิ หรือหมัดในสิ่งแวดล้อม

4. แนะนำให้เจ้าของดูแลพฤติกรรมของแมวอย่างใกล้ชิด : โดยเฉพาะแมวที่เลี้ยงปล่อยในธรรมชาติ แมวเหล่านี้อาจมีพฤติกรรมการล่าตามสัญชาตญาณซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการได้รับพยาธิเข้าสู่ร่างกาย สัตวแพทย์ควรแนะนำให้เจ้าของทำความรู้จักกับวิธีการเลี้ยงในพื้นที่ปิด หรือบอกถึงความเสี่ยงของการเลี่ยงในพื้นที่เปิดเพื่อสามารถวางแผนการดูแลได้อย่างเหมาะสมต่อไป

อ้างอิงข้อมูล

1. Boothe DM. 2012. Drugs for the treatment of helminth infections. Small Animal Clinical. Pharmacology and Therapeutics. 2nd Elsevier-Saunders, USA, 451 – 458.

2. Center of Emerging and Re-emerging Infectious Diseases in Animals. 2022. Hookworm. [online]. Available : http://www.eidas.vet.chula.ac.th/node/394. Accessed 1 September 2022.

3. Chakrabarti A. 1986. Human notoedric scabies from contact with cats infested with Notoedres cati. Int J Dermatol. 25(10), 646-648.

4. ESCCAP. 2021. Worm Control in Dogs and Cats. ESCCAP Guideline (6), 1-27. [online]. Available : https://www.esccap.org/uploads/docs/oc1bt50t_0778_ESCCAP_GL1_v15_1p.pdf. Accessed 1 September 2022.

5. ESCCAP. 2022. Control of Ectoparasites in Dogs and Cats. ESCCAP Guideline (7), 1-10. [online]. Available : https://www.esccap.org/uploads/docs/4ce0ad9k_0720_ESCCAP_GL3__English_v17_1p.pdf. Accessed 1 September 2022.

6. The Center for Food Security&Public Health. 2013. Toxocariasis (Roundworm infection). [online]. Available : https://www.cfsph.iastate.edu/FastFacts/pdfs/toxocariasis_F.pdf. Accessed 1 September 2022.