ปรสิตภายนอกในแมวและการป้องกันรักษา

ปรสิตภายนอกของสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแมวสามารถพบได้ตลอดเวลา เนื่องจากสภาพอากาศในประเทศไทยจะค่อนข้างร้อน และมีความชื้นสูงทั้งปี แมวที่ขาดการดูแลเอาใจใส่จากเจ้าของ หรือแมวที่ไม่มีเจ้าของก็มีโอกาสเป็นแหล่งสะสมของปรสิตภายนอกได้อีกด้วย จึงจะเป็นสาเหตุที่ยังคงมีปรสิตภายนอกในสิ่งแวดล้อมได้ตลอดเวลา อาการทั่วไปของแมวที่มีปรสิตภายนอก ได้แก่ ขนร่วงเป็นหย่อม ๆ จากการเลียขนมากเกินไป มีอาการคันตามตัว ใช้เท้าเกามากกว่าปกติ มีรอยโรคพวกผื่นแพ้ด้วยหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งควรจะต้องวินิจฉัยแยกแยะออกจากโรคอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ปรสิตภายนอกก่อน เช่น เชื้อราที่ผิวหนัง ผื่นจากภูมิแพ้ การแพ้อาหาร ปัญหาจากฮอร์โมนไม่สมดุล เป็นต้น
ปรสิตภายนอกที่พบในแมว
1. หมัด (fleas) พบได้บ่อยในแมว ซึ่งจะติดได้ง่ายจากแมวตัวหนึ่งสู่แมวอีกตัวหนึ่ง หรือจากสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ เช่น Ctenocephalides felis (แมว) C.canis (สุนัข) Archaeopsylla erinacei (“hedgehog flea” จากเม่นแคระ) เป็นต้น นอกจากนี้หมัดในสิ่งแวดล้อมก็สามารถกระโดดขึ้นมาบนตัวแมวได้เช่นกัน

2. เห็บ (ticks) เช่น Ixodes ricinus สามารถพบได้สิ่งแวดล้อมที่มีต้นไม้ พุ่มไม้ หรือสนามหญ้า เมื่อแมวเดินผ่านก็มีโอกาสที่เกาะตามขนแมวและดูดเลือดได้ แต่เห็บนั้นจะไม่มีการติดต่อจากแมวสู่แมว หรือสู่สัตว์อื่น ๆ

3. ไร (mites) มักจะพบได้ทั้งไรชนิดที่ขุดโพรง (burrowing mite) และไรชนิดที่ไม่ขุดโพรง (non-burrowing mite) ไรที่พบได้บ่อยในแมว ได้แก่ Demodex cati, Sarcoptes scabiei, Notoedres cati และ Lynxacarus radovskyi เป็นไรชนิดที่ขุดโพรง ส่วน Otodectes cynotis และ Cheyletiella blakei นั้นเป็นไรชนิดที่ไม่ขุดโพรง พบได้ภายในช่องหู

  • Demodex cati และ D.gatoi สามารถพบได้ตั้งแต่ลูกแมวแรกเกิด โดยติดมาจากแม่แมว อาการทางคลินิกจะไม่ค่อยพบ แต่เมื่อภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลงจะสามารถพบอาการของโรคได้
  • Sarcoptes scabiei สามารถติดแมวสู่แมวได้ทาง direct contact แมวจะมีอาการทางคลินิกและ รอยโรคที่ชัดเจน คือ มีผื่นแดงคันเป็นสะเก็ด (crust and scales) ที่ขอบใบหู และตามใบหน้า ส่วน Notoedres cati มีความใกล้เคียงกัน สามารถติดต่อได้โดยทั้ง direct หรือ indirect contact ซึ่งจะติดได้ง่ายในแมวที่เลี้ยงหลายตัว หรือในลูกแมว
  • Cheyletiella blakei เป็นไรที่ติดได้ง่ายแบบ direct contact มักพบในแมวที่ร่างกายอ่อนแอ จะมีโอกาสติดไรชนิดนี้ได้ง่าย
  • Otodectes cynotis ไรในหู มักพบในช่องหูชั้นนอกของแมว ทำให้มีขี้หูสีน้ำตาล เหนียว ๆ ซึ่งจะทำให้แมวมีการคันหู ช่องหูบวมแดง เกาจนหลังหูเป็นแผล
4. เหา (lice) ในแมวคือ Felicola subrostratus สามารถติดแบบ direct contact หรือจากสิ่งแวดล้อม อุปกรณ์ต่างๆ เช่น ที่นอนแมว แปรงขนแมว เป็นต้น แมวจะมีอาการคันมาก เกามาก และขนร่วงเป็นหย่อม ๆ สามารถตรวจพบไข่ของเหาได้ตามเส้นขน ด้วยวิธี Trichograms

การป้องกันหรือรักษาปรสิตภายนอกในแมวได้อย่างไร

การกำจัดปรสิตภายนอกนั้น อาจจะต้องใช้หลายวิธีการรวม ๆ กัน ตั้งแต่การทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ หรือการจำกัดเบื้องต้น เช่น การหวี สางขนเพื่อนำปรสิตภายนอกออก เช่น เหา ไข่เหา เป็นต้น นอกจากนี้ สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นแบบอาบทั้งตัว การฉีดยาใต้ผิวหนัง ยากิน สเปรย์พ่น หยดหลัง (spot-on) หรือปลอกคอกำจัดหมัดที่มีส่วนผสมของยา หรือสารออกฤทธิ์กำจัดปรสิตภายนอก
การสเปรย์พ่นสารเคมีบนตัวสัตว์ หรือใช้อาบทั้งตัว เช่น 2% lime sulphur โดยอาบให้แมวทุก 1-3 สัปดาห์แล้วล้างออก แต่อย่างไรก็ตามการอาบให้แมวทั้งตัวเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ยาก การออกฤทธิ์ของยาประเภทนี้จะทำให้ปรสิตภายนอกได้รับสารเคมีและตายในทันที แต่ต้องระวังเรื่องความเป็นพิษของสารเคมีที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากแมวอาจเลียเอาสารเคมีเข้าไป ซึ่งจะต้องใส่ปลอกคอกันเลีย (E-collar) ให้กับสัตว์จนกว่าสารเคมีจะแห้งไป
การให้ ivermectin ขนาด 0.2-0.3 mg/kg แบบให้รับประทานทุก ๆ 24-48 ชั่วโมง ก็สามารถป้องกันได้ แต่ตัวยาชนิดนี้เป็น ยาที่ห้ามใช้นอกเหนือจากฉลากยา (Extra label use) ที่ไม่ได้แนะนำให้ใช้ในแมว หากใช้ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง หรือเริ่มต้นที่ขนาดต่ำ ๆ ก่อน และมีโอกาสเสี่ยงมีอาการทางระบบประสาท (neurotoxicity) ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากยาได้ง่าย
สำหรับสารเคมีในรูปแบบหยดหลัง (spot-on) สารเคมีจะไม่ออกฤทธิ์ให้เห็นในทันที จำเป็นต้องใช้เวลาประมาณ 24 - 48 ชั่วโมง จึงจะเริ่มพบการตายของปรสิตภายนอก ตัวยามีหลายชนิด ได้แก่ fipronil, imidacloprid/moxidectin หรือยาในกลุ่ม avermectin เช่น selamectin, eprimectin ที่มีความปลอดภัยมากกว่า ivermectin
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของยากำจัดปรสิตภายนอกในรูปแบบกว่าหยอดหลัง (spot-on) มีความสะดวกในการเลือกใช้มากขึ้น เพราะมีการคำนวณประมาณยาที่เหมาะสมกับน้ำหนักตัวของแมว ใช้ได้ง่าย รวมทั้งผลิตภัณฑ์ในปัจจุบันได้มีการพัฒนา นำยาหลายชนิดมาใช้ร่วมกันเพื่อให้ออกฤทธิ์ทำงาน ได้ครอบคลุมกับปรสิตภายนอกหลายชนิดมากขึ้น เช่น fipronil กับ (S)-methoprene เพื่อป้องกันหมัดระยะตัวอ่อน หรือ fipronil กับ eprimectin ซึ่งยาในกลุ่ม avermectin นั้นก็ยังมีฤทธิ์ในการป้องกันปรสิตภายในชนิดตัวกลม (nematodes) ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีการรวมกับยาที่สามารถป้องกันปรสิตภายใน เช่น praziquantel เพื่อป้องกันพยาธิตืด (cestodes) ยาป้องกันหมัดแบบชนิดกิน สามารถป้องกันหมัดในระยะต่าง ๆ (ไข่ ตัวอ่อนระยะ larvae ตัวอ่อนระยะ pupae) ได้ด้วย เช่น milbemycin oxime, lufenuron และ (S)-methoprene เป็นต้น
ปลอกคอที่มียากำจัดหมัดก็สามารถใช้ได้ดีในแมว บางชนิดมีตัวยาในกลุ่ม pyrethroid เช่น flumethrin ซึ่งอาจใช้ร่วมกับยา Imidacloprid เพื่อเพิ่มประสิทธิการป้องกันมากขึ้น ส่วนการกำจัดปรสิตภายนอกในสิ่งแวดล้อมหรือบ้านเรือนนั้น ยังเป็นสิ่งที่สำคัญมาก สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การใช้ความร้อน และการใช้สารเคมี สารเคมีเหล่านี้ ได้แก่ amitraz, fipronil, imidacloprid, flumethrin และ permetrin ก็เป็นวิธีการที่ช่วยปรสิตภายนอกในสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
รูปที่ 1: Demodex gatoi
รูปที่ 2 : ไข่เหาที่สามารถพบได้ตามเส้นขนของแมว

อ้างอิงข้อมูล :

  1. 1. Griffiths, K. (2016) How I Approach...Overgrooming in cats. Veterinary Focus. Vol 26 n°2. P32–39.
  2. 2. Willows Information Sheets. Ectoparasites (Fleas and Other Skin Parasites) In Cats. Willows Veterinary Centre And Referral Service. www.willows.uk.net
  3. 3. Control of Ectoparasites in Dogs and Cats. ESCCAP Guideline 03 Sixth Edition – March 2018. pp33