"ปวด" เกิดจากอะไร ? ทำความเข้าใจกลไก และแนวทางการจัดการอาการปวดในแมว

“ปวด” คือการตอบสนองของร่างกายเมื่อเกิดความผิดปกติที่อาจก่อให้เกิดอันตราย เป็นหนึ่งในกลไกการป้องกันตนเองที่ช่วยให้แมวหลีกเลี่ยง หรือลดการสัมผัสกับอันตรายเหล่านั้น เกิดจากการทำงานของระบบประสาทโดยการเปลี่ยนแปลงสิ่งกระตุ้นให้เกิดเป็นสัญญาณทางกระแสประสาท และเกิดเป็นความเจ็บปวดต่อไป นับเป็นหนึ่งในอาการความผิดปกติที่ส่งผลให้แมวมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี ในบางครั้งอาจเหนี่ยวนำให้ระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายลดต่ำลง ร่างกายเกิดการอักเสบ แผลหายช้า และส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายตามมาได้ การปล่อยให้แมวต้องเผชิญกับภาวะดังกล่าวเป็นระยะเวลานานไม่เพียงแต่ส่งผลให้เกิดความรู้สึกอันไม่พึงประสงค์ แต่อาจเป็นที่มาของการเกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงได้ในอนาคต บทความนี้จะพาคุณหมอไปทบทวนกลไกการเกิดความเจ็บปวด และแนวทางการจัดการอาการปวดในแมวเพื่อสามารถวางแผนการรักษาของตนได้อย่างเหมาะสมต่อไป
กลไกการเกิดความเจ็บปวด (pain pathway) แบ่งออกเป็น 4 กระบวนการ ได้แก่
1. การแปลงสัญญาณ (transduction) คือกระบวนการแปลงตัวกระตุ้น (stimulus) ที่มากระทบ หรือระคายบริเวณเซลล์ และเนื้อเยื่อให้กลายเป็นกระแสประสาท (nerve impulse) โดยผ่านการกระตุ้นหน่วยรับความรู้สึกเจ็บปวด (nociceptor) ที่มีความไวจำเพาะต่อตัวกระตุ้น ทั้งนี้ตัวกระตุ้นที่สามารถทำให้เกิดการแปลงสัญญาณดังกล่าวได้แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ 1. แรงเชิงกล (mechanical stimulus) เช่น แรงกด หรือแรงหยิก 2. ตัวกระตุ้นเชิงอุณหภูมิ (thermal stimulus) เช่น ความร้อน และ 3. สารเคมี (chemical stimulus) เช่น histamine หรือ serotonin ซึ่งมักหลั่งออกมาเมื่อเซลล์กล้ามเนื้อได้รับความเสียหาย หรือเกิดแผล เป็นต้น
ภาพที่ 1 แสดงการส่งต่อกระแสประสาทจาก peripheral receptive field ไปยัง spinal cord และสมอง

(ที่มา : Osterweis M, Kleinman A and Mechanic D,1987.)

2.การส่งผ่านสัญญาณ (transmission) คือกระบวนการส่งต่อกระแสประสาทที่เกิดขึ้นจากระบบประสาทส่วนปลายเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลางผ่านทางเส้นประสาท โดยส่งผ่านปลาย axon ของ primary afferent nociceptor และส่งต่อผ่านจุดประสานประสาท (synapse) ในหลายส่วนไปยังไขสันหลัง ก้านสมอง และสมอง
3. การกล้ำสัญญาณ (modulation) คือกระบวนการที่ร่างกายได้รับกระแสประสาท และทำการปรับเพิ่ม หรือลดความแรงของสัญญาณที่เข้ามาในระบบประสาทส่วนกลาง นับเป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยให้ร่างกายส่งเสริม หรือบรรเทาความเจ็บปวดลงได้
4. การรับรู้ (perception) คือกระบวนการแปลผลจากกระแสประสาทออกเป็นความรู้สึกเจ็บปวด ช่วยให้แมวเกิดการรับรู้ และตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นได้อย่างเหมาะสม โดยกระบวนการดังกล่าวเกิดจากการทำงานของสมองส่วนธาลามัส (thalamus) ซึ่งทำหน้าที่กระจายกระแสประสาทออกไปยังเปลือกสมองส่วนรับความรู้สึก (primary sensory cortex) และสมองส่วนอื่น ๆ เช่น โครงสร้างลิมบิก (limbic structure) หรือสมองส่วนไฮโปทาลามัส (hypothalamus) เป็นต้น
กล่าวคือ เมื่อสิ่งกระตุ้นถูกแปลงสัญญาณเป็นกระแสประสาทจะถูกส่งต่อสัญญาณไปยังระบบประสาทส่วนกลางเพื่อผ่านกระบวนการกล้ำสัญญาณ และส่งต่อไปยังสมอง เกิดเป็นการรับรู้ เพื่อกระตุ้นให้แมวเกิดความเจ็บป่วย และพฤติกรรมที่เหมาะสมต่อไปนั่นเอง

แนวทางการจัดการความเจ็บปวดในแมว

สำหรับแนวทางการจัดการความเจ็บปวดในแมว เมื่อสัตวแพทย์ทำการซักประวัติเจ้าของเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตรวจวินิจฉัย หรือทำหัตถกรรมใด ๆ ที่คาดว่าก่อให้เกิดความเจ็บปวดในแมว สัตวแพทย์ควรทำการประเมินความเจ็บปวดโดยอาศัยหลักการในการประเมินที่เหมาะสม โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากสถาบัน หรือหน่วยงานที่ออกแนวทางการประเมินความเจ็บปวดนั้น ๆ ทั้งนี้สัตวแพทย์อาจเลือกใช้วิธีการตรวจมากกว่า 1 วิธีเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด เพื่อสามารถประเมินความเจ็บปวดของแมว และเลี้ยงใช้ยาได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้การประเมินความเจ็บปวดยังสามารถช่วยในการประเมินว่าการจัดการความเจ็บปวดที่สัตวแพทย์เลือกใช้นั้นให้ผลดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร ทำให้สามารถปรับปรุงหรือจัดการให้เหมาะสมต่อไปได้อีกด้วย
ภาพที่ 2 แสดงวิธีการประเมินความเจ็บปวดในแมว

(ที่มา : Margaret, EG., Duncan, XL., Elizabeth, C., Jennifer, J. and Denis, ML., 2022.)

ภายหลังการตรวจสัตวแพทย์จะได้ข้อมูลความรุนแรงของอาการปวดที่เกิดขึ้น เพื่อนำมาเลือกใช้ยาอย่างเหมาะสมต่อไป โดยในปัจจุบันได้มีการนำเทคนิคการให้ยาลดอาการปวดที่มีกลไกการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกันมาใช้ร่วมกัน เพื่อลดปริมาณยา และลดโอกาสการเกิดผลข้างเคียง อีกทั้งยังเสริมให้การป้องกันการเจ็บปวดมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เรียกเทคนิคนี้ว่า การระงับปวดด้วยวิธีผสมผสาน (multimodal analgesia) โดยในแมวได้มีการให้ยาลดปวดชนิด opioids เพื่อระงับความเจ็บปวดแบบเฉพาะจุด ร่วมกับการให้ยาในกลุ่ม non-steroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs) เพื่อเสริมฤทธิ์ซึ่งกันและกัน และลดผลข้างเคียงของการให้ยาชนิดเดียวในโดสยาที่สูง รวมไปถึงการให้ local anesthesia หรือ adjuvant ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น gabapentin, pregabalin หรือ tricyclic antidepressant ร่วมกับยาแก้ปวดเพื่อเสริมฤทธิ์ซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะให้ยาในปริมาณที่ไม่สูงมากนัก แต่ผลข้างเคียงของยายังคงเกิดขึ้นได้ ซึ่งสัตวแพทย์ควรทำการสังเกตทุกครั้งภายหลังการให้ยา และหลีกเลี่ยงการใช้ยาในกรณีที่แมวมีประวัติการแพ้ยาชนิดนั้น ๆ
สำหรับยาในกลุ่ม opioids มักใช้เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดแบบเฉียบพลันในแมว โดยยาจะทำการจับกับ opioid receptors ที่อยู่ใกล้กับระบบประสาท peripheral และ central nervous system ทำให้เซลล์ประสาทรับความรู้สึกถูกยับยั้ง มักเป็นตัวเลือกแรก ๆ ที่สัตวแพทย์นำมาใช้ในการรักษาความเจ็บปวดแบบเฉียบพลัน ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ morphine, hydromorphone, meperidine หรือ pethidine, methadone, fentanyl, buprenorphine และ butorphanol เป็นต้น
ยาในกลุ่ม NSAIDs เป็นยาที่ช่วยในการลดปวด ลดอักเสบ และลดไข้ โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไซโคลออกซิจีเนส (cyclooxygenase; COX) ซึ่งมี 2 ชนิด ได้แก่ COX-1 และ COX-2 โดยเอนไซม์ชนิด COX-2 จะทำหน้าที่สร้างพรอสตาแกลนดิน (prostaglandins) ที่ทำให้เกิดอาการปวด อาการอักเสบและไข้ มักใช้ยาในกลุ่มนี้เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดภายหลังการผ่าตัด และใช้เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดแบบเฉียบพลันในแมว ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ meloxicam (ยากลุ่ม NSAIDs ชนิดเดียวที่มีการรับรองให้ใช้ในระยะยาวได้ในบางประเทศ), carprofen, ketoprofen, robenacoxib และ tolfenamic acid เป็นต้น
ดังนั้นการนำยาทั้ง 2 กลุ่มนี้มาใช้ร่วมกันจะช่วยให้การควบคุมความเจ็บปวดดีขึ้น ลดการให้ยาชนิดเดียวในปริมาณมาก และลดโอกาสการเกิดผลข้างเคียงได้
ตัวยาที่ใช้ในการลดความเจ็บปวดของแมวแต่ละกลุ่มมีกลไกการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน แต่ละชนิดต่างก็ออกฤทธิ์ที่ตำแหน่งของ pain pathway แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามก่อนเลือกใช้ยาอย่าลืมศึกษาถึงผลข้างเคียง และข้อควรระวังของการใช้ยาให้เหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาที่ตามมาต่อไป
สัตวแพทย์สามารถศึกษาเพิ่มเติมถึงการประเมินความเจ็บปวด และการวางแผนการจัดการความเจ็บปวดในแมวอย่างเหมาะสมได้ที่ 2022 AAHA Pain Management Guidelines for Dogs and Cats.

อ้างอิง

1. Derek, A., Mark, P., Ron, B., Jo, M. and Duncan, XL. 2017. Chronic maladaptive pain in cats: A review of current and future drug treatment options. The Veterinary Journal 230, 52–61.

2. Margaret, EG., Duncan, XL., Elizabeth, C., Jennifer, J. and Denis, ML. 2022. 2022 AAHA Pain Management Guidelines for Dogs and Cats. [online]. Available : https://www.aaha.org/globalassets/02-guidelines/2022-pain-management/resources/2022-aaha-pain-management-guidelines-for-dog-and-cats_updated_060622.pdf. Accessed date : 20 January 2023.

3. Monteiro, BP., and Steagall, PV. 2019. Chronic pain in cats Recent advances in clinical assessment. Journal of feline medicine and surgery. 21, 601-614.

4. Osterweis M, Kleinman A and Mechanic D. 1987. Pain and Disability: Clinical, Behavior and Public Policy Perspectives. [online]. Available : https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK219252/. Accessed date : 21 January 2023.

5. Steagall, PV., Robertson, S., Simon B., Warne, LN., Shilo-Benjamini, Y. and Taylor, S. 2022. 2022 ISFM Consensus guidelines on the management of acute pain in cats. Journal of feline medicine and surgery. 24, 4-30.

6. Tamara, G. 2018. Maladaptive Pain in Cats. [online]. Available : https://www.cliniciansbrief.com/article/maladaptive-pain-cats. Accessed date : 23 January 2023.