รศ.น.สพ.ดร.ปิยนันท์ ทวีถาวรสวัสดิ์
ปัจจุบันในการกำจัดเห็บหมัดสามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีวางขายตามท้องตลาดได้ง่าย หรือบางครั้งสัตวแพทย์จะแนะนำวิธีควบคุมป้องกันเห็บหมัดให้เหมาะสมกับความพอใจของลูกค้า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายมีทั้งรูปแบบหยดหลัง สเปรย์พ่นตัว ยากิน รวมถึงการนำสุนัขไปฉีดยา ทั้งนี้ขึ้นกับลูกค้าว่าสะดวกเลือกวิธีใด แต่บ่อยครั้งที่มักได้รับคำบอกกล่าวจากเจ้าของสัตว์เลี้ยง ว่ายาที่ได้รับไปนั้นไม่สามารถกำจัดเห็บได้เหมือนแต่ก่อน สิ่งเหล่านี้คือปัญหาที่เรามักจะได้ยินเสมอ ประเด็นของความเข้าใจเรื่องวงจรชีวิตเห็บจึงเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ ที่จะช่วยในการอธิบายให้เจ้าของทราบถึงความยากลำบากในการกำจัดเห็บให้หมดสิ้น จากปัญหาดังกล่าวทำให้บริษัทต่าง ๆ พัฒนายาตัวใหม่ๆ ขึ้น รวมไปถึงรูปแบบการใช้ยาที่เรียกว่า combination drug สำหรับบทความนี้ขอแนะนำผลิตภัณฑ์ที่เป็นส่วนผสมของยา Fipronil และ Permethrin ซึ่งเป็นรูปแบบยาหยดหลัง
การทำงานของ Fipronil กับ Permethrin จะออกฤทธิ์โดย
Fipronil
จะเข้าไปจับ Glutamate gate และ GABA receptor บริเวณ Synapse เซลล์ประสาทของแมลงซึ่งจะส่งผลให้ Chloride ion channel ปิด ทำให้ Chloride ion เข้าเซลล์ไม่ได้ เซลล์ประสาทของแมลงเกิด Hyperexcitation แมลงจะเกิดการชักเกร็งและตายในที่สุด ดังรูปที่ 1Permethrin
จะเข้าไปจับกับ Receptor บริเวณของ Axon มีผลทำให้ Sodium ion channel เปิดค้าง และมีการไหลของ Sodium ion เข้าเซลล์ตลอดเวลา ส่งผลให้เซลล์ประสาทถูกกระตุ้นซ้ำ ๆ จนช็อคแบบกระทันหัน (Knock-down effect) ดังรูปที่ 1รูปที่ 1: รูปที่ 1 กลไกการออกฤทธิ์ของ Fipronil และ Permethrin
ปัจจุบันในการกำจัดเห็บหมัดสามารถเลือกใช้นอกจากนี้ตัวยา Permethrin ยังมีฤทธิ์การขับไล่หรือที่เรียกว่า Repellency effect โดยกลไกการออกฤทธิ์ไล่นี้ เกิดจาก 2 ทางด้วยกัน ทั้ง Sensory repellency และ Contact repellency
1. Sensory repellency แมลงจะรับรู้โมเลกุลของยาที่ระเหยออกมาผ่าน Olfactory sensory organ ส่งผลให้แมลงหลีกเลี่ยงที่จะเข้าใกล้สัตว์ที่ได้รับการหยดยา โดยโมเลกุลยาที่ระเหยทำให้แมลงบินได้รับยาส่งผลในการกำจัดได้ด้วย
2. Contact repellency แมลงเกิดการระคายเคืองเมื่อขึ้นมาเกาะอยู่บนตัวสัตว์ ที่มียาเคลือบอยู่บริเวณผิวหนังและขน ส่งผลให้แมลงได้รับยาและระคายเคือง ทำให้ไม่สามารถอยู่บนตัวสัตว์ได้ และตายในที่สุด
ภายหลังการหยดยา ยาจะกระจายไปทั่วตัวและซึมเข้าต่อมไขมันสุนัขภายใน 24-48 ชั่วโมง ตัวยาจะถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือดได้เล็กน้อยแต่ไม่มีอันตรายต่อสัตว์ ซึ่งการหยดทำได้โดยการตัดบริเวณส่วนหัวของหลอด และทำการหยด ที่ 2 บริเวณ คือ หลังคอและระหว่างหัวไหล่ทั้ง 2 ข้าง ซึ่งจากการศึกษาพบว่า Fipronil และ Permethrin จะไม่มีการปฏิกิริยาทางเคมีที่ขัดแย้งต่อการออกฤทธิ์กัน ในทางกลับกัน ทั้งคู่ส่งผลส่งเสริมทำให้การออกฤทธิ์ต่อปรสิตภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อควรระวังสำหรับยาที่มีส่วนประกอบของ Permethrin คือห้ามใช้ในแมวโดยเด็ดขาด กรณีที่มีการหยอดยาในสุนัขที่เลี้ยงร่วมกับแมว จำเป็นต้องแยกช่วงที่หยดยาเมื่อยาซึมผ่านผิวหนังไปเรียบร้อย จึงสามารถปล่อยแมวกลับมาอยู่ร่วมกันได้ตามปกติ
ความปลอดภัยของยา
การหยดยาที่มีส่วนประกอบของ Fipronil ร่วมกับ Permethrin ให้กับสุนัขโตและลูกสุนัขอายุ 8 สัปดาห์ มีความปลอดภัยถึง 5 เท่าของ maximum dose (มีการทดลองการให้ยาในสุนัขโต 3 ครั้ง ห่างกันเป็นระยะเวลา 1 เดือน และในลูกสุนัขอายุ 8 สัปดาห์ 1 ครั้ง พบว่าสุนัขไม่มีอาการผิดปกติ)
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
งานวิจัยของ Dumont และคณะ (2015) ศึกษาถึงประสิทธิภาพของยาในการกำจัดเห็บ ความเร็วในการออกฤทธิ์ และการออกฤทธิ์ของผลิตภัณฑ์ในการไล่เห็บ สำหรับประสิทธิภาพการออกฤทธิ์ต่อเห็บสุนัข Rhipicephalus (R.) sanguineus ที่ 48 ชั่วโมง มีประสิทธิภาพในการกำจัดมากกว่าร้อยละ 97 เป็นเวลา 1 เดือน สำหรับประสิทธิภาพในการป้องกัน พบว่าที่ 6 ชั่วโมง ยาที่มีส่วนประกอบของ Fipronil ร่วมกับ Permethrin ออกฤทธิ์ป้องกันเห็บได้มากกว่าร้อยละ 90 นอกจากนี้ยังมีการศึกษามีการศึกษาประสิทธิภาพการไล่เห็บ โดยพบว่าชั่วโมงที่ 4 และ 24 ประสิทธิภาพในการไล่เห็บ R. sanguineus มากกว่าร้อยละ 56.8 และมากกว่าร้อยละ 95 ตามลำดับ
ความสำคัญของเห็บโดยทั่วไป นอกจากดูดเลือดสุนัขแล้วยังมีความสามารถในการถ่ายทอดเชื้อจากเห็บสู่สุนัขได้ โดยระยะเวลาในการถ่ายทอดเชื้อจะแตกต่างกันไปตามชนิดของพยาธิเม็ดเลือด เช่น
E. canis ใช้ระยะเวลาในการส่งผ่านเชื้อ 12 - 24 ชั่วโมง
Anaplasma spp. ใช้ระยะเวลาในการส่งผ่านเชื้อ 24 ชั่วโมง
Babesia spp. ใช้ระยะเวลาในการส่งผ่านเชื้อ 48 - 96 ชั่วโมง
สำหรับงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการยับยั้งการส่งผ่านเชื้อ มีการศึกษาสารเคมีที่มีส่วนประกอบของ Fipronil ร่วมกับ Permethrin ในการช่วยลดการส่งผ่านของเชื้อโปรโตซัว Babesia canis ในการศึกษาครั้งนี้ทดสอบกับเห็บสกุล Dermacentor spp. และศึกษาการส่งผ่านเชื้อริกเก็ตเซีย E. canis โดยเห็บสุนัข R. sanguineus ผลการศึกษาพบว่ายาดังกล่าวสามารถป้องกันสุนัขจากการติดเชื้อ B. canis ได้สูงถึงร้อยละ 87.5 เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ส่วนเชื้อ E. canis มีเปอร์เซ็นต์การป้องกันสูงถึงร้อยละ 96.87 (Jongejan et al., 2015)
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาของ Fankhauser และคณะ (2015) เกี่ยวกับการออกฤทธิ์ของสารเคมีที่มีส่วนประกอบของ Fipronil ร่วมกับ Permethrin ในการไล่และกำจัดยุง โดยยุงที่ใช้ในการศึกษาจะเป็นยุงลายและยุงรำคาญ โดยการศึกษาได้แบ่งสุนัขออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่หยดสารเคมีที่มีส่วนประกอบของ Fipronil ร่วมกับ Permethrin และกลุ่มควบคุม โดยหลังจากหยดแล้ว 1 วัน มีการปล่อยยุง 100 ตัว เข้าไปในกล่องที่มีสุนัขทดลองอยู่ด้านในทุก ๆ สัปดาห์ติดต่อกันเป็นเวลา 5 สัปดาห์ เพื่อวัดประสิทธิภาพในการไล่ยุงและกำจัดยุง ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่หยดสารเคมีที่มีส่วนประกอบของ Fipronil ร่วมกับ Permethrin สามารถออกฤทธิ์กำจัดยุงลายได้สูงถึงร้อยละ 97-100 ต่อเนื่องเป็นวลา 3-4 สัปดาห์ และสามารถออกฤทธิ์กำจัดยุงลายมากกว่าร้อยละ 90 ตั้งแต่วันแรกที่มีการหยดยา ส่วนยุงรำคาญมีประสิทธิภาพในการกำจัดในสัปดาห์แรก มีประสิทธิภาพสูงกว่าร้อยละ 90 ส่วนผลศึกษาการออกฤทธิ์ไล่ยุง กลุ่มที่หยดสารเคมีที่มีส่วนประกอบของ Fipronil ร่วมกับ Permethrin สามารถออกฤทธิ์ไล่ยุงลายและยุงรำคาญได้สูงกว่าร้อยละ 90 ต่อเนื่องเป็นเวลา 1 เดือน
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาถึงความปลอดภัยโดยการให้สารเคมีหยดหลังที่มีส่วนประกอบของ Fipronil ร่วมกับ Permethrin ร่วมกับยากินที่มีส่วนประกอบของ Milbemycin oxime กับ Afoxolaner เป็นเวลา 6 เดือน ผลการศึกษาไม่พบอาการข้างเคียงผิดปกติในสุนัขทดลองทุกตัว และยามีประสิทธิภาพในการกำจัดและป้องกันในพยาธิภายนอกและภายในสูง รวมถึงฤทธิ์การขับไล่เห็บและแมลงบินทั่วไปได้เป็นอย่างดี โดยพบว่าภายหลังเสร็จสิ้นการทดลอง สุนัขทุกตัวปลอดจากพยาธิตัวกลมที่นำมาศึกษาซึ่งรวมถึงพยาธิแส้ม้า และตรวจไม่พบพยาธิเม็ดเลือดและพยาธิหนอนหัวใจในสุนัขที่ทำการทดลองทุกตัว (Abbate et al., 2018)
กล่าวโดยสรุป แนวทางใหม่ในการเลือกใช้สารเคมีที่มีส่วนประกอบของยา 2 ชนิด คือ Fipronil และ Permethrin ซึ่งมีฤทธิ์ส่งเสริมกัน จะมีประสิทธิภาพได้ทั้งขับไล่ กำจัด และป้องกันปรสิตภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 1 เดือน จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้สัตวแพทย์สามารถแนะนำเจ้าของสัตว์เพื่อใช้ในการกำจัดปรสิตภายนอก อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาการเกิดการดื้อยาจากการใช้ยาชนิดเดิมซ้ำเป็นเวลานาน