ไข้หัดสุนัขคืออะไร ?
โรคไข้หัดสุนัข เป็นโรคติดต่อร้ายแรงในสุนัขและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัส พบการแพร่ระบาดได้ทุกภูมิภาคทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย
เชื้อไวรัสไข้หัดสุนัขนั้นอยู่ในในจีนัส Morbillivirus เป็นไวรัสในกลุ่ม Paramyxoviridae ลักษณะเป็น single-strand enveloped RNA virus ซึ่งขอท้าวความก่อนเลยว่าเป็นคนละชนิดกับไวรัสไข้หัดแมว (feline distemper) หรือในสุนัขจะมีชื่อเรียกที่คุ้นหูว่า “ไวรัสลำไส้อักเสบ” เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่ม carnivore protoparvovirus 1 แม้ชื่อโรคจะคล้ายเคียงกันแต่เป็นไวรัสคนละกลุ่มกับไวรัสไข้หัดสุนัขโดยสิ้นเชิง
การแพร่ระบาดของโรคไข้หัดสุนัข
การติดเชื้อทางหลักที่พบได้บ่อยที่สุดนั้นเกิดผ่านทางการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจำพวกน้ำลายและน้ำมูกทางอากาศ (aerosol transmission) นอกจากนี้ยังอาจติดเชื้อจากการสัมผัสโดยตรง (direct contact) จากสุนัขที่ติดเชื้อ หรือแม้กระทั่งการติดต่อจากแม่สู่ลูกผ่านทางรก (transplacental) ก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังเคยมีรายงานว่ามีการพบแอนติเจนของไวรัสในพาหะจำพวกหมัดอีกด้วย ดังนั้นการติดต่อเชื้อผ่านสัตว์พาหะนั้นนับว่ามีความเป็นไปได้และยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติม
กลุ่มประชากรสุนัขที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อมากที่สุดได้แก่ กลุ่มลูกสุนัขที่มีอายุน้อยกว่าสี่เดือนที่ไม่ได้มีการทำวัคซีนป้องกันโรคไข้หัดสุนัข และมีการเลี้ยงแบบระบบเปิด
แม้เชื้อไวรัสนั้นจะไม่ทนทานในสิ่งแวดล้อม และสามารถถูกกำจัดได้อย่างง่ายดายเพียงแค่ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อในครัวเรือนทั่วไป หรือแม้แต่ผงซักฟอกและแสงยูวีก็เพียงพอต่อการทำลายเชื้อ แต่หากสุนัขที่มีการติดเชื้อแล้วสามารถมีระยะแพร่เชื้อต่อไปได้ยาวนานหลายเดือน ทำให้สุนัขที่ติดเชื้อเพียงตัวเดียวสามารถแพร่เชื้อไปได้อย่างกว้างขวาง
ในต่างประเทศมีรายงานการติดเชื้อในสัตว์ป่าหลายชนิดไม่วาจะเป็นสัตว์ในวงศ์สุนัขเช่น จิ้งจอก หมาป่า แรคคูน หรือสัตว์ในวงศ์เพียงพอน (mustelid) เช่น ตัวมิงค์ เฟอร์เรต ออตเตอร์ สกั๊งก์ แบดเจอร์ หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในวงศ์อื่น เช่น ลิง กวาง ช้าง หมี เป็นต้น
เชื้อไวรัสนั้นสามารถแทรกซึมเข้าในเนื้อเยื่อน้ำเหลือง (lymphatic tissue) และเนื้อเยื่อบุผิว (epithelium) ในระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะ และระบบประสาทส่วนกลางได้ทั้งหมด ดังนั้นอาการแสดงของโรคจึงสามารถก่อพยาธิสภาพได้หลายระบบร่างกาย (systemic infection) และการแสดงอาการมีหลายรูปแบบตั้งแต่ไม่แสดงอาการ (subclinical) ป่วยเล็กน้อย จนกระทั่งถึงแก่ชีวิต
อาการแสดงของโรคไข้หัดสุนัข
ในระยะแรกเริ่มของการติดเชื้อ ไวรัสจะแทรกตัวเข้าไปอยู่ในเนื้อเยื่อน้ำเหลืองของระบบหายใจ และทำการเพิ่มจำนวนตัวเองก่อนจะแพร่ไปยังระบบต่าง ๆ ในร่างกายต่อไป ทำให้ลักษณะอาการแสดงของโรคสามารถแบ่งออกไปเป็น 2 ระยะย่อย โดยอาการแสดงที่มักพบบ่อยในระยะแรกได้แก่ เป็นไข้สูง (อาจมากกว่า 103 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 39 องศาเซลเซียส) มีน้ำมูกเขียวหรือใส และขี้ตาเขียวข้น อาการทางระบบหายใจเช่น ไอ จาม หายใจลำบาก โดยอาการมักแสดงหลังสุนัขติดเชื้ออย่างน้อยประมาณ 3-6 วัน นอกจากนี้ภายหลังการติดเชื้อไวรัส สิ่งที่ตามมาคือภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจากการถูกไวรัสกดภูมิคุ้มกัน และการติดเชื้อแบคทีเรียแบบทุติยภูมิ (secondary infection) ซึ่งจะทำให้มีอาการทางคลินิกตามมาเช่น ปอดอักเสบติดเชื้อ ระบบทางเดินอาหารอักเสบติดเชื้อ อาเจียน ท้องเสีย ความอยากอาหารลดลง น้ำหนักลด และดวงตาอักเสบติดเชื้อ เป็นต้น
มีรายงานว่าในไวรัสไข้หัดสุนัขบางสายพันธุ์สามารถทำให้สุนัขเกิดอาการผิวหนังชั้นนอกหนาตัว (hyperkeratosis) บริเวณอุ้งเท้าและจมูกได้ ทำให้โรคไข้หัดสุนัขมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “hard pad disease” ซึ่งอาจทำให้ลักษณะการเดินของสุนัขผิดเพี้ยนเนื่องจากการก้าวขาลงน้ำหนักทำได้ลำบากมากขึ้น
ในระยะท้ายของโรค เมื่อเชื้อไวรัสแพร่กระจายไปถึงระบบประสาทส่วนกลาง สุนัขจะเริ่มแสดงอาการทางสมองและระบบประสาท เช่น อ่อนแรง ชักกระตุก กรามค้างหรือกระตุก (chewing-gum) กล้ามเนื้อกระตุกเฉพาะส่วน อัมพาตเฉพาะส่วนหรือทั้งตัว เดินเซ หัวเอียง ตาแกว่งไปมา (nystagmus) ไวต่อสัมผัสและความเจ็บปวดมากเป็นพิเศษ เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เคสที่พบเจอในโรงพยาบาลมักถึงจุดที่แสดงอาการทางระบบประสาท ซึ่งเป็นระยะท้ายของโรคและอาจถึงแก่ความตาย และเป็นจุดที่เจ้าของสัตว์เห็นอาการผิดปกติชัดเจนจนมักพามาพบสัตวแพทย์ ซึ่งแม้สุนัขอาจจะได้รับการรักษาตามอาการจนหายจากการติดเชื้อไวรัสไข้หัดสุนัขได้ก็ตามที ความเสียหายในส่วนของระบบประสาทนั้นมักจะเกิดอย่างถาวร ไม่สามารถฟื้นคืนมาได้และอาจแสดงอาการทางระบบประสาทจากการติดเชื้อเรื้อรังหรือที่เรียกว่า chronic distemper encephalitis (old dog encephalitis; ODE)
เนื่องจากอาการแสดงของโรคไข้หัดสุนัขนั้น มักก่อให้เกิดอาการได้ในหลายระบบอวัยวะ และระดับของอาการมีความหลากหลายมากตั้งแต่ไม่แสดงอาการไปจนถึงแสดงอาการป่วยรุนแรง ทำให้อาจเกิดความสับสนกับโรคที่ก่ออาการทาง systemic infection โรคอื่น เช่นโรคฉี่หนู (leptospirosis) หรือ infectious canine hepatitis เป็นต้น หรือในระยะแรกของโรคที่อาจแสดงอาการทางระบบหายใจ อาจทำให้สับสนกับโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจของสุนัข (canine infectious respiratory disease complex; CIRDC) ก็ได้ แม้แต่อาการป่วยจากการรับสารพิษบางชนิด เช่นตะกั่ว หรือ organophosphate ก็สามารถแสดงอาการทางระบบประสาทและระบบทางเดินอาหารได้เช่นกันซึ่งอาจมีความคล้ายคลึงกับโรคไข้หัดสุนัข สัตว์แพทย์ผู้ตรวจควรทำการวินิจฉัยแยกแยะโรคให้ดี
การวินิจฉัยโรคไข้หัดสุนัข
1. การเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจวินิจฉัยแยกแยะไวรัสด้วยวิธี RT-PCR หรือ immunohistochemistry โดยตัวอย่างที่นิยมและเหมาะกับการเก็บเพื่อตรวจไวรัสไข้หัดสุนัขได้แก่การทำ nasal swab เพื่อเก็บตัวอย่างสิ่งคัดหลั่ง เก็บตัวอย่างเลือดในหลอด EDTA เพื่อตรวจเชื้อไข้หัดสุนัขจาก buffy coat การเก็บตัวอย่างน้ำไขสันหลัง (CSF) และตัวอย่างน้ำปัสสาวะ ก็สามารถใช้ตรวจวินิจฉัยได้เช่นกัน
2. การเก็บตัวอย่างสิ่งคัดหลั่งเพื่อตรวจ rapid antigen test kit เป็นอีกวิธีหนึ่งที่นิยมใช้วินิจฉัยคัดกรองโรคในทางคลินิก ด้วย test kit ปัจจุบันที่มีความไวและความจำเพาะค่อนข้างสูง ประหยัดเวลา ค่าใช้จ่าย และทราบผลได้รวดเร็ว โดยใช้ตัวอย่างสิ่งคัดหลั่งจาก nasal และ conjunctival swab
3. การตรวจทางโลหิตวิทยาเพื่อใช้ร่วมในการวินิจฉัย เช่น CBC มักพบภาวะ lymphopenia หรือ leukopenia ร่วมเนื่องจากภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจากการติดเชื้อไวรัส หรือการทำ blood smear อาจพบ eosinophilic/ intracytoplasmic inclusion bodies ในเซลล์เม็ดเลือดขาว อย่างไรก็ตาม ภาวะดังกล่าวไม่ได้มีความจำเพาะต่อการติดเชื้อไข้หัดสุนัข ควรมีการประเมินอาการแสดงทางคลินิกอื่นเช่น อาการทางระบบหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท และประวัติสัตว์ป่วยร่วมกับการตรวจวินิจฉัยอื่นในการพิจารณา
4. การวินิจฉัยจากการชันสูตรผ่าซาก แม้รอยโรคจากซากอาจไม่จำเพาะ แต่สามารถพบรอยโรคตามระบบอวัยวะต่างๆ เช่น ภาวะการเสื่อมสภาพหรือตายของเซลล์เนื้อเยื่อบุผิวอวัยวะระบบทางเดินอาหาร ระบบหายใจ และระบบประสาทส่วนกลาง ภาวะปอดบวม สมองและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ภาวะผิวหนังหนาตัวบริเวณอุ้งเท้าหรือจมูก ภาวะพร่องตัวของชั้นเคลือบฟัน (gingival enamel hypoplasia) หรือภาวะฝ่อตัวของต่อมไทมัสในซากลูกสุนัข หรือในทางจุลชีววิทยา อาจพบลักษณะของ eosinophilic/intracytoplasmic inclusion bodies ในเซลล์เป้าหมาย เช่น เซลล์เยื่อบุผิว หรือเซลล์ประสาท glial cell เป็นต้น
การรักษา จัดการและการป้องกันโรคไข้หัดสุนัข
ในส่วนของการรักษานั้น ไม่มีวิธีการรักษาโรคไข้หัดสุนัขอย่างจำเพาะ ทำได้เพียงการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ การให้ยาปฏิชีวนะแบบออกฤทธิ์วงกว้าง (broad-spectrum antibiotics) เพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อน การให้สารน้ำทางกระแสเลือดในกรณีสัตว์ป่วย ซึม ไม่สามารถทานอาหารเองได้ หรือมีภาวะสูญเสียน้ำและสารอาหารเช่น ท้องเสีย อาเจียนรุนแรง ให้ยาต้านอาเจียน การดมยาหรือให้ออกซิเจนในกรณีภาวะหายใจลำบาก การให้ยาหยอดตาในกรณีขี้ตาเขียวข้นปริมาณมาก หรือมีการอักเสบติดเชื้อ และมีแผลบริเวณดวงตา การให้ยาระงับชักในกลุ่ม benzodiazepines หรือ phenobarbital เพื่อคุมอาการชัก เป็นต้น
การจัดการตัวสุนัข หากพบว่าที่บ้านมีสุนัขป่วยเป็นโรคไข้หัดสุนัข ควรให้มีการแยกเลี้ยงอย่างเด็ดขาดในพื้นที่ปิด ไม่ใช้ของใช้ เช่นภาชนะใส่น้ำและอาหาร กรง ถาดรอง และอื่นๆ ร่วมกับสุนัขตัวอื่น หากมีการสัมผัสสุนัขป่วยควรใส่ถุงมือและล้างมือให้สะอาดก่อนไปสัมผัสสุนัขตัวอื่นทุกครั้ง หากที่บ้านมีสุนัขมากกว่า 1 ตัว ควรพาสุนัขตัวอื่นไปเริ่มทำวัคซีนโรคไข้หัดสุนัขหากไม่เคยทำ หรือไปทำวัคซีนประจำปีเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันหากใกล้ครบกำหนดเวลาแล้ว เจ้าของควรล้างบริเวณตัวบ้านให้สะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการทำลายเชื้อ โดยเฉพาะบริเวณทที่สุนัขป่วยเคยได้ไปสัมผัส เช่นบริเวณกรง ที่นอน ภาชนะ หรือห้องที่สุนัขอาศัยอยู่ และหากมีการนำสุนัขใหม่เข้าบ้านควรมีการปรึกษาสัตวแพทย์เรื่องการดูแล กักโรค และเริ่มทำวัคซีน
หากสุนัขต้องแอดมิดในโรงพยาบาลสัตว์ สัตวแพทย์ควรแอดมิดสุนัขที่ป่วยเป็นไข้หัดสุนัขในวอร์ดติดเชื้อแยกสำหรับสุนัขติดเชื้อ และควรใส่ถุงมือเมื่อต้องสัมผัสสุนัขป่วยเป็นไข้หัดสุนัข และล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสสัตว์ป่วยตัวอื่นเช่นกัน เนื่องจากไวรัสไข้หัดสุนัขนั้นสามารถแพร่กระจายและติดต่อกันได้ง่าย
การป้องกันโรคไข้หัดสุนัขนั้น วิธีที่สามารถทำได้และให้ประสิทธิภาพมากที่สุดคือการทำวัคซีนให้ครบตั้งแต่ในระยะลูกสุนัข และมีการทำวัคซีนประจำปีอย่างสม่ำเสมอ วัคซีนรวมตามท้องตลาดในปัจจุบันนั้นได้มีการรวมโรคไข้หัดสุนัขเข้าไปด้วยอยู่แล้ว โดยชนิดของวัคซีนโรคไข้หัดสุนัขนั้นจะเป็นแบบ modified-live viral vaccine คือการทำให้เชื้อมีชีวิตนั้นอ่อนแอลง ก่อนฉีดเข้าไปในร่างกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน โดยอายุลูกสุนัขที่ควรเริ่มทำวัคซีนเข็มแรกนั้นคือช่วงอายุ 6-8 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงอายุที่ภูมิคุ้มกันจากแม่เริ่มลดลงจนถึงระดับที่เริ่มไม่รบกวนภูมิคุ้มกันจากวัคซีน หลังเริ่มวัคซีนเข็มแรกแล้ว ควรมีการให้วัคซีนกระตุ้นซ้ำอีกอย่างน้อยสองครั้ง ระยะเวลาห่างกัน 2-4 สัปดาห์จนถึงช่วงที่ลูกสุนัขมีอายุอย่างน้อย 16 สัปดาห์ ในระหว่างช่วงเวลานี้ควรหลีกเลี่ยงการนำสุนัขออกนอกบริเวณบ้านไปยังพื้นที่เปิด ตลอดช่วงชีวิตของสุนัขหลังจากนั้นควรมีการทำวัคซีนประจำปีเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันอย่างสม่ำเสมอ
ไม่ควรให้ modified-live viral vaccine ในสุนัขป่วย สุนัขตั้งท้องระยะท้าย สุนัขเริ่มให้นมลูก หรือสุนัขที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เนื่องจากสามารถก่อให้เกิดอาการป่วยจากเชื้อโรคได้ และอาจทำให้ไม่ได้รับภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากพอจะคุ้มโรค
ควรเลี้ยงสุนัขในระบบปิด เพื่อลดการสัมผัสกับสุนัขจรจัดหรือสัตว์ท้องถิ่นที่อาจเป็นตัวนำพาเชื้อมาติดสุนัขของเราได้ หากมีการพาสุนัขออกนอกบ้านควรระวังเรื่องการสัมผัสสุนัข หรือสัตว์จรจัดชนิดอื่น ตลอดจนสิ่งแวดล้อมที่ไม่สะอาดเช่น กองขยะ พื้นดิน พงหญ้า เป็นต้น การให้ยาป้องกันเห็บหมัดเป็นประจำ และดูแลรักษาความสะอาดพื้นฐานให้แก่สุนัข เพื่อลดโอกาสการปนเปื้อนเชื้อจากแหล่งใดก็ตาม
อ้างอิงข้อมูล
1. Creevy KE , Canine Distemper Overview,. Available from https://www.msdvetmanual.com/generalized-conditions/canine-distemper/canine-distemper-overview
2. Saliki JTAnte-Mortem Diagnosis of Canine Distemper [cited on the internet], . Available from https://vet.uga.edu/ante-mortem-diagnosis-of-canine-distemper/
3. Sherding RG Canine Distemper, , in Saunders Manual of Small Animal Practice (Third Edition), 2006.
4. Techangamsuwan S. Canine Distemper Update from Research to Clinical Practice, World Small Animal Veterinary Association Congress Proceedings, 2018,