รศ.สพ.ญ.ดร.สิริลักษณ์ สุรเชษฐพงษ์
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาการไอ เป็นอาการที่พบได้บ่อยในสุนัข และเป็นหนึ่งในอาการที่ทำให้เจ้าของรู้สึกไม่สบายใจ เมื่อสุนัขในบ้านมีอาการไอเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เกิดขึ้นแบบเรื้อรัง สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้สุนัขเกิดอาการไอแบบเรื้อรัง ได้แก่ โรคหัวใจ และโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ บทความนี้จะกล่าวถึงสาเหตุของอาการเรื้อรังที่พบได้บ่อยในสุนัข ที่ไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ ได้แก่ โรคหลอดลมฝอยอักเสบเรื้อรัง โรคหลอดลมตีบ และการติดพยาธิหนอนหัวใจ

โรคหลอดลมฝอยอักเสบเรื้อรัง (Chronic bronchitis)

เป็นสาเหตุหลักของอาการไอเรื้อรังในสุนัข โดยสุนัขจะมีอาการไอต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่า 2 เดือน โดยอาการไอมักเกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่มีช่วงเวลาที่เกิดอาการชัดเจน สาเหตุของหลอดลมฝอยอักเสบเรื้อรัง เกิดจากการอักเสบที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานานในส่วนของหลอดลมฝอยส่วนล่าง ทำให้เกิดการสะสมของเสมหะและสิ่งคัดหลั่ง ซึ่งจะยิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการไอมากขึ้น ส่งผลต่อการทำงานของปอดและท้ายที่สุดอาจกระตุ้นให้เกิดการยุบตัวของหลอดลมฝอยตามมา

โรคนี้พบได้มากในสุนัขกลางวัยถึงแก่ และในสุนัขพันธุ์เล็ก พบได้น้อยในสุนัขพันธุ์ใหญ่ พบได้มากในกลุ่มสุนัขที่สัมผัสปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดการอักเสบมากขึ้น เช่น ควันบุหรี่ น้ำหอม ฝุ่น ควัน มลพิษทางอากาศ หรือสารที่ก่อให้เกิดความระคายเคืองในอากาศ ส่วนมากสุนัขที่เป็นโรคนี้มักไม่แสดงอาการป่วยทางร่างกายอื่น มีเพียงอาการไอต่อเนื่อง อาจพบการเต้นไม่เป็นจังหวะของหัวใจจากอิทธิพลของการหายใจ (respiratory arrhythmia) เมื่อคลำบริเวณลำคอสุนัขมักแสดงอาการไอ สุนัขบางตัวอาจมีเสียงเปลี่ยน หรือเสียงแหบเมื่อเห่า บางตัวอาจมีอาการเป็นลมภายหลังที่เกิดอาการไอ และอาจแสดงอาการเหนื่อยเมื่อทำการทดสอบโดยการเดินในระยะเวลา 6 นาที (6- minutes walk test)

การวินิจฉัย สามารถทำได้โดยการตัดโรคอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการไอเรื้อรัง เช่น โรคหลอดลมตีบ เมื่อทำการถ่ายภาพรังสี จะพบผนังหลอดลมฝอยมีลักษณะเป็นฝ้าขาวชัดเจนขึ้นคล้ายรูปโดนัท (donut sign) ในภาพตัดขวางของหลอดลมฝอย และคล้ายทางรถไฟ (tramlines) ในภาพตามแนวยาวของหลอดลมฝอย โดยรายละเอียดความผิดปกติดังกล่าวจะสามารถเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นจากการทำ CT scan การส่องกล้อง (endoscopy) อาจพบผนังหลอดลมฝอยที่มีลักษณะขรุขระ หรือหนาตัวขึ้น อาจพบผนังเยื่อบุที่มีลักษณะบวมแดง และการสะสมของสิ่งคัดหลั่ง ในบางกรณีอาจพบการยุบตัวของหลอดลมฝอยในช่วงหายใจออก เมื่อทำการเก็บตัวอย่างเซลล์จากการทำ bronchoalveolar lavage จะพบเซลล์อักเสบชนิดนิวโทรฟิล ร่วมกับสารคัดหลั่งปริมาณมาก ในบางกรณีอาจพบการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย

การรักษา มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อลดการอักเสบที่เกิดขึ้น และลดอาการไอให้น้อยลง สามารถทำได้โดยการลดปัจจัยโน้มนำ คือ สารที่ก่อให้เกิดความระคายเคืองในอากาศต่าง ๆ เช่น ฝุ่น ควัน ควบคุมน้ำหนัก ลดกิจกรรมที่กระตุ้นให้สุนัขเห่า และใช้สายรัดอกแทนปลอกคอ

การรักษาทางยา สามารถทำได้โดยการให้ยาลดการอักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ เช่น prednisolone ขนาด 1-2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน ในรูปแบบการกิน หรืออาจให้ในรูปแบบพ่นทางจมูก ยาขยายหลอดลม เช่น theophylline ซึ่งนอกจากฤทธิ์ในการขยายหลอดลมแล้ว ยังมีฤทธิ์ช่วยลดความล้าของกล้ามเนื้อกระบังลม ช่วยเพิ่มการระบายสิ่งคัดหลัง (mucocillary clearance) และช่วยเสริมฤทธิ์ยากลุ่มสเตียรอยด์ terbutaline เป็นยาขยายหลอดลมที่ให้ผลในการรักษาในสุนัขเช่นกัน แต่อาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการกระวนกระวายในสุนัขบางตัว นอกจากนั้นอาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะในสุนัขบางตัวที่คาดว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน กลุ่มยาที่นิยมให้ ได้แก่ doxycycline azithromycin และ fluoroquinolones ส่วนในกรณีที่มีการไอมากอาจให้ยากลุ่มกดอาการไอร่วมด้วย เช่น codeine

โรคหลอดลมตีบ (tracheal collapse)

พบได้มากในสุนัขกลางวัย โดยเฉพาะในสุนัขพันธุ์เล็ก เช่น ยอร์คเชีย เทอร์เรีย พุดเดิ้ล ปั๊ก มอลทิส ชิวาว่า และปอมเมอเรเนียน เป็นต้น ปัจจุบันไม่พบว่าเพศใดจะมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคมากกว่า สาเหตุของโรคเกิดจาก การเสื่อมของกระดูกอ่อนรอบหลอดลม ส่งผลให้เกิดการยุบตัวของผนังทางด้านบนของหลอดลม ปัจจัยที่ส่งเสริมให้สุนัขแสดงอาการทางคลินิก คือสารที่ก่อให้เกิดความระคายเคืองในอากาศ โรคหลอดลมฝอยอักเสบเรื้อรัง อัมพาตกล่องเสียง การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ความอ้วน และการสอดท่อหลอดลม เพื่อการวางยาสลบหรือช่วยหายใจ

อาการแสดงทางคลินิกที่พบได้แก่ อาการไอเรื้อรัง มีลักษณะไอแห้ง เสียงดัง คล้ายเสียงร้องของห่าน (goose honking) อาการไอเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน สุนัขบางตัวอาจแสดงอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน จากปัจจัยโน้มนำ เช่น ความร้อน การตื่นเต้น ความเครียด โรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกัน ความอ้วน สุนัขอาจแสดงอาการหายใจลำบากในช่วงหายใจเข้า เนื่องจากการยุบตัวของหลอดลมนอกช่องอก (extrathoracic trachea) และอาการหายใจลำบากในช่วงหายใจออก เนื่องจากการยุบตัวของหลอดลมในช่องอก (intrathoracic trachea) สุนัขอาจมีเสียงหายใจดังคล้ายเสียงกรนหรือเสียงหวีด (wheeze) หลอดลมมีความไวต่อสิ่งกระตุ้น จึงมักแสดงอาการไอเมื่อคลำ

การวินิจฉัย สามารถทำได้โดยการถ่ายภาพรังสี อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยโรคหลอดลมตีบในสุนัขโดยภาพถ่ายรังสีมีข้อจำกัด เนื่องจากการยุบตัวของหลอดลมจะขึ้นอยู่กับช่วงการหายใจ จึงทำให้บางครั้งการคาดคะเนขนาดของหลอดลมอาจคลาดเคลื่อน ซึ่งอาจส่งผลต่อการวินิจฉัยและการบอกความรุนแรงของโรค อย่างไรก็ตามการถ่ายภาพรังสีอาจให้ประโยชน์ในการดูโรคหรือความผิดปกติอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นที่ปอดหรือหัวใจได้ การถ่ายภาพรังสีแบบเคลื่อนไหว (fluoroscopy) จึงเป็นวิธีการที่ดีกว่า ที่สามารถช่วยให้เห็นขนาดของหลอดลมในช่วงต่าง ๆ ของการหายใจ โดยไม่จำเป็นต้องทำการสลบสุนัขทั้งตัว อาจใช้เพียงการให้ยาซึม อย่างไรก็ตามวิธีการนี้จะทำให้เห็นเพียงเงาของหลอดลมเป็นภาพ 2 มิติ ส่วนการส่องกล้องจะช่วยในการวินิจฉัยความผิดปกติของทั้งหลอดลมและหลอดลมฝอยได้ รวมทั้งสามารถใช้บอกความรุนแรงของโรค ตำแหน่งที่เกิดการยุบตัว รอยโรคที่เกิดขึ้นภายในหลอดลม อย่างไรก็ตามการตรวจด้วยวิธีนี้มีข้อจำกัดเนื่องจากต้องทำภายใต้การวางยาสลบทั้งตัว ลักษณะการหายใจจึงเป็นการหายใจภายใต้อิทธิพลของยาสลบ

การรักษา ในกรณีที่อาการหายใจลำบากรุนแรง ให้ทำการพักสัตว์ให้อยู่ในสภาวะคงที่ก่อนที่จะทำการตรวจวินิจฉัย โดยการให้ออกซิเจน ลดความเครียด ลดอุณหภูมิในสิ่งแวดล้อม สงบสัตว์โดยการให้ยาซึม เช่น ACE promazine ขนาด 0.01-0.03 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เข้าทางหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อ หรือ butorphanol 0.05-0.1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เข้าทางหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อ

การรักษาทางยา มีเป้าหมายเพื่อตัดวงจรการอักเสบ สามารถทำการจัดการโดย ควบคุมน้ำหนัก ลดโอกาสสัมผัสสารที่ทำให้เกิดความระคายเคืองทางอากาศ ใช้สายรัดอกแทนปลอกคอ จัดการอาการป่วยอื่น ๆ ที่เป็นร่วมกัน เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งรักษาโรคของทางเดินหายใจส่วนต้นอื่น ๆ เช่น กลุ่มอาการระบบทางเดินหายใจส่วนต้นในสุนัขพันธุ์หน้าสั้น

การจัดการทางยา สามารถทำได้โดยให้ยาแก้ไอ เช่น Lomotil (diphenoxylate/atropine) 0.2-0.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทุก 12 ชม. Hydroxycordone 0.22 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทุก 6-12 ชม. Codeine 0.5-2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทุก 12 ชั่วโมง Butorphanol 0.5-1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทุก 6-12 ชั่วโมง ให้สเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบ เช่น Prednisolone 0.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทุก 12 ชั่วโมง โดยการกิน หรือ fluticasone 125-250 ไมโครกรัม ด้วยการพ่น ให้ยาขยายหลอดลมเช่น theophylline หรือ terbutaline และอาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะ ในกรณีที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน อาจพิจารณาทำการผ่าตัด หรือใส่ stent เพื่อช่วยขยายขนาดหลอดลม โดยเฉพาะในกรณีที่มีการตีบของหลอดลมค่อนข้างมาก

การติดพยาธิหนอนหัวใจ (Heartworm infestation)

เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการไอเรื้อรังได้ จากการที่พยาธิหนอนหัวใจกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบที่ปอด พยาธิหนอนหัวใจติดต่อโดยการที่สุนัขได้รับตัวอ่อนระยะติดโรค (infective stage) หรือ L3 จากการโดนยุงกัด วิธีการวินิจฉัยสามารถทำได้โดยการใช้ชุดทดสอบแอนติเจน เพื่อตรวจแอนติเจนจากพยาธิเพศเมียตัวเต็มวัย และสามารถวินิจฉัยรอยโรคที่ปอดได้โดยการถ่ายภาพรังสี ในกรณที่มีการติดพยาธิหนอนหัวใจปริมาณมาก อาจทำให้เกิดการอุดตันของพยาธิในห้องหัวใจ หรืออาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมาได้

การรักษา การติดพยาธิหนอนหัวใจ สามารถทำได้โดยการใช้ยาฆ่าพยาธิตัวเต็มวัย คือ Melarsomine dihydrochloride ร่วมกับการใช้ยากลุ่ม macrocyclic lactones เช่น Ivermectin, Selamectin, Milbemycin และ Moxidectin เป็นต้น ในกรณีที่มีปัญหาปอดอักเสบสามารถให้ยากลุ่มสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบ โดยให้ยา Prednisolone 0.5-1 มิลลิกรัม/กิโลกรัมต่อวัน เป็นเวลา 2 สัปดาห์ และค่อย ๆ ลดขนาดยาลง เมื่ออาการดีขึ้น ในกรณีที่สุนัขมีอาการเนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลว จำเป็นต้องได้รับยาเพื่อควบคุมภาวะหัวใจล้มเหลวที่เกิดขึ้น อาจพิจารณาทำการรักษาแบบทางเลือกในกรณีที่ไม่สามารถให้ยา Melarsomine dihydrochloride ในการกำจัดพยาธิตัวเต็มวัยได้ โดยการให้ยา Doxycycline 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทุก 12 ชั่วโมง เพื่อกำจัดแบคทีเรีย Wolbachia ที่อาศัยอยู่กับพยาธิแบบพึ่งพา (symbiosis) ร่วมกับการให้ยา Ivermectin หรือ Moxidectin/Imidaclopid เดือนละ 1 ครั้ง เพื่อชะลอการเจริญเติบโตของพยาธิตัวเต็มวัย และทำให้พยาธิเสียชีวิตเร็วขึ้น

เนื่องจากสุนัขทุกตัวมีความเสี่ยงในการติดพยาธิหนอนหัวใจ จึงควรทำการป้องกันการติดพยาธิ โดยการให้ยากลุ่ม Macrocyclic lactones Ivermectin, Selamectin, Milbemycin และ Moxidectin เป็นต้น โดยควรทำการให้ยาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอตามคำแนะนำของผู้ผลิต เพื่อป้องกันการดื้อยาและความล้มเหลวในการป้องกันในการติดพยาธิ และควรทำการตรวจแอนติเจนพยาธิหนอนหัวใจด้วยชุดทดสอบเป็นประจำทุกปี

อาการไอ ในสุนัขที่ไม่มีอาการป่วยทางร่างกายอื่น ๆ เช่น อาการซึม เบื่ออาหาร อาจดูไม่ร้ายแรง แต่ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยสัตวแพทย์ เพื่อให้ได้รับการจัดการที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อลดความรุนแรงของโรค หรือในบางกรณีเช่น การติดพยาธิหนอนหัวใจ หากรักษาตั้งแต่เริ่มแรกจะสามารถทำให้สุนัขหายขาดจากอาการป่วยได้