ภาวะโลหิตจาง (anemia) คือภาวะความผิดปกติในร่างกายของสัตว์ที่เกิดจากการมีปริมาณเม็ดเลือดแดง และฮีโมโกลบินน้อยกว่าปกติ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ส่งผลให้สัตว์มีปัญหาในการนำออกซิเจนที่ได้จากการหายใจไปส่งต่อยังเซลล์ และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ภายในร่างกาย สัตว์ที่มีปัญหาภาวะโลหิตจางจึงมักเกิดอาการขาดออกซิเจนตามมา หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัย และรักษา อาจเป็นสาเหตุของการเกิดอาการช็อคตามมาได้
สาเหตุของการเกิดภาวะโลหิตจาง สามารถแบ่งออกเป็น 3 สาเหตุหลักได้ดังนี้

1. การสูญเสียเลือดออกจากร่างกาย (blood loss)

การสูญเสียเลือดเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะโลหิตจาง โดยสามารถเกิดได้จากทั้งการเกิดอุบัติเหตุ หรือการบาดเจ็บที่ส่งผลให้เส้นเลือดเกิดความเสียหาย การเป็นโรคมะเร็งที่ส่งผลทำให้เกิดการเลือดออกภายในร่างกายได้ง่าย เช่น มะเร็งในบริเวณทางเดินอาหาร ไต กระเพาะปัสสาวะ หรือม้าม เป็นต้น หรือแม้กระทั่งการมีปรสิตภายนอก เช่น เห็บ หมัด หรือปรสิตภายใน เช่น พยาธิปากขอ ซึ่งส่งผลให้สัตว์เสียเลือดเป็นระยะเวลานาน

2. เม็ดเลือดแดงแตกออก หรือถูกทำลาย (hemolysis)

โรคบางชนิดส่งผลทำให้เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย หรือเกิดการแตกออกได้ง่ายกว่าปกติ เช่น โรคทางระบบภูมิคุ้มกัน (IMHA; immune-mediated hemolytic anemia) การมีพยาธิเม็ดเลือด เช่น Babesia spp., Hepatozoon spp. หรือ Ehrlichia spp. เป็นต้น ตลอดจนสารเคมี หรือสารพิษที่ส่งผลต่อเลือด เช่น ยาเบื่อหนู หัวหอม หรือกระเทียม เป็นต้น

3. การสร้างเม็ดเลือดแดงน้อยลงกว่าปกติ (decrease the production of red blood cells)

การเป็นโรคบางโรค โดยเฉพาะโรคที่ส่งผลต่อการทำงานของไขกระดูกมีผลต่อการสร้างเม็ดเลือดแดงโดยตรง เช่น การติดเชื้อในไขกระดูก การเป็นมะเร็งไขกระดูก หรือการเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคไตวายเรื้อรัง ส่งผลให้ร่างกายขาดฮอร์โมน erythropoietin (EPO) ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง เป็นที่มาของการเกิดภาวะ uremia ที่ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงมีอายุไขสั้นลง และยังเป็นที่มาของการเกิดภาวะ renal secondary hyperparathyroidism ซึ่งส่งผลให้เกิด bone marrow fibrosis อันส่งผลต่อเนื่องให้ red blood cell precursor ลดลงได้ นอกจากนี้ การได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะธาตุเหล็ก และวิตามิน B12 ยังอาจเป็นสาเหตุทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงได้น้อยลงอีกด้วย

สำหรับแนวทางการตรวจวินิจฉัยภาวะโลหิตจาง สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

1. ตรวจวัดปริมาณความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงต่อปริมาตรเลือดทั้งหมด (PCV; packed cell volume)

เป็นการตรวจวัดปริมาณความเข้มข้นของเลือดภายในร่างกายที่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว โดยจะบอกออกมาในหน่วยของ % ซึ่งในสุนัขควรมีค่าไม่ต่ำกว่า 35% และในแมวไม่ควรต่ำกว่า 25% หากน้อยกว่านี้อาจพิจารณาว่าสัตว์อยู่ในภาวะโลหิตจางได้

2. ตรวจวัดปริมาณเม็ดเลือดแดง และลักษณะของเม็ดเลือด (red blood cell count)

เป็นการตรวจวัดปริมาณเม็ดเลือดแดงว่ามีปริมาณสูง หรือต่ำกว่าปกติหรือไม่ ซึ่งสามารถบ่งบอกถึงภาวะโลหิตจางได้โดยตรง นอกจากนี้ลักษณะของเม็ดเลือดแดงยังช่วยบ่งบอกถึงภาวะความผิดปกติที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะโลหิตจางได้ในร่างกายสัตว์ เช่น เม็ดเลือดแดงลักษณะ spherocyte สามารถบ่งบอกถึงการเกิดภาวะ IMHA ในสัตว์ หรือเม็ดเลือดแดงลักษณะ schistocyte สามารถบ่งบอกถึงการมีพยาธิหนอนหัวใจ หรือการเกิดภาวะ DIC (disseminated intravascular coagulation) ในสัตว์ได้ เป็นต้น

3. ตรวจวัดปริมาณเรติคิวโลไซต์ (reticulocyte count)

เป็นการตรวจวัดการทำงาน หรืออัตราการสร้างเม็ดเลือดแดงโดยคิดออกมาเป็นร้อยละของปริมาณเม็ดเลือดแดงทั้งหมดภายในร่างกาย โดยมีจุดประสงค์เพื่อประเมินการตอบสนองของการสร้างเม็ดเลือดภายในร่างกาย

4. ตรวจวัดค่า mean corpuscular volume (MCV) ร่วมกับ mean corpuscular hemoglobin concentration (MCHC)

ค่า MCV และ MCHC คือค่าเฉลี่ยของขนาดเม็ดเลือด และค่าเฉลี่ยของความเข้มข้นของปริมาณฮีโมโกลบินในเลือดตามลำดับ ซึ่งการตรวจวัดทั้ง 2 ค่าร่วมกันสามารถใช้เป็นข้อมูลในการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของการเกิดภาวะโลหิตจางในสัตว์ได้

ภาวะโลหิตจาง ไม่ใช่โรค แต่เป็นภาวะที่มีสาเหตุหลักแอบซ่อนอยู่ การหาสาเหตุที่แท้จริงจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการรักษาสัตว์ป่วยอย่างมาก นอกจากการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีการที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว การซักประวัติ และการทำการตรวจวินิจฉัยที่เหมาะสม เช่น การตรวจ direct antiglobulin (DAT) ในสัตว์ป่วยที่สงสัยการเกิดภาวะ IMHA หรือการตรวจสารบ่งชีวภาพในสัตว์ที่สงสัยภาวะโรคไต (renal biomaker) จึงสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้สัตวแพทย์สามารถตรวจหาต้นตอของการเกิดภาวะโลหิตจาง เพื่อทำการรักษาได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสมต่อไป

อ้างอิงข้อมูล

1. Caroline M and Bess J. 2010. Anemia. NAVC Clinician's Brief. July. P. 56-57.

2. Chalhoub S and Langston C. Anaemia of renal disease: pathophysiology and treatment updates. COAN CPD. 2015.

3. Ryan L and Ernest W. Anemia in Dogs. VAC Animal Hospital. Available online at: https://vcahospitals.com/know-your-pet/anemia-in-dogs.

4. Tvedten H. 2010. Laboratory and clinical diagnosis of anemia. Schalm's veterinary hematology, 6th ed., P. 152-161