ตำแหน่งเท้าของสุนัขเป็นอวัยวะส่วนที่มีทั้งผิวหนังที่ปกคลุมด้วยขนที่ส่วน dorsal ทั้งขาหน้าและขาหลังและมีส่วน palmar – plantar ซึ่งเป็นผิวหนังที่ไม่ปกคลุมด้วยขน รวมไปถึงส่วนผิวหนังระหว่างนิ้วแต่ละนิ้วของสุนัข ผิวหนังระหว่างฝ่าเท้า รอยพับตรงบริเวณเท้า และบริเวณกรงเล็บ ซึ่งหากบริเวณนี้พบปัญหาผิวหนังจะเกิดความไม่สบายตัวแก่สุนัขอย่างมาก มักพบว่าสุนัขมาพบสัตวแพทย์ด้วยปัญหาโรคผิวหนังที่ฝ่าเท้า ซึ่งเป็นหน้าที่ของสัตวแพทย์ที่จะต้องประเมินว่ามีผิวหนังส่วนไหนที่เกี่ยวข้อง และสุนัขมีแนวโน้มเป็นโรคใดมากที่สุดเพื่อการรักษาที่ตรงจุด บทความนี้จะพูดถึง 5 สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดสะเก็ดขึ้นบริเวณอุ้งเท้าของสุนัข

1. สาเหตุจากพันธุกรรม : การหนาตัวขึ้นของผิวหนังบริเวณนิ้วเท้า (digital hyperkeratosis)

รูปที่ 1 แสดงการเพิ่มขึ้นของเคราตินในรูปแบบคล้าย ๆ กับใบเฟิร์นที่บริเวณขอบของฝ่าเท้า (Werner A. 2016.)
การหนาตัวขึ้นของผิวหนังบริเวณนิ้วเท้า (digital hyperkeratosis) หรือเรียกอีกชื่อว่า nasodigital hyperkeratosis ความผิดปกตินี้ส่งผลกระทบต่อฝ่าเท้าและบริเวณจมูก (nasal planum) มักพบปัญหานี้ในสุนัขสายพันธุ์ที่มีต่อมไขมันเป็นจำนวนมาก (seborrheic breeds) เช่น Cocker Spaniels, English Springer Spaniels, Beagles, Basset Hounds, English Bulldogs เป็นการสะสมของ keratinaceous debris ที่มากเกินบนพื้นผิวทั้งหมดของฝ่าเท้า รวมไปถึงส่วนที่ไม่มีการลงน้ำหนัก ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของเคราตินในรูปแบบคล้าย ๆ กับใบเฟิร์นที่บริเวณขอบของฝ่าเท้า และอาจเกิดสะเก็ดขึ้นบริเวณที่มีรอยแยกหรือรอยพับ (รูปที่ 1) ซึ่งอาการเหล่านี้มักพบในสุนัขวัยกลางจนถึงสูงวัย โดยมากสุนัขมักไม่แสดงอาการ แต่หากเกิดปัญหาบริเวณรอยแยก รอยพับ หรือร่อง สุนัขมักแสดงอาการเจ็บปวดบริเวณอุ้งเท้า และทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนขึ้นได้ สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากอาการที่แสดงและการไม่พบรอยโรคบริเวณผิวหนังที่มีขนปกคลุม ผลที่ได้จากการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจคือ epidermal acanthosis และ mark orthokeratotic hyperkeratosis การรักษาจะให้ความสำคัญที่การรักษาแบบประคับประคอง ลดอาการที่เกิดขึ้น เล็มขอบผิวหนังส่วนเกินออก เพิ่มความชุ่มชื้นเพื่อให้สะเก็ดนุ่มมากขึ้น และทาสารประกอบยับยั้งการสร้างไขมัน (antiseborrheic compounds) บริเวณที่เกิดปัญหา

2. สาเหตุจากกระบวนการ metabolism : Superficial Necrolytic Dermatitis

หรือเรียกอีกชื่อว่า necrolytic migratory erythema, hepatocutaneous syndrome และ metabolic epidermal necrosis ต้นเหตุส่วนใหญ่ของโรคนี้มักเกิดจากปัญหาความผิดปกติที่ตับ หรือมีโอกาสพบได้ในรายที่มีปัญหาก้อนเนื้องอกที่ตับอ่อนในส่วนของการหลั่งฮอร์โมนกลูคากอน (glucagon-secreting pancreatic tumor) ปัญหาผิวหนังอักเสบมักเกี่ยวข้องกับปัญหากรดอะมิโนในเลือดต่ำ หรือปัญหาความไม่สมดุลจากการได้รับสารอาหาร โดยมากมักพบในสุนัขสูงอายุ สุนัขพันธุ์ที่มีการรรายงานบ่อยคือ Shetland Sheep Dogs, West Highland White Terrier, Cocker Spaniel และ Scottish Terrier รอยโรคที่พบมักเป็นสะเก็ดที่หนาตัวขึ้นบริเวณที่กดทับ เช่น ศอก ฝ่าเท้า scrotal sac และพบได้ที่บริเวณ muzzle และรอบดวงตา นำไปสู่การถลอกและแผลหลุม (รูปที่ 2)
รูปที่ 2 แสดงแผลสะเก็ดที่เกิดจากการสะสมของ exudate (exudative crusts with erythema)
นอกจากนี้ยังสามารถพบที่ใบหูและบริเวณอวัยวะเพศได้อีกด้วย การตรวจเลือดทั่วไปอาจพบว่าสุนัขมีภาวะ nonregenerative anemia และอาจพบการเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ตับ การเพิ่มขึ้นของน้ำดี การลดลงของอัลบูมิน รวมไปถึงการเพิ่มขึ้นของน้ำตาลในเลือด ตัวบ่งบอกการพยากรณ์โรคที่แย่คือการพบว่าสุนัขเกิดภาวะเบาหวาน เมื่อทำการ ultrasound ภายในช่องท้องจะพบว่าพื้นผิวตับมีลักษณะเหมือนรังผึ้ง ในทางจุลพยาธิวิทยาจะพบการบวมขึ้นของหนังกำพร้าชั้นบน (upper-level epidermis) เกิดรูปแบบสีแดง ขาว และน้ำเงิน อาจพบการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนและยีสต์ได้ สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากความผิดปกติของกระบวนการ metabolism และความผิดปกติของตับอย่างรุนแรง การพยากรณ์โรคค่อนข้างแย่ ค่าเฉลี่ยของการมีชีวิตรอดในสุนัขหลังได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้อยู่ที่ 3 เดือน สามารถให้สารอาหารเสริมและกรดอะมิโนทางเส้นเลือด ให้อาหารเสริมบำรุงตับ เพิ่มไข่ขาว ยาบำรุงตับ วิตามินกลุ่ม essential fatty acid ร่วมกับการให้ zinc จะช่วยให้รอยโรคที่ผิวหนังดีขึ้น และควรมีการควบคุมการติดเชื้อยีสต์และแบคทีเรียของผิวหนังด้วยการใช้แชมพูหรือสเปรย์ หรืออาจให้ยาปฏิชีวนะเป็นระยะเวลา 3-4 สัปดาห์ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงการรักษาแบบประคับประคองเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้ชีวิตของสุนัขเท่านั้น

3. สาเหตุจากปรสิต : อุ้งเท้าอักเสบจาก demodicosis

Demodicosis เป็นการอักเสบที่เกิดจากการเพิ่มจำนวนของ Demodex spp ในรูขุมขน พบได้เป็นปกติในสุนัขที่อายุน้อยกว่า 1 ปี และพบได้น้อยในสุนัขที่อายุมาก โดยปกติ Demodex spp สามารถพบได้บนผิวหนังของสุนัข แต่จะปรากฎรอยโรคขึ้นหากบริเวณนั้นมีการเพิ่มจำนวนที่มากผิดปกติของ Demodex spp. ปัจจัยที่อาจมีผลต่อการเกิดโรคนี้ได้แก่ พันธุกรรม การรักษาที่เคยได้รับ ปรสิตภายในร่างกาย การได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ความเครียดที่อาจเกิดขึ้น และการเปลี่ยนแปลงของระบบภูมิคุ้มกัน โดยมากมักเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน สุนัขที่มีภาวะ demodicosis มักพบว่าขนร่วงหลายตำแหน่ง ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถพบได้เป็นปกติในสุนัขอายุมาก และอาจจำกัดอยู่แค่บริเวณเท้าของสุนัขโดยไม่มีประวัติขนร่วงแบบทั่วตัว สุนัขที่มีภาวะอุ้งเท้าอักเสบจาก demodicosis จะมีอาการเจ็บปวดและติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนในผิวหนังชั้นลึก จะพบว่าขนร่วง ผิวหนังหนาตัว มีการอักเสบเยิ้ม และสะเก็ดบริเวณผิวหนังที่อุ้งเท้าทั้งสี่ แต่ไม่มีรอยโรคเกิดขึ้นที่บริเวณฝ่าเท้าและกรงเล็บ แต่บริเวณที่เป็นรอยพับอาจบวมและอักเสบแดงเยิ้มได้
รูปที่ 3 แสดงการสะสมของสะเก็ด และอาการขนร่วงจาก demodectic pododermatitis
การวินิจฉัยโรคนี้สามารถทำได้ค่อนข้างยากเนื่องจากไรขุมขนอาจแฝงตัวลึกในรูขุมขนซึ่งทำให้ยากที่จะสามารถขูดผิวหนังมาตรวจได้ ดังนั้นการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อจึงอาจเป็นสิ่งจำเป็นต้องทำหากตรวจไม่เจอจากการขูดตรวจผิวหนัง การรักษาสามารถทำได้โดยรักษาเหมือนการเป็น demodicosis แบบทั่วตัว คือ ให้ยาต้านแบคทีเรียจนกว่าจะจัดการกับการติดเชื้อแทรกซ้อนได้ โดยประมาณอยู่ที่ 3-4 สัปดาห์ และให้ต่ออีก 1 สัปดาห์เมื่อรอยโรคที่ผิวหนังหายไป ร่วมกับการใช้ยาฆ่าเชื้อแบบใช้ภายนอก การใช้แชมพูทำความสะอาดผิวหนังทุก 3-7 วัน และการให้ยากำจัดพยาธิทางระบบ เช่น ยาในกลุ่ม isoxazoline เช่น afoxolaner ซึ่งเป็นตัวยาในรูปแบบกิน ตัวยาจะเข้าสู่กระแสเลือดซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งที่ตัวรับบริเวณ GABA-gated chloride channels ขัดขวางการผ่านของ chloride ions เข้าสู่เซลล์ เมื่อปรสิตได้รับยาผ่านการดูดเลือดของสุนัข จะทำให้ระบบประสาทของปรสิตเกิดอัมพาตแบบ spastic paralysis และตายในที่สุด ขนาดยาที่ให้อยู่ที่ 2.5 mg/kg เดือนละครั้ง โดยสามารถให้ได้ในลูกสุนัขที่อายุมากกว่า 2 เดือน และมีน้ำหนักตัวมากกว่า 2 kg อย่างไรก็ตาม หากสุนัขมีโรคประจำตัวทางระบบประสาท เช่น มีประวัติชัก ให้ระวังการใช้ยาตัวนี้ โดยควรหลีกเลี่ยงไปให้ยาตัวอื่นที่ได้ผลดีกว่า และยังไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ยานี้ในสัตว์ท้องหรือสัตว์ที่กำลังให้นมลูกอยู่ ยาอีกตัวที่แนะนำให้ใช้คือ milbemycin oxime ในปริมาณ 0.5-2 mg/kg ยามีการออกฤทธิ์โดยทำให้เกิดการเปิดของ glutamate-gated chloride ion channels ในเซลล์ประสาทของปรสิต ทำให้ chlorides ion ผ่านเข้าสู่ภายในเซลล์ ลดการเกิด action potential ที่เซลล์ประสาท กดการทำงานของระบบประสาท ปรสิตเกิดการอัมพาตและตายได้ ในสุนัขพบว่าการให้ยาชนิดนี้ทางการกินจะดูดซึมตัวยาได้อย่างดีและรวดเร็ว พบว่าการให้ยานี้เพื่อรักษา demodicosis ให้ผลดีกว่าการใช้ยา ivermectin ควรใช้ยานี้ในลูกสุนัขที่อายุ 2 เดือนขึ้นไป นอกจากนี้ยังสามารถใช้ได้ในสัตว์ที่ท้องหรือให้นมลูกอยู่ อย่างไรก็ตาม อุ้งเท้าอักเสบจาก demodicosis จะเกิดขึ้นอย่างยาวนานและรักษาได้ยากกว่าการเกิด demodicosis ที่ตำแหน่งอื่น ๆ

4. สาเหตุจากเนื้องอก : Mycosis Fungoides (Cutaneous Epitheliotropic Lymphoma)

Mycosis fungoides หรือ cutaneous epitheliotropic lymphoma เป็นโรคที่พบได้ยากในสุนัขสูงวัย และพบว่าเป็นสาเหตุของมะเร็งผิวหนังในสุนัขได้น้อยกว่า 1% โดย เนื้องอกชนิด T-cell จะแทรกซึมไปตามชั้นผิวหนัง การเกิดการอักเสบเรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่มีผิวหนังอักเสบเรื้อรัง เป็นตัวโน้มนำให้เกิดโรคนี้ โดยมากรอยโรคมักจำกัดอยู่ที่เท้า และมักพบผิวหนังที่ฝ่าเท้าเปลี่ยนสีและแดงขึ้น นำไปสู่การเกิดแผลหลุม อาจพบว่าผิวหนังชั้นนอกมีการหนาตัวขึ้นบริเวณขอบฝ่าเท้า การวินิจฉัยโรคนี้สามารถทำได้โดยการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อไปส่องกล้องทางจุลพยาธิวิทยา ซึ่งจะพบว่ามีเซลล์ lymphocyte แทรกตัวอยู่อย่างหนาแน่นในบริเวณชั้นผิวหนัง การพยากรณ์โรคค่อนข้างแย่ และมีค่าเฉลี่ยการมีชีวิตรอดอยู่ที่ 6 เดือนจนถึง 2 ปี หลังได้รับการวินิจฉัย ในกรณีที่สงสัยว่าสุนัขเป็นโรคนี้ควรส่งไปพบแผนกเฉพาะทางโรคมะเร็งหรือโรคผิวหนังเพื่อติดตามอาการต่อเนื่อง
รูปที่ 4 แสดงการสูญเสียเม็ดสี (depigmented) และแผลหลุมซึ่งเป็นลักษณะรอยโรคของ Mycosis Fungoides

5. สาเหตุจากภูมิคุ้มกันเหนี่ยวนำ : Pemphigus Foliaceus

Pemphigus foliaceus เป็นโรคที่ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อต้านเนื้อเยื่อที่เป็นรอยต่อระหว่างเซลล์ผิวหนัง หรือ desmosome โดย antikeratinocyte antibodies ที่ชื่อว่า anti-desmoglein 1 ในตัวสุนัขที่มีภาวะ pemphigus foliaceus มีการต่อต้านเซลล์ที่อยู่ระดับตื้น หรือ desmocollin 1 ทำให้สูญเสียการยึดติดระหว่างผิวหนังที่ส่วนชั้นบนของชั้น stratum corneum ปัจจัยหลายอย่าง รวมไปถึงพันธุกรรม แสงแดด UVA UVB และยาป้องการเห็บหมัดกลุ่ม fipronil amitraz s-methoprene หรือยาในกลุ่ม immunomodulatory อาจมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการสร้าง antikeratinocyte antibodies ขึ้นได้ pemphigus foliaceus เป็นโรคภูมิคุ้มกันเหนี่ยวนำให้เกิดปัญหาทางผิวหนังที่พบได้มากที่สุดในสุนัข รอยโรคในระยะแรกจะค่อนข้างใหญ่ มีตุ่มหนองเกิดขึ้นที่ชั้นผิวที่ทำให้เกิดการแตกอย่างรวดเร็ว เกิดเป็นสะเก็ดที่มีรอยถลอก ขอบฝ่าเท้าเป็นตำแหน่งที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างบ่อยโดยจะพบสะเก็ดเกาะติดอยู่ ถึงแม้ว่าการวินิจฉัยการเกิดโรคนี้สามารถทำได้โดยการตรวจพบ acantholytic keratinocytes ภายในตุ่มหนองที่ขึ้นบนผิว อย่างไรก็ตาม acantholytic keratinocyte อาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Staphylococcus pseudintermedius มีรอยโรคที่พบแบบ impetigo และการติดเชื้อราในกลุ่ม Trichophyton spp. เช่น Trichophyton mentagrophyte ซึ่งมีรอยโรคแบบ superficial pustular dermatitis มีการศึกษาพบว่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราดังกล่าวสามารถสร้างเอนไซม์ที่มีผลต่อการทำลาย desmosome ชั้น stratum corneum นำไปสู่การเกิด acantholytic keratinocytes หากพบว่าสุนัขมีสะเก็ดและตุ่มหนองร่วมกับการพบ acantholytic keratinocytes ควรพิจารณาเพาะเชื้อแบคทีเรียและรักษาด้วยยาปฏิชีวนะแบบ empirical ระหว่างรอผลเพาะเชื้อ หากสัตว์ไม่มีการตอบสนองต่อยาที่ให้ตามผลเพาะเชื้อแบคทีเรียควรพิจารณาเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ ดังนั้น การวินิจฉัยเพื่อยืนยันการเกิดโรคนี้จึงจำเป็นต้องเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อเพื่อดูทางจุลพยาธิวิทยา จะพบว่ามี subcorneal pustule ร่วมกับ acantholytic cells, intact neutrophils และ eosinophils การพยากรณ์โรคค่อนข้างดีในกรณีที่ให้การรักษาอย่างเร่งรัดเพื่อยับยั้งปัญหาอย่างรวดเร็ว การรักษาโรคนี้จำเป็นต้องให้ยากดภูมิคุ้มกัน การให้ยาเพื่อกดภูมิคุ้มกันจะมีผลลดการทำงานของเม็ดเลือดขาวกลุ่ม lymphocytes และลดการผลิต autoantibody อย่างไรก็ตาม สัตวแพทย์ควรแจ้งเจ้าของถึงความเสี่ยงของการใช้ยากดภูมิ เนื่องจากหากปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ pemphigus foliaceous แต่เป็นปัญหาจากแบคทีเรียหรือเชื้อราที่กล่าวไปข้างต้น การให้ยากดภูมิคุ้มกันอาจเพิ่มการติดเชื้อ และทำให้รอยโรครุนแรงมากขึ้น หรือลดการทำงานของเม็ดเลือดขาว ทำให้การสร้าง antibody ลดลง เสี่ยงต่อการติดเชื้อในผิวหนังชั้นลึก และมีความจำเป็นต้องแจ้งเจ้าของว่าการเกิดโรคนี้จำเป็นต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกันต่อเนื่องในขนาดที่ต่ำที่สุดที่คุมรอยโรคที่เกิดขึ้นร่วมกับการใช้ยากลุ่ม topical เพื่อควบคุมรอยโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ควรลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การโดนแสงแดด และควรควบคุมการเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนที่ผิวหนัง โดยการให้การรักษาด้วย topical antimicrobial หรือให้ยาปฏิชีวนะทางระบบแบบ empirical เป็นเวลา 3-4 สัปดาห์
รูปที่ 5 แสดงสะเก็ดบริเวณฝ่าเท้าบริเวณขอบอุ้มเท้า (margin of the footpad)
จากทั้ง 5 สาเหตุจะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพผิวหนังที่อุ้งเท้าจนเกิดการบาดเจ็บรุนแรงจะรบกวนการหาสาเหตุของโรคที่แท้จริง ดังนั้น สัตวแพทย์ควรตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อหาว่ามีขาไหนบ้างที่ได้รับผลกระทบ ตำแหน่งของอุ้งเท้าที่ได้รับผลกระทบ และมีรอยโรคแบบเดียวกันนี้ที่ตำแหน่งอื่นไหมของร่างกาย ก็จะสามารถวินิจฉัยสาเหตุของการเกิดสะเก็ดที่อุ้งเท้าในสุนัขได้อย่างคร่าว ๆ

อ้างอิง

Heinrich N., Eisenschenk M., Harvey R., and Nuttall T. 2019. Alopecia dermatoses. In: Skin diseases of the dog and cat 3rd edition Boca Raton: Taylor & Francis Group p. 123-126

Hnilica K. A., and Patterson A. P. 2017. Parasitic skin disease. In: Small animal dermatology, a color atlas and therapeutic guide 4th edition St. Louis: Elsevier p. 135-145

Werner A. 2016. “Top 5 causes of crusted paw in dogs” Available: https://www.cliniciansbrief.com/article. Accessed September 14,2022