สาระน่ารู้สำหรับแนวทางการดูแลสุนัขและแมวสูงอายุจาก 2023 AAHA Senior Care Guidelines for Dogs and Cats

เมื่อสัตว์อายุเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับความชราก็เพิ่มขึ้นตาม แต่สัตว์สูงวัยอาจไม่จำเป็นต้องเจ็บป่วยและอ่อนแอเสมอไป การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ และการดูแลอย่างเหมาะสมสามารถลดความรุนแรงของอาการป่วย เพิ่มคุณภาพชีวิต และยืดอายุขัยของสัตว์ได้ โดยสมาคมสถานพยาบาลสัตว์ประเทศสหรัฐอเมริกา (American Animal Hospital Association; AAHA) ได้ออกแนวทางการปฏิบัติในการดูแลสุนัขและแมวสูงวัย 2023 AAHA Senior Care Guidelines for Dogs and Cats ให้สัตวแพทย์สามารถไปศึกษาและนำมาปรับใช้ในการดูแลสัตว์สูงอายุที่มารับบริการได้ โดยสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่   https://www.aaha.org/aaha-guidelines/2023-aaha-senior-care-guidelines-for-dogs-and-cats/home/   โดยในลิงค์ดังกล่าวจะมีสื่อ และตารางที่เป็นประโยชน์ในการดูแลสัตว์สูงวัยเพิ่มเติมด้วย
นอกเหนือจากการตรวจ วินิจฉัย และรักษาแล้ว สัตวแพทย์สามารถมีบทบาทในการแก้ไขความเชื่อผิดๆ ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ให้คำแนะนำการดูแลจัดการที่เหมาะสมได้อีกด้วย สุนัขและแมวสูงวัยเองก็สามารถมีอายุยืนยาว รวมถึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีไปพร้อมๆ กันได้
สุนัขและแมวสูงอายุ (senior patient)
คำว่าสัตว์สูงวัยแตกต่างกันไปตามชนิด และสายพันธุ์ โดยมีบางแนวทาง (guideline) ที่แนะนำว่า สุนัขจะเริ่มเป็นสุนัขสูงวัยเมื่ออายุเหลืออีกร้อยละ 25 ของอายุขัย และแมวจะเริ่มเป็นแมวสูงวัยเมื่ออายุมากกว่า 10 ปี
สุนัขและแมวสูงวัยสุขภาพดี
สำหรับการตรวจสุขภาพสัตว์เลี้ยงสูงอายุสุขภาพดีในขั้นตอนการซักประวัติ ควรพยายามสร้างความรู้สึกด้านบวกกับเจ้าของเพื่อให้เจ้าของไว้วางใจและเล่ารายละเอียดพฤติกรรมของสัตว์เมื่ออยู่ที่บ้าน เช่น การทำกิจกรรม การกินน้ำ กินอาหาร หรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยข้อมูลที่ไม่ควรมองข้ามคือผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพอื่น ๆ ที่เจ้าของให้กับสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นอาหารเสริม สมุนไพร ยาทา (สำหรับประเทศไทยอาจต้องถามการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาเป็นพิเศษ) เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจมีอันตรกิริยา (drug interaction) กับยาแผนปัจจุบันที่ให้ได้
สำหรับการตรวจร่างกายภายนอก (physical examination) ควรสร้างบรรยากาศทำให้สัตว์รู้สึกผ่อนคลาย เพื่อผลการตรวจที่แม่นยำที่สุด ควรตรวจและบันทึกตำแหน่งและรายละเอียดของเนื้องอกที่พบ โดยควรมีการวัดขนาดของก้อนเนื้อทั้ง 3 ด้าน รวมถึงควรมีการส่งตรวจดูเซลล์ด้วย (cytology) สำหรับการตรวจที่มีเกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อและกระดูก (musculoskeletal) ควรพิจารณาการใช้แบบสอบถามที่สามารถระบุความรุนแรงได้ อย่างคะแนนความเจ็บปวดแบบเรื้อรัง (chronic pain scales) เพิ่มเติม
ส่วนการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ควรทำอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง และอาจพิจารณาการตรวจที่เกี่ยวข้องกับภาพถ่าย (imaging) เพื่อใช้เป็นค่าพื้นฐาน (baseline) ประจำตัวของสัตว์ตัวนั้น หากค่าการตรวจผิดแปลกไปจาก baseline ก็จะสามารถตรวจหาความผิดปกติได้อย่างรวดเร็ว
การวางยาสลบและการผ่าตัด
สัตว์ที่มีอายุมากอาจจำเป็นต้องมีการวางยาสลบด้วยหลายสาเหตุ เช่น การทำฟัน หรือการผ่าตัด โดยก่อนการวางยาควรมีการตรวจค่าการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ค่าตับ ค่าไต เอกซเรย์ (x-rays) อัลตราซาวนด์ (ultrasound) และวางแผนเตรียมความพร้อมสัตว์ก่อนการวางยาให้เหมาะสม เช่น การให้สารน้ำ การให้ออกซิเจน (oxygen) รวมถึงการเลือกใช้ยา สัตวแพทย์มีหน้าที่ให้ข้อมูลความจำเป็น ความเสี่ยง ผลลัพธ์การรักษาที่คาดหวัง การฟื้นตัว คุณภาพชีวิตหลังการผ่าตัดให้กับเจ้าของ ซึ่งสัตว์ที่มีอายุมากจะใช้เวลาในการฟื้นตัวช้ากว่าสัตว์อายุน้อย
การทำฟัน
เมื่อสุนัขและแมวเข้าสู่วัยชรา อาจพบปัญหาในช่องปาก ส่งผลต่อการกินรวมถึงกระทบกับคุณภาพของชีวิตได้ ในสัตว์ขนาดเล็กอาจพบภาวะกระดูกบางจนกรามแตกหัก และการเจ็บป่วยที่ระบบอื่นสามารถส่งผลต่อสุขภาพปากและฟันได้ อาจมีการพิจารณา x-rays ช่องปากเพื่อดูการเสียมวลกระดูก เพื่อช่วยในการพิจารณาการถอนฟัน นอกจากนี้เนื้องอกที่พบในช่องปากมักเป็นชนิดที่โตไว หากตรวจพบได้เร็วก็จะส่งผลดีต่อการรักษามากกว่า สามารถศึกษารายละเอียดการดูแลช่องปากเพิ่มเติมได้จากแนวทางการดูแลฟันสำหรับสุนัขและแมว หรือ 2019 AAHA Dental Care Guidelines for Dogs and Cats
สารอาหาร
สัตว์เลี้ยงที่สูงอายุมีความต้องการสารอาหารที่จำเพาะแตกต่างกันในแต่ละตัว มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะอ้วนและส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย สัตวแพทย์และเจ้าของจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับคะแนนรูปร่าง (body condition score; BCS) โดยควรดูแลให้สุนัขควรมี BCS 4.5 ถึง 5 จากคะแนนเต็ม 9 ส่วนแมวอาจมีคะแนนได้ถึง 6 คะแนนจากคะแนนเต็ม 9 ซึ่งมีผลต่ออายุขัยและคุณภาพชีวิตของสุนัขและแมวผู้มีอายุมาก
การสูญเสียมวลกล้ามเนื้อเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องใส่ใจในสัตว์สูงวัย หากสัตว์ได้รับโปรตีนไม่เพียง อาจมีการนำโปรตีนในร่างกายออกมาใช้ และทำให้เกิดการสูญเสียน้ำหนักของร่างกายที่ไม่มีไขมัน (lean body mass; LBM) นอกจากนี้ความเจ็บป่วยจากระบบอื่นก็อาจทำให้สูญเสีย LBM จนเกิดภาวะผอมหนังหุ้มกระดูก (cachexia) ได้เช่นกัน
เนื้อหาแนวทางการจัดการสารอาหารและการควบคุมน้ำหนักสำหรับสุนัขและแมว สามารถไปศึกษาเพิ่มเติมได้จาก 2021 AAHA Nutrition and Weight Management Guidelines for Dogs and Cats
สารอาหารสำหรับสัตว์สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรง
ในปัจจุบัน (2023) ยังไม่มี guidelines จำเพาะสำหรับสัตว์สูงอายุ แต่สุนัขสูงวัยจะต้องการพลังงานลดลง และใยอาหารเพิ่มขึ้น ควรพิจารณาคุณภาพของโปรตีนเพื่อเลี่ยงการสูญเสีย LBM โดยยังสามารถคง BCS ไว้ได้ สำหรับแมวอายุมากจะกินอาหารในปริมาณที่ลดลง อาหารที่ให้จึงควรมีความน่ากิน พลังงานและโปรตีนสููง
สุนัขและแมวสูงวัยที่มีปัญหาสุขภาพ
เมื่อสัตว์เลี้ยงมีอายุมากขึ้น ก็จะมีความเสี่ยงปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้นตามมา แต่การดูแลอย่างเหมาะสม ที่สามารถลดความรุนแรง ยกระดับคุณภาพชีวิต และยืดอายุขัยของสัตว์เลี้ยงได้ การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอช่วยให้มีข้อมูล baseline และพบความผิดปกติได้รวดเร็วขึ้น อาจพูดคุยกับเจ้าของให้ช่วยสังเกตสัญญาณปัญหาสุุขภาพที่พบได้บ่อย เช่น น้ำหนักลด พฤติกรรมเปลี่ยน ความอยากอาหารลดลง อ่อนแรง แผลหายช้า เป็นต้น
ปัญหาสุขภาพที่หาสาเหตุไม่พบ หรือการเจ็บป่วยด้วยหลายโรคพร้อมๆ กัน
อาการป่วยของสัตว์สูงอายุอาจเป็นผลมาจากความเสื่อมของหลายอวัยวะร่วมกัน สัตวแพทย์อาจพิจารณาส่งต่อให้กับสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะดูแลต่อตามความเหมาะสม บางกรณีเจ้าของอาจไม่สะดวกที่จะวินิจฉัยสาเหตุการป่วยให้ชัดเจน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ค่าใช้จ่าย ความเสี่ยงในการวางยา และประโยชน์ที่อาจไม่คุ้มความเสี่ยง และเลือกการดูแลแบบประคับประคอง (palliative care) แทน
ความเสื่อมของความสามารถในการทํางานของสมองด้านต่างๆ (cognitive dysfunction)
Cognitive dysfunction ในสุนัข (Canine Cognitive Dysfunction; CCD) มีขบวนการเกิดคล้ายคลึงกับโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's Disease) ในคน เกิดความเสื่อมของความสามารถในการทํางานของสมองด้านต่าง ๆ อาการที่พบจะแตกต่างกันออกไป ซึ่งมักเป็นการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมอย่างช้าๆ ที่เจ้าของอาจไม่ทันได้สังเกต สามารถใช้แบบสอบถาม CADES (CAnine DEmentia Scale) เพื่อคัดกรองได้ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0168159115002373   โดยมียาที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เพื่อรักษา CCD อยู่ตัวเดียว คือ selegiline ให้กินขนาด 0.5-1 mg/kg วันละครั้ง พร้อมกับสังเกตอาการไปด้วยอย่างน้อย 30 วัน ต้องระมัดระวังหากให้ร่วมกับยาตัวอื่นในกลุ่มยาต้านเศร้า และอาจพิจารณาการให้อาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงร่วมด้วย นอกจานี้อาการวิตกกังวล (anxiety) ก็เป็นอีกหนึ่งอาการชอง CCD ซึ่ง anxiety มีความเกี่ยวข้องกับความเจ็บปวดแบบเรื้อรัง (chronic pain) ทำให้สัตวแพทย์อาจพิจารณายาที่มีฤทธิ์ในการคลาย anxiety สำหรับบางกรณี โดยยาที่นิมยมใช้คือ trazodone และ alprazolam
การจัดการเกี่ยวกับความเจ็บปวด
สิ่งสำคัญในการจัดการเกี่ยวกับความเจ็บปวด คือ การสังเกตสัญญาณของความเจ็บปวด การป้องกัน และการลดความรุนแรงของความเจ็บปวดลง ซึ่งทาง AAHA ในออก guideline 2022 AAHA Pain Management Guidelines for Dogs and Cats และ 2021 AAFP Feline Senior Care Guidelines ให้ผู้ที่สนใจสามารถไปศึกษากันต่อได้
ควรทำความเข้าใจกับเจ้าของเรื่องพฤติกรรมที่อาจเป็นสัญญาณของความเจ็บปวด โดยเฉพาะกับสัตว์เลี้ยงที่มีปัญหาการเสื่อมของข้อต่อ (degenerative joint disease; DJD)
แนวทางการจัดการอาจต้องใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน รวมถึงอาจต้องรักษาด้วยวิธีการอื่นๆ ด้วย เช่น การทำกายภาพบำบัด และการจัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะสมกับสัตว์
โรคการเสื่อมของเส้นประสาทกล่องเสียงที่พบในสัตว์สูงอายุ (geriatric onset laryngeal paralysis polyneuropathy; GOLPP)
เป็นโรคที่มักพบในสุนัขขนาดใหญ่ เช่น ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ (Labrador Retriever) เกิดจากการเสื่อมของเส้นประสาท โดยเฉพาะที่ laryngeal nerve และ sciatic nerve มักมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจแบบเสียงแหลมสูง (stridor) และภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย (sarcopenia) สัตวแพทย์อาจพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัดในบางกรณี ร่วมกับการทำกายภาพเพื่อรักษา LBD และต้องเตือนให้เจ้าของระมัดระวังภาวะฉุกเฉินจากความร้อน (heat stroke)
การจัดการด้านสารอาหาร
สัตว์สูงวัยที่มีปัญหาสุขภาพร่วมด้วยควรกินอาหารที่เหมาะสมกับโรคนั้น ๆ สำหรับสัตว์ที่อยู่ในระยะ palliative care อาจสนใจเพียงให้สัตว์ได้กินอาหารบ้างก็เพียงพอ สำหรับสัตว์ที่ไม่สามารถกินอาหารได้เอง อาจพิจารณาให้อาหารทางสาย หรือให้สารอาหารทางสารน้ำ สำหรับสัตว์ที่ไม่อยากอาหารและสัตว์ที่มีอาการอาเจียน ควรพิจารณาการให้ยากระตุ้นความอยากอาหารและยาลดอาเจียนร่วมด้วย
ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต (end of life) และ การุณฆาต (euthanasia)
มี guidelines สำหรับการจัดการช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตสัตว์ป่วย สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก 2016 AAHA/IAAHPC End-of-Life Care Guidelines
การดูแลแบบประคับประคอง (palliative care) หรือการพิจารณาการกลับไปตายอย่างสงบที่บ้าน (hospice)
Palliative care เน้นการประคับประคองอาการและบรรเทาความเจ็บปวด และหากถึงจุดสุดท้ายแล้ว ควรพูดคุยกับเจ้าของว่าจะตัดสินใจแบบใดต่อไป อาจพิจารณาการการุณฆาต รักษาตามอาการจนสุดทาง หรือให้จากไปอย่างสงบที่บ้านในที่สุด ในช่วงเวลาสุดท้ายนี้ เจ้าของกับสัตว์ควรมีโอกาสได้ใช้เวลาร่วมกันเท่าที่ทำได้ และเตรียมความพร้อมกับการจากลาที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
การแจ้งข่าวสำคัญ
เมื่อสัตว์เริ่มเข้าสู่ระยะที่ไม่สามารถรักษาให้ดีขึ้นหรือหายขาดได้ ควรต้องมีการทำความเข้าใจกับเจ้าของตั้งแต่เนิ่น ๆ ขั้นตอนนี้อาจกินเวลานานกว่าการรักษาตามปกติ เริ่มจากการอธิบายประวัติการรักษา การวินิจฉัย การพยากรณ์โรค ผลลัพธ์ที่สามารถคาดหวังได้จากการรักษา และวางแผนร่วมกันโดยยึดความต้องการของเจ้าของเป็นหลัก พร้อมทั้งคำนึงถึงปัจจัยและข้อจำกัดของเจ้าของร่วมด้วย เช่น ปัจจัยด้านการเงิน ซึ่งเจ้าของสัตว์อาจจำเป็นต้องใช้เวลาในการยอมรับความจริงอันหนักอึ้งนี้ และยังไม่พร้อมพูดคุยเรื่องแผนการการดูแลระยะท้ายทันทีหลังการแจ้งข่าวได้เช่นกัน
สถานพยาบาลที่ให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงสูงวัย
การทำให้คลินิกหรือโรงพยาบาลเป็นมิตรกับสัตว์เลี้ยงสูงวัยอาจมีส่วนช่วยให้เจ้าของสัตว์สนใจมาใช้บริการมากขึ้น โดยเริ่มจากการสำรวจพื้นที่ของสถานพยาบาลทั้งภายในและภายนอก ปรับปรุงพื้นที่ให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อสัตว์อายุมากที่มาใช้บริการ เช่น ทำทางลาดหากมีพื้นต่างระดับ เพิ่มพื้นที่สงบ ปราศจากความวุ่นวายจากสุนัขและแมววัยใสผู้ซุกซน อาจมีที่นุ่มและอบอุ่นให้เพิ่มเติมด้วย
การพบนัดพบสัตว์ป่วยสูงอายุ
ควรมีการให้เจ้าของทำแบบสอบถามช่วยในการสังเกตการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่อาจมีความสำคัญเกี่ยวกับสุขภาพ และอาจให้เจ้าของช่วยถ่ายภาพและวิดิโอเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ด้วย อาจต้องให้เวลากับสัตว์สูงอายุมากกว่ากลุ่มอื่นๆ เพื่อการตรวจร่างกายที่ครบถ้วนสมบูรณ์ เตรียมตัวคำถามโดยอาจใช้สื่อต่าง ๆ ช่วยในการอธิบาย และควรมีการสรุปเนื้อหาสำคัญ โดยเฉพาะเวลาที่เจ้าของต้องรับข้อมูลจำนวนมากในเวลาสั้น ๆ และห้ามลืมอธิบายการให้ยาให้ชัดเจน เช่น ลำดับความสำคัญของยาแต่ละตัว อาการข้างเคียงที่อาจพบ วิธีการให้ยา ความเสี่ยงหากมีการให้ยาไม่ตรงขนาด
การโปรโมทการดูแลสัตว์สูงอายุของสถานพยาบาลสัตว์
สัตวแพทย์สามารถส่งเสริมการดูแลสัตว์เลี้ยงสูงวัยผ่านการให้ข้อมูล เช่น เรื่อง cognitive dysfunction syndrome หรือ chronic pain ผ่านทางสื่อต่างๆ อย่าง เว็ปไซต์ (website) ของโรงพยาบาล หรือทางสื่อออนไลน์ (social media) ก็ได้
การพบสัตวแพทย์ทางไกล (telemedicine)
Telemedicine สามารถช่วยอำนวยความสะดวกต่อทั้งสัตวแพทย์และเจ้าของ ทำให้สัตว์ที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวหรือมีความวิตกกังวลต้องออกจากสถานที่ที่ตัวเองคุ้นเคยเพื่อมาพบสัตวแพทย์ โดยสามารถพิจารณาการใช้เครื่องมือติดตามสัญญาณชีพติดกับตัวสัตว์เพื่อเก็บข้อมูล หรือใช้แอบพลิเคชัน (application) ในโทรศัพท์มือถือเพื่อช่วยบันทึกก็ได้ โดยสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก 2021 AAHA-AVMA Telehealth Guidelines for Small Animal Practice
เมื่อสุนัขและแมวเข้าสู่วัยชรา สุขภาพร่างกายอาจเริ่มมีการเสื่อมลง แต่ไม่จำเป็นจะต้องอ่อนแอเสมอไป สัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่สถานพยาบาลสัตว์ที่เกี่ยวข้อง และเจ้าของสัตว์สามารถช่วยกันดูแลให้สัตว์กลุ่มนี้มีชีวิตที่ยืนยาวพร้อมกับคุณภาพชีวิตที่ดีได้
เอกสารอ้างอิง
Dhaliwal, R., Boynton, E., Carrera-Justiz, S., Cruise, N., Gardner, M., Huntingford, J., Lobprise, H., & Rozanski, E. (2022). 2023 AAHA senior care guidelines for dogs and cats. Journal of the American Animal Hospital Association, 59(1), 1-21. https://doi.org/10.5326/jaaha-ms-7343