1. เราจะสามารถนำวัคซีนเชื้อเป็น (modified live vaccine; MLV)
ที่มีใช้ในสุนัขและแมว มาใช้กับสัตว์ป่า สัตว์ exotic
หรือสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากที่วัคซีนชนิดนั้นๆ
ได้รับใบอนุญาต ได้หรือไม่
ตอบ: ไม่ได้ ห้ามให้วัคซีนเชื้อเป็นในสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่วัคซีนนั้นๆ
ไม่ได้รับอนุญาตเด็ดขาด
เนื่องจากวัคซีนเชื้อเป็นที่ใช้ในสัตว์เลี้ยงอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อในสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ
ที่วัคซีนไม่ได้ให้การรับรอง ในกรณีร้ายแรง เชื้อจากวัคซีนอาจ turn
virulent และเป็นสาเหตุให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสในสัตว์ป่า
หรือสัตว์ exotic ได้ เช่น สัตว์ที่ไวต่อการติดเชื้อ canine distemper
virus (CDV) ได้ อย่าง สุนัขจิ้งจอก เฟอเรท การใช้วัคซีนเชื้อเป็น CDV
จะทำให้เกิดการติดเชื้อและเป็นสาเหตุให้สัตว์เสียชีวิตได้ ในปัจจุบัน
มีการพัฒนาวัคซีนชนิดรีคอมบิแนนท์เพื่อใช้ป้องการกันติดเชื้อ CDV
ชนิดที่เป็น monovalent เพื่อสัตว์กลุ่มนี้โดยเฉพาะ ซึ่งมีความปลอดภัยสูง
ทำให้บางประเทศมีการนำใช้แล้ว
2.
มีวัคซีนบางชนิดที่สามารถให้ในลูกสุนัขอายุน้อยที่ยังมีภูมิคุ้มกันจากแม่
(maternally derived anitbodies; MDA) เพื่อป้องการกันติดเชื้อ CDV
ได้หรือไม่
ตอบ: มีและสามารถให้ได้ เช่นวัคซีนชนิดรีคอมบิแนนท์
หรือวัคซีนเชื้อเป็นชนิดที่เป็น high titre
ที่สามารถเริ่มให้ในลูกสุนัขอายุน้อยตั้งแต่ 6 สัปดาห์ขึ้นไป
และเข็มกระตุ้นครั้งสุดท้ายควรให้อายุ 16 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น
ก่อนจะเว้นระยะห่างเป็นการให้วัคซีนเข็มกระตุ้นเป็น ประจำปี หรือทุก 3
ปีตามคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนนั้นหรือตาม WSAVA vaccine guidelines
3. เนื่องจากมีวัคซีนหลัก (core vaccine) แบบรวมหลายเชื้อชนิดเชื้อเป็น
สำหรับใช้ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสในสุนัข ที่อ้างว่าสามารถฉีดกระตุ้นเพียง
2 ครั้งก็เพียงพอ และเข็มกระตุ้นครั้งสุดท้ายจะจบที่อายุตั้งแต่ 10 สัปดาห์
คำกล่าวอ้างดังกล่าวเชื่อถือได้หรือไม่
ตอบ: มีวัคซีนดังกล่าวอยู่จริง
เนื่องจากวัคซีนกลุ่มนี้มีจุดประสงค์ให้การทำวัคซีนเสร็จสิ้นตั้งแต่อายุน้อยๆ
หรือ เรียกว่า‘early finish’ เพื่อที่จะให้ลูกสุนัขเข้าสังคมได้เร็วขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลปัจจุบัน
ยังไม่มีวัคซีนหลักแบบรวมยี่ห้อใดที่ให้ผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันในลูกสุนัขได้ดีเพียงพอ
หรืออยู่ในระดับเปอร์เซ็นต์ที่รับได้เมื่อให้เข็มกระตุ้นครั้งสุดท้ายที่อายุ
10 สัปดาห์ (โดยเฉพาะการป้องกันการติดเชื้อ CPV-2) ทาง The WSAVA
Vaccination Guidelines Group (VGG) จึงแนะนำว่า
เข็มกระตุ้นครั้งสุดท้ายควรให้ตอนลูกสุนัขอายุ 16 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น
ไม่ว่าโปรแกรมวัคซีนนั้นๆ จะเริ่มต้นให้เร็วกว่าปกติ
หรือกระตุ้นบ่อยแค่ไหนก็ตาม ทาง VGG
เข้าใจว่าการให้สัตว์เข้าสังคมตั้งแต่อายุน้อยๆ
เป็นเรื่องสำคัญต่อพฤติกรรมสัตว์ไม่แพ้กัน
จึงแนะนำว่าเจ้าของสัตว์ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
จำกัดบริเวณไม่ให้ลูกสัตว์ที่ยังทำวัคซีนไม่ครบไปสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมภายนอกบ้าน
และให้คลุกคลีได้เฉพาะกับสุนัขที่แข็งแรงและทำวัคซีนครบเรียบร้อยแล้วเท่านั้น
4. อยากทราบว่า หลังทำวัคซีนหลักแล้ว สัตว์ต้องใช้เวลานานเท่าไร
ถึงจะสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อได้
ตอบ:
ขึ้นอยู่กับสัตว์แต่ละตัว ประเภทวัคซีนและโรคติดเชื้อนั้นๆ
จากข้อมูลงานวิจัยพบว่า ในการป้องกันการติดเชื้อ CDV
การเลือกให้วัคซีนประเภทเชื้อเป็น
หรือการให้วัคซีนรีคอมบิแนนท์จะกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ CDV
ได้ไวที่สุด โดยพบว่า ในลูกสัตว์ที่ไม่มี MDA หรือมีอยู่ในระดับต่ำ
จะสามารถเริ่มพบการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันได้ตั้งแต่หลักนาทีถึงหลักชั่วโมง
และภายในหนึ่งวันจะสามารถให้ภูมิเพื่อป้องกันการติดเชื้อได้
ในขณะที่การสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อ CPV-2 และ FPV
ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 วัน หรือโดยทั่วไปจะตรวจพบภูมิคุ้มกันภายใน 5
วันหลังสัตว์ได้รับวัคซีนเชื้อเป็น
แต่ถ้าสัตว์ได้รับวัคซีนประเภทเชื้อตายจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3
สัปดาห์หรือมากกว่านั้นในการสร้างภูมิเพื่อป้องกันการติดเชื้อ CPV-2 และ
FPV
ในการป้องกันการติดเชื้อ CAV การให้วัคซีนเชื้อเป็น CAV-2
โดยการฉีดจะกระตุ้นการสร้างภูมิเพื่อป้องกันการติดเชื้อ CAV-1
ที่เป็นสาเหตุของโรคไวรัสตับอักเสบได้ภายใน 5-7 วัน
แต่ถ้าให้วัคซีนทางจมูกต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2
สัปดาห์หรือมากกว่านั้นกว่าจะตรวจพบภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ CAV-1
ได้ในระดับเดียวกันกับการให้โดยการฉีด
ในสุนัขบางตัวไม่พบการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ CAV-1
เลยถ้าให้วัคซีนทางจมูก ดังนั้น การป้องการติดเชื้อ CAV-1
จึงแนะนำว่าควรให้วัคซีนเชื้อเป็น CAV-2 โดยการฉีด
ในแมว ระยะเวลาที่สัตว์จะสร้างภูมิเพื่อป้องกันการติดเชื้อ FCV และ FHV-1
หลังทำวัคซีนจะประเมิณได้ยาก
เพราะแมวบางส่วนที่ได้รับวัคซีนไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสทั้งสองชนิดนี้ได้
หรือถ้าได้ จะใช้เวลาประมาณ 7-14
วันในการพัฒนาและสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อนี้
5.
เราจะสามารถคาดหวังอะไรได้บ้างจากการให้วัคซีนหลักอย่างถูกต้องในลูกสัตว์
และสัตว์ที่โตแล้วทั้งในสุนัขและแมว
ตอบ: ในลูกสุนัขหรือสุนัขที่ได้รับวัคซีนหลัก
ทั้งแบบชนิดเชื้อเป็นหรือชนิดรีคอมบิแนนท์อย่างถูกต้องและเหมาะสมจะสามารถป้องกันการเกิดโรคโดยเชื้อไวรัส
CDV, CPV-2 และ CAV-2 ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 98 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า
การเลือกให้วัคซีนหลักที่มีคุณภาพอย่างถูกต้องและเหมาะสมจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสก่อโรคในสัตว์ได้สูงมาก
ในลูกแมวหรือแมวที่ได้รับวัคซีนหลักเชื้อเป็นอย่างถูกต้องและเหมาะสม
วัคซีนจะช่วยป้องกันการติดเชื้อและการก่อโรคโดยไวรัส FPV ได้ไม่ต่ำกว่า 98%
แต่ถ้าเป็นเชื้อ FCV และ FHV-1
วัคซีนจะช่วยเพียงป้องกันการก่อโรคแต่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อเหล่านี้ในแมวได้
ในสัตว์กลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัส FCV
และ FHV-1 อยู่สูง วัคซีนจะมีประสิทธิภาพช่วยป้องกันโรคอยู่เพียงร้อยละ
60-70การเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันโรคต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ
ร่วมด้วยอันได้แก่ การแยกเลี้ยงในระบบปิด
แยกแมวกลุ่มที่ทำวัคซีนแล้วและยังไม่ทำวัคซีนออกจากกัน
ลดความหนาแน่นในการเลี้ยงเพื่อช่วยลดระดับความเครียดเป็นต้น
6. เราสามารถให้วัคซีนพาโวไวรัส (CPV-2 หรือ FPV)
โดยการป้อนทางปากได้หรือไม่
ตอบ: ไม่ได้
เนื่องจากการให้วัคซีนพาโวไวรัสโดยการป้อนจะไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้
วัคซีนพาโวไวรัสบางตัวสามารถให้ทางจมูกได้
แต่อย่างไรก็ตามจากข้อมูลปัจจุบันบ่งชี้ว่า
ช่องทางการบริหารวัคซีนพาโวไวรัสที่เหมาะสมที่สุดเพื่อให้กระตุ้นภูมิคุ้มกันคือ
การให้โดยการฉีดเข้ากล้ามหรือเข้าใต้ผิวหนัง
7. ทำไมถึงไม่มีวัคซีน FIV ในประเทศของฉัน และแมวที่ทำวัคซีน FIV
แล้วสามารถติดเชื้อ FIV ได้หรือไม่
ตอบ
เนื่องจากขึ้นอยู่กับการตลาดของบริษัทและสถานการณ์ความรุนแรงของเชื้อนี้ในแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน
วัคซีน FIV ที่มีในปัจจุบันจะประกอบด้วย Subtype A และ D เป็นหลัก
ซึ่งประสิทธิภาพของวัคซีนนี้ในป้องกันข้าม subtype อื่นๆ
(Cross-protection) จะอยู่กับปัจจัยทีว่าประเทศนั้นๆ มี FIV subtype
ใดวนเวียนอยู่
โดยก่อนทำวัคซีนควรตรวจซีรัมก่อนว่าแมวมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้ออยู่แล้วหรือไม่
และถึงแม้ว่าแมวจะได้รับการทำวัคซีน FIV แล้วก็สามารถติดเชื้อ FIV
ได้อยู่และเชื้อทุก subtype สามารถแฝงอยู่ในร่างกายสัตว์ได้เป็นระยะนานใน
ทำให้แมวที่ทำวัคซีนแล้วอาจกลายพาหะนำเชื้อไปสู่แมวตัวอื่นได้
8. จริงหรือไม่ที่วัคซีนชนิด monovalent (มีแอนติเจนชนิดเดียว)
ดีกว่าวัคซีนชนิด multivalent (มีแอนติเจนหลายชนิด; วัคซีนรวม)
ตอบ: ไม่จริง ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของแอนติเจนในวัคซีนนั้นๆ
และประเภทของวัคซีนนั้นว่าเป็นวัคซีนหลัก (core vaccine)
หรือเป็นวัคซีนทางเลือก (non-core vaccine) จาก WSAVA guidelines
ผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความเห็นร่วมกันแล้วว่า ในสุนัข
วัคซีนรวมเชื้อเป็นที่ใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อ CDV, CAV-2 และ CPV-2
ถือว่าเป็นวัคซีนในอุดมคติที่เหมาะสมจะนำมาใช้เพื่อเป็นวัคซีนหลัก
ในขณะที่ถ้าเป็นวัคซีนทางเลือก เช่น วัคซีนป้องกันโรคฉี่หนูจากเชื้อ
Leptospira spp. หรือ โรคติดเชื้อทางเดินหายจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย
(Canine Infectious Respiratory Disease Complex; CIRDC) ควรแยกให้
และให้เฉพาะในสัตว์ที่มีการประเมิณความเสี่ยงแล้วจะเหมาะสมที่สุด เช่น
ในกรณีสุนัขที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ Leptospira spp. การให้วัคซีน
Leptospira ที่ประกอบด้วยแอนติเจนจากเชื้อหลายสปีชีส์ (multivalent/
multicomponent) อาจจะให้ภูมิคุ้มกันที่หลากหลายและป้องกันได้ดีกว่า
แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่รองรับของวัคซีนนั้นๆ
ว่าเหมาะกับการป้องกันโรคหรือสอดคล้องกับการระบาดของเชื้อสายพันธุ์นั้นๆ
ในพื้นที่หรือไม่
9. ในกรณีที่เลือกใช้วัคซีนรวม
จำนวนชนิดของแอนติจนที่เป็นองค์ประกอบในวัคซีนจะมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนหรือไม่
ตอบ: ไม่มีผล เนื่องจากวัคซีนรวมที่ได้รับการรับรองแล้ว
บริษัทผู้ผลิตต้องแสดงผลการวิเคราะห์ว่าแอนติเจนแต่ชนิดในวัคซีนรวมสามารถกระตุ้นการสร้างภูมิที่ป้องกันโรคจากแต่ละเชื้อได้
โดยจะต้องแสดงผล Challenge studies ให้เห็นว่าสัตว์จะไม่ติดเชื้อ
หรือไม่แสดงอาการป่วยหลังทำวัคซีนเมื่อได้สัมผัสกับเชื้อไวรัสก่อโรคนั้นๆ
10. จริงหรือไม่ที่วัคซีนเชื้อเป็น จะสามารถเอาชนะอิทธิผลของ MDA
ที่รบกวนการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าวัคซีนเชื้อตาย
ตอบ: จริง เนื่องจากวัคซีนเชื้อเป็นบางชนิด
และวัคซีนชนิดรีคอมบิแนนท์สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะในสัตว์ได้ถึงแม้จะมีการปรากฏของ
MDA อยู่ ซึ่งต่างจากวัคซีนเชื้อตายที่มักถูกอิทธิผลของ MDA
รบกวนจนทำให้ไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะต่อเชื้อไวรัสได้
11. จริงหรือไม่ ที่ควรเลือกใช้วัคซีนที่ผลิตจากสายพันธุ์ในท้องถิ่น
ดีกว่าการใช้วัคซีนนำเข้าจากต่างประเทศที่ใช้กันอย่างทั่วไปในระดับสากล
ตอบ: ไม่จริง จากข้อมูลในปัจจุบัน
ยังไม่มีหลักฐานที่บ่งบอกว่าวัคซีนหลักที่นำเข้าจากต่างประเทศไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสที่สำคัญได้
โดยจากข้อมูลทั่วโลกพบว่า
วัคซีนหลักที่ได้รับการรับรองแล้วนั้นจะมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นให้สัตว์สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสหลักที่สำคัญอย่าง
CDV, CAV-1, CAV-2, CPV-2, FPV, FCV, FHV-1 และ rabies
ได้ไม่ว่าวัคซีนนั้นจะผลิตจากประเทศหรือบริษัทใดก็ตาม
เนื่องจากคีย์แอนติเจนของเชื้อไวรัสที่นำมาใช้ทำวัคซีนไม่แตกต่างกัน
แต่ในกรณีของวัคซีนทางเลือก อย่างวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ Leptospira
การพิจารณาให้วัคซีนที่ประกอบด้วยสปีชีส์หรือซีโรวาที่มีรายงานการระบาดในพื้นที่นั้นๆ
เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องคำนึงถึง
เนื่องจากคีย์แอนติเจนที่ใช้ป้องกันการติดเชื้อจะแตกต่างกันในแต่ละสปีชีส์หรือซีโรวาของเชื้อ
Leptospira
12. ถ้าต้องการใช้วัคซีนรวม DHPPi (Nobivac®)
แต่ไม่ต้องการผสมกับสารละลายที่มีแอนติเจนของเชื้อ Leptospira
ควรจะใช้สารละลายใดเป็นทำตัวละลายวัคซีนนี้
ตอบ: ทางที่ดีที่สุดควรสอบถามกลับไปทางบริษัทผู้ผลิตวัคซีน
เพื่อสอบถามว่ามีสารละลายเฉพาะสำหรับละลายวัคซีนหรือไม่
ในกรณีที่บริษัทไม่ได้กำหนดสารละลายเฉพาะ
อาจจะใช้น้ำกลั่นหรือน้ำเกลือปราศจากเชื้อที่ใช้สำหรับผสมยาฉีด (sterile
water หรือ sterile normal saline) แทนได้
13. วัคซีนพิษสุนัขบ้าสามารถนำมาใช้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กอย่าง
เฟอเรท กระต่าย หนูตะเภา หรือสัตว์ขนาดเล็กอื่นๆได้หรือไม่
ตอบ: โดยหลักการแล้วทาง VGG
ไม่แนะนำให้ใช้วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กอื่นๆที่วัคซีนนั้นไม่ได้ให้การรับรอง
14. จะเกิดอะไรขึ้น
ถ้าลูกสุนัขที่เพิ่งได้รับวัคซีนพิษสุนัขบ้าเข็มแรกถูกสุนัขจรกัด
ควรจะต้องให้การป้องกันการติดเชื้อแบบฉุกเฉิน (post-exposure prophylaxis;
PEP) หรือไม่และอย่างไร และถ้าให้แล้ว
แต่โดนกัดซ้ำอีกหลังจากนั้นไม่กี่สัปดาห์
จะต้องให้การป้องกันการติดเชื้อแบบฉุกเฉินอีกหรือไม่
ตอบ: ขึ้นอยู่กับว่า ลูกสุนัขได้รับวัคซีนพิษสุนัขบ้าอย่างเหมาะสมหรือไม่
เช่นได้รับไปแล้วเมื่ออายุ 3 เดือน
ถ้าได้รับอย่างเหมาะสมก็สามารถมั่นใจได้ว่า
น่าจะป้องกันการติดเชื้อได้ระดับหนึ่ง ทาง VGG ได้ตะหนักและทราบว่า
มีบางประเทศมีการนำ human rabies immunoglobulin (RIGH) มาใช้เพื่อเป็น PEP
เพื่อประโยชน์ของลูกสัตว์และสมาชิกภายในบ้าน
แต่การให้อิมมูโนโกลบูลินดังกล่าว
รวมไปถึงการให้ซ้ำในสุนัขที่โดนกัดอีกนั้นยังไม่มีข้อมูลการศึกษาหรือแนวทางการใช้ที่แน่ชัดเหมือนเช่นในมนุษย์
มีงานวิจัยที่อ้างว่าการให้ murine anti-rabies glycoprotein monoclonal
antibodies (mAb)
ร่วมกับการกระตุ้นวัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อพิษสุนัขบ้าได้
แต่โดยรวมแล้วการให้ RIGH หรือ mAb
ยังไม่เป็นที่แพร่หลายหรือมีข้อบ่งใช้ที่ชัดเจนในสัตว์เลี้ยง
โดยหลักปฏิบัติที่อ้างอิงจาก Harris County Public Health
จะแนะนำให้ปฏิบัติดังนี้
ถ้าสุนัขถูกกัดโดยสุนัขที่ติดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าหรือต้องสงสัยว่าติดเชื้อหรือมีโอกาสได้รับเชื้อจากสัตว์พาหะเช่น
ค้างคาว สัตว์ป่าอย่างแรคคูน สุนัขจิ้งจอก หมาป่า สกั๊งค์
หรือสัตว์ป่าที่กินเนื้ออื่นๆ การ PEP จะแบ่งการพิจารณาเพื่อปฏิบัติดังนี้
ถ้าสุนัขหรือแมวเคยได้รับวัคซีนแล้วในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
ให้รีบทำการกระตุ้นวัคซีนโดยเร็วที่สุดและจำกัดบริเวณอย่างรัดกุมเป็นเวลา
45 วันเพื่อดูว่าแสดงอาการของโรคหรือไม่
ถ้าสัตว์ไม่แสดงอาการของโรคในช่วงเวลาดังกล่าวให้ถือว่าปลอดภัย
ถ้าสุนัขหรือแมวไม่เคยได้รับวัคซีนพิษสุนัขบ้ามาก่อนเลย
จะแนะนำให้ทำการุณยฆาตเพื่อความปลอดภัยของมนุษย์ หรืออีกทางเลือกคือ
ให้รีบพาสัตว์ที่โดนกัดไปฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด
และให้ฉีดกระตุ้นซ้ำอีกครั้งในสัปดาห์ที่ 3 และสัปดาห์ที่ 8
ตามลำดับร่วมกับการกักบริเวณอย่างรัดกุม 90 วันเพื่อสังเกตอาการ
ถ้าสัตว์ไม่แสดงอาการของโรคในช่วงเวลาดังกล่าวให้ถือว่าปลอดภัย
15.
เราจะสามารถลดปริมาตรวัคซีนที่ให้ในสุนัขพันธุ์เล็กเพื่อลดความเสี่ยงของการแพ้วัคซีนได้หรือไม่
ตอบ: ไม่ได้ โดยทั่วไปบริษัทผู้ผลิตจะผลิตวัคซีนในปริมาตร 1
มิลลิลิตรซึ่งเป็นปริมาตรที่มีแอนติเจนขั้นต่ำในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของสุนัขไม่ว่าจะเป็นสุนัขพันธุ์เล็กหรือพันธุ์ใหญ่
ดังนั้นการให้วัคซีนต้องผสมและดูดให้ได้ปริมาตรตามที่บริษัทกำหนด ในอเมริกา
มีวัคซีนออกใหม่ซึ่งออกแบบมาเพื่อใช้กับสุนัขพันธุ์เล็กโดยเฉพาะ
โดยจะลดปริมาตรวัคซีนลงเหลือ 0.5 มิลลิลิตร
แต่ปริมาณแอนติเจนและสารเสริมภูมิคุ้มกันยังคงมีปริมาณเท่าเดิมเหมือนกับวัคซีนปริมาตร
1 มิลลิลิตร ซึ่งออกแบบมาเพื่อใช้กับสุนัขพันธุ์เล็กโดยเฉพาะ
และมีวัคซีนขนาด 0.5 มิลลิลิตรสำหรับแมวด้วยเช่นกัน
16.
สุนัขพันธุ์ใหญ่ควรได้รับวัคซีนปริมาตรเท่ากับที่ให้ในสุนัขพันธุ์เล็กหรือไม่
ตอบ: ควรได้รับปริมาตรเท่ากัน เนื่องจากวัคซีนไม่ใช่ยา
การให้วัคซีนจะไม่ได้คำนวณตามน้ำหนักหรือปริมาตรร่างกายของสัตว์เหมือนการให้ยา
แต่จะพิจารณาจากเกณฑ์แอนติเจนขั้นต่ำที่ต้องใช้เพื่อกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน
17. สามารถทำวัคซีนในขณะที่สัตว์อยู่ใต้ภาวะวางยาสลบได้หรือไม่
ตอบ: ไม่ควรทำ เพราะสัตว์อาจมีภาวะแพ้วัคซีน
ทำให้อาเจียนขณะวางยาและนำไปสู่การสำลักอาหารได้
อีกทั้งยาสลบบางตัวอาจจะมีฤทธิ์กระตุ้นหรือกดภูมิคุ้มกันในสัตว์ซึ่งทำให้รบกวนการทำวัคซีนได้{" "}
18. ควรจะทำวัคซีนในสัตว์ที่ตั้งครรภ์หรือไม่
ตอบ: ไม่ควรทำวัคซีนในสัตว์ที่ตั้งครรภ์อยู่
ยกเว้นว่าวัคซีนนั้นจะมีข้อบ่งใช้ว่าสามารถใช้ในสัตว์ตั้งครรภ์ได้
การให้วัคซีนเชื้อเป็นหรือวัคซีนเชื้อตายเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่งในสัตว์ที่ตั้งครรภ์อยู่
ทางที่ดีที่สุดคือควรวางแผนล่วงหน้า ทำวัคซีนให้สัตว์ก่อนนำไปผสมพันธุ์
19. การรักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกันกลุ่มสเตียรอยด์
จะรบกวนการทำวัคซีนในสัตว์หรือไม่
ตอบ: การจากศึกษาในสุนัขและแมวพบว่า
การให้ยากลุ่มสเตียรอยด์เพื่อกดภูมิคุ้มกันก่อนทำวัคซีนหรือให้พร้อมกับการทำวัคซีนนั้น
พบว่ายาไม่มีฤทธิ์กดการสร้างแอนติบอดีที่กระตุ้นโดยวัคซีนอย่างมีนัยสำคัญ
แต่อย่างไรก็ตาม แนะนำให้กระตุ้นวัคซีนซ้ำอีกหลังจากนั้น 2
สัปดาห์ขึ้นไปหรือหลังจากหยุดให้สเตียรอยด์แล้วโดยเฉพาะในสัตว์ที่อยู่ในระยะเพิ่งเริ่มทำวัคซีน
20.
จะสามารถทำวัคซีนในสัตว์ที่อยู่ในภาวะภูมิคุ้มกันถูกกดจากการให้ยาเพื่อรักษามะเร็งหรือรักษาโรคภูมิคุ้มกันต้านตนเอง
(autoimmune disease) ที่ไม่ใช่ยากลุ่มสเตียรอยด์ได้หรือไม่
ตอบ: ไม่ได้
โดยเฉพาะการทำวัคซีนชนิดเชื้อเป็นควรจะต้องหลีกเลี่ยงอย่างยิ่งเพราะอาจจะเป็นสาเหตุให้สัตว์เกิดโรคได้
การให้วัคซีนเชื้อตายจะไม่มีประสิทธิภาพพอ
และการทำวัคซีนเชื้อตายอาจจะกระตุ้นให้เกิดการเกาะกลุ่มของแอนติเจนจนนำไปสู่ภาวะ
immune-mediated disease จากการศึกษาในแมวที่ให้ยา cyclosporin
ปริมาณสูงพบว่า
การให้ยานี้ไม่มีผลรบกวนการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเมื่อให้วัคซีน FPV และ FCV
แต่มีผลทำให้การตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่ต้านเชื้อ FHV-1 FeLV และ Rabies
เกิดขึ้นได้ช้า ในกรณีที่ให้วัคซีน FIV เข็มแรกในแมวกลุ่มที่ได้รับยา
cyclosporin พบว่าสัตว์ไม่สามารถแอนติบอดีต่อแอนติเจนของเชื้อได้
จากผลดังกล่าวตีความได้ว่า cyclosporin
มีผลในการกดภูมิที่ตอบสนองตอนแอนติเจนที่เจอครั้งแรก
แต่ไม่มีผลต่อเชื้อหรือแอนติเจนที่ร่างกายมี memory
อยู่หรือเคยเจอมาก่อนแล้ว
21. ควรจะต้องหยุดการรักษาหรือการให้ยาที่มีผลกดภูมิคุ้มกันนานแค่ไหน
ก่อนที่จะกระตุ้นวัคซีนซ้ำในสัตว์เลี้ยงได้
ตอบ: ต้องเว้นหรือหยุดยาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนกระตุ้นวัคซีน
22. ควรจะทำวัคซีนในสุนัขที่ติดเชื้อ Ehrlichiacanis หรือไม่
เนื่องจากสัตว์กลุ่มนี้อาจจะอยู่ในภาวะที่ภูมิคุ้มกันถูกกด
ตอบ: ยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าสัตว์ที่ติดเชื้อ E. canis
จะไม่ตอบสนองต่อการทำวัคซีน แต่ทางที่ดีที่สุดคือ
สุนัขควรได้รับการรักษาที่จำเป็นก่อน แล้วหลังจากที่สัตว์ดีขึ้น
หรือหายดีแล้ว หรือหยุดการให้ยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน
ค่อยทำวัคซีนที่จำเป็น
23. เราควรจะฉีดวัคซีนซ้ำทุกสัปดาห์หรือไม่
ถ้าสัตว์อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรค
ตอบ: ไม่ควรฉีดวัคซีนบ่อยกว่าทุก 2 สัปดาห์
ไม่ว่าจะเป็นการให้วัคซีนชนิดเดิมซ้ำ หรือเป็นวัคซีนต่างชนิดกัน
24. ควรให้วัคซีนเข็มสุดท้ายในลูกสุนัขหรือลูกแมวที่อายุเท่าไหร่
ตอบ: เข็มสุดท้ายของวัคซีนปีแรกควรจบที่อายุตั้งแต่ 16 สัปดาห์ขึ้นไป{" "}
25. ทำไม VGG ถึงไม่แนะนำให้เริ่มวัคซีนพิษสุนัขบ้าจนกว่าสัตว์จะอายุครบ 12
สัปดาห์
ตอบ:
เพราะปัจจุบันวัคซีนพิษสุนัขบ้าที่ได้รับการรับรองและได้รับการจดทะเบียนส่วนใหญ่จะให้เริ่มที่
12 สัปดาห์ มีบางชนิดที่ให้เริ่มที่เร็วกว่านั้นได้
แต่อย่างไรก็แนะนำให้กระตุ้นซ้ำที่ 12 สัปดาห์อีกครั้ง
โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการจัดโครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนทั่วพื้นที่
ที่ต้องฉีดวัคซีนให้ได้จำนวนมากที่สุด สุนัขที่อายุน้อยกว่า 12
สัปดาห์อาจถูกนำมาฉีดด้วย
ซึ่งสัตว์กลุ่มนี้ควรได้รับการฉีดกระตุ้นซ้ำอีกครั้ง
26. เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะให้วัคซีนเชื้อตายก่อน
พอเว้นไปซักระยะค่อยกระตุ้นด้วยการให้วัคซีนเชื้อเป็นเพื่อป้องกันโรคเดียวกัน
ตอบ: ไม่ควร
เนื่องจากวัคซีนเชื้อตายจะกระตุ้นการสร้างแอนติบอดีขึ้นมายับยั้งแอนติเจนของเชื้อ
ทำให้ไปยับยั้งเชื้อเป็นในวัคซีนด้วย
ส่งผลให้วัคซีนเชื้อเป็นกระตุ้นภูมิคุ้มกันไม่ได้หรือไม่มีประสิทธิภาพ
ดังนั้นควรจะให้วัคซีนเชื้อเป็นก่อนในเข็มแรก
และถ้าจำเป็นหรือไม่มีทางเลือก
ค่อยพิจารณากระตุ้นภูมิซ้ำด้วยการให้วัคซีนเชื้อตาย
27. เป็นไปได้หรือไม่ที่ให้จะวัคซีนเชื้อเป็น Bordetella แบบหยดจมูก
โดยการฉีดให้สัตว์แทน
ตอบ: ไม่ได้ เพราะการให้วัคซีนผิดช่องทาง
จะกระตุ้นให้เกิดการแพ้แบบรุนแรงที่เป็น severe local reaction
หรือในกรณีที่สัตว์แพ้รุนแรงอาจนำไปสู่โรคอื่นๆ
และเป็นสาเหตุให้สัตว์เสียชีวิตได้ เช่น โรคตับวาย
28. ถ้าสัตว์จามหลังจากให้วัคซีนแบบหยดจมูก
จำเป็นจะต้องให้วัคซีนซ้ำหรือไม่
ตอบ: ไม่จำเป็น เพราะการให้วัคซีนแบบหยดจมูกสามารถกระตุ้นให้เกิดการจาม
และทำให้สูญเสียวัคซีนส่วนหนึ่งได้เป็นปกติอยู่แล้ว
ซึ่งผู้ผลิตได้คำนึงถึงเหตุการณ์นี้ไว้อยู่แล้ว
วัคซีนประเภทนี้จึงออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานได้ถึงแม้จะสูญเสียวัคซีนไปส่วนหนึ่งจากการจาม
ยกเว้นกรณีที่หยดแล้วไม่เข้าจมูกเลยหรือมีเพียงส่วนน้อยมากๆที่หยดเข้า
อาจจะพิจารณาทำวัคซีนซ้ำ
29. จะสามารถให้วัคซีนต่างยี่ห้อกันในระหว่างทำโปรแกรมวัคซีนได้หรือไม่
ตอบ: สามารถให้ได้ แต่ห้ามนำวัคซีนที่มี strains
ต่างกันมาผสมกันในช่วงการทำวัคซีนปีแรก (เช่น FCV หรือ Leptospira
serogroups)
30. ควรจะทำวัคซีนในแมวที่ติดเชื้อ FeLV หรือ FIV หรือไม่
ตอบ: ถ้าสัตว์ยังอยู่ระยะแสดงอาการของโรคอยู่
จะแนะนำให้แยกเลี้ยงเพื่อป้องกันติดเชื้ออื่นแทรกซ้อน
และป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ FeLV/FIV ไปสู่แมวตัวอื่น
ผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความเห็นตรงกันว่า
ควรทำวัคซีนหลักในแมวกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน
แต่แนะนำให้ใช้วัคซีนเชื้อตายหรือวัคซีนชนิดรีคอมบิแนนท์
แทนการใช้วัคซีนเชื้อเป็น
เอกสารอ้างอิง
1. Day, M.J. and et al. (2016). WSAVA vaccination guidelines for the dog
and the cats. JSAP57(1):E1-E45
2. Harris County Veterinary Public Health (VPH), E2020, ‘Rabies
Post-Exposure Prophylaxis (PEP) Guide for Animals; Harris County Pet,
p.1, accessed April 2023 from publichealth.harriscountytx.gov.