ความเจ็บปวดสามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ ความเจ็บปวดแบบเฉียบพลัน และความเจ็บปวดแบบเรื้อรัง การจัดการกับความเจ็บปวดแบบเฉียบพลันสามารถทำได้โดยการที่สัตวแพทย์ต้องหาที่มาของความเจ็บปวดนั้น และทำการจัดการก่อนจะเกิดขึ้นรวมไปถึงมีการประเมินความเจ็บปวดซ้ำ ๆ เพื่อลดให้เกิดความเจ็บปวดน้อยที่สุด ในส่วนของการเจ็บปวดแบบเรื้อรังสามารถเริ่มต้นโดยการสื่อสารกับเจ้าของเกี่ยวกับความเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรังและความเจ็บปวดที่จะเกิดขึ้นตามมาจากโรคนั้น รวมไปถึงการบอกเล่าเกี่ยวกับอุบัติการณ์ที่เพิ่มขึ้นจากความเจ็บปวดเรื้อรังในสัตว์และลักษณะท่าทางรวมถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของสัตว์ที่แสดงออกถึงความรู้สึกเจ็บปวดที่อาจเกิดขึ้น โดยเปรียบเทียบระหว่างความเจ็บปวดเรื้อรังและแบบเฉียบพลันแล้ว การประเมินความเจ็บปวดชนิดเฉียบพลันสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าทั้งในสัตวแพทย์และเจ้าของสัตว์
เป้าหมายหลักของการจัดการกับความเจ็บปวดคือการลดความเจ็บปวดให้อยู่ในระดับที่สัตว์สามารถทนต่อความเจ็บปวดนั้นได้โดยไม่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของสัตว์หรือลดคุณภาพชีวิตของสัตว์ หลักการโดยพื้นฐานสำหรับการจัดการกับความเจ็บปวดในสัตว์ได้แก่ ป้องกันการเกิดความเจ็บปวดโดยการใช้ยาบรรเทาอาการปวด หาที่มาของความเจ็บปวด ใช้วิธีบรรเทาอาการปวดในหลากหลายรูปแบบ และประเมินอาการเจ็บปวดของสัตว์หลังได้รับการบรรเทาอาการปวด การจัดการกับความเจ็บปวดแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือ 1. การจัดการกับความเจ็บปวดโดยการใช้ยา 2. การจัดการกับความเจ็บปวดโดยไม่ใช้ยา
การจัดการกับความเจ็บปวดโดยการใช้ยา โดยส่วนมากแล้วมักใช้ยาในกลุ่ม opioid ซึ่งมีกลไกการออกฤทธิ์เพื่อลดการส่งสารกระตุ้นระบบประสาท เกิดการอัมพาตที่จุดส่งกระแสประสาท และยับยั้งการเจ็บปวด ตัวอย่างการใช้ยา เช่น การให้ยา buprenorphine  ในแมวใต้ผิวหนังทุก 24 ชั่วโมง และยังมีการใช้ในสุนัขได้อีกด้วย โดยผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการใช้ยาในแมวคืออุณหภูมิร่างกายอาจสูงขึ้น แต่สามารถจัดการได้หากมีการติดตามอาการและปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม นอกจากยาในกลุ่ม opioid แล้วยังมีการใช้ยาในกลุ่ม Non-steroidal antiinflammatory drugs (NSAIDs) ซึ่งมีกลไกการออกฤทธิ์เพื่อยับยั้งการเกิด prostaglandins และ leukotrienes จาก arachidonic acid โดยเอนไซม์ cyclooxygenase (COX) ตัวยาที่ได้รับการรับรองให้ใช้ได้แก่  meloxicam ซึ่งมีทั้งในรูปแบบการกินและการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ตัวยามีค่าครึ่งชีวิตอยู่ที่ 24 ชั่วโมง ดังนั้นจึงสามารถให้ยาได้วันละครั้ง ตัวยาสามารถขับทิ้งได้ทางอุจจาระ 75% และทางปัสสาวะ 25% ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าส่งผลต่อความเป็นพิษที่ไตน้อยมาก ปริมาณยาที่ควรได้รับอยู่ที่ 0.1 mg/kg ต่อวันทางการกิน หลังจากนั้นปรับเป็น 0.05 mg/kg ทุก 24 ชั่วโมง หรือให้ในรูปแบบยาฉีดขนาด 0.3 mg/kg ใต้ผิวหนังเพียง 1 ครั้ง หรือให้ในขนาด 0.2 mg/kg ใต้ผิวหนังภายในวันแรก หลังจากนั้นจึงปรับเป็นขนาด 0.05 mg/kg ในรูปแบบการกิน วันละครั้ง ใน 4 วันถัดไป ยาอื่น ๆ ในกลุ่ม NSAIDs ได้แก่  robenacoxib ในรูปแบบยาฉีดใต้ผิวหนังในขนาด 2 mg/kg วันละครั้ง ประมาณ 3 วัน หรือ ให้ในรูปแบบการกินในขนาด 1 mg/kg วันละครั้งประมาณ 6 วัน และ  carprofen ซึ่งมักใช้ในสุนัขมากกว่าแมว ปริมาณที่แนะนำอยู่ที่ 4 mg/kg วันละครั้ง ทั้งรูปแบบยากินและยาฉีด อย่างไรก็ตามการใช้ยาในกลุ่ม NSAIDs เพื่อจัดการกับความเจ็บปวดในระยะยาวยังไม่ได้รับความนิยมเนื่องจากผลข้างเคียงของการใช้ยา ได้แก่ การเกิดการระคายเคืองที่กระเพาะอาหาร การสูญเสียโปรตีนทางลำไส้ และพิษต่อไต เมื่อได้รับยาเกินขนาดที่แนะนำ หรือเมื่อมีการให้ยาในกลุ่มนี้ร่วมกับยาในกลุ่ม corticosteroid โดยมักแสดงอาการเบื่ออาหาร อาเจียน ท้องเสีย ซึม ในระยะเริ่มต้น และควรหยุดการรักษาเมื่อมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นกับสัตว์ป่วย นอกจากการให้ยาเพื่อลดความเจ็บปวดทาง systemic โดยการใช้ opioid และ NSAIDs แล้ว ยังมีการระงับความเจ็บปวดเฉพาะจุดโดยการใช้ยา  bupivacaine  ซึ่งมักใช้หลังจากผ่าตัดโดยการฉีดยาเข้าที่บริเวณแผลเพื่อระงับความเจ็บปวดยาวนานถึง 3 วัน และมีการใช้ยาระงับความเจ็บปวดเฉพาะจุดอื่น ๆ อีก เช่น  dexmedetomidine, lidocaine, ropivacaine   ซึ่งมีกลไกการออกฤทธิ์คล้ายกับ bupivacaine แต่มีความปลอดภัยค่อนข้างสูงกว่า นอกจากนี้ยังมีการใช้ยา  gabapentin  เพื่อจัดการกับความเจ็บปวดชนิดเรื้อรัง แต่ยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนว่าการใช้ยาตัวนี้จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดชนิดเรื้อรังในสุนัขได้ แต่สามารถช่วยได้ในกรณีที่พบว่าแมวมีการเจ็บปวดเรื้อรังจากการเกิดข้ออักเสบเมื่อายุเพิ่มมากขึ้น ยามีฤทธิ์ทำให้เกิดการง่วงซึม ทำให้แมวเคลื่อนไหวได้ลดลง นอกจากนี้ยังมีผลคลายความเครียดในแมว
การจัดการกับความเจ็บปวดโดยไม่ใช้ยามีผลสนับสนุนการจัดการกับความเจ็บปวดโดยการใช้ยาและการจัดการกับความเจ็บปวดเรื้อรัง เพื่อบำรุงรักษาร่างกายให้อยู่ในรูปแบบที่เหมาะสม ได้แก่ การควบคุมน้ำหนัก เนื่องจาก adipose tissue จะหลั่งสารที่เป็นส่วนผสมของ cytokine ที่ส่งไปทั่วร่างกายผ่านทางกระแสเลือด มีการศึกษาพบว่า lean body condition score มีผลลดอัตราการเพิ่มขึ้นของการเกิดข้ออักเสบเรื้อรัง และเพิ่มระยะเวลาในการมีชีวิต นอกจากการควบคุมน้ำหนักแล้วยังมีเรื่องของการให้อาหารเสริมบำรุงต่าง ๆ (โภชนเภสัช หรือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) โดยพบว่าในกรณีของการเกิดข้ออักเสบเรื้อรังมักมีการให้โภชนเภสัชในรูปของกรดไขมันโอเมก้า 3 ในสุนัขกันค่อนข้างแพร่หลาย การจัดการกับความเจ็บปวดโดยไม่ใช้ยายังมีอีกหลากหลายวิธี อาทิ การทำกายภาพบำบัด เช่นกรณีที่สุนัขมีภาวะข้ออักเสบจะเน้นการออกกำลังกายเฉพาะจุดนั้น ๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในการขยับข้อต่อ (พิสัยข้อ) เสริมสร้างกล้ามเนื้อ หรือในกรณีที่มีการบาดเจ็บทางระบบประสาท การออกกำลังกายเฉพาะจุดจะช่วยกระตุ้นการรับรู้ของระบบประสาทมากยิ่งขึ้น การใช้ความเย็นประคบเพื่อลดอาการปวดมักใช้ในกรณีลดปวดแบบเฉียบพลัน โดยความเย็นที่เกิดขึ้นจะช่วยลดการกระตุ้นความเจ็บปวดบริเวณพื้นผิวเนื้อเยื่อและชะลอการส่งสัญญาณระหว่าง Peripheral axon นอกจากนี้ยังลดการบวมของเนื้อเยื่อโดยการทำให้เกิดเส้นเลือดหดตัว ลดการส่งสารสื่ออักเสบมายังเนื้อเยื่อที่ได้รับความเสียหายอีกด้วย การปรับสิ่งแวดล้อมโดยการให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในพื้นที่ที่มีขนาดเหมาะสม มีการวางเบาะนุ่มเพื่อรองรับการนอน มีพื้นที่ให้แมวได้หลบซ่อน ลดเสียงลงเพื่อลดสิ่งกระตุ้นให้สัตว์เกิดความเครียดเป็นต้น
การจัดการกับความเจ็บปวดถือเป็นส่วนประกอบสำคัญในการดูแลสัตว์เลี้ยงด้วยความรักและเอาใจใส่ และเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสัตวแพทย์ เจ้าของ และสัตว์เลี้ยงอีกด้วย เนื่องจากการจัดการกับความเจ็บปวดจำเป็นต้องใช้ความร่วมมือทั้งจากเจ้าของสัตว์และสัตวแพทย์เพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
เอกสารอ้างอิง
1. Gruen M. E., Lascelles X., Duncan B., Colleran E., Johnson J., and Marcellin-Little D. 2022. 2022 AAHA Pain management guidelines for dogs and cats. Veterinary practice guidelines. 58(2): 55-76
2. Jordan D. G., and Ray J. D. 2012. Management of chronic pain in cats. Today’s Veterinary Practice. 77-82.
3. Steagall P. V., Robertson S., Simon B., Warne L. N., Shilo-Benjamini Y., and Taylor S., 2022. 2022 ISFM Consensus guidelines on the management of acute pain in cats. Journal of feline medicine and surgery. 24, 4-30.