สรุปการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ
พยาธิหนอนหัวใจ (Dirofilaria immitis) เป็นพยาธิที่มีความสำคัญ และยังพบได้ในสุนัขประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมีสภาพอากาศร้อนชื้น จึงเหมาะกับการดำรงชีวิตของยุง ซึ่งเป็นแหล่งกักเชื้อ (reservoir of infection) และเป็นพาหะในการส่งผ่าน D. immitis โดยการรับเอา microfilaria มาจากโฮสต์ และ microfilaria จะเจริญอยู่ภายใน Malpighian tubules ของยุง และพัฒนาไปเป็น larva ระยะ 1 (L1), larva ระยะ 2 (L2) จนกระทั่งพัฒนาไปเป็นระยะติดต่อคือ infective third-stage larvae (L3) ซึ่งติดไปยังสุนัขเมื่อยุงกัด ต่อมาตัวอ่อนระยะ L3 จะพัฒนาเป็น L4 ในร่างกายสุนัข และระยะ L4 จะพัฒนาไปเป็นตัวอ่อน โดยจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 50-70 จากนั้นพยาธิจะมีการเคลื่อนย้ายไปทั่วทั้งร่างกาย และสุดท้ายจะไปยังหลอดเลือด pulmonary artery ที่ประมาณ 67 วันหลังจากที่สุนัขได้รับระยะ L3 ส่วนระยะตัวเต็มวัยจะเกิดขึ้นภายในระยะเวลาประมาณ 120 วันหลังจากได้รับเชื้อ และพัฒนาเป็นระยะแพร่เชื้อ คือมีระยะ microfilaria ในกระแสเลือดภายใน 6 เดือนถัดมา หรือจะเกิดขึ้นภายใน 7-9 เดือนหลังจากติดเชื้อเข้าไป โดยพบว่าสุนัขที่เป็นโรคหนอนพยาธิหัวใจจะมีอาการไอ หอบ เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก เมื่อโรคพัฒนาไปจนถึงระยะท้ายแล้วอาจพบว่ามีอาการของภาวะหัวใจล้มเหลว เช่น มีของเหลวสะสมในช่องท้อง มีเสียงหัวใจเป็นเสียง murmur เป็นต้น สำหรับสุนัขที่สงสัยว่าเป็นโรคพยาธิหัวใจ อาจพบอาการเบื้องต้นคือไอแห้งแบบเรื้อรัง อย่างไรก็ตามสุนัขส่วนใหญ่อาจไม่แสดงอาการใด ๆ เลยก็ได้
เป้าหมายของการรักษาพยาธิหนอนหัวใจ คือการทำให้สุนัขมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยควบคุมความรุนแรงของอาการผิดปกติ และลดปัญหาแทรกซ้อนระหว่างการรักษา ในสุนัขที่ยืนยันว่าติดพยาธิหนอนหัวใจ การรักษาจะเริ่มที่การให้ยาในกลุ่ม macrocyclic lactones ร่วมกับ doxycycline ก่อนเพื่อกำจัดพยาธิตัวอ่อนและกำจัด Wolbachia หลังจากนั้นให้เว้น 1 เดือน แล้วจึงเริ่มทำ 3-dose protocol เพื่อกำจัดตัวเต็มวัยของพยาธิหนอนหัวใจ โดยการให้ melarsomine จากนั้นเว้น 1 เดือน แล้วจึงฉีดอีก 2 ครั้งห่างกัน 24 ชั่วโมง ด้วยวิธีการนี้จะทำให้ตัวเต็มวัยของพยาธิหนอนหัวใจค่อย ๆ ตายอย่างช้า ๆ และลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนในการรักษา เช่น Caval syndrome
เนื่องจากการรักษาพยาธิหนอนหัวใจนั้นทำได้ยาก และมีผลข้างเคียงต่อสุนัขค่อนข้างมาก ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับสุนัขเพื่อไม่ให้ติดโรคพยาธิหัวใจคือ การป้องกันไม่ให้สุนัขถูกยุงกัดและการกำจัดยุงพาหะนำโรค แต่อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าประเทศไทยเป็นประเทศในเขตร้อนชื้น การควบคุมหรือกำจัดยุงทำได้ยาก ดังนั้นวิธีที่เหมาะสมและสะดวกสำหรับเจ้าของสัตว์คือการให้ยาป้องกันพยาธิหัวใจอย่างสม่ำเสมอ โดยปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่ FDA รับรองให้ใช้ในการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจในสุนัข คือ ยาในกลุ่ม Macrocyclic lactones ได้แก่ ivermectin, milbemycin oxime, moxidectin และ selamectin โดยยามีประสิทธิภาพในการกำจัด microfilaria และ larval state L3 – L4 ของพยาธิหัวใจ และค่อนข้างปลอดภัยในทางสัตวแพทย์ โดยเฉพาะ Milbemycin oxime ที่ถือเป็นตัวยาที่น่าสนใจ เพราะนอกจากฤทธิ์ในการกำจัดหนอนหัวใจแล้ว ยังสามารถป้องกันและกำจัดพยาธิในทางเดินอาหาร เช่น roundworm, hookworm และ whipworm ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ Macrocyclic lactones บางผลิตภัณฑ์อาจผสมยาในกลุ่มอื่น ๆ เข้าไป เช่น Afoxolaner เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมปรสิตภายนอก เช่น เห็บ หมัด ไรในหู ไรขี้เรื้อนแห้ง และไรขี้เรื้อนเปียก อีกด้วย โดยสุนัขสามารถเริ่มป้องกันพยาธิหนอนหัวใจได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือนขึ้นไป และควรให้ยาอย่างต่อเนื่องทุกรอบการป้องกันของตัวผลิตภัณฑ์
อย่างไรก็ตามก่อนการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจครั้งแรกนั้น สัตวแพทย์ควรทำการตรวจสุขภาพทั่วไปของสุนัข ร่วมกับการตรวจหาพยาธิหนอนหัวใจด้วยการตรวจหาแอนติเจน และตรวจหาไมโครฟิลาเรีย ถ้าได้ผลเป็นบวกจำเป็นต้องทำการรักษาก่อนเริ่มเข้าโปรแกรมการป้องกันทุกครั้ง นอกจากนี้ยังควรแนะนำให้เจ้าของพาสุนัขมาตรวจสุขภาพ และตรวจพยาธิหนอนหัวใจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และที่สำคัญควรแนะนำให้มีการป้องกันยุง ซึ่งเป็นพาหะนำโรคสำคัญของพยาธิหนอนหัวใจ โดยควรป้องกันทั้งบนตัวสุนัขและในสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ
เอกสารอ้างอิง
Nelson T., McCall JW., Jones S., and Moorhead A. 2020. Highlights of the current canine guidelines for the prevent, diagnosis, and management of heartworm (Dirofilaria immitis) infection in dogs. American Heartworm Society. 1-6.
Lebon W, Beccati M, Bourdeau P, et al. Efficacy of two formulations of afoxolaner (NexGard® and NexGard Spectra®) for the treatment of generalised demodicosis in dogs, in veterinary dermatology referral centers in Europe. Parasites & Vectors volume. 2018.11(506): 1-10.