โรคติดเชื้อเป็นปัญหาสุขภาพสัตว์เลี้ยงที่สำคัญ โดยเฉพาะสำหรับสัตว์ที่อายุน้อย เนื่องจากร่างกายและระบบภายในร่างกายยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันด้วย ทำให้มีโอกาสสูงมากที่จะยังไม่มีภูมิคุ้มกันสำหรับต่อสู้กับเชื้อก่อโรในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีอุณหภูมิ ความชื้น ระบบสาธารณสุข และระบบการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อในสัตว์ที่ประชาชนอาจยังไม่ให้ความเชื่อมั่นอย่างเต็มที่มากนัก หากได้รับเชื้อมา อาจทำให้เกิดความเจ็บป่วยที่รุนแรงจนถึงชีวิตขึ้นมาได้ การทำวัคซีนจึงเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อ ลดความรุนแรงของอาการเจ็บป่วย และควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อที่สัตวแพทย์จำเป็นต้องให้ความสำคัญ
วัคซีนที่สัตวแพทย์ต้องให้ความสำคัญสำหรับการป้องกันโรคในสุนัขมีหลายตัว ทั้งไวรัสและแบคทีเรีย ซึ่งผู้ผลิตวัคซีนแต่ละรายก็จะใช้แทคโนโลยีที่แตกต่างกันออกไป ทำให้วัคซีนแต่ละตัวอาจให้ผลลัพธ์ในการป้องกันโรคหรือวิธีการบริหารยา (route) การให้ที่ไม่เหมือนกัน โดย World Small Animal Veterinary Association (WSAVA) หรือสมาคมสัตวแพทย์สัตว์เล็กโลก ได้มีการจัดประชุมและได้ออก guideline ในการให้วัคซีนสำหรับสุนัขให้สัตวแพทย์ทั่วโลกสามารถใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาการให้วัคซีนกับสุนัข หรือให้หน่วยงานทางสัตวแพทย์ของพื้นที่อื่นใช้ยึดเป็นหลักการในการออก guideline ของตัวเองได้ด้วยเช่นกัน โดย guideline ของ WSAVA ถือเป็นคำแนะนำสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว (developed country) guideline ของประเทศอื่นๆ อาจแตกต่างจากคำแนะนำของ WSAVA ได้ เนื่องด้วยความแตกต่างของรายงานการพบโรคและการระบาดในพื้นที่นั้นๆ โดยเฉพาะโรคพิษสุนัขบ้า สำหรับประเทศไทย หน่วยงานที่คอยออก guideline สำหรับสัตวแพทย์สัตว์เล็กก็คือ สมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย (The Veterinary Practitioner Association of Thailand; VPAT) นั่นเอง
คณะ WSAVA Vaccination Guidelines Group (VGG) ได้มีการรวบรวมการศึกษาเกี่ยวกับวัคซีนต่างๆ มาวิเคราะห์และถกถาม และได้มีการจัดทำ guideline วัคซีนสำหรับสุนัขและแมว ฉบับ update ล่าสุดในปี ค.ศ. 2016 ซึ่งสามารถเข้าไปศึกษาเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7166872/ โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับวัคซีนสำหรับสุนัขที่สัตวแพทย์ควรให้ความสนใจดังต่อไปนี้
การแบ่งประเภทของวัคซีน
วัคซีนจะแบ่งออกเป็น core vaccine, non-core vaccine และ not recommended vaccine โดยที่
วัคซีนหลัก (core vaccines) หมายถึง วัคซีนที่สุนัขทุกตัวในทุกพื้นที่ของโลกใบนี้ควรได้รับเพื่อป้องกันการติดเชื้อและการเสียชีวิต โดยวัคซีนหลักสำหรับสุนัข (ของ WSAVA guideline) ประกอบด้วย วัคซีนต่อเชื้อไวรัส ไข้หัดสุนัข (canine distemper virus; CDV) เชื้อ อะดิโนไวรัสในสุนัข (canine adenovirus; CAV) และเชื้อพาร์โวไวรัส (canine parvovirus-2; CPV-2) และสำหรับประเทศที่ยังมีการรายงานการพบโรคพิษสุนัขบ้า ก็ควรจะจัดให้วัคซีนต่อเชื้อพิษสุนัขบ้าอยู่ในวัคซีนหลักด้วยเช่นกัน
วัคซีนทางเลือก (non-core vaccine) หมายถึง วัคซีนที่จำเป็นสำหรับสุนัขในบางพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคบางชนิด
วัคซีนที่ไม่แนะนำ (not recommended) หมายถึง วัคซีนที่ยังมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ไม่เพียงพอที่สามารถบ่งบอกประสิทธิภาพในการป้องกันโรคหรือบรรเทาความรุนแรงของการติดเชื้อลงได้
Maternally derived antibody (MDA)
ภูมิที่ได้รับจากแม่เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่รบกวนการทำงานของวัคซีนหลั ที่ให้กับสุนัขอายุน้อย ซึ่ง maternally derived antibody (MDA) ในสัตว์แต่ละตัวก็มีระยะเวลาที่แตกต่างกันออกไป ทำให้ทางคณะกรรมการ VGG มองว่า โปรแกรมวัคซีนสำหรับลูกสุนัขควรเริ่มต้นที่อายุ 6-8 สัปดาห์ และทำต่อเนื่องไปจนกว่าสุนัขจะอายุอย่างน้อย 16 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น โดยอาจพิจารณาให้วัคซีนเข็มกระตุ้น เมื่อสุนัขอายุ 6 เดือน หรือ 12 เดือนอีกครั้ง (หากมีความเป็นไปได้ว่าสุนัขยังไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันจากโปรแกรมวัคซีนสำหรับลูกสุนัข) สำหรับกรณีที่สุนัขอาจมีโอกาสได้รับวัคซีนเพียงครั้งเดียวตลอดชีวิต ให้พิจารณาให้วัคซีนเมื่อสุนัขอายุอย่างน้อย 16 สัปดาห์ขึ้นไป
วัคซีนสำหรับสุนัขโตเต็มวัย
เมื่อสุนัขโตเต็มวัยแล้ว สัตวแพทย์มักนัดให้เจ้าของสัตว์มาทำวัคซีนเข็มกระตุ้นอีกครั้งในปีถัดมา แต่ว่าจริง ๆ แล้ว สัตว์ไม่ควรได้รับวัคซีนมากจนเกินความจำเป็น โดยไม่ควรให้วัคซีนหลัก (core vaccine) แบบ modified live vaccine (MLV) บ่อยกว่า 3 ปีครั้ง เนื่องจากมีหลายการศึกษาที่พบว่า วัคซีนหลัก หลายชนิดนั้นมี duration of immunity (DOI) ที่คงอยู่ได้ยาวนานหลายปี หรืออาจให้ผลลัพธ์ในการป้องกันโรคได้จนชั่วชีวิตของสุนัข โดยคำแนะนำนี้เป็นคำแนะนำสำหรับวัคซีนหลัก เท่านั้น
วัคซีนหลัก (core vaccine) สำหรับ World Small Animal Veterinary Association (WSAVA)
อย่างที่กล่าวถึงไปก่อนหน้าแล้วว่า ทางคณะกรรมการ WSAVA Vaccination Guidelines Group (VGG) พิจารณาว่า วัคซีนหลัก (core vaccine) สำหรับสุนัข คือวัคซีนที่สุนัขทุกตัวจำเป็นต้องได้รับ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้ก็ตาม โดยจะต้องให้ตามระยะเวลา และมีการเว้นช่วงอย่างเหมาะสม เพื่อให้สุนัขสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคติดเชื้อที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ โดยวัคซีนหลักจะประกอบไปด้วย วัคซีนต่อเชื้อไวรัสไข้หัดสุนัข (canine distemper virus; CDV) เชื้ออะดิโนไวรัสในสุนัข (canine adenovirus; CAV) และเชื้อพาร์โวไวรัส (canine parvovirus-2; CPV-2)
วัคซีนพิษสุนัขบ้า (rabies)
สำหรับประเทศที่ยังพบการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ทางคณะกรรมการ WSAVA VGG ระบุว่าสัตวแพทย์ควรให้ข้อมูลและสนับสนุนให้เจ้าของสัตว์พาสัตว์เลี้ยง (ที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) มารับวัคซีนตามระยะเวลาที่เหมาะสม แม้จะไม่ได้มีข้อกำหนดทางกฎหมายกำกับก็ตาม โดยวัคซีนเชื้อตายสำหรับโรคพิษสุนัขบ้านั้นมีการกระจายอย่างทั่วถึงในหลายพื้นที่ทั่วโลก ส่วนใหญ่มักขึ้นทะเบียนโดยกำหนด duration of immunity (DOI) ไว้ที่ 1 ปี แม้ว่าจะมีรายงานการป้องกันโรคที่ยาวกว่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดดังกล่าวอาจทำได้ไม่ง่ายนัก อย่างไรก็ตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการเรียกร้องให้เกิดการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขให้สอดคล้องกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นปัจจุบันในที่สุด
Early socialization ช่วงเวลาสำคัญของชีวิต ที่ลูกสุนัขควรได้เรียนรู้บทเรียนสำคัญ
ลูกสุนัขจะมีช่วงเวลาที่จะเรียนรู้บทเรียนสำคัญและมุมมองต่อโลกที่จะติดตัวไปกับสุนัขจนตลอดชีวิต ซึ่งก็คือ socialization period ตอนอายุประมาณ 3-14 สัปดาห์ ซึ่งจะส่งผลกับพฤติกรรมของสุนัขเป็นอย่างมาก โดยบางที่จะมี puppy class ให้เจ้าของลูกสุนัขได้พาสุนัขมาเรียนรู้การเข้าสังคมอย่างเหมาะสม ดังนั้น การทำวัคซีนในลูกสุนัขก่อนเข้าร่วมกิจกรรม puppy class เพื่อลดการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อลูกสุนัขจึงเป็นสิ่งจำเป็น
การฉีดวัคซีนตอนอายุ 6 เดือนหรือ 1 ปี
สัตวแพทย์อาจเคยเห็นโปรแกรมวัคซีนที่มีการทำวัคซีนเข็มกระตุ้นตอนสุนัขอายุ 26 และ 52 สัปดาห์ (6 เดือน หรือ 1 ปี) สำหรับกรณีนี้ทางคณะกรรมการ VGG ให้ความเห็นว่า สามารถทำได้ หากสัตวแพทย์พิจารณาว่า สุนัขยังไม่ได้มีการสร้างภูมิคุ้มกันจากการให้ตามโปรแกรมวัคซีนในช่วงก่อนหน้านี้ (สำหรับกรณีทั่วไปแล้ว หากสุนัขได้รับวัคซีนครบถ้วนตามโปรแกรมวัคซีน ไม่จำเป็นต้องทำวัคซีนเข็มกระตุ้นอีกจนกว่าจะครบกำหนดในอีก 3 ปีข้างหน้า) หลังจากวัคซีนเข็ม 26 หรือ 52 สัปดาห์แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องทำวัคซีนกระตุ้นซ้ำไปจนถึงกำหนดอีก 3 ปีหรือนานกว่านั้น อย่างไรก็ตาม คำแนะนำนี้ไม่ใช่สำหรับวัคซีนเชื้อตาย วัคซีนรอง และวัคซีนสำหรับเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงวัคซีนหลักที่ไม่ใช่ modified live vaccine (MLV)
การตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกัน
การให้วัคซีนกับสุนัขบ่อยจนเกินความจำเป็น อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของสุนัขได้ ทำให้คณะกรรมการ WSAVA Vaccination Guidelines Group (VGG) มองว่า การตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันหลังการทำวัคซีนนั้นเป็นผลดีต่อสุนัขรายตัว รวมถึงการควบคุมการระบาดในสถานพักพิง (shelter) ด้วย โดยสำหรับในสุนัขจะมีชุดทดสอบที่สามารถทำในสถานพยาบาลได้สำหรับโรค CDV CAV และ CPV-2 แต่ค่าใช้จ่ายในการตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันนั้นอาจสูงกว่าการทำวัคซีนในหลาย ๆ พื้นที่อยู่
สำหรับผลการตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกัน การที่ชุดตรวจแสดงผลเป็นลบอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ และอาจไม่ได้หมายความว่าสุนัขมีระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคดังกล่าวไม่เพียงพอ แต่ถ้าชุดตรวจแสดงผลเป็นบวก จะเป็นการยืนยันว่า สุนัขไม่จำเป็นต้องรับวัคซีนต่อเชื้อนั้นเพิ่มเติม ณ เวลานี้
สำหรับการตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันสำหรับโรคพิษสุนัขบ้า มักไม่ได้ทำเพื่อพิจารณาการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น แต่มักทำเพื่อปฏิบัติข้อกำหนดในการเคลื่อนย้ายสัตว์ไปต่างประเทศมากกว่า
การนัดพบสัตวแพทย์อย่างสม่ำเสมอยังคงเป็นสิ่งจำเป็น
อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการ WSAVAVGG ยังคงสนับสนุนให้นัดเจ้าของและสุนัขให้มาพบสัตวแพทย์เป็นประจำทุกปีเช่นเดิม แต่เพื่อตรวจสุขภาพประจำปีและตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนหลัก (ที่มีชุดตรวจ) แทน ส่วนการพิจารณาการทำวัคซีนสำหรับวัคซีนรองยังคงเป็นปีละครั้งเหมือนเดิม เพราะวัคซีนรองส่วนมากจะมี duration of immunity (DOI) อยู่ที่ประมาณ 1 ปี
เอกสารกำกับ และกฎหมายที่ควบคุม
แม้ว่าจะมีการศึกษาว่าวัคซีนหลักหลายตัวมี duration of immunity (DOI) ในการป้องกันโรคได้นานประมาณ 3 ปี ซึ่งการศึกษาดังกล่าวนี้อาจมีการเก็บข้อมูลภายหลังจากได้มีการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ไปแล้ว และเงื่อนไขในการปรับเปลี่ยนรายละเอียดของการใช้ยาหรือวัคซีนต่าง ๆ ภายหลังการขึ้นทะเบียนของแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกันออกไป บางพื้นที่อาจมีขั้นตอนที่ยุ่งยากจนทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนข้อกำหนดดังกล่าวนี้ได้ แต่สัตวแพทย์ควรยึดตามหลักวิชาการและพิจารณาการฉีดวัคซีนให้สุนัขแต่ละตัวอย่างเหมาะสม
การทำวัคซีนสำหรับสถานพักพิงสัตว์ (shelter)
คณะกรรมการ WSAVA VGG แนะนำให้มีการฉีดวัคซีนหลัก (core vaccine) ก่อนการรับสัตว์เข้ามา ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตามกำหนด และอาจพิจารณาวัคซีนรอง ที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย
สำหรับลูกสุนัข สามารถเริ่มทำวัคซีนหลัก ให้สุนัขในสถานพักพิงสัตว์ได้ตั้งแต่อายุ 4-6 สัปดาห์ จากนั้นเว้นทุก 2 สัปดาห์จนกว่าจะอายุครบ 20 สัปดาห์
สำหรับสุนัขโตที่มีประวัติวัคซีนที่ชัดเจนอาจไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนหลัก (core vaccine) เพิ่มเติมตอนแรกเข้าก็ได้
Passive Immunization
Passive immunization คือการได้รับแอนติบอดี จากแหล่งอื่น ต่างจากการทำงานของการทำวัคซีนที่ไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี เพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค ทางคณะกรรมการ WSAVAVGG มองว่าการใช้ passive immunization นั้นทำได้ แต่ต้องทำอย่างถูกต้องและมีการเฝ้าระวังอาการที่สามารถเกิดตามมาอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ serum ที่มี antibody นี้มักจะได้มาจากเลือดของสัตว์ตัวอื่นใน shelter ที่เคยรอดมาก่อน ซึ่งอาจจะไม่ได้ปลอดจากเชื้อโรคอื่น ๆ ก็ได้ รวมถึงการศึกษาที่มีในปัจจุบันยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าการใช้ immune serum จะให้ประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาดได้ดีกว่าวิธีอื่นๆ อย่างการฉีดวัคซีนปูพรม
ไม่มีโปรแกรมวัคซีนใดที่จะสมบูรณ์แบบ ที่สามารถปกป้องสุนัขจากโรครุนแรงในทุก ๆ สถานการณ์ ในทุก ๆ พื้นที่ของโลกนี้ได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของแต่ประเทศจำเป็นจะต้องมี guideline ที่ยึดตามการระบาดของโรคในพื้นที่นั้น ๆ สำหรับประเทศไทย สมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย (The Veterinary Practitioner Association of Thailand; VPAT) ได้ออก guideline ที่ update ล่าสุดเมื่อปี 2019 โดยสามารถเข้าไปศึกษาได้ที่ https://www.vpatthailand.org/practice-guideline/vaccination-guidelines สุนัขควรได้รับวัคซีนเข็มแรกเมื่ออายุ 6-8 สัปดาห์ จากนั้นกระตุ้นทุก 2-4 สัปดาห์จนกระทั้งสุนัขอายุได้ 16 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น นอกจากการป้องกันโรคสำหรับสัตว์เลี้ยงรายตัว สัตวแพทย์ต้องคำนึงถึงมุมมองด้าน herd immunity เพื่อลดการระบาดและแหล่งเพาะเชื้อโรคในพื้นที่ร่วมด้วย โดยเฉพาะโรคที่สามารถติดต่อสู่คนและเป็นอันตรายถึงชีวิตอย่างโรคพิษสุนัขบ้า โดยสัตว์ทุกตัวควรได้รับวัคซีนหลัก เพื่อปกป้องและลดความรุนแรงของการติดโรคติดเชื้อ และไม่ควรให้วัคซีนรอง (non-core vaccine) บ่อยเกินความจำเป็น
อ้างอิงข้อมูล
Day, M. J., Horzinek, M. C., Schultz, R. D., & Squires, R. A. (2016). WSAVA guidelines for the vaccination of dogs and cats. Journal of Small Animal Practice, 57(1).