แมวเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมและเป็นคนไข้หลักๆ
ของสัตวแพทย์สัตวเล็ก ทั้งแมวจร อดีตแมวจร และแมวสายพันธุ์ที่มีราคา
โดยแมวแต่ละตัวอาจมีปัญหาสุขภาพประจำพันธุ์ที่แตกต่างกันออกไป
แต่ทุกตัวต่างมีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อ
โดยเฉพาะแมววัยเด็กที่ระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่สมบูรณ์
หากติดเชื้อโรคติดต่อในวันที่ยังไม่มีภูมิต่อโรคนั้นๆ
อาจทำให้เกิดอันตรายจนถึงชีวิตได้
ซึ่งการทำวัคซีนก็จะเป็นการติดอาวุธที่สำคัญที่ข่วยเตรียมความพร้อมให้กับแมวก่อนจะไปพบเชื้อโรค
ไม่ว่าจะมีวิถีชีวิตหรือ lifestyle แบบใดก็ตาม
วัคซีนในแมวมีให้สัตวแพทย์สามารถเลือกใช้ได้หลากหลายยี่ห้อและรูปแบบ
ทั้งต่อเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย
โดยมีการใช้เทคโนโลยีในการผลิตที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละบริษัท โดย World
Small Animal Veterinary Association (WSAVA)
หรือสมาคมสัตวแพทย์สัตว์เล็กโลก ได้มีการจัดประชุมและได้ออก guideline
สำหรับการพิจารณาให้วัคซีนแมว
ให้สัตวแพทย์ทั่วทุกมุมโลกสามารถศึกษาและนำไปปรับใช้ตามได้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ที่ตัวเองทำงาน
ซึ่ง guideline ที่ว่านี้เป็นคำแนะนำสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว (developed
country)
จึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาโดยคำนึงถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องก่อนนำไปเป็นหลักเกณฑ์สำหรับการทำวัคซีนแมวในประเทศอื่นๆ
ก่อน เช่น การระบาดของโรคติดต่อในแมว โดยเฉพาะรายงานการพบโรคพิษสุนัขบ้า
แม้จะพบได้ไม่มากในแมว แต่ก็เป็นโรคที่ติดต่อสู่คนและอันตรายถึงชีวิต
สำหรับประเทศไทย หน่วยงานที่คอยออก guideline
สำหรับสัตวแพทย์สัตว์เล็กก็คือ
สมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย (The Veterinary
Practitioner Association of Thailand; VPAT)
คณะกรรมการ WSAVA Vaccination Guidelines Group (VGG)
ได้มีการรวบรวมการศึกษาเกี่ยวกับวัคซีนต่าง ๆ มาวิเคราะห์และถกถาม
และได้มีการจัดทำ guideline วัคซีนสำหรับสุนัขและแมว ฉบับ update
ล่าสุดในปี ค.ศ. 2016 ซึ่งสามารถเข้าไปศึกษาเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7166872/
โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับวัคซีนสำหรับแมวที่สัตวแพทย์ควรให้ความสนใจดังต่อไปนี้
การแบ่งประเภทของวัคซีน
วัคซีนจะแบ่งออกเป็น core vaccine, non-core vaccine และ not recommended
vaccine โดยที่
วัคซีนหลัก (core vaccines) หมายถึง
วัคซีนที่แมวทุกตัวในทุกพื้นที่ของโลกใบนี้ควรได้รับเพื่อป้องกันการติดเชื้อและการเสียชีวิต
โดยวัคซีนหลักสำหรับแมว (ของ WSAVA guideline) ประกอบด้วย
วัคซีนต่อเชื้อไวรัส
ไข้หัดแมว (Feline Parvovirus; FPV)
เชื้อ
เฮอร์ปีส์ไวรัส-1 (Feline Herpesvirus; FHV-1)
และเชื้อ
แคลิซิไวรัสแมว (Feline Calicivirus; FCV)
และสำหรับประเทศที่ยังมีการรายงานการพบโรคพิษสุนัขบ้า
ก็ควรจะจัดให้วัคซีนต่อเชื้อ
พิษสุนัขบ้า (rabies)
ไว้ในวัคซีนหลักด้วยเช่นกัน แม้ว่าในหลาย ๆ
พื้นที่จะไม่ได้มีข้อบังคับให้ฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าในแมวก็ตาม
วัคซีนทางเลือก (non-core vaccine) หมายถึง
วัคซีนที่จำเป็นสำหรับแมวในบางพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคบางชนิด
วัคซีนที่ไม่แนะนำ (not recommended)
หมายถึง
วัคซีนที่ยังมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ไม่เพียงพอที่สามารถบ่งบอกประสิทธิภาพในการป้องกันโรคหรือบรรเทาความรุนแรงของการติดเชื้อลงได้
วัคซีนหลัก (core vaccine) สำหรับแมว
อย่างที่สัตวแพทย์มักเน้นย้ำกันและกันอยู่เสมอว่า แมวไม่ใช่สุนัขตัวเล็ก
การพิจารณาเกี่ยวกับวัคซีนหลัก (core vaccine)
ไม่สามารถใช้หลักการเดียวกันกับการฉีดวัคซีนหลัก (core vaccine) ที่เป็น
modified-live vaccine (MLV) ของสุนัขกับแมวได้
ภูมิคุ้มกันที่ได้จากการทำวัคซีนต่อเชื้อแคลิซิไวรัสแมว (Feline
Calicivirus; FCV) และเชื่อเฮอร์ปีส์ไวรัส-1 (Feline Herpesvirus; FHV-1)
นั้นจะแตกต่างกับภูมิคุ้มกันจากการทำวัคซีนต่อเชื้อไวรัสไข้หัดแมว (Feline
Parvovirus; FPV)
สำหรับวัคซีนต่อเชื้อแคลิซิไวรัสแมว (Feline Calicivirus; FCV)
สามารถพบแมวที่ทำวัคซีน FCV ติดเชื้อได้
แม้ว่าวัคซีนจะมีความสามารถในการปกป้องได้หลาย strain ก็ตาม
ส่วนเชื่อเฮอร์ปีส์ไวรัส-1 (Feline Herpesvirus; FHV-1)
ยังไม่มีวัคซีนตัวไหนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อชนิดรุนแรงได้
การติดเชื้ออาจทำให้ไวรัสเข้าสู่ระยะพัก (latent period)
และยังสามารถกลับมาทำงานเมื่อแมวเครียด แมวอาจแสดงอาการเจ็บป่วยออกมา
รวมถึงสามารถแพร่กระจายเชื้อสู่แมวตัวอื่นได้ด้วย
ทางคณะกรรมการ WSAVA Vaccination Guidelines Group (VGG)
แนะนำให้แยกแมวออกเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ (low risk)
และกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง (high risk) โดย
แมวความเสี่ยงต่ำ (low risk) คือ
แมวที่เลี้ยงตัวเดียว เลี้ยงในบ้าน
มีโอกาสไปสถานรับฝากแมวหรือโรงแรมแมวน้อย (cattery) โดยแมวความเสี่ยงต่ำ
สามารถพิจารณาฉีดวัคซีนหลัก ทุก 3 ปีได้
แม้ว่าภูมิคุ้มกันที่แมวมีอยู่อาจสามารถป้องกันได้เพียงบางส่วน
แต่ก็อยู่ในระดับที่สามารถลดความรุนแรงเมื่อมีการติดเชื้อได้อย่างมีนัยสำคัญ
แมวความเสี่ยงสูง (high risk) คือ
แมวที่ต้องไปสถานรับฝากแมวหรือโรงแรมแมวเป็นประจำ (cattery)
อยู่ในบ้านที่มีแมวอาศัยอยู่ร่วมกันหลายตัว
แมวที่มีโอกาสได้ออกไปเที่ยวนอกบ้าน โดยแมวที่มีความเสี่ยงสูง (high risk)
อาจต้องพิจารณาฉีดวัคซีน FHV-1/FCV ทุกปี
นอกจากนี้สัตวแพทย์ควรพิจารณาระยะเวลาที่แมวต้องใช้ในการสร้างภูมิ
และเลือกเวลาการนัดทำวัคซีนให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของแมวด้วย
โดยภูมิคุ้มกันจะทำงานได้เต็มที่หลังได้รับไปแล้ว 3 เดือน หากเป็นไปได้
ควรแนะนำให้เจ้าของเริ่มอนุญาตให้แมวใช้ชีวิตแบบเสี่ยงสูงหลังจากเวลานั้นเป็นต้นไป
วัคซีนต่อเชื้อลิวคีเมียไวรัส (Feline Leukemia virus: FeLV)
ตามข้อสรุปของคณะกรรมการ WSAVA Vaccination Guidelines Group (VGG)
วัคซีนสำหรับเชื้อลิวคีเมียไวรัส (Feline Leukemia virus: FeLV)
ถือเป็นวัคซีนรอง (non-core vaccine)
แมวแต่ละตัวมีปัจจัยที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อลิวคีเมียไม่เท่ากัน ควรคำนึง
lifestyle ระดับความเสี่ยงและรายงานการพบโรคในพื้นที่ควบคู่กันไป
โดยแมวที่อยู่ในพื้นที่ที่ยังมีรายงานการระบาดและมีโอกาสได้ออกไปนอกบ้านควรได้รับวัคซีนก่อนอายุ
1 ปี เริ่มได้ตั้งแต่อายุ 8 สัปดาห์เป็นต้นไป ฉีดอย่างน้อย 2 เข็ม ห่างกัน
2-4 สัปดาห์ โดยควรฉีดวัคซีนให้แมวที่ตรวจไม่พบเชื้อเท่านั้น
วัคซีนต่อเชื้อไวรัสภูมิคุ้มกันบกพร่องในแมว (Feline Immunodeficiency
Virus; FIV)
คณะกรรมการ WSAVA Vaccination Guidelines Group (VGG)
พิจารณาเปลี่ยนวัคซีนต่อเชื้อไวรัสภูมิคุ้มกันบกพร่องในแมว (Feline
Immunodeficiency Virus; FIV) จากวัคซีนที่ไม่แนะนำ (not recommended
vaccine) เป็นวัคซีนรอง (non-core vaccine) โดยก่อนหน้านี้ทางคณะกรรมการ
WSAVA Vaccination Guidelines Group (VGG)
พิจารณาให้วัคซีนต่อเชื้อไวรัสภูมิคุ้มกันบกพร่องในแมว (Feline
Immunodeficiency Virus; FIV) อยู่ในกลุ่มวัคซีนที่ไม่แนะนำ (not
recommended vaccine)
เนื่องด้วยการป้องกันที่ได้จากวัคซีนไม่สามารถปกป้องข้าม subtype ได้
เมื่อแมวได้รับวัคซีนไปแล้วจะไม่สามารถใช้ชุดตรวจแยกระหว่างการติดเชื้อและวัคซีนได้
และเป็นวัคซีนที่มี adjuvant ซึ่งมีโอกาสเหนี่ยวนำให้แมวเกิดปัญหา Feline
Injection Site Sarcoma (FISS) ตามมาได้
แต่เมื่อนำประเด็นนี้มาหารือกันอีกครั้ง
พบว่ายังมีการระบาดของเชื้อไวรัสภูมิคุ้มกันบกพร่องในแมว (Feline
Immunodeficiency Virus; FIV) สม่ำเสมอในหลายพื้นที่
เจ้าของแมวบางคนไม่ให้ความร่วมมือในการเลี้ยงแมวในบ้าน
ปัจจุบันมีแนวทางการวินิจฉัยที่แยกการติดเชื้อกับวัคซีนออกจากกันได้
และความรุนแรงของโรคขึ้นกับความหนาแน่นของสมาชิกแมวในครัวเรือน
ร่วมกับสุขอนามัยของที่อยู่อาศัยมากกว่า
แม้ว่าผลลัพธ์ของการศึกษาจะมีทั้งที่บอกว่าวัคซีนให้ผลดีในการป้องกันโรคและที่บอกว่ายังไม่สามารถให้ข้อสรุปได้
แต่มีการให้วัคซีนต่อเชื้อไวรัสภูมิคุ้มกันบกพร่องในแมว
มีประโยชน์ต่อแมวบางกลุ่ม
จึงพิจารณาให้วัคซีนต่อเชื้อไวรัสภูมิคุ้มกันบกพร่องในแมว) เป็นวัคซีนรอง
แทน
Maternally derived antibody (MDA)
ลูกแมวที่เพิ่งเกิด จะได้รับภูมิในช่วงเริ่มของชีวิตมาจาก maternally
derived antibody (MDA) จากแม่แมว ซึ่ง MDA มักจะมีอายุประมาณ 8-12 สัปดาห์
โดยความยาวนานของ MDA จะแตกต่างกันไปขึ้นกับแม่แมวแต่ละตัว รวมถึงปริมาณที่
MDA ที่ลูกแมวได้รับด้วย ลูกแมวที่ได้รับ MDA
สูงและยาวนานอาจไม่ตอบสนองต่อฉีดวัคซีนนานจนอายุเกิน 12 สัปดาห์
ไปแล้วก็ได้ พบว่าหลังจากรับวัคซีนเข็มสุดท้ายที่อายุ 16 สัปดาห์ไปแล้ว
ยังคงมีลูกแมวราว 1 ใน 3
ที่ไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกับต่อเชื้อตามวัคซีนที่ฉีดให้ นอกจากนี้
ยังพบว่ามีลูกแมวที่อายุมากกว่า 20 สัปดาห์ที่ MDA
ยังสามารถก่อกวนการสร้างภูมิจากวัคซีนได้อยู่อีกด้วย
แม้ว่าการศึกษาที่พบจะทำให้กลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กก็ตาม
โปรแกรมวัคซีนสำหรับลูกแมว
ทำให้คณะกรรมการ WSAVA Vaccination Guidelines Group (VGG)
พิจารณาปรับอายุสำหรับวัคซีนเข็มสุดท้ายในลูกแมว จาก 12-14 สัปดาห์ เป็น 16
สัปดาห์หรือมากกว่าแทน และปรับให้อายุเริ่มต้นสำหรับรับวัคซีนเข็มแรกเป็น
6-8 สัปดาห์ โดยให้เว้นห่างกัน 2-4 สัปดาห์
การทำวัคซีนเมื่อแมวมีอายุ 26 หรือ 52 สัปดาห์
สัตวแพทย์มักทำนัดวัคซีนเข็มกระตุ้นที่อายุ 1 ปี หรือเว้นช่วง 1 ปี
หลังวัคซีนเข็มสุดท้ายตามโปรแกรมวัคซีน
อาจเป็นเพราะยังสามารถพบการติดเชื้อรุนแรงในลูกแมวอายุน้อยกว่า 1
ปีที่ได้รับวัคซีนไปแล้วได้ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ WSAVA VGG
ให้ความเห็นว่า
สามารถพิจารณาทำวัคซีนให้แมวหลังโปรแกรมวัคซีนเมื่อแมวมีอายุ 26-52
สัปดาห์ได้
หากมีความเป็นไปได้ว่าลูกแมวยังไม่มีการสร้างภูมิคุ้มกันจากวัคซีนตามโปรแกรมวัคซีน
ซึ่งควรทำความเข้าใจกับเจ้าของให้ชัดเจนก่อน
เพราะลูกแมวอาจได้รับวัคซีนมาก่อนหน้าหลายเข็มแล้ว
สำหรับแมวที่มีความเสี่ยงต่ำ (low risk) หลังจากได้รับวัคซีนเข็มนี้แล้ว
ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะฉีดวัคซีนหลัก (core vaccine)
เพิ่มเติมอีกจนกว่าจะถึงกำหนดในอีก 3 ปี
วัคซีนสำหรับแมวโตเต็มวัย
จากการศึกษาพบว่า ภูมิคุ้มกันที่แมวที่ได้รับจากวัคซีนชนิด modified-live
vaccine (MLV) สำหรับเชื้อไวรัสไข้หัดแมว (Feline Parvovirus; FPV)
มักเพียงพอและคงอยู่ได้นานหลายปีโดยไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
แต่สำหรับเชื้อแคลิซิไวรัสแมว (Feline Calicivirus; FCV)
และเชื่อเฮอร์ปีส์ไวรัส-1 (Feline Herpesvirus; FHV-1)
ภูมิคุ้มกันที่แมวสร้างจากวัคซีนมักจะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้แบบบางส่วน
(partial) ทำให้คณะกรรมการ WSAVA Vaccination Guidelines Group (VGG)
เสนอให้พิจารณาถึงความเสี่ยงของแมวร่วมด้วย โดย
สำหรับแมวเสี่ยงต่ำ สามารถนัดฉีดวัคซีนทุก 3 ปีได้
สำหรับแมวที่เสี่ยงสูงอาจไม่จำเป็นต้องกระตุ้นวัคซีนสำหรับเชื้อไข้หัดแมว
(Feline Parvovirus; FPV) บ่อยกว่า 3 ปีครั้ง
แต่ควรพิจารณาทำวัคซีนสำหรับเชื้อแคลิซิไวรัสแมว (Feline Calicivirus; FCV)
และเชื่อเฮอร์ปีส์ไวรัส-1 (Feline Herpesvirus; FHV-1) ปีละครั้ง
โดยกะเวลาให้สอดคล้องที่แมวจะต้องไปอาศัยอยู่ที่สถานรับฝากแมวหรือโรงแรมแมวร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม คำแนะนำนี้ไม่ได้นับรวมถึงวัคซีนเชื้อตายตัวอื่น ๆ
นอกเหนือจากวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า และวัคซีนต่อเชื้อแบคทีเรีย
สำหรับแมวที่มีประวัติการวัคซีนที่ไม่ชัดเจน
หากเคยได้รับวัคซีนตามโปรแกรมวัคซีนครบถ้วนมาก่อนให้ฉีดวัคซีนหลัก (core
vaccine) เข็มเดียว
แมวที่ไม่มีข้อมูลเลยที่มีอายุมากกว่า 16 สัปดาห์ ให้ modified-live
vaccine (MLV) ต่อเชื้อไข้หัดแมว (Feline Parvovirus; FPV)
เพียงเข็มเดียวก็เพียงพอ แต่สำหรับเชื้อแคลิซิไวรัสแมว (Feline
Calicivirus; FCV) และเชื่อเฮอร์ปีส์ไวรัส-1 (Feline Herpesvirus; FHV-1)
จะต้องให้วัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม เว้นระยะห่างกัน 2-4 สัปดาห์
ตำแหน่งในการฉีด
การฉีดสารใดๆเข้าชั้นใต้ผิวหนังให้แมวสามารถกระตุ้น Feline Injection Site
Sarcoma (FISS) ได้ การฉีดวัคซีนก็เช่นกัน โดยเฉพาะวัคซีนที่มีส่วนผสมของ
adjuvant
ซึ่งวัคซีนที่มักจะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษคือวัคซีนต่อเชื้อลิวคีเมียไวรัส
(Feline Leukemia virus: FeLV) และโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)
โดยขบวนการเกิดโรคนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัดมากนัก มีการสันนิษฐานว่า
อาจเกิดจากการอักเสบเรื้อรังแบบเฉพาะตำแหน่ง (localized chronic
inflammatory) โดยมีปัจจัยทางด้านพันธุกรรมเกี่ยวข้องด้วย
ตามแนวทางการปฏิบัติในอดีต มักจะเลือกฉีดที่ทำแหน่ง interscapula
เป็นหลักไม่ว่าจะเป็นยาหรือวัคซีน ซึ่งแนวทางการรักษา feline injection
site sarcoma (FISS) คือการผ่าตัดนำก้อนรวมถึงเนื้อเยื่อโดยรอยออกไปด้วย
ทำให้การนำก้อนที่บริเวณ interscapula
ออกพร้อมเนื้อเยื่อข้างเคียงอาจส่งผลต่อชีวิตของแมวอย่างมากหรืออาจไม่สามารถทำได้เลยก็ได้
ด้วยเหตุนี้ในสหรัฐอเมริกาจึงกำหนดตำแหน่งการฉีดวัคซีนที่มี adjuvant
โดยให้ฉีดวัคซีนเชื้อลิวคีเมียไวรัส ที่ขาหลังข้างซ้าย
และฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าที่ขาหลังข้างขวา ส่วนวัคซีนหลัก (core vaccine)
ให้ฉีดที่ขาหน้า โดยพยายามให้ไกลจากแกนกลางลำตัวเท่าที่ทำได้
เพื่อให้เมื่อเกิด Feline Injection Site Sarcoma (FISS) ในเวลาต่อมา
จะได้สามารถผ่าตัดออกพร้อมด้วยเนื้อเยื่อโดยรอบได้โดยไม่ยากจนเกินไป
สิ่งที่น่าสนใจคือ
มีการศึกษาที่ฉีดวัคซีนหลักเข้าทางชั้นใต้ผิวหนังบริเวณหางของแมว
พบว่าแมวสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่ต่างจากการฉีดที่บริเวณอื่น รวมถึงแมว
(ในการศึกษา) ไม่ได้ต่อต้านหัตถการดังกล่าวมากนัก
อย่างไรก็ตามควรติดตามการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปอนาคตอยู่ดี
นอกจากนี้ทาง WSAVA เคยแนะนำให้เลือกฉีดที่บริเวณ lateral thorax และ
lateral abdomen ซึ่งไม่ว่าจะเลือกฉีดที่ตำแหน่งใด
ให้คำนึงถึงหลักการตามด้านล่างนี้เป็นสำคัญ
- ประโยชน์จากการป้องกันการติดเชื้อสำคัญกว่าโอกาสการเกิด Feline Injection
Site Sarcoma ในอนาคต
- ควรเลือกใช้วัคซีนที่ไม่มี adjuvant
- ไม่ควรฉีดวัคซีน โดยเฉพาะที่มี adjuvant และยาอื่น ๆ ที่ตำแหน่ง
interscapual
- ไม่ควรฉีดวัคซีนที่มี adjuvant เข้าชั้นกล้ามเนื้อ
ควรเลือกฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนังที่ตำแหน่งที่สามารถผ่าตัดออกได้หากพบปัญหาในอนาคต
และแมวให้ความร่วมมือ
-
ควรมีแนวทางการขยับตำแหน่งในการฉีดวัคซีนที่เป็นแบบแผนเดียวกันที่สัตวแพทย์ทุกคนต้องปฏิบัติ
- ควรมีช่องทางการรายงานการพบ feline injection site sarcoma
ที่บริษัทผู้ผลิตสามารถรับทราบปัญหาที่พบได้
การตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกัน
ในแมวก็มีการตรวจระดับภูมิกันเพื่อดูผลของการทำวัคซีน
โดยมีชุดตรวจแบบสามารถทำได้ในสถานพยาบาลขายแล้ว
ซึ่งผลจากชุดตรวจภูมิต่อเชื่อไข้หัดแมว (Feline Parvovirus; FPV)
ค่อนข้างสอดคล้องกับความสามารถในการป้องกันโรค หากชุดตรวจให้ผลลบ
หมายความว่าแมวมีภูมิต่อเชื้อไม่เพียงพอ ควรพิจารณาทำวัคซีนเข็มกระตุ้น
แต่ก็อาจพบ false negative ได้เช่นกัน และหากชุดตรวจให้ผลเป็นบวก
หมายความว่าแมวไม่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ณ เวลาดังกล่าว
สำหรับเชื้อแคลิซิไวรัสแมว (Feline Calicivirus; FCV)
และเชื่อเฮอร์ปีส์ไวรัส-1 (Feline Herpesvirus; FHV-1) ระดับ antibody
ในกระแสเลือดไม่สามารถสะท้อนความสามารถในการป้องกันโรคของ cell mediated
immunity (CMI) และ mucosal antibody ได้ ต่อให้ชุดตรวจให้ผลเป็นลบ
ก็ไม่ได้หมายความว่าแมวมีภูมิคุ้มกันไม่เพียงพอ
ส่วนการตรวจระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสภูมิคุ้มกันบกพร่องในแมว (Feline
Immunodeficiency Virus; FIV) มักทำเพื่อการวินิจฉัยโรคมากกว่า
ข้อแนะนำเพิ่มเติมสำหรับสถานพักพิงสัตว์ (shelter)
สำหรับลูกแมว
สามารถเริ่มทำวัคซีนหลักให้แมวในสถานพักพิงสัตว์ได้ตั้งแต่อายุ 4-6 สัปดาห์
จากนั้นเว้นทุก 2 สัปดาห์จนกว่าจะอายุครบ 20 สัปดาห์
สำหรับแมวโตที่มีประวัติวัคซีนที่ชัดเจน ควรฉีดวัคซีนหลัก (core vaccine)
แต่ไม่ได้จำเป็น
ข้อแนะนำเพิ่มเติมสำหรับสถานรับฝากแมวหรือโรงแรมแมว (cattery)
สถานรับฝากแมวหรือโรงแรมแมวควรมีข้อกำหนดให้แมวที่มาใช้บริการจำเป็นต้องได้รับวัคซีนหลัก
(core vaccine) ให้ครบถ้วนเสียก่อน
คำแนะนำจาก guideline
ฉบับนี้อาจมีความแตกต่างจากคำแนะนำของสมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย
(The Veterinary Practitioner Association of Thailand; VPAT)
เนื่องจากความแตกต่างของโรคที่พบในประเทศไทย
สัตวแพทย์ที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมได้ที่
https://www.vpatthailand.org/practice-guideline/vaccination-guidelines
อ้างอิงข้อมูล
Day, M. J., Horzinek, M. C., Schultz, R. D., & Squires, R. A. (2016).
WSAVA guidelines for the vaccination of dogs and cats. Journal of Small
Animal Practice, 57(1).