ช่วงเวลาต้นปีแบบนี้ เชื่อว่าคุณหมอหลายท่านอาจคุ้นเคยกับการตรวจ ดูแล และให้คำแนะนำกับเจ้าของสัตว์ที่พาสุนัขเข้ามารับการตรวจ และขอคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพลูกสุนัข โดยเฉพาะลูกสุนัขแรกเกิด บทความนี้จะพาคุณหมอไปทบทวนแนวทางการดูแลสุขภาพลูกสุนัขแรกเกิด โดยอ้างอิงข้อมูลจาก 2019 AAHA Canine Life Stage Guidelines เพื่อสามารถแนะแนวทางให้แก่เจ้าของสัตว์ต่อไปได้อย่างถูกต้อง
ลูกสุนัขแรกเกิด (puppy) คือลูกสุนัขแรกคลอดไปจนถึงช่วงอายุประมาณ 6-9 เดือน (แตกต่างกันไปตามแต่สายพันธุ์ และขนาด) ซึ่งเป็นช่วงอายุที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ในช่วงอายุนี้สัตวแพทย์ควรให้คำแนะนำในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1. การตรวจร่างกาย และการให้คำแนะนำสุขภาพ (physical examination and consultation) : สัตวแพทย์ควรทำการตรวจสัญญาณชีพสำคัญ อันได้แก่ อุณหภูมิร่างกาย ชีพจร และการหายใจ (temperature, pulse and respiration; TPR) ประเมินความเจ็บปวด (pain) เพื่อตรวจดูความผิดปกติของร่างกายสัตว์ ประเมินภาวะโภชนาการ (nutritional assessment) อันได้แก่ น้ำหนักตัว (body weight) คะแนนความสมบูรณ์ของร่างกาย (body condition score; BCS) และคะแนนความสมบูรณ์ของกล้ามเนื้อ (muscle condition score; MCS) โดยในระหว่างที่ทำการตรวจนี้ ควรทำการสังเกต และตรวจโรคที่อาจเกิดขึ้นตั้งแต่กำเนิด (congenital disorders) ร่วมด้วย เช่น ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ (cleft palate) ความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (hydrocephalus) หรือภาวะไส้เลื่อนบริเวณสะดือ (umbilical hernias) เป็นต้น ทั้งนี้สัตวแพทย์ควรให้คำแนะนำในการดูแลความปลอดภัยของสัตว์ เช่น การใช้ตระกร้าในขณะเคลื่อนย้ายสัตว์ หรือการฝึกให้สวมใส่ปลอกคอในระหว่างเดินเล่นนอกบ้าน เนื่องจากสัตว์ในช่วงอายุนี้ยังคงไม่เข้าใจในคำสั่งจากเจ้าของ และมีความซุกซนตามสัญชาตญาณ การปล่อยให้สัตว์ใช้ชีวิตได้อย่างอิสระอาจนำมาซึ่งการเกิดเหตุไม่คาดฝันได้ นอกจากนี้ยังควรนัดมาเพื่อทำการตรวจร่างกาย และฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงแรกอาจนัดถี่ถึง 3-4 สัปดาห์/ครั้ง ตามแต่ผลการตรวจร่างกาย และความจำเป็น
2. พฤติกรรม (behavior) : พฤติกรรมของสุนัขเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากช่วงอายุที่เพิ่มขึ้น ประสบการณ์ สายพันธุ์ และสิ่งแวดล้อม สัตวแพทย์ควรทำการตรวจสัตว์ด้วยวิธีการที่เหมาะสมเพื่อช่วยลดความกลัว และความเครียดจากตัวสัตว์ ตลอดจนจดบันทึกสภาวะทางจิตใจของตัวสัตว์ (mental state) ไว้ร่วมกับผลการตรวจร่างกายทุกครั้งเพื่อสามารถดูแลสัตว์ตัวดังกล่าวเมื่อเข้ามารับการตรวจครั้งต่อไปได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้สัตวแพทย์ยังควรให้ความรู้แก่เจ้าของถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมสำหรับลูกสุนัข เช่น การกระโดดใส่ผู้คน พฤติกรรมดุร้าย หรือแย่งสิ่งของจากมนุษย์ เพื่อแนะนำให้เจ้าของพาลูกสุนัขไปเข้ารับการฝึกโดยผู้เชี่ยวชาญ (puppy class) ภายหลังจากลูกสุนัขได้รับการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคแล้วเพื่อฝึกให้ลูกสุนัขรู้จักมารยาทในการอยู่ร่วมกัน วิธีการในการเข้าหามนุษย์ ลดความเครียดเมื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม หรือเจอสัตว์แปลกหน้า อันจะส่งผลให้พฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ลดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. การประเมินภาวะโภชนาการ (nutritional assessment) : การประเมินภาวะโภชนาการเป็นหนึ่งในตัวช่วยสำหรับการประเมินสุขภาพร่างกายของลูกสุนัขซึ่งควรทำในทุกครั้งที่ลูกสุนัขเข้ามารับการตรวจภายในคลินิก ปัจจัยที่ควรทำการตรวจได้แก่ น้ำหนักตัว (body weight) คะแนนความสมบูรณ์ของร่างกาย (body condition score; BCS) และคะแนนความสมบูรณ์ของกล้ามเนื้อ (muscle condition score; MCS) ซึ่งควรจดบันทึกร่วมกันไว้ในทุก ๆ ครั้ง สำหรับลูกสุนัขแรกเกิดสัตวแพทย์ควรประเมินระดับพลังงาน และสารอาหารที่เหมาะสม (targeted nutrition) เพื่อแนะนำการให้อาหารแก่เจ้าของ โดยอ้างอิงจากสายพันธุ์ และขนาดของลูกสุนัข ในส่วนนี้สัตวแพทย์ควรให้รายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องของตารางการให้อาหาร (feeding schedule) โดยพิจารณาจากประเภทอาหาร วิธีการให้อาหาร และปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ โดยคำนึงถึงความสะดวกของเจ้าของร่วมด้วย
4. การป้องกัน และควบคุมปรสิต (parasite control) : การป้องกันปรสิตนับเป็นหัวใจสำคัญของการดูแลสุขภาพลูกสุนัข สัตวแพทย์ควรแนะนำให้เจ้าของเริ่มต้นการให้ยาถ่ายพยาธิ (anti-endoparasitic drugs) ในลูกสุนัขตั้งแต่อายุ 2-3 สัปดาห์ และให้อีกครั้งภายหลังระยะเวลา 2 สัปดาห์ต่อมา จนกระทั่งลูกสุนัขสามารถเริ่มใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันปรสิตทั้งภายใน และภายนอกได้ สำหรับยาที่นิยมใช้ในการถ่ายพยาธิ ได้แก่ praziquantel, pyrantel กลุ่มยา benzimidazole (BZD) และ pro-BZDs เช่น fenbendazole, mebendazole และ oxibendazole เป็นต้น (สัตวแพทย์ควรรู้ถึงข้อควรระวัง และช่วงอายุที่เหมาะสมต่อการใช้ยาแต่ละชนิดก่อนใช้) โดยภายหลังเมื่อลูกสุนัขสามารถรับยาป้องกันปรสิตได้ ควรแนะนำให้เจ้าของใช้เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง สำหรับตัวยาป้องกันปรสิตที่มีจำหน่ายในท้องตลอดปัจจุบันมีทั้งแบบกิน แบบหยดหลัง แบบอาบ และแบบปลอกคอสวมใส่ ตัวยาที่นิยมใช้ ได้แก่ fipronil, imidacloprid, isoxazolines เช่น afoxolaner และ fluralaner เป็นต้น, macrocyclic lactones เช่น ivermectin, eprinomectin, doramectin และ selamectin เป็นต้น ทั้งนี้ในปัจจุบันได้มีการรวมตัวยามากกว่า 1 ชนิดเข้าด้วยกันเพื่อเสริมประสิทธิภาพในการป้องกันปรสิตให้มากยิ่งขึ้น เช่น afoxolaner plus milbemycin oxime เพื่อเสริมฤทธิ์ในการป้องกันปรสิตภายนอก ปรสิตภายใน และพยาธิหนอนหัวใจ เป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับเจ้าของ (สัตวแพทย์ควรรู้ถึงข้อควรระวัง และช่วงอายุที่เหมาะสมต่อการใช้ยาแต่ละชนิดก่อนใช้) อย่างไรก็ตามการดูแลรักษาความสะอาดของสิ่งแวดล้อมก็ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่สัตวแพทย์ต้องแจ้งให้เจ้าของทราบเพื่อลดโอกาสการสัมผัสปรสิตแต่ละชนิด เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดปัญหาไว้ตั้งแต่ต้น
5. การฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรค (vaccination) : ลูกสุนัขแรกเกิดควรเริ่มการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคที่อายุ 6-8 สัปดาห์ จากนั้นฉีดซ้ำเพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-4 สัปดาห์ต่อมา และให้วัคซีนเข็มสุดท้ายที่อายุ 16 สัปดาห์ขึ้นไป (รวมตลอดโปรแกรมอย่างน้อย 3 ครั้ง) จากนั้นฉีดเข็มกระตุ้น (booster) ซ้ำอีกภายในระยะเวลา 1 ปี (นับจากเข็มสุดท้ายในช่วงอายุ 16 สัปดาห์) โดยจากไกด์ไลน์ 2022 AAHA Canine Vaccintion Guidelines ได้กำหนดให้วัคซีนที่ควรฉีดในสุนัขทุกตัว หรือวัคซีนหลัก (core vaccine) ประกอบไปด้วย วัคซีนป้องกันโรคไข้หัดสุนัข (canine distemper virus; CDV) วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบในสุนัข (canine adenovirus; CAV) และ วัคซีนป้องกันโรคลำไส้อักเสบในสุนัข (canine parvovirus; CPV) นอกจากนี้สำหรับประเทศไทยยังกำหนดให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (rabies) เป็นหนึ่งในวัคซีนหลักเนื่องจากเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (zoonosis) ที่มีความอันตราย และสามารถพบการระบาดได้ในประเทศอีกด้วย สำหรับสุนัขที่มีความเสี่ยงอาจพิจารณาฉีดวัคซีนกลุ่มทางเลือก (noncore vaccine) เช่น วัคซีนป้องกันโรคฉี่หนู (canine leptospirosis vaccine) วัคซีนป้องกันโรคหลอดลมอักเสบติดต่อ (canine Bordetella vaccine) วัคซีนป้องกันโรคไลม์ (canine lyme vaccine) หรือวัคซีนป้องกันโรคหวัดสุนัข (canine influenza vaccine) เป็นต้น โดยพิจารณาตามความเสี่ยงในการสัมผัสโรค และการแพร่ระบาดในพื้นที่เป็นสำคัญ
การดูแลลูกสุนัขแรกเกิดอย่างถูกต้องเหมาะสมย่อมเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการดูแลสุขภาพสุนัขที่ดี อย่างไรก็ตามคำแนะนำในการดูแลลูกสุนัข 5 ข้อที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการดูแลลูกสุนัขแรกเกิด คุณหมอสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 2019 AAHA Canine Life Stage Guidelines ฉบับเต็มที่ https://www.aaha.org/globalassets/02-guidelines/canine-life-stage-2019/2019-aaha-canine-life-stage-guidelines-final.pdf

แหล่งอ้างอิง

1. Day, MJ., Horzinek, MC., Schultz, RD. and Squires, RA. 2016. WSAVA Guidelines for the vaccination of dogs and cats. J Small Anim Pract, 57(1).

2. Ellis J, Marziani E, Aziz C, Brown CM, Cohn LA, Lea C, Moore GE, Taneja N 2022. 2022 AAHA Canine Vaccination Guidelines. [online]. Available : https://www.aaha.org/aaha-guidelines/2022-aaha-canine-vaccination-guidelines/home/. Accessed 30 December 2022.

3. Kate, EC., Jesse, G., Susan, EL., George, EM., Beth, GS., Steve, T. and Jinelle, AW. 2019. 2019 AAHA Canine Life Stage Guidelines. [online]. Available : https://www.aaha.org/globalassets/02-guidelines/canine-life-stage-2019/2019-aaha-canine-life-stage-guidelines-final.pdf. Accessed 25 December 2022.

4. Marcy, H., Christine, H., Emily, L., Karen, O., Lisa, R., Marcia, RR. and Sophia, Y. 2015. 2015 AAHA Canine and Feline Behavior Management Guidelines. [online]. Available : https://www.aaha.org/globalassets/02-guidelines/behavior-management/2015_aaha_canine_and_feline_behavior_management_guidelines_final.pdf. Accessed 25 December 2022.