ช่วงเวลาต้นปีแบบนี้ เชื่อว่าคุณหมอหลายท่านอาจคุ้นเคยกับการตรวจ ดูแล และให้คำแนะนำกับเจ้าของสัตว์ที่พาสุนัขเข้ามารับการตรวจ และขอคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพลูกสุนัข โดยเฉพาะลูกสุนัขแรกเกิด บทความนี้จะพาคุณหมอไปทบทวนแนวทางการดูแลสุขภาพลูกสุนัขแรกเกิด โดยอ้างอิงข้อมูลจาก 2019 AAHA Canine Life Stage Guidelines เพื่อสามารถแนะแนวทางให้แก่เจ้าของสัตว์ต่อไปได้อย่างถูกต้อง
ลูกสุนัขแรกเกิด (puppy) คือลูกสุนัขแรกคลอดไปจนถึงช่วงอายุประมาณ 6-9 เดือน (แตกต่างกันไปตามแต่สายพันธุ์ และขนาด) ซึ่งเป็นช่วงอายุที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ในช่วงอายุนี้สัตวแพทย์ควรให้คำแนะนำในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1. การตรวจร่างกาย และการให้คำแนะนำสุขภาพ (physical examination and consultation) : สัตวแพทย์ควรทำการตรวจสัญญาณชีพสำคัญ อันได้แก่ อุณหภูมิร่างกาย ชีพจร และการหายใจ (temperature, pulse and respiration; TPR) ประเมินความเจ็บปวด (pain) เพื่อตรวจดูความผิดปกติของร่างกายสัตว์ ประเมินภาวะโภชนาการ (nutritional assessment) อันได้แก่ น้ำหนักตัว (body weight) คะแนนความสมบูรณ์ของร่างกาย (body condition score; BCS) และคะแนนความสมบูรณ์ของกล้ามเนื้อ (muscle condition score; MCS) โดยในระหว่างที่ทำการตรวจนี้ ควรทำการสังเกต และตรวจโรคที่อาจเกิดขึ้นตั้งแต่กำเนิด (congenital disorders) ร่วมด้วย เช่น ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ (cleft palate) ความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (hydrocephalus) หรือภาวะไส้เลื่อนบริเวณสะดือ (umbilical hernias) เป็นต้น ทั้งนี้สัตวแพทย์ควรให้คำแนะนำในการดูแลความปลอดภัยของสัตว์ เช่น การใช้ตระกร้าในขณะเคลื่อนย้ายสัตว์ หรือการฝึกให้สวมใส่ปลอกคอในระหว่างเดินเล่นนอกบ้าน เนื่องจากสัตว์ในช่วงอายุนี้ยังคงไม่เข้าใจในคำสั่งจากเจ้าของ และมีความซุกซนตามสัญชาตญาณ การปล่อยให้สัตว์ใช้ชีวิตได้อย่างอิสระอาจนำมาซึ่งการเกิดเหตุไม่คาดฝันได้ นอกจากนี้ยังควรนัดมาเพื่อทำการตรวจร่างกาย และฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงแรกอาจนัดถี่ถึง 3-4 สัปดาห์/ครั้ง ตามแต่ผลการตรวจร่างกาย และความจำเป็น
2. พฤติกรรม (behavior) : พฤติกรรมของสุนัขเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากช่วงอายุที่เพิ่มขึ้น ประสบการณ์ สายพันธุ์ และสิ่งแวดล้อม สัตวแพทย์ควรทำการตรวจสัตว์ด้วยวิธีการที่เหมาะสมเพื่อช่วยลดความกลัว และความเครียดจากตัวสัตว์ ตลอดจนจดบันทึกสภาวะทางจิตใจของตัวสัตว์ (mental state) ไว้ร่วมกับผลการตรวจร่างกายทุกครั้งเพื่อสามารถดูแลสัตว์ตัวดังกล่าวเมื่อเข้ามารับการตรวจครั้งต่อไปได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้สัตวแพทย์ยังควรให้ความรู้แก่เจ้าของถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมสำหรับลูกสุนัข เช่น การกระโดดใส่ผู้คน พฤติกรรมดุร้าย หรือแย่งสิ่งของจากมนุษย์ เพื่อแนะนำให้เจ้าของพาลูกสุนัขไปเข้ารับการฝึกโดยผู้เชี่ยวชาญ (puppy class) ภายหลังจากลูกสุนัขได้รับการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคแล้วเพื่อฝึกให้ลูกสุนัขรู้จักมารยาทในการอยู่ร่วมกัน วิธีการในการเข้าหามนุษย์ ลดความเครียดเมื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม หรือเจอสัตว์แปลกหน้า อันจะส่งผลให้พฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ลดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. การประเมินภาวะโภชนาการ (nutritional assessment) : การประเมินภาวะโภชนาการเป็นหนึ่งในตัวช่วยสำหรับการประเมินสุขภาพร่างกายของลูกสุนัขซึ่งควรทำในทุกครั้งที่ลูกสุนัขเข้ามารับการตรวจภายในคลินิก ปัจจัยที่ควรทำการตรวจได้แก่ น้ำหนักตัว (body weight) คะแนนความสมบูรณ์ของร่างกาย (body condition score; BCS) และคะแนนความสมบูรณ์ของกล้ามเนื้อ (muscle condition score; MCS) ซึ่งควรจดบันทึกร่วมกันไว้ในทุก ๆ ครั้ง สำหรับลูกสุนัขแรกเกิดสัตวแพทย์ควรประเมินระดับพลังงาน และสารอาหารที่เหมาะสม (targeted nutrition) เพื่อแนะนำการให้อาหารแก่เจ้าของ โดยอ้างอิงจากสายพันธุ์ และขนาดของลูกสุนัข ในส่วนนี้สัตวแพทย์ควรให้รายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องของตารางการให้อาหาร (feeding schedule) โดยพิจารณาจากประเภทอาหาร วิธีการให้อาหาร และปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ โดยคำนึงถึงความสะดวกของเจ้าของร่วมด้วย
4. การป้องกัน และควบคุมปรสิต (parasite control) : การป้องกันปรสิตนับเป็นหัวใจสำคัญของการดูแลสุขภาพลูกสุนัข สัตวแพทย์ควรแนะนำให้เจ้าของเริ่มต้นการให้ยาถ่ายพยาธิ (anti-endoparasitic drugs) ในลูกสุนัขตั้งแต่อายุ 2-3 สัปดาห์ และให้อีกครั้งภายหลังระยะเวลา 2 สัปดาห์ต่อมา จนกระทั่งลูกสุนัขสามารถเริ่มใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันปรสิตทั้งภายใน และภายนอกได้ สำหรับยาที่นิยมใช้ในการถ่ายพยาธิ ได้แก่ praziquantel, pyrantel กลุ่มยา benzimidazole (BZD) และ pro-BZDs เช่น fenbendazole, mebendazole และ oxibendazole เป็นต้น (สัตวแพทย์ควรรู้ถึงข้อควรระวัง และช่วงอายุที่เหมาะสมต่อการใช้ยาแต่ละชนิดก่อนใช้) โดยภายหลังเมื่อลูกสุนัขสามารถรับยาป้องกันปรสิตได้ ควรแนะนำให้เจ้าของใช้เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง สำหรับตัวยาป้องกันปรสิตที่มีจำหน่ายในท้องตลอดปัจจุบันมีทั้งแบบกิน แบบหยดหลัง แบบอาบ และแบบปลอกคอสวมใส่ ตัวยาที่นิยมใช้ ได้แก่ fipronil, imidacloprid, isoxazolines เช่น afoxolaner และ fluralaner เป็นต้น, macrocyclic lactones เช่น ivermectin, eprinomectin, doramectin และ selamectin เป็นต้น ทั้งนี้ในปัจจุบันได้มีการรวมตัวยามากกว่า 1 ชนิดเข้าด้วยกันเพื่อเสริมประสิทธิภาพในการป้องกันปรสิตให้มากยิ่งขึ้น เช่น afoxolaner plus milbemycin oxime เพื่อเสริมฤทธิ์ในการป้องกันปรสิตภายนอก ปรสิตภายใน และพยาธิหนอนหัวใจ เป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับเจ้าของ (สัตวแพทย์ควรรู้ถึงข้อควรระวัง และช่วงอายุที่เหมาะสมต่อการใช้ยาแต่ละชนิดก่อนใช้) อย่างไรก็ตามการดูแลรักษาความสะอาดของสิ่งแวดล้อมก็ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่สัตวแพทย์ต้องแจ้งให้เจ้าของทราบเพื่อลดโอกาสการสัมผัสปรสิตแต่ละชนิด เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดปัญหาไว้ตั้งแต่ต้น
5. การฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรค (vaccination) : ลูกสุนัขแรกเกิดควรเริ่มการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคที่อายุ 6-8 สัปดาห์ จากนั้นฉีดซ้ำเพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-4 สัปดาห์ต่อมา และให้วัคซีนเข็มสุดท้ายที่อายุ 16 สัปดาห์ขึ้นไป (รวมตลอดโปรแกรมอย่างน้อย 3 ครั้ง) จากนั้นฉีดเข็มกระตุ้น (booster) ซ้ำอีกภายในระยะเวลา 1 ปี (นับจากเข็มสุดท้ายในช่วงอายุ 16 สัปดาห์) โดยจากไกด์ไลน์ 2022 AAHA Canine Vaccintion Guidelines ได้กำหนดให้วัคซีนที่ควรฉีดในสุนัขทุกตัว หรือวัคซีนหลัก (core vaccine) ประกอบไปด้วย วัคซีนป้องกันโรคไข้หัดสุนัข (canine distemper virus; CDV) วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบในสุนัข (canine adenovirus; CAV) และ วัคซีนป้องกันโรคลำไส้อักเสบในสุนัข (canine parvovirus; CPV) นอกจากนี้สำหรับประเทศไทยยังกำหนดให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (rabies) เป็นหนึ่งในวัคซีนหลักเนื่องจากเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (zoonosis) ที่มีความอันตราย และสามารถพบการระบาดได้ในประเทศอีกด้วย สำหรับสุนัขที่มีความเสี่ยงอาจพิจารณาฉีดวัคซีนกลุ่มทางเลือก (noncore vaccine) เช่น วัคซีนป้องกันโรคฉี่หนู (canine leptospirosis vaccine) วัคซีนป้องกันโรคหลอดลมอักเสบติดต่อ (canine Bordetella vaccine) วัคซีนป้องกันโรคไลม์ (canine lyme vaccine) หรือวัคซีนป้องกันโรคหวัดสุนัข (canine influenza vaccine) เป็นต้น โดยพิจารณาตามความเสี่ยงในการสัมผัสโรค และการแพร่ระบาดในพื้นที่เป็นสำคัญ
แหล่งอ้างอิง
1. Day, MJ., Horzinek, MC., Schultz, RD. and Squires, RA. 2016. WSAVA Guidelines for the vaccination of dogs and cats. J Small Anim Pract, 57(1).
2. Ellis J, Marziani E, Aziz C, Brown CM, Cohn LA, Lea C, Moore GE, Taneja N 2022. 2022 AAHA Canine Vaccination Guidelines. [online]. Available : https://www.aaha.org/aaha-guidelines/2022-aaha-canine-vaccination-guidelines/home/. Accessed 30 December 2022.
3. Kate, EC., Jesse, G., Susan, EL., George, EM., Beth, GS., Steve, T. and Jinelle, AW. 2019. 2019 AAHA Canine Life Stage Guidelines. [online]. Available : https://www.aaha.org/globalassets/02-guidelines/canine-life-stage-2019/2019-aaha-canine-life-stage-guidelines-final.pdf. Accessed 25 December 2022.
4. Marcy, H., Christine, H., Emily, L., Karen, O., Lisa, R., Marcia, RR. and Sophia, Y. 2015. 2015 AAHA Canine and Feline Behavior Management Guidelines. [online]. Available : https://www.aaha.org/globalassets/02-guidelines/behavior-management/2015_aaha_canine_and_feline_behavior_management_guidelines_final.pdf. Accessed 25 December 2022.