โรคผิวหนัง นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาสุขภาพที่เจ้าของสัตว์หลายท่านให้ความกังวล สาเหตุของโรคผิวหนังสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือปรสิตภายนอก การแนะนำให้เจ้าของสัตว์ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันปรสิตภายนอกเป็นประจำสม่ำเสมอ ร่วมไปกับการดูแลรักษาความสะอาดของสิ่งแวดล้อม จึงเป็นสิ่งที่สัตวแพทย์ควรให้คำแนะนำ บทความนี้จะพาคุณหมอไปทำความรู้จักกับ “ไร” ปรสิตภายนอกที่สามารถพบได้บ่อย และยังเป็นต้นเหตุของโรคขี้เรื้อนในสุนัข และแมว เพื่อสามารถรับมือได้อย่างถูกต้อง
ไร หรือ mite เป็นปรสิตภายนอกที่มีความสำคัญทางการสัตวแพทย์ จัดอยู่ในคลาส Arachnida และซับคลาส Acari โดยส่วนมากมักมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า การวินิจฉัยจำเป็นต้องอาศัยการส่องผ่านกล้องจุลทรรศน์ สามารถพบได้บนเส้นขน หรือผิวหนังของสัตว์หลายชนิด สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มที่อาศัยอยู่บนผิวหนัง หรือชนิดไม่ขุดโพรง (non-burrowing mite) และกลุ่มที่อาศัยอยู่ใต้ผิวหนัง หรือชนิดขุดโพรง (burrowing mite) โดยไรที่สามารถพบได้บ่อยในสุนัข และแมว อีกทั้งยังเป็นสาเหตุของโรคขี้เรื้อน มีดังนี้

1. Demodex spp. : หรือที่เจ้าของหลายท่านมักรู้จักกันในชื่อ “ไรขี้เรื้อนเปียก” จัดเป็นไรชนิดขุดโพรงที่มักฝังตัวอาศัยอยู่ภายในรูขุมขน (hair follicle) และต่อมไขมัน (sebaceous gland) ของโฮสต์ เป็นสาเหตุของการเกิดโรคขี้เรื้อนเปียก หรือ demodicosis ส่งผลให้สัตว์เกิดภาวะผิวหนังอักเสบ คัน ขนร่วง ผิวหนังเยิ้มแฉะ มีกลิ่นตัวแรง และความแข็งแรงของผิวหนังลดลง ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือยีสต์แทรกซ้อนได้ง่าย ทั้งนี้ตลอดวงจรชีวิตของไรขี้เรื้อนเปียกจะอาศัยอยู่บนตัวโฮสต์ตลอดเวลา โดยเมื่อผสมพันธุ์แล้ว ไรเพศเมียจะวางไข่ในรูขุมขน หรือต่อมไขมันของโฮสต์ และตัวอ่อนจะฟักจากไข่ พัฒนาเป็นตัวกลางวัยเพื่อขึ้นมาลอกคราบกลายเป็นตัวเต็มวัยบนผิวหนังของโฮสต์ต่อไป สำหรับชนิดของไรที่พบได้บ่อยในแมว มีชื่อว่า Demodex cati และในสุนัข มีชื่อว่า Demodex canis หรือที่รู้จักกันในนาม dog follicular mite สามารถพบได้ทั่วไปบนร่างกายของสุนัข และสัตว์ตระกูลสุนัข โดยอาจพบได้เป็นปกติโดยไม่ก่อให้เกิดโรค แต่เมื่อสุนัขมีร่างกายที่อ่อนแอ เช่น เจ็บป่วย อาจส่งผลให้ไรเกิดการเพิ่มจำนวนผิดปกติ และก่อให้เกิดโรคตามมาได้ การรักษาสามารถทำได้โดยการให้ยา ivermectin แบบฉีด 300-600 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ฉีดใต้ผิวหนังสัปดาห์ละครั้ง เป็นจำนวน 4 ครั้ง ร่วมไปกับการแนะนำให้เจ้าของใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันปรสิตภายนอกที่สามารถออกฤทธิ์ป้องกันไรได้ เช่น ยาในกลุ่มของ isoxazoline เป็นต้น

2. Sarcoptes scabiei : หรือที่เจ้าของหลายท่านมักรู้จักกันในชื่อ “ไรขี้เรื้อนแห้ง” จัดเป็นไรชนิดขุดโพรงที่สามารถพบได้ในสัตว์หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นสุนัข สุกร หรือกระบือ เป็นสาเหตุของการเกิดโรคขี้เรื้อนในสุนัข ส่งผลให้สุนัขแสดงอาการคันอย่างรุนแรง เกาจนขนร่วง เป็นแผล มีตุ่มสะเก็ดและผิวลอก โดยสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะไรเพศผู้และเพศเมียตัวเต็มวัยจะขุดโพรงเพื่ออาศัยอยู่ภายใต้ผิวหนังส่วน epidermis ในชั้น stratum corneum และผสมพันธุ์ วางไข่ภายในโพรง วนเวียนเช่นนี้เรื่อยไป ไรที่อาศัยอยู่ภายในโพรงนี้เองจะหลั่งน้ำย่อยออกมาย่อยสลายเนื้อเยื่อ เพื่อดูดกินเป็นสารอาหาร ส่งผลทำให้เกิดการระคายเคือง อักเสบ หากปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลานาน ผิวหนังจะหนาตัวขึ้น หยาบ ย่น และมีสะเก็ดปกคลุม บริเวณที่พบอาการได้บ่อย คือ บริเวณขอบใบหู ใบหน้า ขา ลำตัว หรือทั่วทั้งลำตัว ทั้งนี้พบว่าไข่ของไรขี้เรื้อนแห้งสามารถมีชีวิตอยู่นอกตัวโฮสต์ได้ชั่วคราว หากมีความชื้น และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ทั้งนี้การติดต่อของไรขี้เรื้อนแห้ง มักพบในรูปแบบของการสัมผัสโดยตรง (direct contact) เช่น สัมผัสสัตว์ที่เป็นโรคขี้เรื้อนโดยตรง นอนบนเบาะ หรือผ้ารองนอนร่วมกัน ซึ่งสามารถหลีกเลี่ยงได้โดยการดูแลรักษาความสะอาดสิ่งแวดล้อม และแยกสัตว์ป่วยออกจากสัตว์ที่มีสุขภาพดี สำหรับการรักษาสามารถทำได้โดยการให้ยา ivermectin แบบฉีดในขนาด 300 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ฉีดใต้ผิวหนังสัปดาห์ละครั้ง เป็นจำนวน 4 ครั้ง ร่วมไปกับการแนะนำให้เจ้าของใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันปรสิตภายนอกที่สามารถออกฤทธิ์ป้องกันไรได้ เช่น ยาในกลุ่มของ isoxazoline เป็นต้น

3. Notoedres cati : หรือที่รู้จักกันในนาม Notoedric mange จัดเป็นไรชนิดขุดโพรงที่สามารถพบได้ในแมว มีลักษณะรูปร่างคล้าย Sarcoptes scabiei แต่มีขนาดเล็กกว่า เป็นสาเหตุของการเกิดโรคขี้เรื้อนในแมว ส่งผลให้แมวมีอาการคันมาก เกาบริเวณใบหน้า และหู ทำให้ผิวหนังเกิดการอักเสบ ผิวหนังหนาตัว และมีสีเข้มขึ้น (hyperkeratinization) ทั้งนี้ตลอดวงจรชีวิตของไรชนิดนี้จะอาศัยอยู่บนตัวโฮสต์ตลอดเวลา โดยจะขุดโพรงในผิวหนังชั้น stratum corneum และออกไข่ภายในโพรงเช่นเดียวกับไรชนิดอื่น ๆ การติดต่อมักเกิดขึ้นจากการสัมผัสโดยตรง การป้องกันและแยกสัตว์ป่วยออกจากสัตว์สุขภาพดีจึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่างไรก็ตามไรชนิดนี้สามารถพบได้ในประเทศไทยแต่ไม่บ่อยมากนัก สำหรับการรักษาสามารถทำได้โดยการให้ยา ivermectin ชนิดฉีดในขนาด 300 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ฉีดใต้ผิวหนังทุก 1-2 สัปดาห์ ร่วมไปกับการแนะนำให้เจ้าของใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันปรสิตภายนอกที่สามารถออกฤทธิ์ป้องกันไรได้ เช่น ยาในกลุ่มของ isoxazoline เป็นต้น

การจัดการ “ไร” นับเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สัตวแพทย์ควรแนะนำให้เจ้าของสัตว์ทำเป็นประจำสม่ำเสมอ เพราะการใช้ยาต้านปรสิตภายนอกในปัจจุบันมีความปลอดภัยสูง และได้ผลดี โดยควรทำร่วมไปกับการดูแลรักษาความสะอาดสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยให้ทั้งเจ้าของสัตว์ และตัวสัตว์มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

บรรณานุกรม

1. ESCCAP. 2022. Control of Ectoparasites in Dogs and Cats. ESCCAP Guideline (7), 7-10. Available online at: https://www.esccap.org/uploads/docs/4ce0ad9k_0720_ESCCAP_GL3__English_v17_1p.pdf

2. Miller W. H., Jr., Griffin C. E., Campbell K. L. 2012. Parasitic skin disease. Muller and Kirk's Small Animal Dermatology. (7), 284–342.

3. Tiawsirisup S. 2011. Mite. Ectoparasites of Domestic Animals. (2), 227-253.