พยาธิหนอนหัวใจ (ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Dirofilaria immitis)
คือพยาธิในระบบหมุนเวียนเลือดที่สำคัญในสัตว์เลี้ยง มีโฮสต์แท้ (definitive
hosts) คือสุนัขและสัตว์ป่าในตระกูลสุนัข มียุงเป็นพาหะนำโรค (vector for
transmission) และสุนัขจะติดพยาธิชนิดนี้ผ่านทางการโดนยุงกัด
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีผลิตภัณฑ์ในการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจหลากหลายยี่ห้อ
แต่ด้วยการก่อโรคที่ใช้ระยะเวลานาน (ระยะ patent infection
หรือระยะที่พยาธิหนอนหัวใจจะเจริญเติบโตเต็มที่จนเกิดการขยายพันธุ์
และจะสามารถพบตัวอ่อนระยะไมโครฟิลาเรียในกระแสเลือดนั้นใช้ระยะเวลายาวนานกว่า
7-9 เดือน) ส่งผลให้เจ้าของหลายท่านละเลยการป้องกันโรคดังกล่าว
และส่งผลให้โรคพยาธิหนอนหัวใจยังคงสามารถพบได้ทั่วไปโดยเฉพาะในสุนัขที่ไม่ได้รับการป้องกันอย่างเหมาะสม
โรคพยาธิหนอนหัวใจสามารถทำการรักษาให้หายขาดได้หากได้รับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาอย่างทันท่วงที
อย่างไรก็ตามสุนัขที่ไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดการสะสมของพยาธิหนอนหัวใจภายในระบบหมุนเวียนเลือด
จนเกิดเป็นภาวะพยาธิหนอนหัวใจอุดตัน หรือที่เรียกว่า canine caval syndrome
บทความนี้จะพาคุณหมอไปทำความรู้จักกับภาวะดังกล่าว การตรวจวินิจฉัย
การรักษา ตลอดจนการป้องกัน
เพื่อช่วยให้คุณหมอสามารถรับมือและให้คำแนะนำในการป้องกันกับเจ้าของได้อย่างเหมาะสมต่อไป
Canine caval syndrome หรือ ภาวะพยาธิหนอนหัวใจอุดตัน
คือภาวะที่เกิดขึ้นจากการที่พยาธิหนอนหัวใจตัวเต็มวัยจำนวนมากเกิดการสะสมและอุดตันบริเวณหัวใจห้องล่างขวา
(right ventricle) ห้องบนขวา (right atrium) และหลอดเลือดเวนาคาวา (vena
cava) (รูปที่ 1 และรูปที่ 2) ส่งผลให้การสูบฉีดเลือดไปส่วนต่าง ๆ
ของร่างกายเกิดความผิดปกติ สุนัขจะเกิดภาวะลิ้นหัวใจไตรคัสปิดรั่ว
(tricuspid regurgitation) ภาวะหัวใจห้องล่างขวาผิดปกติ (compromised right
ventricular filling) หรือภาวะระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว (circulatory
collapse) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเฉียบพลันได้
รูปที่ 1 แสดงพยาธิหนอนหัวใจในหลอดเลือดเวนาคาวา (Stephen, LJ., 2015.)
รูปที่ 2 แสดงพยาธิหนอนหัวใจในอุดตันในหัวใจห้องล่างขวา (right
ventricle) (Stephen, LJ., 2015.)
ทั้งนี้ในภาวะปกติ สุนัขที่ป่วยด้วยโรคพยาธิหนอนหัวใจ
แต่ไม่เกิดภาวะพยาธิหนอนหัวใจอุดตัน
มักตรวจพบตัวพยาธิที่บริเวณหลอดเลือดพัลโมนารีอาร์เทอรี (pulmonary
arteries)
ซึ่งเป็นหลอดเลือดที่นำเลือดออกจากหัวใจห้องล่างขวาเข้าสู่ปอดมากกว่าภายในหัวใจ
โดยสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเป็นเพราะพยาธิหนอนหัวใจเป็นปรสิตที่เคลื่อนไหวได้ช้า
ไม่มีความสามารถในการว่าย หรือเกาะติดกับหลอดเลือดเหมือนพยาธิชนิดอื่น
เมื่อหัวใจเกิดการบีบตัว
แรงดันเลือดจะส่งผลให้พยาธิหนอนหัวใจออกจากหัวใจเข้าสู่หลอดเลือดพัลโมนารีอาร์เทอรีต่อไป
แต่เมื่อใดก็ตามที่สุนัขเกิดการสะสมของพยาธิหนอนหัวใจตัวเต็มวัยในหลอดเลือดพัลโมนารีอาร์เทอรีจำนวนมาก
ช่องว่างภายในหลอดเลือดจะเกิดการตีบแคบลง (intimal thickening)
การตอบสนองทางระบบภูมิคุ้มกันกระตุ้นให้เกิดภาวะการจับตัวของแอนติเจนและแอนติบอดี
(antigen-antibody complexes) และพยาธิหนอนหัวใจตายลง
กระตุ้นให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน (thromboembolism)
เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนส่งผลให้แรงต้านทานภายในหลอดเลือด (vascular
resistance) เพิ่มสูงขึ้น แรงดันเลือดออกจากหัวใจ (forward flow) ลดลง
และแรงดันเลือดภายในหลอดเลือดอาร์เทอร์รี่ (arterial blood flow)
ลดลงตามไปด้วย
ส่งผลให้พยาธิหนอนหัวใจเกิดการสะสมที่บริเวณหัวใจห้องล่างขวามากขึ้น
พยาธิจะรบกวนการทำงานของลิ้นหัวใจไตรคัสปิด
และเกิดเป็นภาวะพยาธิหนอนหัวใจอุดตันตามมาได้ในท้ายที่สุด
การตรวจวินิจฉัยภาวะพยาธิหนอนหัวใจอุดตัน สามารถทำได้ดังนี้
1. การซักประวัติ :
การซักประวัตินับว่ามีความสำคัญกับการตรวจวินิจฉัยภาวะพยาธิหนอนหัวใจอุดตันเป็นอย่างมาก
โดยสัตวแพทย์ควรซักประวัติโดยเน้นไปที่ระยะเวลาก่อนการแสดงอาการและประวัติการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจในสุนัข
โดยสุนัขที่มีแนวโน้มป่วยด้วยภาวะพยาธิหนอนหัวใจอุดตันมักเป็นสุนัขที่ไม่ได้รับการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ
หรือป้องกันอย่างไม่ต่อเนื่อง
เลี้ยงปล่อยและแสดงอาการอย่างกระทันหันด้วยภาวะอ่อนแรง และหอบหายใจ เป็นต้น
2. การตรวจร่างกาย :
สุนัขที่ป่วยด้วยภาวะพยาธิหนอนหัวใจอุดตันมักพบว่ามีอาการอ่อนแรง
(lethargy) และหายใจลำบาก (respiratory distress) อย่างเฉียบพลัน
นอกจากนี้ยังอาจพบภาวะอื่นร่วม เช่น
เส้นเลือดดำที่คอโป่งพองจนสามารถสังเกตเห็นได้ชัด (jugular distension)
ภาวะดีซ่าน ตัวเหลือง (mild icterus) ท้องมาน (mild to severe ascites)
ตับโต (mild to severe hepatomegaly) ม้ามโต (mild to severe splenomegaly)
เสียงปอดดังผิดปกติ (harsh lung sounds) โดยอาจพบเสียงอากาศผ่านของเหลว
(crackle lung sounds) ร่วมด้วย สีเหงือกซีด (pale mucous membranes)
โดยเมื่อใช้มือกดพบว่าเลือดกลับเข้ามายังเหงือกช้า (delayed capillary
refill time) เมื่อฟังเสียงหัวใจได้ยินเสียงฟู่ของลิ้นหัวใจไตรคัสปิด
(tricuspid murmur) รวมไปถึงการจับชีพจรบริเวณรยางค์พบว่าชีพจรอ่อนแรง
(weak peripheral pulses) เป็นต้น
3. การใช้เครื่องมือตรวจวินิจฉัย :
เมื่อการซักประวัติและอาการแสดงออกของสุนัขบ่งชี้ว่าสุนัขมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะพยาธิหนอนหัวใจอุดตัน
สัตวแพทย์ควรใช้เครื่องมือตรวจวินิจฉัยเพื่อยืนยันการเกิดโรคให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันการเสียชีวิตอย่างกระทันหันในสุนัข
โดยอาศัยวิธีการ ดังนี้
3.1. การตรวจปัสสาวะ (urinalysis) :
สุนัขที่ป่วยด้วยภาวะนี้มักตรวจพบปัสสาวะมีสีแดงเข้ม (dark red urine)
หรือสีดำคล้ายกาแฟ (black coffee-colored urine) (รูปที่ 3)
ซึ่งบ่งบอกถึงภาวะปัสสาวะมีฮีโมโกลบินปน ขั้นรุนแรง (severe
hemoglobinuria) อันเป็นผลมาจากการเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก (hemolysis)
นอกจากนี้ยังมักตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ (proteinuria) และบิลิรูบินในปัสสาวะ
(bilirubinuria) ร่วมด้วย
ทั้งนี้หากนำตัวอย่างปัสสาวะไปส่องกล้องเพื่อตรวจหาตะกอนอาจพบตัวอ่อนระยะไมโครฟิลาเรียปะปนออกมากับปัสสาวะได้อีกด้วย
รูปที่ 3
แสดงลักษณะปัสสาวะสีแดงเข้มในสุนัขที่ป่วยด้วยภาวะพยาธิหนอนหัวใจอุดตัน
(A) และการใช้เทคนิคการเจาะเก็บปัสสาวะในสุนัข (cystocentesis) (B)
(Stephen, LJ., 2015.)
3.2. การตรวจพยาธิหนอนหัวใจ (heartworm test) :
การตรวจหาพยาธิหนอนหัวใจสามารถทำได้ 2 วิธี คือ การใช้ชุดตรวจเพื่อตรวจหา
antigen
ของพยาธิหนอนหัวใจในกระแสเลือดและการตรวจหาตัวอ่อนระยะไมโครฟิลาเลียด้วยวิธีการ
modified KnottU+2019s concentration technique หรือ filtration test
อย่างไรก็ตามหากผลตรวจที่ได้ให้ผลลบ
แต่สุนัขกลับแสดงอาการต้องสงสัยของโรคพยาธิหนอนหัวใจ
สัตวแพทย์ควรคำนึงถึงปัจจัยที่อาจทำให้เกิดผลลบลวง (false negative result)
เช่น การเกิดการจับตัวกันของแอนติเจนและแอนติบอดี
หรือการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่ส่งผลให้ระดับไมโครฟิลาเรียในกระแสเลือดลดลง
และทำการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีการอื่นร่วมด้วย
3.3. การอัลตราซาวด์หัวใจ (cardiac ultrasonography) :
การอัลตราซาวด์หัวใจนับเป็นการตรวจยืนยันการเกิดภาวะพยาธิหนอนหัวใจอุดตัน
โดยสุนัขที่ป่วยด้วยภาวะนี้จะตรวจพบพยาธิหนอนหัวใจตัวเต็มวัยจำนวนมากบริเวณหัวใจห้องบนขวา
ล่างขวา และบริเวณลิ้นหัวใจไตรคัสปิด (รูปที่ 4)
รูปที่ 4
แสดงผลการอัลตราซาวด์หัวใจโดยที่ลูกศรในรูปชี้เส้นสีขาวลักษณะขนานกันซึ่งบ่งบอกถึงการพบพยาธิหนอนใจ
(Stephen, LJ., 2015.)
การรักษาภาวะพยาธิหนอนหัวใจอุดตันสามารถทำได้ด้วยการผ่าตัดเอาพยาธิหนอนหัวใจออกจากหัวใจ
โดยสุนัขที่เริ่มแสดงอาการและไม่ได้รับการผ่าตัดมักพบว่าเสียชีวิตภายในระยะเวลาไม่กี่วัน
นอกจากนี้การพยากรณ์โรค (prognosis) ยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
ทั้งสุขภาพร่างกายของสุนัข อายุ โรคอื่น ๆ ที่สุนัขเป็น
ตลอดจนระยะเวลาการเกิดโรค
ส่งผลให้ไม่สามารถพยากรณ์โรคได้ว่าสุนัขจะมีชีวิตรอดภายหลังการรักษาได้เป็นระยะเวลานานหรือไม่
โดยจากการศึกษาพบว่าการพยากรณ์โรคมักเป็นไปตามตารางที่ 1 ดังนี้
การรักษา | ผลการรักษา | การพยากรณ์โรค |
---|---|---|
ไม่ได้รับการผ่าตัด | เกิดภาวะพยาธิหนอนหัวใจอุดตัน | แย่มาก (grave) |
การผ่าตัดสำเร็จ | สุนัขกลับมามีอาการปกติภายใน 24 ชั่วโมง | ดีมาก (excellent) |
สุนัขกลับมามีอาการปกติภายในระยะเวลาไม่กี่วัน โดยไตและอวัยวะอื่น ๆ ภายในร่างกายสามารถกลับมาทำงานได้เป็นปกติ | ดี (good) | |
สุนัขยังคงแสดงอาการป่วย โดยพบการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายล้มเหลว | แย่ (poor) | |
สุนัขยังคงแสดงอาการป่วย โดยพบการอุดตันภายในหลอดเลือดที่บริเวณปอดและลิ้นหัวใจไตรคัสปิดทำงานผิดปกติ | แย่ (poor) | |
การผ่าตัดไม่สำเร็จ | ไม่สามารถผ่าตัดเอาพยาธิหนอนหัวใจออกจากร่างกายของสุนัขได้ | แย่มาก (grave) |
ตารางที่ 1
แสดงการพยากรณ์โรคของการรักษาภาวะพยาธิหนอนหัวใจอุดตันในสุนัข
(Stephen, LJ., 2015.)
การป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ
นับเป็นหัวใจสำคัญของการป้องกันการเกิดภาวะพยาธิหนอนหัวใจอุดตันในสุนัข
โดยสัตวแพทย์ควรให้ความรู้กับเจ้าของได้เข้าใจถึงกลไกการเกิดโรค
และความอันตรายของภาวะดังกล่าว
พร้อมทั้งแนะนำให้เจ้าของใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันพยาธิหนอนหัวใจกับสุนัขอย่างสม่ำเสมอ
เป็นประจำทุกเดือนอย่างต่อเนื่อง
โดยตัวยาที่ได้รับการรับรองให้สามารถใช้ได้ในสุนัข มีความปลอดภัยสูง
และสามารถใช้ได้ผลดีในการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ คือยาในกลุ่ม macrocyclic
lactone เช่น ivermectin, milbemycin oxime, moxidectin และ selamectin
โดยในปัจจุบันได้มีการนำตัวยามาผสมร่วมกันกับตัวยาชนิดอื่น ๆ
หรือที่เรียกว่า ยาสูตรผสม (combination drug)
เพื่อเสริมประสิทธิภาพของการป้องกันปรสิตให้ป้องกันได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
เช่น การนำตัวยา milbemycin oxime ซึ่งมีฤทธิ์ในการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ
รวมถึงพยาธิในระบบทางเดินอาหาร เช่น พยาธิตัวกลม พยาธิปากขอ และพยาธิแส้ม้า
มารวมกับตัวยา afoxolaner ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม isoxazoline
เพื่อช่วยในการป้องกันปรสิตภายนอก เช่น เห็บ หมัด และไร
นับเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่สัตวแพทย์สามารถแนะนำให้แก่เจ้าของได้
Canine caval syndrome หรือ ภาวะพยาธิหนอนหัวใจอุดตัน
คือภาวะอันตรายของโรคพยาธิหนอนหัวใจและมักเกิดขึ้นอย่างกระทันหัน
สัตวแพทย์ควรแนะนำให้เจ้าของรู้จักกับโรคนี้
พร้อมทั้งแนะนำวิธีการป้องกันและดูแลอย่างเหมาะสมเพื่อช่วยให้สุนัขได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานกับโรคนี้ในอนาคตต่อไป
เอกสารอ้างอิง
1. American Heartworm Society. 2020. Current Canine Guidelines for the
Prevention, Diagnosis and Management of Heartworm (Dirofilaria immitis)
Infection in Dogs. [online]. Available :
https://d3ft8sckhnqim2.cloudfront.net/images/pdf/AHS_Canine_Guidelines_11_13_20.pdf?1605556516.
Accessed date : 30 June 2023.
2. Centers for Disease Control and Prevention (CDC). 2019.
Dirofilariasis. [online]. Available :
https://www.cdc.gov/dpdx/dirofilariasis/index.html. Accessed date : 30
June 2023.
3. Hitoshi, K., Katsuya, K., Yasunori, O. and Yoshihide, S. 2003.
Heartworm Caval Syndrome: Pathophysiology. [online]. Available :
https://www.vin.com/apputil/content/defaultadv1.aspx?pId=8768&catId=18809&id=3850144.
Accessed date : 30 June 2023.
4. Stephen, LJ., 2015. Canine Caval Syndrome Series, Part 1:
Understanding Development of Caval Syndrome. [online]. Available :
https://todaysveterinarypractice.com/parasitology/caval-syndrome-development/.
Accessed date : 30 June 2023.
5. Stephen, LJ., 2015. Canine Caval Syndrome Series, Part 2: A Practical
Approach to Diagnosing Caval Syndrome. [online]. Available :
https://todaysveterinarypractice.com/parasitology/caval-syndrome-diagnosis/.
Accessed date : 30 June 2023.
6. Stephen, LJ., 2015. Canine Caval Syndrome Series, Part 3: Management
of Caval Syndrome. [online]. Available :
https://todaysveterinarypractice.com/parasitology/canine-caval-syndrome-management/.
Accessed date : 30 June 2023.
7. Strickland, KN. 1998. Canine and feline caval syndrome. Clin Tech
Small Anim Pract. 13(2):88-95.