อาการปวดซึ่งมีสาเหตุมาจากการอักเสบนับเป็นหนึ่งในอาการที่คุณหมอสามารถพบเจอได้บ่อยทางคลินิก การใช้ยาต้านอักเสบ โดยเฉพาะยาในกลุ่มของ non-steroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs) จึงเข้ามามีบทบาทต่อการรักษาอาการดังกล่าวเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามการใช้ยาย่อมมีข้อจำกัด และข้อควรระวังที่สัตวแพทย์ควรทราบเพื่อให้สามารถทำการรักษาได้อย่างเหมาะสม บทความนี้จะพาคุณหมอไปทำความรู้จักกับ meloxicam หนึ่งในยาต้านอักเสบที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน
Meloxicam คือยาต้านอักเสบในกลุ่ม NSAIDs ที่สามารถใช้ได้ทั้งในสุนัขและแมว โดยมีการศึกษาพบว่าตัวยาดังกล่าวมีการออกฤทธิ์แบบ selective COX-2 inhibitors ซึ่งสามารถออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase-2 (COX-2) ได้มากกว่า COX-1 ส่งผลทำให้ลดการสร้าง prostaglandins (PGs) และ thromboxane (TXs) ซึ่งเป็น pro-inflammatory mediators ที่ทำให้เกิดอาการอักเสบ ตัวยาจึงสามารถออกฤทธิ์ลดไข้ บรรเทาอาการปวด และระงับการอักเสบได้
จากการศึกษาทางเภสัชจลนศาสตร์ (pharmacokinetics) พบว่า meloxicam มีคุณสมบัติในการจับโปรตีนได้สูง (highly protein bound drug) และมีค่าครึ่งชีวิตอยู่ที่ 23-24 ชั่วโมงในสุนัข และ 15-26 ชั่วโมงในแมว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบ และลักษณะการให้ยา โดยตัวยาถูกดูดซึมและกระจายตัวได้เป็นอย่างดีเมื่อให้ยาโดยการกินหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (volume of distribution ในสุนัขอยู่ที่ 0.3 L/kg และในแมวอยู่ที่ 0.09 L/kg) โดยพบว่าตัวยาส่วนใหญ่ถูก metabolize ที่ตับ และขับออกทางน้ำดี อุจจาระ และปัสสาวะ
สำหรับข้อบ่งใช้ของยา meloxicam คือลดไข้ บรรเทาอาการปวด และระงับการอักเสบ โดยข้อบ่งใช้ในแมวคือแก้ปวดและระงับอาการอักเสบหลังการผ่าตัดกระดูก (orthopedic surgery) การผ่าตัดมดลูก (ovariohysterectomy) และการผ่าตัดทำหมัน (castration) เมื่อให้ยาก่อนการผ่าตัด และข้อบ่งใช้ในสุนัขคือบรรเทาอาการปวดจากปัญหาข้ออักเสบ (arthritis) ตลอดจนความเจ็บปวดจากมะเร็ง การผ่าตัด และการติดเชื้อบริเวณฟัน
Meloxicam มีหลายรูปแบบ ทั้งในรูปแบบของยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทาน (oral suspension) ในขนาด 0.5 และ 1.5 mg/ml รูปแบบยาฉีด (injection) ในขนาด 5 mg/ml และรูปแบบยาเม็ด (tablet) ยาเม็ดเคี้ยว (chewable tablet) ในขนาด 1 และ 2.5 mg โดยการให้ในสุนัขเป็นการให้ในลักษณะ loading dose เริ่มต้นด้วยขนาด 0.2 mg/kg PO, SC ครั้งแรก จากนั้นตามด้วยยาขนาด 0.1 mg/kg PO, SC ทุก 24 ชั่วโมง และในแมวให้ขนาด 0.05 mg/kg PO ทุก 24 ชั่วโมง หรือให้ยาในลักษณะฉีดครั้งเดียว (single SC injection) ในขนาด 0.2 mg/kg และตามด้วยการกินขนาด 0.05 mg/kg PO (ไม่เกิน 4 ครั้ง) หรือให้ยาในลักษณะฉีดครั้งเดียว (single SC injection) ในขนาด 0.3 mg/kg ครั้งเดียวในรายที่ไม่สามารถป้อนยาต่อเนื่องได้
สำหรับข้อควรระวังในการใช้ยา meloxicam ควรระมัดระวังการใช้ในรายที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคตับและไต เนื่องจากยาถูกเมแทบอไลซ์ (metabolize) และขับออกที่อวัยวะดังกล่าวตามลำดับ เมื่อมีการใช้ยาจึงควรตรวจเลือดเพื่อพิจารณาการทำงานของตับและไตอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง หรือปริมาณยาในขนาดสูง นอกจากนี้ยังควรระมัดระวังผลไม่พึงประสงค์ต่อระบบทางเดินอาหารและการแข็งตัวของเลือด โดยเฉพาะในสัตว์ที่มีปัญหาเกี่ยวกับความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด (bleeding disorders) ควรระมัดระวังการใช้ในสัตว์ที่มีปัญหาแห้งน้ำ (dehydrated) สัตว์ที่กำลังได้รับยาขับปัสสาวะ (diuretics) หรือยาที่มีฤทธิ์เป็นพิษต่อไต (nephrotoxic drugs) ตลอดจนได้รับยาสลบที่ส่งผลต่อ renal perfusion เพราะมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยาได้สูง
Meloxicam คือยาต้านอักเสบในกลุ่ม NSAIDs ที่มีความสำคัญทางการสัตวแพทย์ เพราะสามารถใช้ได้ทั้งในสุนัข และแมว เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่สามารถช่วยในการจัดการปัญหาที่เกิดจากการอักเสบในสัตว์ อีกทั้งยังมีการใช้อย่างแพร่หลายในสถานพยาบาลสัตว์ในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ยามีผลข้างเคียง และข้อควรระวังบางประการซึ่งสัตวแพทย์ควรคำนึงถึงทุกครั้งก่อนการให้ยา เพื่อความปลอดภัยในการช่วยให้สัตว์บรรเทาความทุกข์จากป่วยและกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีดังเดิม
อ้างอิง
Lascelles, B.D.X., McFarland, J.M. and Swann, H. 2005. Guidelines for safe and effective use of NSAIDs in dogs. Vet Ther. 6(3), 237-251.
Riviere, J.E. and Papich, M.G. 2017. Analgesic, Antiinflammatory, Antipyretic Drugs. J Vet Pharmacol Ther. 10th ed. Wiley, USA. 467-500.
Wendy B. 2004. Meloxicam (Metacam). [online]. Available: https://veterinarypartner.vin.com/default.aspx?pid=19239&id=4952109. Accessed 3 August 2022.