ทำความรู้จัก Pimobendan ยารักษาโรคหัวใจในสุนัข
โรคลิ้นหัวใจเสื่อม (degenerative mitral valve disease; DMVD) นับเป็นหนึ่งในโรคที่สามารถพบเจอได้บ่อย โดยเฉพาะในสุนัขสูงอายุ เมื่อโรคนี้ดำเนินไปจนถึงระยะหนึ่งจะส่งผลให้เกิดการรั่วของลิ้นหัวใจ (mitral regurgitation) และเกิดการคั่งค้างของเลือดในหัวใจตามมา การรั่วนี้จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะหัวใจโต จนในท้ายที่สุดหัวใจอาจสูญเสียความสามารถในการทำงาน และไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้เพียงพอต่อความต้องการ ระยะนี้เองที่เรียกว่าภาวะหัวใจล้มเหลว (congestive heart failure; CHF) ซึ่งส่งผลอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นการเลือกใช้ยาเพื่อทำการรักษาสัตว์ป่วยอย่างเหมาะสมจึงเป็นส่วนสำคัญ ยาที่มีบทบาทในการชะลอการดำเนินไปของโรคหัวใจที่จะนำมาซึ่งภาวะหัวใจล้มเหลว ตลอดจนช่วยรักษาเมื่อสัตว์เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวแล้ว นั่นคือ pimobendan
Pimobendan คือยาในกลุ่ม positive inotropic drug จัดเป็น benzimidazole pyridazione derivative ซึ่งมีคุณสมบัติเป็น calcium sensitizer ออกฤทธิ์ในการกระตุ้น และเพิ่มการบีบตัวของหัวใจ โดยการทำงานของ pimobendan มีกลไกการออกฤทธิ์ ดังนี้
1. ออกฤทธิ์เป็น calcium sensitizer ในการเพิ่มความไวของแคลเซียมต่อการจับกับ troponin C ช่วยเพิ่มการบีบตัวของหัวใจโดยไม่เพิ่มความต้องการออกซิเจนของกล้ามเนื้อ
2. ออกฤทธิ์เป็น phosphodiesterase (PDE)-III inhibutor ในการยับยั้ง phosphodiesterase III ซึ่งทำหน้าที่ในการเปลี่ยน cyclic AMP ให้กลายเป็น 5AMP เมื่อ cyclic AMP ไม่ถูกเปลี่ยนไป และมีปริมาณมากขึ้น จะส่งผลให้เกิดการเพิ่มการสะสมแคลเซียมภายในเซลล์ ช่วยในการขยายของหลอดเลือดทั้งหลอดเลือดแดง และหลอดเลือดดำ ส่งผลให้ afterload ลดลง และเพิ่มปริมาตรเลือดออกจากหัวใจมากขึ้น
3. ออกฤทธิ์ในการเพิ่มความเร็วในการบีบตัวของหัวใจด้วยการเพิ่มความเร็วในการดูดกลับแคลเซียมเข้าสู่แหล่งเก็บภายในเซลล์ endoplasmic reticulum
ข้อบ่งใช้ตามเอกสารกำกับยาระบุว่าสามารถใช้ในการควบคุมภาวะหัวใจล้มเหลวทั้งในรายที่ป่วยด้วยโรคลิ้นหัวใจเสื่อม และโรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดห้องหัวใจขยายใหญ่ (dilated cardiomyopathy; DCM) ร่วมกับการใช้ยาในกลุ่มอื่น ๆ ตามความเหมาะสม เช่น ยาขับปัสสาวะ หรือยาในกลุ่ม angiotensin-converting enzyme inhibitors (ACEi) เป็นต้น ทั้งนี้ตามคำแนะนำของการรักษาสัตว์ป่วยโรคลิ้นหัวใจเสื่อม (ACVIM consensus guidelines for the diagnosis and treatment of myxomatous mitral valve disease in dogs) ได้แนะนำให้เริ่มการให้ยา pimobendan ตั้งแต่พบว่าสัตว์ป่วยอยู่ใน stage B2 ซึ่งเป็นภาวะที่หัวใจมีการไหลย้อนของเลือดมากขึ้นจนร่างกายมีการหมุนเวียนเลือดที่ผิดปกติ เนื่องจากพบว่าการให้ยา pimobendan สามารถช่วยชะลอการเกิดภาวะหัวใจวายได้ ตลอดจนสามารถเพิ่ม median survival time หรือระยะเวลาการมีชีวิตอยู่ของสัตว์ป่วยได้นานกว่าสุนัขกลุ่มที่ไม่ได้รับยาอย่างมีนัยสำคัญ ในส่วนนี้คุณหมอสามารถศึกษาผลการทดลองเพิ่มเติมได้จากงานวิจัยที่มีชื่อว่า “Quality of life and extension of survival time; QUEST” โดย Häggström และคณะ ในปี 2008 และ “Evaluation of pimobendan in dogs with cardiomegaly caused by preclinical mitral valve disease; EPIC” โดย Boswood และคณะ ในปี 2016 ต่อไป
สำหรับขนาดและช่วงเวลาการให้ยาที่แนะนำ คือ ขนาด 0.25-0.3 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทุก 12 ชั่วโมง โดยแนะนำให้กินก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง เนื่องจากพบว่าหากให้ยาหลังมื้ออาหาร การดูดซึมของอาหารสามารถส่งผลรบกวนต่อการดูดซึมยาได้ นอกจากนี้ ไม่แนะนำให้ให้ยา pimobendan ควบคู่กับยาในกลุ่ม calcium channel blocker หรือ calcium antagonist เช่น verapamil หรือ diltiazem และยาในกลุ่มของ beta-blocker หรือ beta antagonist เช่น propranolol หรือ atenolol เนื่องจากกลไกการทำงานของตัวยาอาจส่งผลให้เกิดปฏิกริยาขัดแย้งซึ่งกันและกันได้
ผลข้างเคียงของการให้ยาที่สามารถพบได้มักเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ความอยากอาหารลดลง หรือท้องเสีย นอกจากนี้ยังอาจพบอาการซึม ภาวะหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ ภาวะความดันโลหิตต่ำ และภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติร่วมด้วยได้ ภายหลังการให้ยาจึงควรให้เจ้าของสังเกตอาการสุนัขอย่างใกล้ชิด หากพบความผิดปกติ หรือพบว่าสุนัขแพ้ต่อยาควรหยุด และปรับเปลี่ยนแผนการรักษาต่อไป ทั้งนี้ ไม่ควรให้ยาในสัตว์ที่ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ (hypertrophic cardiomyopathy; HCM) โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ (aortic stenosis) หรือภาวะอื่นใดที่การเพิ่ม cardiac input ไม่เหมาะสมต่อการรักษาโรค เนื่องจากตัวยาอาจทำให้อาการ และรอยโรคแย่ลง สำหรับในลูกสุนัขอายุน้อยกว่า 6 เดือน สุนัขกลุ่มที่ป่วยด้วยโรคทางระบบอื่น ๆ (metabolism disorder) เช่น เบาหวาน หรือแม่สุนัขที่กำลังให้นมลูก ยังไม่มีรายงานถึงความปลอดภัย หรือความเสี่ยงของการใช้ยา หากจำเป็นต้องได้รับการรักษา สัตวแพทย์ควรติดตามความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดต่อไป
Pimobendan คือหนึ่งในยาที่มีความสำคัญต่อการรักษาสุนัขที่ป่วยโรคลิ้นหัวใจเสื่อมในปัจจุบัน การทำความเข้าใจต่อตัวยาเพื่อเลือกใช้ยาได้อย่างเหมาะสมจากคุณหมอ ร่วมกับการให้ความรู้กับเจ้าของเพื่อใช้ยาได้อย่างถูกวิธี จะช่วยให้สุนัขสามารถมีชีวิตอยู่กับโรคหัวใจได้อย่างมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป
อ้างอิง
1. Bruce, WK., Clarke, EA., John, DB., Philip, RF., Jens, H., Virginia, LF., Mark, AO., John, ER., Rebecca, S. and Masami, U. 2019. ACVIM consensus guidelines for the diagnosis and treatment of myxomatous mitral valve disease in dogs. J Vet Intern Med. 33(3): 1127-1140.
2. Mark, GP. 2016. Pimobendan. In: Saunders Handbook of Veterinary Drugs. 4th edition. 638-640.
3. Rania, G. 2022. Pimobendan. [onlline]. Available : https://vcahospitals.com/know-your-pet/pimobendan. Accessed 20 October 2022.