Toxocara cati คือพยาธิตัวกลม ในระบบทางเดินอาหารชนิดหนึ่งในแมวที่สามารถพบได้บ่อย มีรายงานการพบทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศเยอรมัน ฝรั่งเศส ไต้หวัน ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ในประเทศไทย เป็นปรสิตภายในที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ และเปรียบเสมือนภัยเงียบซึ่งคอยทำร้ายร่างกายแมวอยู่อย่างช้าๆ ส่งผลให้แมวเกิดอาการป่วย และอาจเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้ในแมวที่มีอายุน้อย นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อมาสู่คน โดยเฉพาะในเด็กเล็กได้อีกด้วย บทความนี้จะพาคุณหมอไปทำความรู้จักกับ T. cati อาการป่วยที่สามารถพบได้ในแมว ตลอดจนแนวทางการป้องกัน และรักษาเพื่อสามารถรับมือกับพยาธิชนิดนี้ และให้ความรู้กับเจ้าของได้อย่างเหมาะสมต่อไป
ข้อมูลทั่วไป : Toxocara cati คือพยาธิตัวกลมที่จัดอยู่ในอาณาจักร (kingdom) Animalia ไฟลัม (phylum) Nemathelminthes ชั้น (class) Nematoda อันดับ (order) Ascaridida วงศ์ (family) Ascaridoidea สกุล (genus) Toxocara =oชนิด (species) cati (รูปที่ 1) มีลักษณะรูปร่างตัวเต็มวัยเป็นทรงกระบอกยาว หัวท้ายเรียวแหลม มีความคล้ายคลึงกับท่อยาว ลำตัวมีสีครีมขาว มีขนาดความยาวเฉลี่ยที่ประมาณ 8-15 เซนติเมตร (3-6 นิ้ว) (รูปที่ 2) มีโฮสต์แท้ (definitive hosts) คือแมว และสัตว์ในตระกูลแมว (feline) เช่น เสือ หรือสิงโต เป็นต้น ลักษณะเด่นของพยาธิชนิดนี้ คือไม่มีการยึดเกาะกับผนังลำไส้ของแมวเพื่อดูดกินเลือดเหมือนกับพยาธิทางเดินอาหารชนิดอื่น แต่จะอาศัยการแย่งชิงสารอาหารที่แมวกินเข้าไปและส่งผลให้แมวได้รับสารอาหารน้อยลง นอกจากนี้ตัวอ่อนของพยาธิยังสามารถชอนไชไปยังอวัยวะต่างๆ (รูปที่ 3) ส่งผลให้เกิดอาการความผิดปกติ และการส่งต่อจากแม่ไปสู่ลูกผ่านทางน้ำนม ซึ่งเกิดจากการที่พยาธิชอนไชไปยังเต้านมแม่ได้อีกด้วย
Image
รูปที่ 1 แสดงอนุกรมวิธานของ Toxocara cati
Image
รูปที่ 2 แสดงลักษณะของ Toxocara cati เมื่อมองด้วยตาเปล่า (University of Saskatchewan, 2019.)
Image
รูปที่ 3 แสดงภาพ histopathology ของการชอนไชโดยตัวอ่อนของ T. cati ที่บริเวณเนื้อเยื่อปอดในแมว(University of Saskatchewan, 2019.)
การติดต่อ : โดยปกติแล้วในแมวโตจะได้รับไข่พยาธิ T. cati ผ่านทางพฤติกรรมการเลีย หรือการกินอาหารที่มีการปนเปื้อนของไข่พยาธิ ตลอดจนการกินสัตว์พาหะ เช่น หนู แมลงสาป ไส้เดือน นก หรือไก่ ส่งผลให้ไข่พยาธิเข้าสู่ร่างกาย และเกิดการฟักตัวในระบบทางเดินอาหารบริเวณลำไส้เล็ก สำหรับลูกแมวสามารถได้รับพยาธิผ่านทางการกินนมแม่ (transmammary infection) เนื่องจากตัวอ่อนของพยาธิสามารถชอนไชไปอยู่ที่บริเวณเต้านมแม่และติดต่อออกมากับน้ำนมได้ อย่างไรก็ตาม Toxocara cati ไม่มีการติดต่อผ่านทางรก (transplacental infection) เหมือนกับ Toxocara canis ที่สามารถพบได้ในสุนัข
วงจรชีวิตของ Toxocara cati : วงจรชีวิตของ T. cati ในแมว (รูปที่ 4) มีความคล้ายคลึงกับ Toxocara canis ในสุนัข แต่มีความแตกต่างกันในบางจุด ดังนี้
แมวโต : ได้รับไข่พยาธิเข้าสู่ร่างกายผ่านทางการกินอาหารที่ปนเปื้อน หรือเลียสิ่งแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนของไข่พยาธิ เช่น อุจจาระ หรือดิน จากนั้นตัวอ่อนจะเกิดการฟักตัว และชอนไชผ่านตับ ปอด (hepatopulmonary migration) ตลอดจนหลอดลม (tracheal migration) จากนั้นพยาธิจะกระตุ้นให้แมวเกิดการไอ และสำลัก ตัวอ่อนของพยาธิจะกลับเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารของแมว จากนั้นจะเจริญเติบโตจนกลายเป็นตัวเต็มวัยที่บริเวณลำไส้เล็ก ซึ่งลักษณะการชอนไชผ่านหลอดลมดังกล่าวสามารถพบได้ในแมวทุกช่วงอายุ ซึ่งมีความแตกต่างกับการติด Toxocara canis ที่มักไม่พบในสุนัขที่มีอายุมากกว่า 2 เดือนขึ้นไป นอกจากนี้ ในกรณีที่แมวได้รับไข่พยาธิผ่านทางการกินสัตว์พาหะ ไข่ของพยาธิจะเกิดการฟักตัวภายในระบบทางเดินอาหาร และเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยที่บริเวณลำไส้เล็ก โดยไม่เกิดการชอนไชผ่านตับ และปอด
ลูกแมว : นอกจากการได้รับไข่พยาธิผ่านทางการกินอาหาร หรือเลียสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนแล้ว ลูกแมวยังมีโอกาสได้รับไข่พยาธิผ่านทางการกินนมแม่ โดยตัวอ่อนของพยาธิจะเข้าไปเจริญเติบโตที่บริเวณลำไส้เล็ก โดยไม่เกิดการชอนไชผ่านตับ และปอด ทั้งนี้การติดพยาธิ T. cati ในแมวมักไม่พบการติดผ่านรกเหมือนกับ Toxocara canis ที่สามารถพบได้ในสุนัข
หลังจากแมวติดพยาธิ T. cati แมวจะมีระยะเวลาก่อนที่จะเกิดการแพร่โรคต่อไป (พยาธิผสมพันธุ์และออกไข่ปนเปื้อนออกมากับอุจจาระ) หรือที่เรียกว่า prepatent period เป็นระยะเวลาประมาณ 8 สัปดาห์ (6-7 สัปดาห์ในกรณีที่แมวได้รับเชื้อผ่านทางการกินนมแม่) จากนั้นไข่จะปนเปื้อนออกมากับอุจจาระซึ่งส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของพยาธิชนิดนี้ไปสู่สัตว์พาหะ สิ่งแวดล้อม ตลอดจนแมวตัวอื่นๆ ต่อไป
Image
รูปที่ 4 แสดง Toxocara cati ในแมว (Timothy, 2023)
อาการของโรค : แมวที่ติดพยาธิ T. cati อาจไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมาให้เห็น หรือหากแสดงอาการ มักแสดงอาการออกมาในลักษณะที่ไม่รุนแรง และมีความเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร และระบบทางเดินหายใจ เช่น เบื่ออาหาร ผอม ท้องเสีย พุงโต (pot-bellied appearance) อาเจียนมีพยาธิปน หรือไอ อันเนื่องมาจากการชอนไชของพยาธิผ่านปอดส่งผลให้ปอดเกิดการอักเสบตามมา อย่างไรก็ตามอาการของการติดพยาธิ T. cati ในแมวมักไม่รุนแรงจนก่อให้เกิดการเสียชีวิต และก่อให้เกิดการอุดตันในระบบทางเดินอาหารเหมือนกับการติด T. canis ในสุนัข
การตรวจวินิจฉัย : การซักประวัตินับว่ามีความสำคัญต่อการตรวจวินิจฉัยการติดพยาธิ T. cati เป็นอย่างมาก โดยสัตวแพทย์ควรสอบถามถึงพฤติกรรมของแมว ประวัติการถ่ายพยาธิ การป้องกันพยาธิภายใน ตลอดจนอาการที่แมวแสดงออกเพื่อประกอบการวินิจฉัยโรค นอกจากนี้สัตวแพทย์อาจใช้การตรวจหาไข่พยาธิในอุจจาระ โดยใช้เทคนิคการตรวจ simple floatation จากน้ันทำการส่องหาไข่พยาธิด้วยกล้องจุลทรรศน์ ทั้งนี้ไข่ของพยาธิ T. cati มักมีขนาดใหญ่ (โดยทั่วไปมักมีขนาดอยู่ที่ 61-65 x 71-75 µm) รูปทรงกลมรี เปลือกหนา ภายในมีตัวอ่อนลักษณะเซลล์เดี่ยว (single-celled embryo) บรรจุอยู่ (รูปที่ 5) นอกจากนี้ยังสามารถตรวจด้วยวิธีการตรวจหาแอนติเจนในอุจจาระ (fecal antigen test) เพื่อตรวจการติดเชื้อในกรณีที่แมวอยู่ในระยะ prepatent infection ซึ่งยังไม่มีการแพร่ระบาดของไข่พยาธิอีกด้วย
Image
รูปที่ 5 แสดงลักษณะไข่ของ Toxocara cati โดย bar ในรูปมีขนาด 100 µm. (Timothy, W., 2023.)
การรักษา : การรักษาการติด T. cati หรือ Toxocariasis สามารถทำได้โดยการให้ยา โดยพบว่ายาในกลุ่ม benzimidazole เช่น fenbendazole สามารถให้ผลดีในการกำจัดตัวอ่อนของพยาธิ และช่วยป้องกันการติดต่อจากแม่ไปสู่ลูกได้ นอกจากนี้การใช้ยากำจัดพยาธิในกลุ่มอื่น เช่น piperazine, ivermectin, eprinomectin, moxidectin, selamectin, emodepside, milbemycin oxime หรือ pyrantel pamoate พบว่าสามารถใช้ในการรักษาได้เช่นกัน ซึ่งสัตวแพทย์ควรรู้ข้อจำกัดและข้อบ่งชี้ของการใช้ยาแต่ละประเภทก่อนการใช้ยาเพื่อป้องกันผลอันไม่พึงประสงค์ที่อาจตามมาได้
การป้องกัน : สัตวแพทย์ควรให้ความรู้กับเจ้าของเพื่อช่วยป้องกันการติดพยาธิในแมว ซึ่งการป้องกันพยาธิอย่างเหมาะสมไม่เพียงแต่ช่วยป้องกันการติด T. cati แต่ยังช่วยป้องกันการติดพยาธิชนิดอื่นได้อีกด้วย โดยสัตวแพทย์ควรให้ความรู้กับเจ้าของครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน ดังนี้
1. สิ่งแวดล้อม : เจ้าของควรให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยการรักษาความสะอาดทั้งบริเวณที่แมวอยู่อาศัย และของใช้ที่แมวมีโอกาสสัมผัสเพื่อป้องกันการปนเปื้อน และสะสมของไข่พยาธิ
2. ตัวสัตว์ : เจ้าของควรพาแมวมารับการถ่ายพยาธิอย่างน้อย 4 ครั้งต่อปี หรือทุก 3 เดือน โดยเริ่มการถ่ายพยาธิตั้งแต่แมวมีอายุ 2 สัปดาห์ จากนั้นถ่ายพยาธิซ้ำอีกทุก 2 สัปดาห์จนแมวสามารถเริ่มต้นการใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันปรสิตที่ออกฤทธิ์ครอบคลุมการปกป้องจากพยาธิภายในได้ โดยในปัจจุบันได้มีการนำตัวยามากกว่า 1 ชนิดมาผสมรวมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันปรสิตให้คลอบคลุมทั้งปรสิตภายนอก และภายใน เช่น ยาหลดหลังที่มีส่วนผสมของตัวยา fipronil, S-methoprene, eprinomectin และ praziquantel ซึ่งออกฤทธิ์ป้องกันปรสิตทั้งเห็บ หมัด ไรหู ไรขี้เรื้อน พยาธิหนอนหัวใจ พยาธิตัวตืด พยาธิปอด พยาธิปากขอ พยาธิตัวกลม และพยาธิกระเพาะปัสสาวะ อย่างไรก็ตามสัตวแพทย์ควรแนะนำเจ้าของใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันอย่างต่อเนื่องเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของการป้องกัน
3. เจ้าของ : เจ้าของเองนับว่ามีส่วนสำคัญต่อการติดพยาธิในแมว เนื่องจากสามารถนำการปนเปื้อนมาสู่สิ่งแวดล้อมที่แมวอยู่อาศัยได้ทุกเมื่อ การดูแลความสะอาดจากเจ้าของ รวมถึงการล้างมือทุกครั้งก่อนสัมผัสแมวจึงมีส่วนช่วยให้การป้องกันพยาธิเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ถึงแม้ T. cati จะเป็นพยาธิที่ไม่ก่อให้เกิดความผิดปกติถึงชีวิตในแมว แต่การติดพยาธิชนิดนี้ก็ส่งผลให้แมวมีสุขภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรง และมีคุณภาพชีวิตที่ลดลงตามมาได้ การให้ความรู้กับเจ้าของ และแนะนำให้เจ้าของป้องกันพยาธิชนิดนี้อย่างถูกวิธีจึงนับเป็นอีกหนึ่งในหน้าที่ที่สัตวแพทย์ควรให้ความสำคัญ
เอกสารอ้างอิง
1. American Association of Veterinary Parasitologists. 2023. Toxocara cati. [online]. Available : https://www.aavp.org/wiki/nematodes/ascaridida/toxocara-cati/. Accessed date : 30 June 2023.
2. Knaus, M., Abu-Madi, MA., Ibarra-Velarde, F., Kok, DJ., Kusi, I., Postoli, R., Chester, ST., Rosentel, J., Alva, R., Irwin, J., Visser, M., Winter, R. and Rehbein, S. 2014. Efficacy of a novel topical fipronil, (S)-methoprene, eprinomectin and praziquantel combination against naturally acquired intestinal nematode and cestode infections in cats. Vet Parasitol. 202(1-2): 18-25.
3. Kvaternick, V., Kellermann, M., Knaus, M., Rehbein, S. and Rosentel, J. 2014. Pharmacokinetics and metabolism of eprinomectin in cats when administered in a novel topical combination of fipronil, (S)-methoprene, eprinomectin and praziquantel. Vet Parasitol. 202(1-2): 2-9.
4. Rehbein, S., Capari, B., Duscher, G., Keidane, D., Kirkova, Z., Petkevicius, S., Rapti, D., Wagner, A., Wagner, T., Chester, ST., Rosentel, J., Tielemans, E., Visser, M., Winter, R., Kley, K. and Knaus, M. 2014. Efficacy against nematode and cestode infections and safety of a novel topical fipronil, (S)-methoprene, eprinomectin and praziquantel combination product in domestic cats under field conditions in Europe. Vet Parasitol. 202(1-2): 10-17.
5. Timothy, W. 2023. Toxocara cati Infection in Cats. [online]. Available: https://todaysveterinarypractice.com/parasitology/toxocara-cati-infection-in-cats/#:~:text=Toxocara%20cati%20is%20a%20common,diarrhea%2C%20vomiting%2C%20and%20coughing. Accessed date : 30 June 2023.
6. University of Saskatchewan, 2021. Toxocara cati. [online]. Available: https://wcvm.usask.ca/learnaboutparasites/parasites/toxocara-cati.php. Accessed date : 30 June 2023