หากกล่าวถึงโรคที่มีโอกาสพบได้บ่อยในการเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยโดยเฉพาะในกลุ่มสัตว์เล็กจำพวกสุนัข หนึ่งในโรคนั้นย่อมมีโรคพยาธิหนอนหัวใจ หรือ heartworm disease อย่างแน่นอน แม้ในปัจจุบันผู้เลี้ยงสัตว์มีความรู้เกี่ยวกับการดูแลป้องกันสัตว์เลี้ยงจากโรคพยาธิหนอนหัวใจมากขึ้น แต่เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตภูมิอากาศร้อนชื้นซึ่งมีพื้นที่และสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงหลายชนิดซึ่งเป็นแมลงพาหะของพยาธิหนอนหัวใจ และมีสัตว์จรจัดทั้งสุนัขและแมวที่ไม่ได้รับการป้องกันโรคอย่างถูกต้องอยู่ในสังคมอีกเป็นจำนวนมาก สัตว์ที่มีเจ้าของตามครัวเรือนจึงยังมีความเสี่ยงต่อการติดพยาธิหนอนหัวใจ ทำให้โรคพยาธิหนอนหัวใจยังคงเป็นปัญหาในสัตว์เลี้ยงที่ผู้เลี้ยงไม่สามารถละเลยหรือมองข้ามไปได้อย่างสิ้นเชิง จำเป็นต้องให้การป้องกันแก่สัตว์เลี้ยงในครัวเรือนอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ
ทั้งนี้ทั้งนั้นความอันตรายของโรคพยาธิหนอนหัวใจไม่ได้มาจากเพียงพยาธิหนอนหัวใจเท่านั้น แต่ยังมาจากจุลชีพซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Wolbachia spp. ด้วย นับว่าเป็นภัยแฝงที่มากับตัวพยาธิหนอนหัวใจ สามารถก่อให้เกิดพยาธิสภาพแทรกซ้อนที่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกายสัตว์ ส่งผลให้อาการป่วยด้วยโรคพยาธิหนอนหัวใจของสัตว์มีความซับซ้อนมากขึ้น ครั้งนี้นอกจากจะกล่าวถึงเรื่องโรคพยาธิหนอนหัวใจแล้ว เราจะมาพูดถึงลักษณะทั่วไปของแบคทีเรีย Wolbachia spp. บทบาทในการก่อพยาธิสภาพในร่างกายสัตว์รวมไปถึงการรักษาและการป้องกัน เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจและหาทางรับมือเพื่อดูแลปกป้องสัตว์เลี้ยงจากภัยที่มากับแบคทีเรียชนิดนี้ได้

โรคพยาธิหนอนหัวใจ (heartworm disease)

โรคพยาธิหนอนหัวใจนั้นมีปรสิตตัวก่อโรคเป็นพยาธิชื่อว่า Dirofilaria immitis เป็นพยาธิฟิลาเรียที่อยู่ในกลุ่มพยาธิตัวกลม สุนัขสามารถติดพยาธิชนิดนี้ได้ผ่านยุงหลายสายพันธุ์ซึ่งเป็นแมลงพาหะ กล่าวคือ เมื่อยุงดูดเลือดจากสุนัขที่เป็นโรคพยาธิหนอนหัวใจทำให้ได้รับตัวอ่อนของพยาธิหนอนหัวใจมา หรือที่เรียกกันว่า ไมโครฟิลาเรีย (microfilaria) ไมโครฟิลาเรียก็จะไปพัฒนาต่อในตัวยุงจนกลายเป็นไมโครฟิลาเรียระยะ 3 ซึ่งเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อ เมื่อยุงที่มีไมโครฟิลาเรียระยะติดต่อไปกัดและดูดเลือดสุนัขตัวถัดไป ไมโครฟิลาเรียระยะติดต่อก็จะเข้าสู่ร่างกายของสุนัขตัวนั้น ใช้เวลาประมาณ 6-7 เดือนในการลอกคราบเจริญต่อจนกลายเป็นตัวเต็มวัย โดยตัวเต็มวัยมักอาศัยอยู่บริเวณหัวใจห้องขวากับหลอดเลือดแดงพัลโมนารี (pulmonary artery) และมีการสืบพันธุ์ปล่อยตัวอ่อนระยะที่ 1 ออกมาในกระแสเลือดต่อไป ซึ่งในระยะแรก ๆ ของการติดเชื้อพยาธิ สุนัขมักไม่แสดงอาการอะไรออกมาให้เห็น แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลังจากที่มีพยาธิหนอนหัวใจตัวเต็มวัยจำนวนมากขึ้น สุนัขอาจเริ่มแสดงอาการทางคลินิก เช่น เหนื่อยง่าย ไอเรื้อรัง น้ำหนักลด อ่อนแรง เป็นต้น และในรายที่มีการดำเนินไปของโรคหนักขึ้นสามารถพบอาการ หายใจลำบาก หายใจเร็ว ไอปนเลือด หัวใจเต้นเร็ว การเต้นของหัวใจผิดปกติ หมดสติ มีภาวะตับโต ท้องมาน หากไม่ได้รับการรักษาโดยเร็ว ในระยะยาวพยาธิหนอนหัวใจตัวเต็มวัยจะรบกวนการทำงานของระบบไหลเวียนเลือดและระบบหายใจของสัตว์ อาจทำให้เกิดเยื่อบุหลอดเลือดอักเสบ ผนังหลอดเลือดแดงพัลโมนารีหนาตัวขึ้นผิดปกติ ความดันในหลอดเลือดสูง เกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดพัลโมนารี มีอาการ caval syndrome เกิดภาวะหัวใจห้องขวาล้มเหลวและเสียชีวิตได้
โรคพยาธิหนอนหัวใจนอกจากจะพบได้ในสุนัขแล้ว แมวก็เป็นโรคนี้ได้เช่นกันแต่โอกาสเป็นน้อยมากเนื่องจากตัวอ่อนไมโครฟิลาเรียในแมวส่วนมากมักตายก่อนจะได้พัฒนาไปเป็นพยาธิหนอนหัวใจตัวเต็มวัย ทำให้โดยทั่วไปแมวมีพยาธิหนอนหัวใจตัวเต็มวัยในร่างกายน้อย มักไม่เกิน 6 ตัว อย่างไรก็ตามแม้มีจำนวนเพียงเท่านั้นก็สามารถสร้างความเสียหายรุนแรงให้ระบบร่างกายของแมว และตัวอ่อนไมโครฟิลาเรียที่ถูกพบเป็นส่วนมากก็ยังส่งผลกระทบต่อตัวแมวได้โดยทำให้เกิดกลุ่มอาการที่เรียกว่า heartworm associated respiratory disease (HARD)

Wolbachia คืออะไร?

Wolbachia spp. คือ แบคทีเรียแกรมลบชนิดอยู่ในเซลล์ หรือ intracellular เป็นแบคทีเรียที่พบในหนอนพยาธิหัวใจ D. immitis และพยาธิตัวกลมฟิลาเรียชนิดอื่น ๆ เช่น Brugia spp., Onchocerca spp. และ Wulchereria spp. เป็นต้น แบคทีเรีย Wolbachia อาศัยอยู่ร่วมกับพยาธิชนิดที่กล่าวมาข้างต้นโดยมีความสัมพันธ์เป็นแบบแบคทีเรียร่วมอาศัย (bacterial symbiont) กล่าวคือ เป็นความสัมพันธ์ที่อยู่ร่วมเกี่ยวข้องกับโฮสต์ทุกรุ่นทุกช่วงชีวิตเนื่องจากตัวแบคทีเรียนั้นมีบทบาทสำคัญในการช่วยการเจริญเติบโต การสืบพันธุ์ สังเคราะห์สารทางชีวภาพบางชนิดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของโฮสต์ เช่น ฮีม (heme) ไรโบฟลาวิน (riboflavin) และองค์ประกอบของนิวคลีโอไทด์อย่าง พิวรีน (purine) กับ ไพริมิดีน (pyrimidine) เป็นต้น นอกจากนั้นแบคทีเรีย Wolbachia ยังพบได้ในตัวแมลงซึ่งรวมไปถึงยุงอีกหลายชนิด เช่น ยุงในตระกูลยุงลาย (Aedes) ตระกูลยุงรำคาญ (Culex) ตระกูลยุง Armigeres และตระกูลยุงเสือ (Mansonia) เป็นต้น แต่จะไม่พบในยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) กับยุงก้นปล่อง (Anopheles) อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีรายงานการวิจัยว่าค้นพบแบคทีเรียชนิดนี้แล้วในยุงก้นปล่องหลายชนิด ในส่วนของกลุ่มพยาธิฟิลาเรียซึ่งรวมไปถึงหนอนพยาธิหัวใจ D. immitis สามารถพบแบคทีเรีย Wolbachia ได้ทุกระยะของการเจริญเติบโต โดยตัวแบคทีเรียมักอาศัยอยู่ที่เซลล์ของเนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนังบริเวณคอร์ดด้านข้าง (lateral chord) ของทั้งพยาธิหนอนหัวใจเพศผู้และเพศเมีย อยู่ในโครงสร้างระบบสืบพันธุ์ของเพศเมียไม่ว่าจะเป็นรังไข่ เซลล์ไข่ หรือในตัวอ่อนที่ฝังตัวอยู่ที่มดลูก และไม่พบในโครงสร้างระบบสืบพันธุ์ของเพศผู้ ทั้งนี้มีรายงานว่าแบคทีเรีย Wolbachia บางสายพันธุ์ก็อาจพบได้ที่เซลล์ลำไส้ของพยาธิฟิลาเรียบางชนิดโดยไม่พบที่เซลล์เนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนัง

การก่อพยาธิสภาพของ Wolbachia spp.

ในสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคพยาธิหนอนหัวใจ แบคทีเรีย Wolbachia จะเข้าสู่กระแสเลือดได้โดยถูกปล่อยออกมาตามธรรมชาติจากภายในมดลูกของพยาธิหนอนหัวใจเพศเมียระยะโตเต็มวัย เมื่อตัวอ่อนไมโครฟิลาเรียหรือพยาธิหนอนหัวใจระยะโตเต็มวัยทั้ง 2 เพศได้รับความเสียหายหรือตายจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในสัตว์ป่วยหรือจากขั้นตอนการรักษาด้วยการใช้ยา แบคทีเรีย Wolbachia จะมีองค์ประกอบเป็นสารประเภทโปรตีนชนิดหนึ่ง เรียกว่า Wolbachia surface protein (WSP) ซึ่งองค์ประกอบตัวนี้จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสัตว์ป่วยให้มีการตอบสนองด้วยการสร้าง IgG2 สร้าง cytokine ชนิด Interleukin 8 (IL-8) และกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาวชนิด neutrophil นอกจากนี้ยังมีปฏิกิริยาจากเม็ดเลือดขาวชนิด helper T1 lymphocyte (TH1) และ helper T2 lymphocyte (TH2) โดยเม็ดเลือดขาว TH1 lymphocyte จะไปกระตุ้นการตอบสนองของ cell mediated immune response ให้เพิ่มการรวมตัวของเซลล์อักเสบที่บริเวณติดเชื้อมากขึ้น เพิ่มความสามารถในการกำจัดเชื้อและสร้างแอนติบอดี ส่วน TH2 lymphocyte ในสภาวะที่สัตว์ติดเชื้อปรสิตก็จะกระตุ้นการสร้างแอนติบอดี ไม่เพียงเท่านั้น สาร lipopolysaccharide (LPS) จากตัวแบคทีเรียยังทำให้เกิดการทำงานของเม็ดเลือดขาวชนิด macrophage โดยสามารถพบเม็ดเลือดขาวชนิดนี้กับชนิด neutrophil ที่เก็บกินแบคทีเรีย Wolbachia ได้ตามเนื้อเยื่อปอด ตับ และไตอีกด้วย
จากที่กล่าวไปข้างต้นจะเห็นได้ว่ามีกระบวนการอักเสบเกิดขึ้นหลายรูปแบบในสัตว์ป่วย ดังนั้น หากมีแบคทีเรีย Wolbachia จำนวนมากในกระแสเลือดของสัตว์ป่วยอาจทำให้สัตว์เกิดภาวะการตอบสนองต่อการอักเสบทั่วร่างกายอย่างรุนแรงซึ่งอาจถึงแก่ชีวิตได้ และเนื่องจากพยาธิหนอนหัวใจทุกตัวนั้นมีแบคทีเรีย Wolbachia อยู่ภายในตัว จึงไม่สามารถจำแนกอาการทางคลินิกได้อย่างชัดเจนว่า ในสัตว์ที่ป่วยด้วยโรคพยาธิหนอนหัวใจว่า อาการป่วยใดเป็นผลมาจากตัวพยาธิหนอนหัวใจ อาการใดเป็นผลมาจากแบคทีเรีย Wolbachia ในกรณีที่ยังไม่ทราบว่าสุนัขหรือแมวตัวนั้น ๆ ป่วยโรคอะไรและให้การวินิจฉัยแยกแยะว่าอาจป่วยเป็นโรคหนอนพยาธิหัวใจ การตรวจหาสถานะการติดเชื้อแบคทีเรีย Wolbachia นั้นเป็นหนึ่งในวิธีการวินิจฉัยที่สามารถทำได้เพื่อยืนยันว่าสัตว์ป่วยด้วยโรคดังกล่าว ซึ่งวิธีการตรวจหาสามารถทำได้โดยวิธี immunohistochemistry เพื่อตรวจจับ WSP หรือตรวจหาแอนติบอดีต่อตัวแบคทีเรีย Wolbachia ของสัตว์ป่วย

แนวทางการรักษา

แบคทีเรีย Wolbachia เป็นจุลชีพที่มีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตของพยาธิหนอนหัวใจทุกตัวทุกระยะในวงจรชีวิต การกำจัดเชื้อแบคทีเรีย Wolbachia จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาโรคพยาธิหนอนหัวใจ ซึ่งในอดีตไม่ได้มีแบบแผนการใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียในกระบวนการรักษาโรคพยาธิหนอนหัวใจอย่างชัดเจน มักพุ่งเป้าไปที่การกำจัดพยาธิตัวเต็มวัยมากกว่าโดยใช้ยาต้านปรสิต melarsomine dihydrochloride ซึ่งมีประสิทธิภาพในการฆ่าทั้งไมโครฟิลาเรียและพยาธิตัวเต็มวัย อย่างไรก็ตามยาตัวดังกล่าวไม่แนะนำให้ใช้รักษาแมวเนื่องจากค่อนข้างเป็นพิษต่อแมวแม้ให้ในโดสต่ำ ๆ การรักษาโรคพยาธิหนอนหัวใจในแมวมักใช้วิธีการให้ยาบรรเทาการอักเสบที่เกิดขึ้นกับให้ยาป้องกันการติดพยาธิซ้ำ melarsomine จึงนิยมใช้ในสุนัขมากกว่า แต่ในสุนัขก็มีรายงานผลข้างเคียงจากการใช้ยา melarsomine โดยมักพบเป็นอาการ pulmonary thromboembolism ซึ่งเกิดจากการที่พยาธิหนอนหัวใจตายลงพร้อมกันเป็นจำนวนมากแล้วไปอุดตันอยู่ในหลอดเลือด
นอกจากนี้อย่างที่ได้พูดถึงไปในหัวข้อก่อน ๆ ว่าเมื่อพยาธิหนอนหัวใจตัวเต็มวัยตาย แบคทีเรีย Wolbachia จะถูกปล่อยออกมาในกระแสเลือด ถ้าหากมีจำนวนมากจะสามารถทำให้เกิดการอักเสบทั่วร่างกายสัตว์ป่วย ส่งผลให้การรักษามีความซับซ้อนยากลำบากขึ้น และมีการศึกษาหนึ่งได้รายงานผลไว้ว่ามีการตรวจพบ WSP ของแบคทีเรีย Wolbachia ในเนื้อเยื่อปอดของสุนัขในกลุ่มทดลองที่ได้รับการรักษาด้วยยา melarsomine เพียงอย่างเดียว ในขณะที่กลุ่มทดลองที่ได้รับการรักษาด้วย melarsomine ร่วมกับการใช้ยาชนิดอื่น ๆ เช่น doxycycline และ ivermectin นั้นไม่มีการตรวจพบ WSP รวมไปถึงมีข้อมูลว่าการใช้ยาต้านจุลชีพที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดแบคทีเรีย Wolbachia สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตกับการเพิ่มจำนวนของไมโครฟิลาเรีย และลดความสมบูรณ์พันธุ์ของพยาธิหนอนหัวใจตัวเต็มวัยเพศเมีย ทำให้แนวทางการรักษาในปัจจุบันนิยมใช้ยาต้านจุลชีพฆ่าแบคทีเรีย Wolbachia ก่อนร่วมกับยาต้านปรสิตกลุ่ม macrolide (macrocyclic lactone) เพื่อลดจำนวนไมโครฟิลาเรียและลดโอกาสการเกิดพยาธิสภาพแทรกซ้อนระหว่างขั้นตอนการฆ่าพยาธิตัวเต็มวัย แล้วค่อยใช้ยา melarsomine ฆ่าพยาธิตัวเต็มวัยที่เหลือ ซึ่งยาต้านจุลชีพที่นิยมใช้ในการรักษา ได้แก่ tetracycline, doxycycline, rifampin และ azithromycin ส่วน chloramphenicol, erythromycin และ ciprofloxacin ไม่สามารถใช้ได้ผล และนอกจากการใช้ยาต้านจุลชีพกับยาฆ่าพยาธิตัวเต็มวัยแล้วอาจมีการใช้ยาและสารกลุ่มอื่น ๆ เช่น สารน้ำหรือยากลุ่มที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบเพื่อรักษาสภาพร่างกายสัตว์ป่วยให้คงที่และบรรเทาความรุนแรงของอาการแทรกซ้อนระหว่างการรักษา

แนวทางการป้องกัน

เนื่องจากแบคทีเรีย Wolbachia เป็นจุลชีพที่มากับพยาธิหนอนหัวใจ การดูแลสัตว์เลี้ยงไม่ให้ป่วยเป็นโรคพยาธิหนอนหัวใจจึงเท่ากับเป็นการป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย Wolbachia ไปโดยปริยาย ซึ่งผู้เลี้ยงควรให้การป้องกันสัตว์เลี้ยงทั้งในสุนัขและแมว เพราะถึงแมวจะมีโอกาสเป็นโรคพยาธิหนอนหัวใจน้อยมากก็ตาม แต่หากเกิดเป็นขึ้นมาก็เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การใช้ยา

- ใช้ยาต้านปรสิตที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยในการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ โดยยาที่นิยมใช้มักเป็นยาในกลุ่ม macrolide (macrocyclic lactone) ได้แก่ ivermectin, milbemycin oxime, moxidectin และ selamectin ซึ่งมีทั้งรูปแบบกินและแบบยาใช้ภายนอก

- ควรให้ยาป้องกันแก่สัตว์ทุกเดือน ในลูกสุนัขและลูกแมวสามารถเริ่มได้รับการป้องกันอย่างต่อเนื่องได้ตั้งแต่อายุ 8 สัปดาห์ สำหรับสุนัขที่มีอายุ 7 เดือนหรือแก่กว่านั้นควรได้รับการตรวจหาพยาธิหนอนหัวใจก่อน หากไม่พบจึงค่อยเริ่มให้ยาป้องกัน

การจัดการ

- ควบคุมไม่ให้มีประชากรยุงเพิ่มในสิ่งแวดล้อมบริเวณที่พักอาศัยโดยการกำจัดสถานที่ที่สามารถกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ได้แก่ บริเวณที่มีแหล่งน้ำขัง

- ใช้ยาไล่ยุงหรือยากำจัดยุงในบริเวณที่พักอาศัย แต่ควรพิจารณาความปลอดภัยต่อตัวสัตว์เลี้ยงและตัวผู้เลี้ยงร่วมด้วย

- ลดโอกาสการที่สัตว์เลี้ยงจะถูกยุงกัดโดยหลีกเลี่ยงการให้สัตว์เลี้ยงออกไปนอกบ้านในช่วงเวลาออกหากินของยุง

การให้ความรู้และคำแนะนำแก่ผู้เลี้ยงสัตว์

สัตวแพทย์ควรให้คำแนะนำในการใช้ยาต้านปรสิตในสัตว์เลี้ยงอย่างถูกต้อง เหมาะสม และต่อเนื่องแก่ผู้เลี้ยงสัตว์ เพื่อให้สัตว์ได้รับการป้องกันจากตัวยาอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

อ้างอิง

1. Ahmad NA, Vythilingam I, Lim YAL, Zabari NZAM and Lee HL. 2017. Detection of Wolbachia in Aedes albopictus and Their Effects on Chikungunya Virus, The American Society of Tropical Medicine and Hygiene. 96(1). 148-156. Retrieved May 12, 2022, from https://www.ajtmh.org/view/journals/tpmd/96/1/article-p148.xml

2. Bamou R, Diarra AZ, Mayi MPA, Djiappi-Tchamen B, Antonio-Nkondjio C and Parola P. 2021. Wolbachia Detection in Field-Collected Mosquitoes from Cameroon. Insects. 12(12):1133.

3. Carreton E, Morchon R, Falcon-Cordon Y, Falcon-Cordon S, Matos JI and Montoya-Alonso JA. 2020. Evaluation of different dosages of doxycycline during the adulticide treatment of heartworm (Dirofilaria immitis) in dogs. Veterinary Parasitology. 283. 109141.

4. Dingman P, Levy J, Kramer L, Johnson C, Lappin M, Greiner E, Courtney C, Tucker S and Morchón R. 2010. Association of Wolbachia with heartworm disease in cats and dogs. Veterinary parasitology. 170. 50-60.

5. Frank K and Heald RD. 2010. The emerging role of Wolbachia species in heartworm disease. Compendium (Yardley, PA). 32. E1-E5.

6. Kramer L, Crosara S, Gnudi G, Genchi M, Mangia C, Viglietti A and Quintavalla C. 2018. Wolbachia, doxycycline and macrocyclic lactones: New prospects in the treatment of canine heartworm disease. Veterinary Parasitology. 294. 95-97.

7. Kramer L, Grandi A, Leoni M, Passeri B, McCall J, Genchi C, Mortarino M and Bazzocchi C. 2008. Wolbachia and its influence on the pathology and immunology of Dirofilaria immitis infection. Veterinary Parasitology. 158. 191–195

8. Satjawongvanit H, Phumee A, Tiawsirisup S, Sungpradit S, Brownell N, Siriyasatien P, Preativatanyou K. 2019. Molecular Analysis of Canine Filaria and Its Wolbachia Endosymbionts in Domestic Dogs Collected from Two Animal University Hospitals in Bangkok Metropolitan Region, Thailand. Pathogens. 8(3):114.

9. Savadelis MD, Ohmes CM, Hostetler JA, et al. 2017. Assessment of parasitological findings in heartworm-infected beagles treated with Advantage Multi® for dogs (10% imidacloprid + 2.5% moxidectin) and doxycycline. Parasites Vectors. 10. 245.

10. Tiffany B, Lefoulon E, Karadjian G, Nieguitsila A and Martin C. 2013. The symbiotic role of Wolbachia in Onchocercidae and its impact on filariasis. Clinical microbiology and infection : the official publication of the European Society of Clinical Microbiology and Infectious Diseases. 19. 131-40.

11. Utarini A, Indriani C, Ahmad RA, et al. 2021. Efficacy of Wolbachia-Infected Mosquito Deployments for the Control of Dengue. N Engl J Med. 384(23):2177-2186.

12. Wankeeree J and Hanboonsong Y. 2016. Role of Bacterial Symbionts in Insects and its Application for Insect Pests Control. Thai Science and Technology Journal. 24(4):613-627. Wong ML, Liew JWK, Wong WK, et al. 2020. Natural Wolbachia infection in field-collected Anopheles and other mosquito species from Malaysia. Parasites Vectors. 13. 414.

13. https://www.heartwormsociety.org/veterinary-resources/american-heartworm-society-guidelines