โรคเออร์ลิคิโอซิสในสุนัข (canine ehrlichiosis) คือโรคที่มีเห็บเป็นพาหะ
มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นหนึ่งในจีนัส (genus)
ของเชื้อแบคทีเรีย โดยสุนัขจะได้รับเชื้อชนิดนี้ผ่านทางการโดนเห็บกัด
เมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดของสุนัข
เชื้อจะเข้าไปอาศัยอยู่ภายในไซโตพลาสซึมของเซลล์เม็ดเลือดซึ่งมักเป็นเม็ดเลือดขาวกลุ่ม
mononuclear cell หรือเม็ดเลือดขาว monocyte และก่อให้เกิดความผิดปกติต่อไป
โดยมักเรียกความผิดปกติที่เกิดขึ้นนี้ว่า canine monocytic ehrlichiosis
(CME)
ข้อมูลทั่วไป :
เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคเออร์ลิชิโอซิสในสุนัข คือ
Ehrlichia canis (E.canis) จัดอยู่ใน family Anaplasmataceae
ซึ่งเป็นแบคทีเรียประเภทที่ต้องอาศัยอยู่ภายในเซลล์ (obligate
intracellular bacteria) มีเห็บสุนัขสีน้ำตาล (brown dog tick;
Rhipicephalus sanguineus) ที่สามารถพบได้บ่อยในสุนัขเป็นพาหะ
โดยมีรายงานว่าสามารถพบเชื้อชนิดนี้ได้ในประเทศไทย
โดยเฉพาะในสุนัขที่ไม่ได้รับการป้องกันปรสิตภายนอกอย่างเหมาะสม
การก่อโรค :
เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายสุนัขผ่านทางการโดนเห็บกัด
เชื้อจะสามารถก่อโรคได้ภายใน 8-20 วัน
จากนั้นสุนัขจะแสดงอาการโดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
1. ระยะเฉียบพลัน (acute phase) : ภายในระยะเวลา 8-20 วันหลังการติดเชื้อ
เชื้อที่เข้าสู่ร่างกายของสุนัขจะเกิดการเพิ่มจำนวนใน reticuloendothelial
cells, lymphocyte และ monocyte ส่งผลให้เกิดภาวะหลอดเลือดอักเสบ
(vasculitis)
ระบบภูมิคุ้มกันจะถูกกระตุ้นให้ทำลายเกล็ดเลือดส่งผลให้สุนัขเกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
(thrombocytopenia) เรียกภาวะนี้ว่า immune-mediated platelet destruction
สุนัขจะแสดงอาการมีไข้ ซึม เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
ต่อมน้ำเหลืองบริเวณที่ถูกเห็บกัดมีขนาดบวมโตขึ้น หายใจลำบาก
นอกจากนี้ยังอาจพบจุดเลือดออกตามผิวหนัง หรืออาการทางระบบประสาท เช่น
เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (meningitis) หรือเลือดออกที่เยื่อหุ้มสมอง (meningeal
bleeding) ร่วมด้วยได้ โดยสุนัขจะอยู่ในระยะนี้นาน 2-4 สัปดาห์
อย่างไรก็ตามถึงแม้สุนัขจะแสดงอาการป่วยในระยะนี้
แต่หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม สุนัขจะสามารถหายจากโรคนี้ได้
2. ระยะไม่แสดงอาการ (subclinical phase) :
เป็นระยะที่สุนัขยังคงมีเชื้อสะสมอยู่ภายในร่างกาย
แต่ไม่แสดงอาการออกมาให้เห็น
สันนิษฐานว่าเชื้อเกิดการหลบซ่อนจากระบบภูมิคุ้มกัน
โดยสุนัขอาจป่วยด้วยระยะนี้ได้จากการที่ไม่ได้รับยารักษาอย่างเหมาะสม
หรือต่อเนื่องเพียงพอ
ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากการที่เจ้าของหยุดยาเองเมื่อพบว่าสุนัขแสดงอาการดีขึ้นแล้ว
อย่างไรก็ตามหากทำการตรวจทางโลหิตวิทยาในระยะนี้
อาจพบว่าเกล็ดเลือดมีปริมาณลดลง
ร่วมกับการเพิ่มขึ้นของระดับโกลบูลินในเลือด (serum globulin)
จากการถูกกระตุ้นทางระบบภูมิคุ้มกันในระยะยาวได้
3. ระยะเรื้อรัง (chronic phase) :
เป็นระยะที่สุนัขกลับมาแสดงอาการป่วยอีกครั้ง โดยมีรายงานว่าสุนัขกว่า 60%
ที่อยู่ในระยะนี้จะแสดงอาการเลือดออกตามอวัยวะต่าง ๆ
อันเป็นผลมาจากการลดลงของเกล็ดเลือดภายในร่างกาย
นอกจากนี้ยังอาจพบการอักเสบ เช่น ยูเวียอักเสบ (uveitis) และหน่วยไตอักเสบ
(glomerulonephritis) ซึ่งมีสาเหตุมาจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของสุนัข
โดยในระยะนี้หากทำการตรวจทางโลหิตวิทยามักพบระดับโกลบูลินในเลือดสูง
และระดับอัลบูมิน (serum alubumin) ต่ำ
อย่างไรก็ตามอาจไม่พบภาวะเม็ดเลือดทุกชนิดต่ำ (pancytopenia) ในสุนัขทุกตัว
แต่หากพบ สุนัขมักมีโอกาสเสียชีวิตสูง
การตรวจวินิจฉัย :
การตรวจโรคเออร์ลิคิโอซิสในสุนัขมี 2 วิธี ได้แก่ การตรวจแอนติบอดี
(antibody testing) และการตรวจด้วยวิธีปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรส
(polymerase chain reaction; PCR)
1. การตรวจแอนติบอดี คือการตรวจหาการตอบสนองของแอนติบอดีต่อเชื้อ Ehrlichia
โดยปัจจุบันสามารถทำได้ด้วยการใช้ชุดตรวจ ซึ่งมีจุดเด่นในด้านความสะดวก
สบาย และสามารถทำได้ง่ายภายในคลินิก โดยใช้ระยะเวลาในการตรวจไม่นาน
ทั้งนี้ข้อจำกัดของการตรวจแอนติบอดี
คือไม่สามารถระบุการเปลี่ยนแปลงของระดับแอนติบอดีในร่างกาย
และการให้ผลบวกต่อการตรวจชนิดนี้เป็นการบ่งบอกว่าสัตว์อาจมีการติดเชื้ออยู่หรือเคยมีการติดเชื้อเกิดขึ้นในอดีต
ไม่สามารถบ่งบอกได้แน่ชัดว่าในปัจจุบันสัตว์มีการติดเชื้ออยู่หรือไม่
(ไม่สามารถระบุได้ว่าอยู่ในภาวะ active infection)
นอกจากนี้การให้ผลลบยังไม่สามารถตัดความเป็นไปได้ (rule out)
ของการเกิดโรคเออร์ลิคิโอซิสในสุนัขได้อีกด้วย
ดังนั้นการตรวจด้วยวิธีนี้จึงเหมาะสมสำหรับการใช้ตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นสำหรับสุนัขที่มีประวัติ
และแสดงอาการต้องสงสัยต่อโรค
2. การตรวจด้วยวิธีปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรส คือการตรวจหา DNA
ของเชื้อซึ่งเป็นการตรวจหาเชื้อในกลุ่ม Ehrlichia (tick panel)
ซึ่งไม่จำกัดเพียง Ehrlichia canis แต่ยังหมายรวมถึงเชื้อ species อื่น ๆ
เช่น Ehrlichia ewingii อีกด้วย จุดเด่นของการตรวจนี้ คือ
ความแม่นยำของการวินิจฉัย
และสามารถใช้ตรวจติดตามภายหลังการรักษาว่าร่างกายสัตว์ยังคงมีการติดเชื้ออยู่หรือไม่ได้
อย่างไรก็ตามการตรวจด้วยวิธีนี้อาจให้ผลบวกภายหลังทำการรักษา
และสุนัขไม่แสดงอาการป่วยได้เป็นระยะเวลาหลายสัปดาห์
เนื่องจากการตรวจด้วยวิธีนี้ไม่สามารถแยกเชื้อที่มีชีวิต และไม่มีชีวิตได้
การตรวจทั้ง 2 วิธี
จึงเหมาะสมสำหรับการใช้ร่วมกันเพื่อประกอบการตรวจวินิจฉัย
และติดตามการรักษา โดยใช้การตรวจแอนติบอดีเพื่อคัดกรองโรคเบื้องต้น
จากนั้นใช้การตรวจด้วยวิธีปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรสสำหรับการตรวจติดตามภายหลังการรักษาเพื่อยืนยันว่าร่างกายสุนัขได้มีการกำจัดเชื้อออกไปหมดแล้วจริงๆ
การรักษา :
ยาที่ได้ผลดีในการรักษาโรคเออร์ลิคิโอซิสในสุนัข คือ doxycycline
ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม tetracycline โดยให้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 28 วัน
และทำการตรวจติดตามด้วยวิธีการ PCR ในอีก 2 สัปดาห์ต่อมา
โดยปกติหากการรักษาเป็นไปได้ด้วยดี ผลการตรวจจะให้ผลเป็นลบ ในขั้นตอนนี้
สัตวแพทย์ควรนัดตรวจติดตามอาการอีกครั้งในอีก 2 เดือนต่อมา
เพื่อตรวจให้แน่ใจว่าไม่มีการหลงเหลืออยู่ของเชื้อภายในร่างกาย
แต่หากผลการตรวจเป็นบวก สัตวแพทย์ควรให้ยา doxycycline
เพิ่มอีกเป็นระยะเวลา 28 วัน และทำการตรวจซ้ำอีกครั้งในอีก 2 สัปดาห์ต่อมา
หากผลการตรวจยังคงเป็นบวกในครั้งที่สองนี้
สัตวแพทย์ควรพิจารณาเปลี่ยนชนิดยาเป็น chloramphenicol หรือ imidocarb
ต่อไป นอกจากนี้หากสุนัขมีการตอบสนองทางระบบภูมิคุ้มกัน
จนเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะอื่น ๆ ตามมา เช่น
ภาวะข้ออักเสบที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน (immune-mediated arthritis)
หรือภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน (immune-mediated
platelet loss) สัตวแพทย์อาจพิจารณาให้ยากดภูมิในกลุ่ม corticosteroids
เช่น prednisolone เพื่อบรรเทาอาการได้
ทั้งนี้ควรให้การรักษาควบคู่กับการรักษาตามอาการ เช่น การให้สายน้ำ
หรือการถ่ายเลือด ในกรณีที่จำเป็น
การป้องกัน : การป้องกันเห็บ
นับเป็นหัวใจสำคัญของการป้องกันโรคเออร์ลิคิโอซิสในสุนัข
โดยสัตวแพทย์ควรแนะนำให้เจ้าของให้ความสำคัญกับ 2 เรื่อง คือ 1.
การดูแลรักษาความสะอาดของสิ่งแวดล้อม ให้สะอาด
เพื่อลดโอกาสการสะสมของเห็บในสิ่งแวดล้อม และ 2.
การใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันเห็บที่ได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัยสูง
โดยตัวยาที่สามารถเลือกใช้ได้ ได้แก่ fipronil, selamectin, ivermectin,
ยาในกลุ่ม isoxazoline เช่น afoxolaner, fluralaner และ sarolaner เป็นต้น
นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังมีการนำตัวยามากกว่า 1 ชนิดมาผสมกัน เรียกว่า
ยาสูตรผสม (combination drug) เพื่อเสริมขอบเขตการป้องกันปรสิตให้มากขึ้น
เช่น afoxolaner กับ milbemycin oxime
ที่มีตำแหน่งการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน
และประสิทธิภาพในการป้องกันปรสิตที่แตกต่างกัน (afoxolaner
ออกฤทธิ์ได้ดีกับปรสิตภายนอก เช่น เห็บ หมัด ไรขี้เรื้อนแห้ง
ไรขี้เรื้อนเปียก ไรหู และ milbemycin oxime
ที่ออกฤทธิ์ได้ดีกับพยาธิภายในกลุ่มพยาธิปากขอ พยาธิไส้เดือน พยาธิตืด
พยาธิแส้ม้า พยาธินัยน์ตา และพยาธิหนอนหัวใจ)
เป็นหนึ่งในตัวเลือกให้แก่เจ้าของได้เลือกใช้ตามความต้องการของตน
ทั้งนี้สัตวแพทย์ควรแนะนำให้เจ้าของเลือกใช้ตามความเหมาะสม
โดยอ้างอิงจากความเสี่ยงของสุนัข ประวัติสุขภาพร่างกาย และประวัติการแพ้ยา
ตลอดจนแนะนำให้ใช้เป็นประจำสม่ำเสมออย่างถูกต้องตามคำแนะนำข้างฉลากยา
เอกสารอ้างอิง
1. Aziz, M.U., Hussain, S., Song, B., Ghauri, H.N., Zeb, J. and
Sparagano, O.A. 2022. Ehrlichiosis in Dogs: A comprehensive review about
the pathogen and Its vectors with emphasis on South and East Asian
countries. Vet Sci. 29;10(1):21.
2. Ettinger, S.J., Feldman, E.C., and COTE, E. 2017. Textbook of
Veterinary Internal Medicine. 8th edition. Missouri: Elsevier:
p2348-2352.
3. Nipattra, S. 2022. Anti-parasitic drug selection: efficacy VS safety.
VPN 234. 234(1): 13.
4. Wendy, B. 2021. Ehrlichia Infection in Dogs. [online]. Available :
https://veterinarypartner.vin.com/default.aspx?pid=19239&id=4952341.
Accessed date : 13 May 2023.