โรคข้อเสื่อม หรือ Osteoarthritis คือโรคเกี่ยวกับข้อต่อที่เกิดการพัฒนาอย่างช้าๆ ทำให้เกิดการเจ็บปวดที่ข้อ เกิดการแข็งตัวและจำกัดการเคลื่อนไหวของข้อต่อ ซึ่งเกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อ (Articular cartilage) และการฟอร์มตัวใหม่ของกระดูกบริเวณพื้นผิวและขอบกระดูก มักพบการเกิดโรคนี้ได้บ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแมวที่สูงวัย โดยทำให้แมวมีอาการเจ็บปวดที่ข้อต่อ แต่มักตรวจไม่ค่อยพบในแมวเนื่องจากแมวส่วนใหญ่ไม่ค่อยแสดงอาการขาเจ็บ แต่มักเกิดพฤติกรรมและวิธีการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป มีรายงานพบว่าอุบัติการณ์ของการเกิดโรคข้อเสื่อมค่อนข้างหลากหลายเนื่องจากมีการศึกษากลุ่มตัวอย่างในหลากหลายช่วงอายุ มีการศึกษาพบว่า 61% ของแมวมีภาวะข้อเสื่อมที่เกิดขึ้นอย่างน้อยหนึ่งข้อต่อ และ 48% มีภาวะข้อเสื่อมมากกว่าหนึ่งข้อต่อ 82% ของแมวที่อายุมากกว่า 14 ปี มีภาวะข้อเสื่อมเกิดขึ้นอย่างน้อยหนึ่งข้อ อาจบ่งบอกได้ว่าอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นตามอายุของแมว โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 10.2 ปี และอายุที่เพิ่มขึ้นจัดเป็นปัจจัยเสี่ยงของการก่อให้เกิดโรคข้อเสื่อมและความเสื่อมหรือความผิดปกติต่าง ๆ ของข้อ มักพบปัญหานี้ที่ข้อศอกและสะโพกทั้งสองฝั่งของลำตัวเป็นส่วนใหญ่ โดยมากโรคข้อเสื่อมในแมวมักพบว่าเป็นปัญหาแบบ primary disorder หรือ idiopathic disorder อย่างไรก็ตาม มีการพบว่าโรคข้อเสื่อมในแมวสามารถเกิดได้แบบ Secondary เช่นกัน โดยมักเป็นปัญหาที่ตามมาจากการกระทบกระแทกบริเวณข้อต่อและปัญหาข้อสะโพกที่ผิดปกติ (Hip dysplasia) โดยส่วนมากแล้วเจ้าของมักไม่ได้สังเกตปัญหาการกระทบกระแทกที่ข้อต่อ ส่วนปัญหาแบบ Secondary อื่น ๆ ซึ่งเกิดจากโรคที่แมวอาจเป็น ได้แก่ สะบ้าเคลื่อน (Medial patella luxation), Acromegaly, โรคกระดูกเสื่อมในแมว Scottish fold (Scottish fold osteochondrodysplasia), การเคลื่อนตัวของหัวกระดูก Radius รวมไปถึงเอ็นข้อเข่าเสื่อมในแมว (Cranial cruciate ligament failure) ก็เป็นสาเหตุที่โน้มนำให้เกิดโรคข้อเสื่อมได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีโรคอื่น ๆ ที่ยังไม่สามารถระบุได้ รวมไปถึงโรคที่เกิดจากพันธุกรรมของพันธุ์แมวที่โน้มนำให้เกิดโรคข้อเสื่อมได้เช่นกัน ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคข้อเสื่อมในแมวได้แก่ อายุที่เพิ่มขึ้น ความอ้วนอาจจัดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคข้อเสื่อมได้ แต่ไม่เด่นชัดในแมวเท่ากับในคน เมื่อเทียบกับภาวะข้อเสื่อมในคน ซึ่งภาวะน้ำหนักเกินค่อนข้างมีผลเนื่องจาก adipose tissue จะเพิ่มการหลั่งสาร cytokine ที่ทำให้เกิดการทำลายโครงสร้างกระดูกอ่อน นอกจากนี้ สาร Leptin และ adiponectin ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่จำเพาะกับไขมัน (Fat-specific hormones) มีส่วนทำให้เกิดการทำลายเซลล์กระดูกอ่อนอีกด้วย มักพบว่าแมวที่มีอายุมากและมีน้ำหนักมากทำให้อาการข้อเสื่อมยิ่งแย่ลงเนื่องจากมีการลงน้ำหนักที่ข้อต่อมากจนเกินไป
อาการของโรคข้อเสื่อมในแมวที่มีลักษณะเด่น คือมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ผิดปกติไป เช่น ไม่ค่อยกระโดดขึ้นหรือลง กระโดดขึ้นที่สูงไม่ได้ มีการเคลื่อนไหวที่ไม่ราบรื่นเท่าเดิม เปลี่ยนตำแหน่งขับถ่ายหรือไม่ค่อยใช้กระบะทรายแล้ว นอนหลับเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยขยับไปไหนมาไหนจากจุดเดิม เล่นหรือตอบสนองน้อยลง ไล่ล่าน้อยลง ขนแห้งกรังหรือเป็นรังแค ลับคมเล็บน้อยลง ไม่ค่อยกระตือรือร้นในการตอบสนอง เงียบ นิ่ง ชอบอยู่ตัวเดียว ขู่แมวตัวอื่น ไม่สุงสิงกับเจ้าของ เป็นต้น โดยส่วนมากเจ้าของมักสังเกตอาการผิดปกตินี้จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกระโดด มีการศึกษาพบว่าภาพฉายทางรังสีวิทยาไม่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคข้อเสื่อม จากการศึกษาของ Clarke และคณะ พบว่า 16.7% ของแมวที่มีความผิดปกติของภาพรังสีวิทยามีอาการเดินขากะเผลก และสรุปผลว่าการเดินขากะเผลกอาจไม่ใช่อาการหลัก ๆ ของความเจ็บปวดจากโรคเกี่ยวกับข้อต่อในแมว การตรวจร่างกายโดยละเอียดตั้งแต่หัวจรดเท้าเป็นตัวช่วยในการบ่งบอกภาวะข้อเสื่อมในแมวได้ การสังเกตท่วงท่าการเดินของแมวในห้องตรวจช่วยให้เราสามารถจับท่าทางลักษณะที่เปลี่ยนไปได้มาก แต่อย่างไรก็ตาม การตรวจร่างกายแมวนับเป็นความท้าทายของสัตวแพทย์งานหนึ่ง เนื่องจากแมวส่วนมากมักไม่เดินเป็นเส้นตรง ไม่เดินตามเส้นทางที่วางไว้ และมักสนใจเดินดูสิ่งแวดล้อมในห้องตรวจหรือหาพื้นที่หลบซ่อนมากกว่า ในบางกรณียังพอจับสังเกตได้จากการไม่กล้ากระโดดขึ้นหรือลงจากที่สูง การคลำจับตามข้อต่อควรทำด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากแมวไม่ได้ชื่นชอบการตรวจด้วยวิธีนี้ อาจไม่ให้ความร่วมมือ หรือแสดงความไม่พอใจจนอาจแปลผลการตรวจผิดพลาดได้ ข้อต่อหนาตัว การบวมบริเวณข้อต่อ การลดมุมของการเคลื่อนไหว และเสียงกรอบแกรบที่ข้อต่อไม่สามารถเห็นได้เด่นชัดในแมวเมื่อเทียบกับในสุนัข โดยมากแล้วความเจ็บปวดมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ข้อต่อในแมวมากกว่า แต่จะจับสังเกตความเจ็บปวดได้ยาก นอกจากนี้ควรมีการตรวจบริเวณกระดูกสันหลังเพื่อดูความเจ็บปวดบริเวณสันหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณ Lumbar และ Lumbosacrum เนื่องจากแมวที่มีปัญหา Spondylosis มักพบการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้เหมือนกับแมวที่มีปัญหาข้อเสื่อม เจ้าของที่เลี้ยงแมวที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปควรทำแบบสอบถามการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของแมวที่เลี้ยงเพื่อเป็นหนึ่งในกระบวนการตรวจสุขภาพประจำปี เนื่องจากเจ้าของสัตว์มักคิดว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของแมวที่เลี้ยงเกิดจากอายุที่เพิ่มมากขึ้นของแมว ทำให้มองข้ามความเจ็บปวดจากการเกิดโรคข้อเสื่อมในแมวไป
การวินิจฉัยด้วยภาพรังสี (x-ray) เพื่อดูลักษณะของโรคข้อเสื่อมในแมวยังไม่มีการอธิบายไว้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม Lacelles และคณะ ได้กล่าวว่า โดยปกติแล้วไม่ค่อยพบกระดูกชิ้นเล็ก (Ossicle) และการเกาะตัวของแคลเซียมที่บริเวณเนื้อเยื่ออ่อน (Soft tissue mineralization) ภายในข้อต่อของแมวที่มีปัญหาโรคเกี่ยวกับข้อต่อ อาจใช้การหนาตัวของ Soft tissue และการขังตัวของน้ำในข้อต่อในการประเมินภาพรังสีวินิจฉัยของแมวที่มีปัญหาข้อเสื่อม แต่มักพบได้ไม่ชัดเจนเท่ากับสัตว์อื่น ๆ จากภาพรังสีวินิจฉัย ข้อต่อที่ปกติอาจได้รับผลกระทบทางพยาธิสภาพและทางคลินิก ในขณะที่ข้อต่อที่ดูมีความผิดปกติทางรังสีวินิจฉัยอาจพบว่าสัตว์ไม่มีความเจ็บปวดในบริเวณนั้น ดังนั้น การใช้ภาพรังสีวินิจฉัยในการบ่งบอกการเกิดโรคข้อเสื่อมในแมวอาจไม่ได้ผลที่แน่ชัดเท่ากับในสัตว์ชนิดอื่น ๆ การวินิจฉัยภาวะข้อเสื่อมบริเวณข้อต่อที่ไหล่ (Shoulder) สามารถวินิจฉัยได้ง่ายที่สุดจากการสังเกตการณ์เกิด osteophyte ที่บริเวณขอบล่างของ glenoid และบริเวณขอบล่างของหัวกระดูก humerus โดยมักพบ osteophyte ยื่นออกมาจากพื้นผิวของกระดูก อย่างไรก็ตาม osteophyte มักจะเกิดขึ้นรอบ ๆ ข้อต่อ ทำให้มีลักษณะคล้าย Sclerotic line ข้าง ๆ glenoid และ หัวกระดูก Humerus นอกจากนี้ แมวยังมีกระดูกไหปลาร้า (Clavicle) ที่บริเวณหัวไหล่ ซึ่งอาจทำให้เกิดการสับสนกับการเกาะตัวของแคลเซียม (Mineralization) และการฟอร์มตัวของ Osteophyte รวมไปถึงการที่แมวมี Coracoid process ของ glenoid ที่เด่นชัดก็อาจทำให้การอ่านผลภาพรังสีวินิจฉัยผิดพลาดไป ในส่วนของการเกิดข้อเสื่อมบริเวณข้อศอก (Elbow joint) ยังคงใช้ Osteophyte เป็นกุญแจสำคัญในการวินิจฉัย โดยสามารถพบการสร้าง Osteophyte ได้หลากหลายบริเวณภายในข้อศอก เช่น หัวกระดูก Radius, medial coranoid process, และ ส่วนท้ายของกระดูก Humerus นอกจากนี้การพบการแข็งตัวของกระดูกใต้ชั้นกระดูกอ่อน (Subchondral bone sclerosis) ภายใต้ Trochlear notch ของกระดูก Ulna รวมไปถึงการเกิดการเกาะตัวของแคลเซียมที่บริเวณเนื้อเยื่ออ่อน (Soft tissue mineralization) ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่บ่งบอกการเกิดข้อเสื่อมที่บริเวณข้อศอกได้เช่นกัน เมื่อพูดถึงข้อสะโพกของแมว มักนึกถึงภาวะข้อสะโพกเสื่อม (hip dysplasia) ซึ่งปัญหานี้มักพบได้บ่อยในแมวสายพันธุ์เมนคูนโดยไม่เกี่ยวข้องกับเพศของแมว ซึ่งคาดว่าพันธุกรรมของแมวค่อนข้างมีผลต่อการเกิดโรคนิ้ โดยสามารถวินิจฉัยการเกิดโรคนี้จากเบ้ากระดูก acetabulum ที่ตื้นมากกว่าการวินิจฉัยด้วย Norberg angle และใช้การเกิด Osteophyte ที่บริเวณขอบของ Acetabulum และ คอของกระดูก femur เป็นตัวร่วมในการวินิจฉัย นอกจากนี้การสูญเสียพื้นที่บริเวณข้อต่อก็เป็นอีกลักษณะเด่นของการเกิดข้อสะโพกเสื่อมในแมว ในขณะที่การเกิดข้อเสื่อมบริเวณข้อเข่า (Stifle joint) จะพบการเกิด Osteophyte บริเวณลูกสะบ้า (Patella) ข้าง ๆ ขอบของ Trochlear และอาจพบการสร้างตัวของแคลเซียมที่เกิดจากความเสื่อมสภาพ (Degenerative calcification) ที่บริเวณ Meniscus อีกด้วย
โรคข้อเสื่อมสามารถพบได้ทั่วไปในแมว และโดยส่วนมากมักทำให้เกิดอาการเจ็บปวดอย่างยาวนาน ส่งผลให้เกิดการจำกัดการทำกิจกรรมและลดการเคลื่อนไหวในแมว ความท้าทายของการรักษาความเจ็บปวดที่ข้อเรื้อรังคือยาบรรเทาอาการปวดส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีการทดสอบการใช้ในแมว นอกจากนี้ แมวส่วนใหญ่ที่มีภาวะข้อเสื่อมมักเป็นแมวที่มีอายุมาก และมักพบว่าแมวเหล่านี้เป็นโรคไตเรื้อรัง ซึ่งส่งผลให้สัตวแพทย์จำนวนมากมีความลังเลที่จะใช้ยาบรรเทาปวดในกลุ่ม NSAID เนื่องจากกลัวการเกิดพิษที่ไต ยาในกลุ่ม NSAID หรือ Non-steroidal anti-inflammatory drugs จัดเป็นยาที่ใช้เป็นหลักในการบรรเทาอาการปวดจากโรคข้อเสื่อมภายในสัตว์อื่น ๆ และมีหลักฐานจำนวนมากที่สนับสนุนประสิทธิภาพในการใช้ยาชนิดนี้ในแมว ยาในกลุ่มนี้จะยับยั้งการอักเสบที่เป็นผลมาจากสาร Prostaglandins โดยการยับยั้งการแตกตัวของ arachidonic acid ที่เกิดจาก COX หรือ Cyclo-oxygenase มีการศึกษาวิจัยการใช้ยาในกลุ่ม NSAID ในแมว ได้แก่ Meloxicam, Robenacoxib, Ketoprofen และ Tolfenamic acid โดย meloxicam ได้รับอนุญาตให้ใช้ในแมวได้เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ซึ่งจัดเป็นยาในกลุ่ม COX-2 selective inhibitor ที่มีค่าครึ่งชีวิตอยู่ภายใน Plasma สั้น ๆ และสามารถเข้าจับกับเนื้อเยื่อบริเวณที่มีการอักเสบได้อย่างจำเพาะเจาะจง นอกจากนี้ยังมีการศึกษาความปลอดภัยจากการใช้ยา Robenacoxib ในแมวก็ไม่พบผลกระทบจากความเป็นพิษของยาในแมว ส่วน Ketoprofen สามารถให้ยาในแมวได้ต่อเนื่องที่ 5 วันโดยทางการกิน ในขณะที่ยา Tolfenamic acid สามารถใช้เพื่อลดไข้ในแมวได้ต่อเนื่อง 3 วัน แต่ไม่นิยมใช้เพื่อลดความเจ็บปวดของโครงร่างกระดูกและกล้ามเนื้อ
การใช้ยา Meloxicam ในแมวได้รับคำยืนยันแล้วว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาความเจ็บปวดเรื้อรังในแมวที่มีปัญหาข้อเสื่อม และการให้ยาในรูปแบบของเหลวก็ทำให้แมวได้รับปริมาณยาที่แน่นอน นอกจากนี้ตัวยายังมีความน่ากินสูง สามารถใส่ผสมในอาหารได้ ยา meloxicam มีค่าครึ่งชีวิตอยู่ที่ 24 ชั่วโมง ดังนั้นจึงสามารถให้ยาได้วันละครั้ง ตัวยาสามารถขับทิ้งได้ทางอุจจาระ 75% และทางปัสสาวะ 25% ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าส่งผลต่อความเป็นพิษที่ไตน้อยมาก ปริมาณยาที่ควรได้รับอยู่ที่ 0.1 mg/kg ต่อวันทางการกิน หลังจากนั้นปรับเป็น 0.05 mg/kg ทุก 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม การให้ยานี้ในปริมาณที่ต่ำลงก็ยังคงช่วยในการควบคุมความเจ็บปวดที่เกิดบริเวณข้อต่อได้อยู่ และในกรณีที่แมวมีภาวะไตวายเรื้อรังร่วมด้วยก็ควรให้ยานี้ในปริมาณที่ต่ำ เมื่อแมวได้รับยานี้แล้วเราสามารถลดปริมาณยาที่ให้ลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยการลดปริมาณยา หรือเพิ่มระยะห่างของการให้ยามากขึ้น โดยสามารถไตเตรตปริมาณยาที่ให้ได้จากการตอบสนองของการให้ยาในแต่ละเคส ในกรณีที่แมวมีอายุมากควรมีการตรวจค่าเลือดและการวิเคราะห์ตัวอย่างปัสสาวะอย่างสม่ำเสมอเพื่อเฝ้าระวังค่าตับและค่าไต นอกจากนี้ยังแนะนำให้ทำการวัดความดันอย่างสม่ำเสมอด้วย ในกรณีแบบนี้ควรเริ่มต้นการให้ปริมาณยาที่ 0.02-0.03 mg/kg โดยสามารถเพิ่มปริมาณยาที่ให้ได้ตามการตอบสนองทางคลินิก สัตวแพทย์หลายท่านอาจจะกังวลใจในการให้ยา Meloxicam ในแมวที่มีภาวะไตวายเรื้อรัง แต่มีการศึกษาพบว่าแมวที่ได้รับยา Meloxicam มีการเพิ่มขึ้นของค่า Creatinine น้อยมากเมื่อเทียบกับแมวที่มีภาวะไตวายเรื้อรังแต่ไม่ได้รับยา Meloxicam โดยสรุปว่าการบรรเทาความเจ็บปวดอาจส่งผลต่อพฤติกรรมการกินที่เพิ่มขึ้น และได้รับปริมาณน้ำที่เพียงพอ นอกจากนี้ยังลดความเครียดที่เกิดขึ้นจากความเจ็บปวดซึ่งอาจส่งผลต่อความรุนแรงของโรคไตอีกด้วย การให้ยาในกลุ่ม NSAID ไม่ได้มีผลลดค่าเฉลี่ยการอยู่มีชีวิตของแมวที่เป็นโรคไต ดังนั้น ในแมวที่มีภาวะไตวายเรื้อรังร่วมกับการเป็นโรคข้อเสื่อมควรได้รับยาเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต จากการศึกษาของ Clarke และ Bennett พบว่าแมวที่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการใช้ชีวิตซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการเกิดโรคข้อเสื่อมโดยส่วนใหญ่แล้วอาการดีขึ้นภายหลังจากการได้รับยาบรรเทาอาการปวด โดยพฤติกรรมส่วนมากที่เกิดการเปลี่ยนแปลงได้แก่ ความสามารถในการกระโดดที่ลดลง และการลดการทำกิจกรรมในแต่ละวันลง ซึ่งมีการศึกษาต่อในภายหลังโดยใช้ชุดคำถามเพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว กิจกรรมที่ทำ การเลียตัวเอง และพฤติกรรมของแมวก่อนและหลังการรับยา Meloxicam อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 28 วัน โดยเจ้าของสัตว์จะทำการให้คะแนนการใช้ชีวิตและพฤติกรรมของแมวในปัจจุบันเทียบกับช่วงอายุที่น้อยกว่า และให้คะแนนซ้ำหลังจากแมวได้รับยาจนครบ 28 วัน โดยแบ่งแมวที่ได้รับยาเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่แมวที่ได้รับยา Meloxicam และแมวที่ได้รับยาหลอก (Placebo) ผลของการศึกษาพบว่าเจ้าของสังเกตการเปลี่ยนแปลงการกระโดดในแมวได้อย่างชัดเจนภายหลังจากได้รับยา Meloxicam มากกว่ากลุ่มที่ได้รับยา Placebo อย่างไรก็ตามสิ่งที่สัตวแพทย์ควรแจ้งแก่เจ้าของเมื่อให้ยาในกลุ่ม NSAID ในแมวที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังคือการเน้นให้แมวได้รับปริมาณน้ำที่เพียงพอในแต่ละวัน ในส่วนของยาให้ยาอื่น ๆ เสริมร่วมกับการให้ยาบรรเทาอาการปวด เช่น การใช้กรดไขมันโอเมก้า 3 ในแมวอาจช่วยลดการอักเสบและความเจ็บปวดของการเกิดข้อเสื่อมได้บ้างแต่ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป เนื่องจากยังไม่มีการยืนยันประสิทธิภาพจากการให้ยา ในบางกรณีอาจเป็นการยากในการวินิจฉัยโรคข้อเสื่อมในแมวเนื่องจากการตรวจร่างกายในแมวที่แปลผลได้ยากร่วมกับการใช้ภาพรังสีวินิจฉัยที่บอกได้ไม่ชัดเจน ในกรณีแบบนี้หากพบว่าแมวมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปที่อาจเกิดจากการเจ็บปวดที่ข้อต่อ อาจมีการทดลองให้ยาในกลุ่ม NSAID และหากมีการตอบสนองภายหลังจากให้ยา เช่น มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้น อาจกล่าวได้ว่าแมวมีภาวะข้อเสื่อมเกิดขึ้น
โรคข้อเสื่อมในแมวมักไม่ค่อยทำให้แมวเกิดการเดินที่ผิดปกติ ยังไม่มีใครทราบสาเหตุว่าทำไมการเดินกะเผลกในแมวจึงเกิดขึ้นน้อยมาก แต่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดข้อเสื่อมในแมวทั้งสองด้านของลำตัวแมว หรืออาจเป็นเพราะความคล่องแคล่วเฉพาะตัวของแมว ทำให้แมวสามารถจัดการกับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นที่บริเวณข้อต่อได้ หรืออาจเกิดจากการที่แมวมักไม่แสดงอาการความเจ็บปวดให้สัตว์ชนิดอื่นเห็นเพื่อเป็นการปกป้องตัวเองจากผู้ล่าตามสัญชาตญาณ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการใช้ชีวิตของแมวจึงเป็นตัวชี้วัดสำคัญของการเกิดโรคข้อเสื่อมในแมว แมวโดยส่วนมากค่อนข้างเจ็บปวดกับการเกิดโรคข้อเสื่อม ในขณะที่สัตวแพทย์โดยส่วนใหญ่มองว่าแมวที่มีความเจ็บปวดจากโครงร่างกล้ามเนื้อและกระดูกยังไม่จำเป็นต้องได้รับยาบรรเทาอาการปวดที่จำเพาะเจาะจงผูกเข้ากับความคิดที่ว่าแมวไม่จำเป็นต้องร่วมกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงานสูงหรือออกไปเดินเล่นนอกบ้านกับเจ้าของ จนเกิดเป็นข้อสรุปว่าแมวสามารถใช้ชีวิตได้โดยการปรับตัวและการใช้ชีวิตให้เข้ากับความไม่สบายตัวนั้น ๆ อย่างไรก็ตาม นี่เป็นข้อสรุปที่ไม่ควรเกิดขึ้น และสัตวแพทย์ควรให้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวดจากการเกิดโรคข้อเสื่อมในแมวเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปราศจากความเจ็บปวดมากขึ้น
อ้างอิง
Bennett D., Zainal Ariffin M., and Johnston P., 2012. Osteoarthritis in cat 1. How common is it and how easy to recognise?. Journal of feline medicine and surgery. 14, 65-75
Bennett D., Zainal Ariffin M., and Johnston P., 2012. Osteoarthritis in cat 2. How should it be managed and treated?. Journal of feline medicine and surgery. 14, 76-84