โรคข้อเสื่อมในสุนัข หรือ Osteoarthritis หรือที่มักย่อกันว่า “OA”
เป็นโรคเรื้อรังที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตของสุนัขโดยตรงจากการเสื่อมของข้อและเนื้อเยื่อข้างเคียง
ซึ่งทำให้การทำงานของข้อเสียไปและสร้างความเจ็บปวดให้กับสุนัขที่เป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อเจ้าของในแง่ของการรักษาที่เรื้อรังยาวนานทำให้มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของสุนัขและเจ้าของที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ในต่างประเทศมีการพิจารณาการทำการุณยฆาตจากโรคนี้กันเลยทีเดียว
ข้อที่เกิดการเสื่อมหรือเป็น OA จะมีการพบว่า cartilage ที่ข้อจะหายไป
มีการหนาตัวของ joint capsule
และเกิดการสร้างกระดูกรอบๆข้อหรือที่เรียกว่าเกิด osteophytosis
และที่สำคัญคือข้อที่มีการเสื่อมจะมีการสูญเสียหน้าที่ไป
การเคลื่อนไหวจะไม่ได้เป็นแบบเดิม สุนัขที่เป็นโรคข้อเสื่อมจะมีอาการเจ็บ
เดินกะเผลก ข้อบวม
กล้ามเนื้อลีบฝ่อจากการเลี่ยงการใช้งานใช้เพราะเจ็บข้อเวลามีการขยับ
นอกจากนี้สามารถพบว่าสุนัขมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น เคลื่อนไหวน้อยลง
กระโดดลดลง การลุกหรือล้มตัวลงนอน หรือขึ้นบันไดทำได้ลำบาก
บางรายอาจมีการแสดงอาการดุมากกว่าปกติได้
โรคข้อเสื่อมนี้สามารถแบ่งกลุ่มหลักๆ ได้ 2 กลุ่มคือ Primary และ
Secondary Osteoarthritis ซึ่งสาเหตุของการเกิดแบบ Primary
นั้นยังคลุมเครือ มักสรุปว่าเป็นการเกิดแบบ idiopathic
สำหรับในสุนัขมักเกิดแบบ Secondary OA มากกว่า
ซึ่งสาเหตุโน้มนำมักเกิดจากการมีโรคอื่นที่ทำให้ข้อไม่เสถียรอยู่ก่อนแล้ว
เช่น cranial cruciate ligament disease, hip dysplasia, elbow
dysplasia, OCD, patella dislocation หรือเกิดหลังการบาดเจ็บต่างๆ
แล้วร่างกายมีการตอบสนองหลังจากการเกิดเหตุการณ์เหล่านั้น
สำหรับปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคข้อเสื่อมมีอยู่หลายอย่างด้วยกัน
อ้างอิงจากการศึกษาของ Anderson และคณะในปี 2020 พบปัจจัยเสี่ยง อาทิ
1. พันธุกรรม มีการค้นพบว่า
gene บางตัวที่ส่งผลต่อภาวะข้อเสื่อมในสุนัข
2. โครงสร้างร่างกาย
ของสุนัขบางตัวส่งผลให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคข้อเสื่อมมากกว่าอีกตัว
เช่น มีมวลกล้ามเนื้อที่เชิงกรานน้อย ก็จะมีความเสี่ยงในการเกิด hip
dysplasia และทำให้เกิด OA ตามมา
3. สุนัขแต่ละสายพันธุ์
จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคข้อที่แตกต่างกัน เช่น สุนัขพันธุ์ใหญ่อย่าง
Rottweiler, Golden Retriever และ Labrador Retriever
จะมีความเสี่ยงในการเกิด Cruciate ligament rupture มากกว่าพันธุ์เล็ก
ซึ่งก็จะโน้มนำทำให้เกิด Secondary OA ตามมาได้
และนอกจากนี้การผสมเพื่อให้ได้ลักษณะที่สวยงามตามสายพันธุ์อาจมีการส่งต่อความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของข้อต่อต่างๆที่พ่อแม่มีไปยังลูกได้
4. น้ำหนักตัวที่เกิน
ทำให้ต่อข้อต่อต่างๆในร่างกายรับน้ำหนักมากขึ้นตาม
จากการศึกษาพบว่าสุนัขที่น้ำหนักตัวเกินจะมีความเสี่ยงในการเกิด cranial
cruciate ligament rupture มากกว่าสุนัขที่น้ำหนักตัวปกติถึง 4
เท่า
5. อายุสุนัขที่เพิ่มมากขึ้น
ก็จะพบความเสื่อมของข้อตามอายุและพบการเกิด OA ได้มากขึ้น
แต่ในขณะเดียวกันหากสุนัขอายุไม่มากแต่มีภาวะ dysplasia
ก็สามารถทำให้เกิด OA ได้เช่นเดียวกัน
6. อื่นๆ เช่น
มีการใช้งานเยอะหรือการออกกำลังกายเยอะที่โน้มนำไปสู่การ overuse
ก็สามารถทำให้เกิดข้อเสื่อมได้เช่นเดียวกัน
การวินิจฉัย
สัตวแพทย์ควรตรวจหาข้อที่มีการเสื่อม
ร่วมกับการโรคอื่นๆที่ซ่อนอยู่ที่ส่งผลทำให้เกิด OA ขึ้น
โดยการหาตำแหน่งของข้อที่เสื่อมนั้นสามารถดูได้จากอาการแสดงทางคลินิกอย่างที่กล่าวไปข้างต้น
คือมีการเจ็บ เดินกระเพลก ลุกนั่งลำบากกระโดดหรือขึ้นลงบันไดลำบาก
ร่วมกับการตรวจร่างกายของสุนัขจะพบการเจ็บเมื่อจับหรือขยับข้อที่เสื่อม
ในบางรายสามารถคลำพบการหนาตัวของ joint capsule พบการบวมของข้อ หรือพบ
osteophytes ได้ นอกจากนี้สามารถทำการ x-ray
เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของข้อได้
หากเป็นช่วงแรกที่ยังมีการอักเสบอยู่อาจเห็น joint effusion
หรือหากเป็นมานานระยะหนึ่งแล้วสามารถพบการ calcification หรือ
osteophytes ที่ข้อได้ หรือสามารถทำ MRI
ได้หากต้องการเห็นรายละเอียดของเนื้อเยื่อข้างเคียง เช่น ligament หรือ
meniscus
การรักษาโรคข้อเสื่อมนั้น
ควรมีการใช้หลายทางร่วมกัน ทั้ง conservative method
หรือในบางรายอาจต้องมีการพิจารณาทำ surgical method ร่วมด้วย
การรักษาโรคข้อเสื่อมในสุนัขนั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือและความเข้าใจของเจ้าของสุนัขค่อนข้างสูงเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดี
ในการรักษาแบบ
conservative method
ประกอบด้วย การควบคุมน้ำหนัก การควบคุมพฤติกรรม การทำกายภาพบำบัด
และการใช้ยาในการรักษา
1. การควบคุมน้ำหนัก
เป็นการรักษาที่มีความสำคัญมากในบางการศึกษาพบว่าการลดน้ำหนักเพียงอย่างเดียวก็สามารถทำให้อาการทางคลินิกลดลงได้อย่างมีนัยยะสำคัญ
เพราะน้ำหนักที่มากจะเพิ่มแรงกดลงบนข้อทำให้การพัฒนาของโรคเป็นเร็วมากขึ้น
และนอกจากนี้ในสุนัขที่มีน้ำหนักเกินจะมีไขมันสะสม
ซึ่งไขมันจะเป็นตัวสร้าง inflammatory mediators
ที่ทำให้เกิดการอักเสบของข้อมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งจะยิ่งทำให้ OA
ที่เป็นอยู่แย่ลง
2. การควบคุมพฤติกรรม
ควรจะมีการควบคุมพฤติกรรมกลุ่ม high-impact activity เช่น วิ่ง
หรือกระโดด ที่ทำให้เกิดการอักเสบที่ข้อรุนแรงขึ้น แต่จะต้องมีการทำ
low-impact activity เช่น เดินสายจูงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อ
สร้างกล้ามเนื้อบริเวณรอบข้อทำให้ข้อต่อมีความเสถียรมากขึ้น (improve
joint stability)
3. การทำกายภาพบำบัด เพื่อการรักษา
OA นั้นมีเป้าหมายคือ ลดความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น
และทำให้การทำงานของข้อกลับมาสู่ภาวะใกล้เคียงปกติมากที่สุด
ในช่วงแรกสุนัขมักจะมีความเจ็บปวดมาก สามารถพิจารณาทำ transcutaneous
electrical nerve stimulation, thermotherapy หรือ low-level laser
เพื่อลดความเจ็บปวด ลดความเกร็งของกล้ามเนื้อ
และเพิ่มการไหลเวียนเลือดรอบๆบริเวณที่เป็นได้
เมื่อสุนัขรู้สึกสบายขึ้นแล้วค่อยเริ่มทำ Therapeutic exercise
ซึ่งช่วยในการเพิ่มการทำงานของระบบกล้ามเนื้อและข้อต่อ
โดยจะช่วยเพิ่มการขยับของข้อต่อ เพิ่ม range of motion
และนอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยส่งเสริมการทำงานและความแข็งแรงของระบบหัวใจละหลอดเลือดอีกด้วย
สำหรับในสัตว์ที่อายุมากอาจเลือกใช้วิธีการเดินลู่วิ่งใต้น้ำ
(Underwater treadmill) เพื่อลด Joint stress ได้
นอกจากนี้ยังมีวิธีทางเลือก เช่น ฝังเข็ม (Acupuncture)
เป็นวิธีที่ใช้ร่วมกับการรักษาอื่นๆได้
แม้ว่ายังไม่มีกลไกที่แน่ชัดในการช่วยเรื่อง OA
แต่พบว่ามีส่วนช่วยในการลดการส่งสัญญาณความเจ็บปวดไปยังไขสันหลัง
และช่วยในการหลั่ง endogenous endorphins
โดยภาพรวมทำให้เกิดการผ่อนคลาย ลดการปวดหลังจากการ compensate
ในการเดินได้
4. การรักษาทางยา (Medical treatment)
มีเป้าหมายหลักเพื่อการลดความเจ็บปวดและลดการอักเสบที่เกิดขึ้นรวมไปถึงการลดการเสื่อมของข้อ
ซึ่งกลุ่มยาหรือสารต่างๆจะขอแบ่งประเภทดังนี้ กลุ่มยา กลุ่มสารเสริม
(supplements) และ กลุ่มปรับสภาพข้อ (Modulating agent)
4.1 Non-steroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs)
เป็นยาที่เรียกได้ว่าเป็น First-line drug
ในการรักษาความเจ็บปวดในสุนัขที่มีภาวะข้อเสื่อม
เนื่องจากเป็นยาที่ควบคุมการเจ็บปวดได้ดีและมียาที่ขึ้นทะเบียนสำหรับใช้ในสุนัขหลายตัว
สามารถใช้เดี่ยวๆหรือร่วมกับยาอื่นได้ NSAIDs
ที่มีการศึกษาว่าควบคุมความเจ็บปวดในสุนัข OA
ได้ดีที่สัตวแพทย์คุ้นเคยอาทิ Meloxicam, Carprofen และ Firocoxib
– Robenacoxib ซึ่งกลไกการออกฤทธิ์จะทำงานผ่านการยับยั้ง COX
enzyme ทำให้เกิดการลดการสร้าง Prostaglandins
ตามทฤษฎีแล้วการยับยั้ง COX-1 จะทำให้เกิดผลข้างเคียงมากกว่า
จึงมีการพัฒนาตัวยาที่ มีความจำเพาะต่อ COX-2
มากขึ้นเพื่อลดผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น
แต่จากการศึกษายังไม่พบรายงานที่ชัดเจนว่า Selective COX-2
inhibitor
จะมีประสิทธิภาพในการควบคุมอาการปวดได้ดีกว่าหรือมีผลข้างเคียงทีน้อยกว่า
preferential COX-2 inhibitor อย่างชัดเจนเท่าไรนัก
ผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยา มักเกิดขึ้นกับระบบทางเดินอาหาร
สามารถเกิดได้ตั้งแต่อาการไม่รุนแรงเช่น อาเจียน ถ่ายเหลว
เบื่ออาหาร หรือกลุ่มอาการรุนแรงพบการเกิดแผลหลุมในทางเดินอาหาร
นอกจากระบบทางเดินอาหารแล้วสามารถเกิดความเป็นพิษต่อไตแต่ก็เกิดขึ้นได้น้อยมาก
ดังนั้นแม้ว่า NSAIDs จะจัดว่าเป็น first-line drug
แต่การใช้ยาเป็นระยะเวลานานเพื่อรักษาความเจ็บปวดในโรคข้อเสื่อมนี้ควรจะมีการติดตามค่าเลือดโดยเฉพาะค่าตับและไต
และอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อดูว่าสุนัขทนต่อการใช้ยาได้แค่ไหน
หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นจะได้มีการพิจารณาลดปริมาณยา
หรือเปลี่ยนเป็นการรักษาด้วยยาตัวอื่นหรือวิธีอื่นในการรักษาแทน
4.2 Grapiprants เป็นยากลุ่ม
Non-steroidal, Non-cox inhibiting drug ยานี้จะทำหน้าที่เป็น EP4
receptor antagonist ทำให้เกิดการยับยั้งการทำงานของ
Prostaglandins E2 โดยตรง ซึ่งจะมีความจำเพาะมากกว่าการยับยั้งทั้ง
COX ดังนั้นตามทฤษฎีแล้ว Grapiprant
สามารถลดการเกิดผลข้างเคียงที่เกิดจากการยับยั้ง COX enzyme ได้
ยานี้เป็นยาใหม่ยังต้องมีการศึกษาต่อไป
เบื้องต้นพบว่าการควบคุมความเจ็บปวดทำได้ดี เมื่อเทียบกับ placebo
แต่ ฤทธิ์การควบคุมความเจ็บปวดช่วง acute pain ยังไม่เทียบเท่า
NSAIDs
4.3 Paracetamol และ Paracetamol + Codeine
เป็นยาที่เคยเป็น first-line
สำหรับการควบคุมความเจ็บปวดที่เกิดจาก OA ในคน ทั้งตัวยา
Paracetamol เดี่ยวๆ ก็ไม่มีทะเบียนรับรองการใช้ในสุนัขใน UK
แต่มีทะเบียน Paracetamol + Codeine (400 mg paracetamol + 9 mg
codeine phosphate) สามารถใช้ควบคุมความเจ็บปวดที่เป็น acute pain
หรือ post-operative pain ได้ 5 วัน และในทางปฏิบัติพบว่ามีการใช้
Paracetamol คู่กับ NSAIDs แบบ off-label use
ในกรณีที่สุนัขไม่ทนต่อ NSAID
4.4 Bedinvetmab เป็นยากลุ่ม
Anti-nerve growth factor monoclonal antibody (anti-NGF mAb)
ที่มีความจำเพาะต่อสุนัข Nerve growth factor (NGF) เป็น signaling
protein ที่ปล่อยออกมาจาก peripheral tissue
เพื่อส่งสัญญาณว่ามีความเจ็บปวดและกระตุ้นการหลั่งสารสื่ออักเสบ
ดังนั้นกลไกลการต่อต้าน NGF
จึงสามารถช่วยลดความเจ็บปวดและการอักเสบได้ ยานี้มีการจดทะเบียนใน
UK และจัดว่าเป็นยาทางเลือกสำหรับสุนัขที่มีภาวะข้อเสื่อม
การใช้จะใช้ฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนังในขนาดยา 0.5-1 mg/kg q1m
ฉีดได้ตั้งแต่สุนัขอายุ 12 เดือนขึ้นไป
ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นยาที่มีความสะดวกในการใช้
และผลข้างเคียงของยาที่พบจนถึงปัจจุบันมีเพียงการระคายเคืองในตำแหน่งที่ฉีดยาเท่านั้น
จากการศึกษาพบว่าสุนัขที่ใช้ยาBedinvetmab ติดต่อกัน 6 เดือน
โดยฉีดเดือนละครั้ง มีอาการทางคลินิกที่ลดลง การศึกษาการใช้ร่วมกับ
NSAIDs ยังเป็นการศึกษาเพียงระยะเวลาสั้นๆ
ควรจะต้องมีการศึกษาต่อไป
4.5 Tramadol
เป็นยาที่มีกลไกการออกฤทธิ์หลายทาง โดย mu-opioid agonist
เป็นกลไกการออกฤทธิ์หลักโดยผ่าน metabolite ของยา นอกจากนี้ยังเป็น
serotonin & noradrenaline reuptake inhibitor ด้วย แต่จากการใช้
Tramadol ในสุนัขเพื่อความคุมความเจ็บปวดอาจไม่เพียงพอ
เนื่องจากสุนัขหลายตัวไม่สามารถสร้าง metabolite เพื่อไปทำงานได้
อีกทั้ง half-life ของยายังสั้นในสุนัข
จึงมีการแนะนำว่าให้ใช้ร่วมกับยาตัวอื่นเพื่อลดความเจ็บปวดมากกว่า
4.6 Gabapentin & Pregabalin
เป็นยาที่แนะนำใช้เป็นระยะเวลานานในสุนัขที่ไม่ทนต่อการใช้ NSAIDs
ในส่วนของ Gabapentin เป็น synthetic analogue ของ γ-aminobutyric
acid (GABA) ในคนใช้เป็นยาระงับชัก ลดปวดระบบประสาท (neuropathic
pain) และ รักษา fibromyalgia
แต่สำหรับสุนัขกลไกการออกฤทธิ์ยังไม่ชัดเจน คาดว่าจะไปยับยั้ง
voltage gated calcium channels
ทำให้เกิดการลดการหลั่งสารสื่อประสาท และลดการกระตุ้น post-synapse
ส่วน Pregabalin มีกลไกการออกฤทธิ์ที่คล้ายกันแต่ว่ามี half life
ที่นานกว่าและมี bioavailability ทางการกินที่สูงกว่า
4.7 Amantadine & Memantine
เป็นยาที่ควบคุมความเจ็บปวดผ่านการ antagonize
N-methyl-D-aspartic acid receptors (NMDA receptor)
ซึ่งเป็นตัวที่ใช้ขยายสัญญาณความเจ็บปวดไปยังสมอง โดย Memantine
จะออกฤทธิ์รวดเร็วกว่า แต่อย่างไรก็ตามทั้ง 2
ตัวนี้ยังไม่มีการขึ้นทะเบียน และการศึกษายังค่อนข้างน้อยอยู่
4.8 Cannabidiol (CBD oil)
เรียกได้ว่าเป็นยาที่มีคนให้ความสนใจค่อนข้างมาก
กลไกการออกฤทธิ์ซับซ้อน มีฤทธิ์ antinociceptive และ
antihyperalgesia effect โดยจะออกฤทธิ์ที่ peripheral spinal และ
supra-spinal sites แต่อย่างไรควรมีการระมัดระวังหากเลือกใช้
เพราะตามการศึกษายังมีค่อนข้างน้อยและผลยังไม่แน่ชัด
4.9 Amitriptylline
เป็นยากลุ่ม Tricyclic Antidepressant ใช้เป็นยาที่ลด neuropathic
pain ในคน ลดปวดโดยผ่านกลไกการออกฤทธิ์หลายอย่าง NMDA receptor
antagonist, Adrenergic receptor antagonist, serotonin และ
noradrenaline reuptake inhibition, voltage-gated sodium channel
blockade และ enhancement of adenosine & GABA receptor activity
แต่ยังไม่มีการจดทะเบียนใช้ในสุนัขและยังไม่มีการศึกษาการใช้สำหรับลดปวดในกรณีโรคข้อเสื่อม
รูปแสดง Pain pathway
และกลไกการออกฤทธิ์ของยาที่ควบคุมความเจ็บปวดที่จุดต่างๆ (Pye C
et al, 2022)
4.10 Chondroitin sulfate + glucosamine sulfate
เป็นกลุ่มสารเสริมอาหาร โดยสาร 2 ตัวนี้จะทำงานแบบ synergist กัน
การศึกษาในคนพบว่า glucosamine
มีส่วนในการสร้างและซ่อมแซมกระดูกอ่อน ลดอักเสบ
และชะลอการเสื่อมของกระดูกอ่อน ส่วน Chrondroitin sulfate
มีส่วนช่วยในการเพิ่มความยืดหยุ่นของกระดูกอ่อน
และลดการบวมที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดของข้อต่อ
ในสุนัขเมื่อมีการใช้ต่อเนื่องพบว่ามีอาการที่ดีขึ้น
แต่จะเป็นไปอย่างช้าๆ เมื่อเทียบกับการใช้ NSAID
จะออกฤทธิ์ได้รวดเร็วกว่า
4.11 Omega-3-fatty-acid
เป็นสารเสริมอาหารที่มีความสามารถในการลดปวดและลดอักเสบ
โดยจะไปลดการสร้าง PGE2, ลดการสร้าง thromboxane A2 และ
leukotriene B4 ซึ่งช่วยลด proinflammatory mediators นอกจากนี้
omega 3 และ omega 6 ยังช่วยลด pro-matrix metallopeptidase
expression ร่วมกับการลดความเข้มข้นของ arachidonic acid
ในพลาสม่าด้วย ซึ่งทำให้เกิดการลดอักเสบทั่วร่างกาย
สุนัขที่มีการใช้น้ำมันปลาเป็นระยะเวลาหนึ่ง
จะมีอาการทางคลีนิคที่ดีขึ้นจนสามารถลดปริมาณหรือหยุดใช้ NSIAD
ได้เลย
4.12 Polysulphated glycosaminoglycans (PSGAG)
เป็นสารปรับสภาพข้อมีการรายงานการใช้โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
(intramuscular injection) จะช่วยลดการสลายของ articular cartilage
โดยมีฤทธิ์ยับยั้ง matrix metalloprotease enzyme
แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน และต้องการการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
4.13 Corticosteroids
มีฤทธิ์ลดอักเสบ ในคนมีการใช้ยารูปแบบออกฤทธิ์นานฉีดเข้าข้อ
(Intra-articular injections) เพื่อลดปวดเป็นระยะเวลาสั้นๆ
ในสุนัขมี Methylprednisolone acetate
ที่ขึ้นทะเบียนเพื่อใช้ในการฉีดเข้าข้อ แต่ว่าการใช้ในสุนัขที่เป็น
OA ยังเป็นที่ถกเถียงในปัจจุบัน
เนื่องจากการใช้เป็นเวลานานสามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงได้
และมีความเสี่ยงในการเกิด septic arthritis รวมไปถึงการเกิด
cartilage damage จากการฉีดเข้าข้อเป็นระยะเวลานานอีกด้วย
4.14 Platelet-Rich plasma
เป็นกลุ่มปรับสภาพข้อ โดยปกติแล้ว platelet
จะทำหน้าที่ช่วยในการทำให้เกิดการแข็งตัวของเลือด และจะปล่อย
growth factors ต่างๆ ออกมา ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นการเกิด
angiogenesis, chrondrocyte proliferation และ ลดการเกิด
chrondrocyte apoptosis โดยในสุนัขจะใช้โดยฉีดเข้าข้อ
มีข้อดีที่ไม่มีผลค้างเคียงที่รุนแรงเกิดหลังจากใช้
มากสุดพบเพียงการเกิดการเจ็บในตำแหน่งที่ฉีดซึ่งสามารถหายไปเองในเวลา
48 – 72 ชั่วโมง
ในการศึกษาที่ผ่านมาพบผลการรักษาที่ดีแต่ทุกการศึกษามีจำนวนตัวอย่างที่น้อยอยู่
4.15 Hyaluronic acid
เป็นกลุ่มปรับสภาพข้อ ที่มีการฉีดเข้าข้อเช่นเดียวกัน
จากการศึกษาพบการตอบสนองที่ดีขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับ NSAID และ
สารเสริมอาหาร แต่ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนให้ใช้ใน UK
4.16 Mesenchymal cells (MSCs)
อยู่ในกลุ่มสารปรับสภาพข้อ
ซึ่งจัดว่าเป็นการรักษาแนวทางเลือกสำหรับสุนัขที่มีภาวะข้อเสื่อมที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบ
conventional MSCs เป็น progenitor cells
ซึ่งสมัยก่อนเข้าใจว่าเมื่อฉีดเข้าไปที่ตำแหน่งที่เป็น OA
เซลล์จะเกิดการเปลี่ยนเป็น chondrocytes
และทำการซ่อมแซมจุดที่มีความเสียหาย
แต่จากการศึกษาในปัจจุบันพบว่ากลไกการออกฤทธิ์เกิดจากการหลั่ง
factors ต่างๆที่มีฤทธิ์ในการเป็น immunomodulatory,
anti-inflammatory, angiogenic และ antiapoptotic MSCs
นั้นสามารถเก็บได้จากตัวสัตว์ป่วยเอง (autologous) หรือ
จากสุนัขตัวอื่น (Allogenic) โดยตำแหน่งที่นิยมเก็บคือ bone marrow
หรือ adipose tissue หากเป็นการใช้แบบ allogenic
ก็จะมีความเสี่ยงจากการเกิดภูมิคุ้มกันต่อต้าน MSCs
ที่ฉีดเข้าไปได้ ในขณะที่หากเป็นการใช้แบบ autologous
ก็จะมีความเสี่ยงจากการวางยาเพื่อเก็บ
5. การรักษาอื่นๆ
เทคโนโลยีทางการสัตวแพทย์ในปัจจุบันมีการศึกษาไปถึงการทำ Gene therapy
เพื่อรักษาโรคข้อเสื่อม โดยจะมุ่งเน้นไปที่การศึกษาเกี่ยวกับ
Anti-inflammatory cytokine ซึ่งตัวที่สำคัญที่เริ่มมีการศึกษาคือ
interleukin (IL)-10 ซึ่งมีฤทธิ์ในการยับยั้งการสร้าง pro-inflammatory
cytokine และเป็นตัว downregulate MMP production และยังป้องกันการเกิด
chondrocyte apoptosis อีกด้วย
จากการศึกษาพบว่าสามารถลดอาการทางคลินิกที่เกิดจากข้อเสื่อมได้
แต่ยังต้องมีการศึกษาต่อไปก่อนที่จะนำมาใช้อย่างแพร่หลายต่อไป
แต่นับได้ว่าเป็นอนาคตที่ดีในการรักษาโรคเรื้อรังนี้
6. การรักษาทางศัลยกรรม
การพิจารณารักษาด้วยการศัลยกรรมนั้นสามารถทำได้ 2 แบบ คือ 1) Early
stage intervention
เพื่อยับยั้งการพัฒนาการเสื่อมของข้อในรายที่มีความผิดปกติระยะเริ่มแรก
เช่นการทำ Triple / Double Pelvic Osteotomy หรือ Juvenile Pubic
Symphysiodesis ในรายที่เป็น hip dysplasia, การทำ TPLO และ TTA
ในรายที่เป็น cruciate ligament disease, การทำ Osteotomy ในรายที่เป็น
elbow dysplasia ในขณะที่แบบที่ 2) Late stage intervention
เป็นผ่าตัดแก้ไขในระยะสุดท้ายของโรค ซึ่งข้อไม่สามารถทำหน้าที่ได้แล้ว
และการรักษาทางยาไม่สามารถทำได้ ที่นิยมทำมักจะเป็น Excision
Arthroplasty, Arthrodesis และ Total Joint Replacement
โดยสรุปแล้ว
โรคข้อเสื่อมในสุนัขเป็นโรคที่เรื้อรัง
สร้างความเจ็บปวดและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตทั้งของสุนัขและเจ้าของเป็นอย่างมาก
การเกิดโรคนี้มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง ทั้งจากสายพันธุ์
ลักษณะโครงสร้างร่างกาย
และปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการดำเนินไปของโรคคือน้ำหนักตัว
แนวทางการรักษาปัจจุบันมียาที่เป็น first-line
เพื่อใช้ควบคุมความเจ็บปวดคือกลุ่ม NSAIDs
นอกนั้นเป็นยาที่ช่วยเสริมการควบคุมความเจ็บปวดซึ่งมีการศึกษาและพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากยาแล้วก็มีการทำกายภาพบำบัด ลดน้ำหนัก และการรักษาทางศัลยกรรม
ซึ่งในบางรายควรมีการพิจารณาการรักษาร่วมกันเป็น multimodal therapy
อ้างอิง
1. American College of Veterinary Surgeons. 2023 “Osteoarthritis in
Dogs.” [Online]. Available: https://www.acvs.org. Accessed January 10,
2023
2. Anderson K.L., Zulch H., O'Neill D.G., Meeson R.L. and Collins L.M.
2020. Risk factors for canine osteoarthritis and its predisposing
arthropathies: a systematic review. Frontiers in veterinary science:
7, 220.
3. Canapp D.A. 2013. “Canine Osteoarthritis.” [Online]. Available:
https://www.cliniciansbrief.com. Accessed Jan 17, 2022
4. Johnson K.A., Lee A. H. and Swanson K.S. 2020. Nutrition and
nutraceuticals in the changing management of osteoarthritis for dogs
and cats. Journal of the American Veterinary Medical Association.
256(12): 1335-1341
5. Pye C., Bruniges N., Peffers M. and Comerford E. 2022. Advances in
the pharmaceutical treatment options for canine osteoarthritis.
Journal of Small Animal Practice. 63(10): 721-738.
6. Rychel J.K. 2010. Diagnosis and treatment of osteoarthritis. Topics
in Companion Animal Medicine. 25(1): 20-25.