โรคพิษสุนัขบ้า นับเป็นหนึ่งในโรคร้ายที่มีความสำคัญทางสาธารณสุข เพราะนอกจากจะเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (zoonosis) แล้ว ยังเป็นโรคที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต และยังไม่มีหนทางในการรักษาในปัจจุบัน โดยประเทศไทยยังคงมีการตรวจพบสัตว์ที่ป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง การรู้เท่าทันโรค และให้คำแนะนำกับเจ้าของในการป้องกันโรคจึงเป็นสิ่งสำคัญ บทความนี้จะพาคุณหมอไปทำความรู้จักกับโรคพิษสุนัขบ้า อาการที่สัตว์แสดงออก และแนวทางการป้องกันเพื่อสามารถรับมือกับโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างถูกต้องต่อไป

ข้อมูลทั่วไปของโรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้า (rabies) คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า rabies virus ซึ่งเป็น RNA virus จัดอยู่ใน genus lyssavirus family Rhabdoviridae มีลักษณะเป็น enveloped virus รูปร่างคล้ายลูกปืน โดยมีลักษณะ genome เป็น unsegmented linear negative sense single stranded RNA ซึ่ง encode โปรตีน 5 ชนิด ได้แก่ nucleoprotein (N), polymerase (L), phosphoprotein (P), metrix protein (M) และ glycoprotein (G) โดยโปรตีนเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็น integral transmembrane protein ฝังอยู่ที่ virion membrane ทำหน้าที่ในการจับกับ receptor ของเซลล์ภายในร่างกายของโฮสต์

การแพร่ระบาด

โรคพิษสุนัขบ้าสามารถติดต่อระหว่างกันได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยเฉพาะสัตว์ใน order carnivora เช่น สุนัข หรือแมว ผ่านทางการโดนกัดเป็นหลัก โดยเชื้อพิษสุนัขบ้าจะแฝงอยู่ในน้ำลาย และเข้าสู่ร่างกายสัตว์ผ่านทางบาดแผล อย่างไรก็ตามพบว่าการระบาดของเชื้อพิษสุนัขบ้าอาจเกิดขึ้นผ่านทางการสัมผัสเชื้อที่แฝงอยู่ในน้ำลาย หรือเนื้อเยื่อสมอง การสัมผัสเยื่อบุ การปลูกถ่ายอวัยวะ การกิน การหายใจ หรือผ่านทางรก (transplacenta) แต่สามารถพบได้น้อย

พยาธิวิทยาการเกิดโรค

เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผล เชื้อจะเกิดการเพิ่มจำนวนในกล้ามเนื้อ หรือเนื้อเยื่อบริเวณที่ถูกกัด และเดินทางต่อไปยังระบบประสาทส่วนกลางผ่านทาง peripheral motor nerves โดยเชื้อจะเดินทางโดยใช้ระยะเวลาประมาณ 3 มิลลิเมตร/ชั่วโมง เรียกช่วงที่มีการเดินทางนี้ว่า centripetal migration ในระยะนี้สัตว์จะยังไม่แสดงอาการของโรคใด ๆ ออกมา แต่หลังจากนั้นเมื่อเชื้อเดินทางไปยังระบบส่วนกลางได้สำเร็จ เชื้อจะเกิดการเพิ่มจำนวนในระบบประสาทส่วนกลาง ส่งผลให้สัตว์แสดงอาการทางระบบประสาทแบบดุร้าย (furious form) หรืออาการทางระบบประสาทแบบซึม หรืออัมพาต (dumb or paralytic form) หลังจากนั้น เชื้อจะเดินทางออกจากระบบประสาทส่วนกลางเพื่อไปเพิ่มจำนวนที่บริเวณต่อมน้ำลาย หรือเนื้อเยื่ออื่น ๆ ผ่านทาง peripheral nerves ต่อไป โดยเรียกช่วงที่มีการเดินทางนี้ว่า centrifugal migration
สำหรับระยะฟักตัวของเชื้อ (incubation period) พบว่ามีความแตกต่างกันไปในสัตว์แต่ละตัว ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ (สัตว์อายุน้อยมักมีความไวต่อการติดเชื้อมากกว่าสัตว์อายุมาก) ระดับความรุนแรงของแผลที่ถูกกัด (ถูกกัดด้วยความรุนแรง และถูกกัดหลายตำแหน่งมักมีความต่อการติดเชื้อมากกว่า) ระยะของบาดแผลที่ถูกกัดต่อสมอง หรือไขสันหลัง (ถูกกัดใกล้สมอง หรือไขสันหลังมักมีความไวต่อการติดเชื้อมากกว่า) ตลอดจนปริมาณของเชื้อที่ได้รับ และการได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที (postexpossure prophylaxis) ทั้งนี้โดยเฉลี่ยระยะฟักตัวของเชื้อจะอยู่ 14-90 วัน หรืออาจนานกว่านี้เป็นระยะเวลาหลายปี สำหรับสุนัขปกติจะอยู่ที่ 3-24 สัปดาห์ (เฉลี่ย 3-8 สัปดาห์) และแมวจะอยู่ที่ 2-24 สัปดาห์ (เฉลี่ย 4-6 สัปดาห์)

อาการของโรค

ลักษณะอาการของโรคพิษสุนัขบ้าสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
1. อาการทางระบบประสาทแบบดุร้าย (furious form) : ระยะนี้สัตว์จะแสดงอาการไข้สูง เบื่ออาหาร หงุดหงิดง่าย นิสัยเปลี่ยน อยู่ไม่สุข ลุกเดินไปมา ตกใจง่าย ไวต่อแสงและเสียง ตลอดจนดุร้าย กัดผู้คน หรือสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ซึ่งจัดว่าเป็นระยะที่มีความอันตราย และก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อได้ง่าย อย่างไรก็ตามพบว่าการแพร่ของเชื้อผ่านทางน้ำลายในระยะนี้อาจเกิดขึ้นก่อนที่สัตว์จะแสดงอาการได้ อาการเหล่านี้จะแสดงออกโดยใช้ระยะเวลาประมาณ 3-7 วัน จากนั้นสัตว์อาจแสดงอาการชัก เป็นอัมพาต และเสียชีวิตได้
2. อาการทางระบบประสาทแบบซึม หรืออัมพาต (dumb or paralytic form) : ระยะนี้สัตว์จะแสดงอาการในระยะดุร้ายสั้นมากจนอาจไม่ทันได้สังเกต อาการของสัตว์จะเข้าสู่ระยะอัมพาตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สัตว์ซึม พบการอัมพาตของขากรรไกรล่าง (dropped jaw) ส่งผลให้สัตว์มีน้ำลายไหลยืด กลืนลำบาก ไม่สามารถตวัดลิ้นเพื่อกินน้ำได้ตามปกติ หรือที่หลายคนเรียกว่าอาการกลัวน้ำ (hydrophobia) ขาทั้งสองข้างทำงานไม่สัมพันธ์กัน สัตว์จะล้มตัวนอน เกิดอาการชัก หายใจไม่ออก และเสียชีวิตในที่สุด

แนวทางการป้องกัน

แนวทางการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ดีที่สุดในปัจจุบัน คือการฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้านี้นับข้อกำหนดสำหรับเจ้าของสัตว์ที่ต้องพามาฉีดเพื่อป้องกันโรค ตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า ฉบับปี พ.ศ.2535 ที่กำหนดให้เจ้าของสัตว์ที่มีสุนัข และแมวที่มีอายุตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป แต่ไม่เกิน 4 เดือนไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเข็มแรก และครั้งต่อไปตามที่กำหนดในใบรับรองการฉีด โดยสัตวแพทย์สามารถพิจารณาเลือกใช้วัคซีนสำหรับป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทั้งในรูปแบบวัคซีนเชื้อตาย (inactivated vaccine) สำหรับสุนัข และแมว หรือวัคซีนชนิดใช้เชื้อไวรัสเป็นพาหะ (recombinant viral vector vaccine) สำหรับแมวได้ตามความเหมาะสม โดยควรแจ้งเจ้าของให้สังเกตอาการแพ้หลังการฉีด และนัดมาฉีคซีนเข็มกระตุ้นเป็นประจำทุกปี

แหล่งอ้างอิง

1. Albertini, A.A., Ruigrok R.W. and Blondel D. 2011. Rabies Virus Transcription and Replication. Adv Virus Res. 79:1-22.

2. Day, M.J. and et al. (2016). WSAVA vaccination guidelines for the dog and the cats. Journal of Small Animal Practice. 57(1):4-8.

3. Oraveerakol, K., Thontiravong, A. and Techakriengkrai. 2017. Veterinary Virology Revised Edition 2017. 100-105.

4. Schnell, M.J., McGettigan, J.P., Wirklich, C. and Papaneri, A. 2010. The Cell Biology of Rabies Virus: Using Stealth to Reach the Brain. Nat Rev Microbiol. 8(1):51-61.

5. สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5. 2535. พระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535. [online]. Available : http://odpc9.ddc.moph.go.th/DPC5/(2)law-rabie.pdf. Access date : 29 Dec 2022.