ไต นับเป็นอวัยวะสำคัญภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิต ทำหน้าที่ในการกรองของเสียออกจากร่างกายในรูปของปัสสาวะ โดยเฉพาะของเสียในกลุ่มของยูเรีย (urea) ซึ่งเกิดจากการย่อยสารอาหารจำพวกโปรตีน และครีเอตินีน (creatinine) ทำหน้าที่ในการควบคุมสมดุลอิเล็กโทรไลต์(electrolyte) ภายในร่างกาย โดยเฉพาะโซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม และฟอสฟอรัส นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนที่มีชื่อว่า erythropoietin ซึ่งมีส่วนช่วยในการกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงจากไขกระดูก และ rennin ซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมความดันเลือดภายในร่างกาย แต่หากไตเกิดความเสียหาย หรือมีเหตุทำให้เกิดการตายของเซลล์หน่วยไตอย่างถาวร ประสิทธิภาพในการกำจัดของเสีย และควบคุมสมดุลต่าง ๆ ของไตก็จะลดลง ส่งผลให้เกิดการสะสมของของเสียภายในร่างกาย ซึ่งของเสียเหล่านี้เมื่อเกิดการสะสมที่มากขึ้นก็จะเกิดความเป็นพิษ เป็นที่มาของความผิดปกติของร่างกายตามมา หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษาอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
ภาวะไตวายเรื้อรังในแมว (feline chronic renal failure) คือภาวะความผิดปกติของไตที่เกิดจากการเสียหายของหน่วยไตอย่างถาวร ส่งผลให้ไตไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สาเหตุของการเกิดภาวะนี้สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ หรืออาจเกิดจากปัจจัยหลายปัจจัยประกอบกัน โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. สัตว์มีความผิดปกติที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด (congenital kidney disease) เช่น renal aplasia หรือ renal dysplasia เป็นต้น
2. พยาธิสภาพขึ้นมาภายหลัง (acquired kidney disease) เช่น amyloidosis หรือ glomerulonephritis เป็นต้น
สำหรับอาการของแมวที่ป่วยด้วยภาวะไตวายเรื้องรังอาจสังเกตได้ยาก เนื่องจากแมวเป็นสัตว์ที่ไม่ค่อยแสดงอาการป่วยออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจน โดยทั่วไปพบว่าแมวที่มีการแสดงอาการอย่างรุนแรงหรือเด่นชัด มักเป็นแมวที่มีการสูญเสียการทำงานของไตไปแล้วมากกว่า 70% นอกจากนี้แมวป่วยยังอาจแสดงอาการเหล่านี้ไม่ครบทุกอาการ หากสัตวแพทย์พบว่ามีการแสดงอาการร่วมกันหลายอาการ ควรทำการส่งตรวจค่าเคมีโลหิต (serum biochemistry) เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียดต่อไป อาการที่อาจแสดงออกในแมวที่ป่วยด้วยภาวะไตวายเรื้อรัง ได้แก่ กินน้ำมากขึ้น ปัสสาวะมากขึ้น (PU/PD) กล้ามเนื้อฝ่อลีบลง ผอม น้ำหนักลด อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องผูก น้ำลายไหลมาก ขนไม่เงางาม มีภาวะแห้งน้ำ มีแผลหลุมในช่องปาก มีกลิ่นปาก (กลิ่นแอมโมเนีย) กระเพาะอาหารอักเสบ จอประสาทตาหลุดลอก ตาบอด ชัก และอุณหภูมิร่างกายต่ำ
การวินิจฉัยภาวะไตวายเรื้อรังในแมวสามารถทำได้โดยการประเมินปัจจัยเสี่ยง เช่น อายุ พันธุกรรม และโรคที่แมวเป็น ร่วมไปกับการตรวจค่าความสามารถในการกรองของไต หรือ glomerular filtration rate (GFR) แต่ด้วยข้อจำกัดทางการตรวจ จึงมักแนะนำให้ทำการตรวจหาค่าเคมีโลหิต (serum biochemistry) ซึ่งมีความสะดวก และง่ายกว่าในทางคลินิก โดยแนะนำให้ทำการตรวจร่วมกันหลายค่าเพื่อตรวจดูการทำงานของไต ค่าเคมีโลหิตที่บ่งบอกถึงการทำงานของไต ได้แก่
ค่าครีเอตินีน (creatinine) : เป็นสารที่ได้จากการสลายของ phosphocreatine ที่อยู่ในกล้ามเนื้อ ซึ่งอัตราการสลายและขับทิ้งผ่านทางไตจะมีค่าคงที่ในสัตว์ปกติ โดยค่านี้จะมีความสัมพันธ์แบบผกผันกับอัตราการกรองของไต (GFR) โดยหากพบว่าค่า creatinine มีค่าสูงกว่าปกติ จะบ่งบอกถึงอัตราการกรองของไตที่ลดน้อยลง
ค่าไนโตรเจนในเลือด (blood urea nitrogen; BUN) : เป็นค่าปริมาณไนโตรเจนซึ่งเป็นองค์ประกอบของยูเรียในเลือด ซึ่งเป็นของเสียที่ได้จากการสลายโปรตีนในอาหาร โดยหากพบว่าค่า BUN มีค่าสูงปกติ จะบ่งบอกถึงการทำงานของไตที่ลดลง
Symmetric dimethylarginine (SDMA) : เป็นกรดอะมิโนชนิดอาร์จินีนที่ถูกเติมหมู่เมธิล พบได้ในนิวเคลียสของเซลล์ ซึ่งถูกปล่อยออกมาใน cytoplasm จากการสลายโปรตีน (proteolysis) และปล่อยเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่ง SDMA จะถูกขับออกทางไตได้มากกว่าหรือเท่ากับ 90% ปัจจุบันจึงนิยมใช้ค่าดังกล่าวในการประเมินการทำงานของไต
นอกจากนี้ยังควรทำการตรวจอื่น ๆ ร่วม ไม่ว่าจะเป็นการตรวจปัสสาวะ (urinalysis) การตรวจวินิจฉัยทางรังสี (abdominal radiography) หรือการทำอัลตราซาวด์ (ultrasonography) การหาค่าความถ่วงจำเพาะในปัสสาวะ (urine specific gravity) เพื่อดูความสามารถในการทำความเข้มข้นในปัสสาวะของไต วัดค่าความดันโลหิต และอัตราส่วนระหว่างโปรตีนและ creatinine ในปัสสาวะ (urine protein-creatinine ratio; UPCR) เพื่อสามารถแบ่งระดับ substage ของโรค เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป
กล่าวโดยสรุป ภาวะไตวายเรื้อรังในแมว เป็นภาวะที่มีความสลับซับซ้อน สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ และมีการแสดงอาการไม่เด่นชัด การตรวจวินิจฉัย และทำการรักษาจึงควรทำร่วมกันหลายวิธี เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการรักษามากที่สุด โดยสิ่งสำคัญคือการพยายามหาสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคให้พบและทำการแก้ไขที่ต้นเหตุ ร่วมไปกับการพยุงอาการไม่ให้แย่ไปกว่าเดิม
อ้างอิงข้อมูล
Brown, S.A. 1995. Primary diseases of glomeruli. In: Canine and Feline Nephrology and Urology. Obsborne, C.A., Finco, D.R. (eds.). Baltimore: Williams and Wilkins. 368-85.
Forrester, S.D., Grant, D. and Mcloughlin, M.A. 2006. Disease of the kidney and ureter. In: Saunders manual of small animal practice. Birchard, S.J. and Sherding, R.G. (eds), 3rd edition. Missouri: Saunders. 861-868.
Grauer, G.F. 2003. Renal failure. In: Small animal internal medicine: Volume 1. Nelson, R.W. and Couto. C.G. (eds) 3 EMBED Equation. 3 edition. Missouri: Mosby. 608-622.
Hall, J. A., Yerramilli, M., Obare, E., Yerramilli, M., & Jewell, D. E. 2014. Comparison of serum concentrations of symmetric dimethylarginine and creatinine as kidney function biomarkersin cats with chronic kidney disease. Journal of veterinary internal medicine, 28(6), 1676-1683.
IRIS. 2019. International Renal Interest Society (IRIS) staging of CKD.