ปัจจุบันการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงได้รับความสนใจจากเจ้าของสัตว์มากยิ่งขึ้น หนึ่งในปัญหาที่สามารถพบได้บ่อย คือปัญหาที่เกิดจากปรสิตภายนอก โดยเฉพาะหมัด อย่างไรก็ตามด้วยการพัฒนาไปของวงการสัตวแพทย์ การใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันและกำจัดหมัดพบว่าได้ผลดี และสามารถใช้ป้องกันในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ บทความนี้จะพาคุณหมอไปทำความรู้จักกับหมัด ภาวะภูมิแพ้น้ำลายหมัด แนวทางในการดูแลรักษา ตลอดจนแนวทางการป้องกันเพื่อจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หมัดมีมากมายหลายชนิด แต่ชนิดที่สามารถพบได้บ่อยทั้งในสุนัข และแมว มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ctenocephalides felis จัดเป็นปรสิตภายนอกที่ดำรงชีวิตด้วยการกินเลือดเป็นอาหาร เป็นหนึ่งในสาเหตุของเกิดภาวะโลหิตจาง ตลอดจนเป็นพาหะนำพยาธิอื่น ๆ เช่น Dipylidium caninum, Bartonella henselae, Rickettsia felis หรือ Haemoplasma species เป็นต้น อีกทั้งโปรตีนในน้ำลายหมัดยังสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ หรือที่เรียกว่าภาวะภูมิแพ้น้ำลายหมัดได้อีกด้วย ทั้งนี้วงจรชีวิตของหมัดมีด้วยกันทั้งหมด 4 ระยะ (ไข่ ตัวอ่อน ดักแด้ และตัวเต็มวัย) ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นระยะต่าง ๆ แล้วเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้ภายใน 3-8 สัปดาห์ โดยวงจรชีวิตของหมัดมีทั้งที่อยู่บนร่างกายสัตว์และในสิ่งแวดล้อม การจัดการหมัดจึงจำเป็นที่จะต้องทำร่วมกันในทั้งสองส่วนจึงจะมีประสิทธิภาพ
ภาวะภูมิแพ้น้ำลายหมัด (flea allergic dermatitis; FAD) คือภาวะที่เกิดจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายที่มีต่อแอนติเจนในน้ำลายของหมัด โดยพบว่าน้ำลายของหมัดมีสารประกอบคล้ายฮิสตามีน (histamine-like compound) สารต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulant) และเอนไซม์ที่มีฤทธิ์ในการสลายโปรตีน (proteolytic enzyme) ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ และการแพ้ได้ในสัตว์บางตัว ทั้งนี้ภาวะภูมิแพ้น้ำลายหมัดสามารถเกิดได้แม้สัตว์โดนหมัดกัดเพียงแค่ครั้งเดียว และสามารถเกิดได้กับสุนัขและแมวทุกช่วงอายุ
อาการของสัตว์ที่ป่วยด้วยภาวะภูมิแพ้น้ำลายหมัด จะแสดงออกมาชัดเจนในรูปแบบของอาการคัน สัตว์มีพฤติกรรมการเลียตัวเองบ่อยผิดปกติ โดยเฉพาะในแมวอาจพบอาการขนร่วงแบบสมมาตรทั้งสองข้างของลำตัว (bilateral symmetrical alopecia) ผิวหนังหนาตัว เป็นขุย อาจพบผิวหนังอักเสบมีตุ่มหนองบริเวณหลังส่วนล่าง โคนหาง หรือขาหลัง นอกจากนี้ยังอาจพบรอยโรคอื่น ๆ เช่น milliary dermatitis, eosinophilic plaque หรือ eosinophilic granuloma ร่วมด้วยได้ อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้ยังอาจบ่งชี้ถึงภาวะความผิดปกติอื่น ๆ ได้ สัตวแพทย์ควรทำการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียดต่อไป
สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคควรเริ่มที่การซักประวัติการป้องกันปรสิตภายนอก สภาพแวดล้อม ลักษณะการเลี้ยงดู ที่อยู่อาศัย ร่วมไปกับการตรวจร่างกายหาตำแหน่ง หรือลักษณะของรอยโรค ทั้งนี้สุนัข หรือแมวที่มีภาวะภูมิแพ้น้ำลายหมัดอาจไม่พบตัวหมัด หรือขี้หมัดปริมาณมากบนร่างกาย เนื่องจากการแพ้อาจเกิดขึ้นได้แม้สัตว์โดนหมัดกัดเพียงแค่ครั้งเดียว นอกจากนี้ยังสามารถทำการตรวจวินิจฉัยโดยการใช้เทคนิค intradermal skin test เพื่อหาการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสัตว์ต่อแอนติเจนจากน้ำลายหมัดได้อีกด้วย
การรักษาสัตว์ที่ป่วยด้วยภาวะภูมิแพ้น้ำลายหมัด สามารถทำได้โดยการให้ยาลดอาการคัน หรือยาลดการอักเสบ เช่น ยาในกลุ่ม antihistamine, corticosteroid ร่วมกับการจัดการ และควบคุมหมัดทั้งบนตัวสัตว์ และในสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามหากพบปัญหาอื่น ๆ แทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย หรือยีสต์ ควรจัดการการติดเชื้อดังกล่าวร่วมด้วย
อีกหนึ่งสิ่งสำคัญของการจัดการปัญหาหมัด คือการป้องกัน และควบคุมหมัดในสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันพบว่า ผลิตภัณฑ์ป้องกัน และกำจัดหมัดมีความปลอดภัย และประสิทธิภาพสูง โดยเฉพาะตัวยาในกลุ่มของ isoxazoline ไม่ว่าจะเป็น sarolaner, afoxolaner หรือ fluralaner หรือตัวยาในกลุ่มอื่น เช่น lufernuron ซึ่งออกฤทธิ์ต่อต้านการเจริญของไข่หมัด และยับยั้งการสร้างโครงร่างส่วนนอกร่างกายของหมัด หรือยาในกลุ่มยาหยดหลัง เช่น selamectin, fipronil, imidacloprid หรือ moxidectin ที่ยังคงได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้สัตวแพทย์ควรแนะนำให้เจ้าของใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวร่วมกับการดูแลรักษาความสะอาดของสิ่งแวดล้อมเพื่อกำจัดไข่ และดักแด้ ก่อนการพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยและกลับเข้าสู่ร่างกายสัตว์ต่อไป
ภาวะภูมิแพ้น้ำลายหมัด เป็นหนึ่งในภาวะที่เกิดจากปรสิตภายนอกซึ่งสามารถป้องกันได้ สัตวแพทย์ควรให้คำแนะนำในการดูแลและป้องกันกับเจ้าของอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาต่อไปในอนาคต และพัฒนาคุณภาพชีวิตของสัตว์ให้มีสุขภาพที่ดีต่อไป

เอกสารอ้างอิง

1. Daigle JC. Flea Allergy: The best tests & prevention. NAVC Clinician's Brief. August. 2005. P. 44-45.

2. ESCCAP. 2022. Control of Ectoparasites in Dogs and Cats. ESCCAP Guideline (7), 7-10. Available online at: https://www.esccap.org/uploads/docs/4ce0ad9k_0720_ESCCAP_GL3__English_v17_1p.pdf

3. Lam A and Yu A. Overview of flea allergy dermatitis. Compendium. May 2009. P. E1-E10.

4. Starkey L. and Stewart J. 2015. Recommendations from the companion animal parasite council: feline arthropods. Today’s Veterinary Practice. 59-64.