พยาธิภายใน คือหนึ่งในสาเหตุของการเกิดปัญหาสุขภาพในสุนัข ส่งผลให้ร่างกายของสุนัขอ่อนแอ อันเป็นที่มาของการเกิดโรคอื่น ๆ ตามมาได้ นอกจากนี้ พยาธิภายในบางชนิดยังสามารถติดต่อมาสู่คน (zoonosis) นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่มีความสำคัญในทางสาธารณะสุข บทความนี้จะพาคุณหมอไปทำความรู้จักกับพยาธิแส้ม้า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งชนิดของพยาธิที่สามารถติดต่อมาสู่คนได้ ตลอดจนแนวทางการป้องกัน

พยาธิแส้ม้าคืออะไร ?

พยาธิแส้ม้า (whipworm) คือพยาธิภายในที่อยู่ในกลุ่มพยาธิตัวกลม (nematodes) เช่นเดียวกับพยาธิปากขอ (hookworm) หรือพยาธิเส้นด้าย (thread worm) มีชื่อเรียกตามลักษณะที่คล้ายกับแส้ คือลำตัวส่วนหน้าเป็นเส้นยาวเรียว และลำตัวส่วนท้ายมีลักษณะหนา โดยชนิดที่สามารถพบได้บ่อยในสุนัขมีชื่อว่า Trichuris vulpis เป็นที่มาของการเกิดโรค trichuriasis สามารถพบได้ทั่วไปในสุนัข และก่อโรคได้ในสุนัขทุกเพศ ทุกวัย เมื่อเข้าสู่ร่างกายโฮสต์มักอาศัยอยู่บริเวณลำไส้ใหญ่ส่วน caecum โดยใช้ส่วนหัวที่มีลักษณะเรียวยาวยึดเกาะกับผนังลำไส้ และทำการดูดเลือดเพื่อแย่งสารอาหารจากโฮสต์ โดยพยาธิแส้ม้านี้จัดอยู่ในกลุ่มพยาธิที่สามารถติดต่อได้ผ่านทางดิน (soil-transmitted helminths) เนื่องจากสามารถปนเปื้อน และอาศัยอยู่ภายในดินได้

วงจรชีวิตของพยาธิแส้ม้าเป็นอย่างไร ?

วงจรชีวิตของพยาธิแส้ม้า เกิดขึ้นทั้งในตัวโฮสต์ (สุนัข) และในสิ่งแวดล้อม โดยพยาธิตัวเต็มวัยเพศเมียที่อาศัยอยู่บริเวณผนังสำไส้ใหญ่จะออกไข่ โดยพบว่าพยาธิแส้ม้าสามารถออกไข่ได้สูงถึง 2,000 ใบต่อวัน ไข่เหล่านั้นจะออกสู่ภายนอกผ่านทางอุจจาระของสุนัข ซึ่งจะปนเปื้อนไปกับดิน และสิ่งแวดล้อม หลังจากนั้น 9-21 วัน เมื่อไข่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม (อุณหภูมิประมาณ 25-34 องศาเซลเซียส) ไข่จะเจริญจนมีตัวอ่อนระยะที่ 1 อยู่ภายใน (embryonated eggs) ซึ่งระยะนี้นับว่าเป็นระยะติดต่อ (infective stage) ที่สามารถติดต่อไปยังโฮสต์ตัวอื่น ๆ ได้ ตัวอ่อนระยะติดต่อนี้จะเจริญเติบโตต่อไปเมื่อมีโฮสต์ (สุนัข) มากินไข่เข้าไป หลังจากนั้นตัวอ่อนจะฟักออกจากไข่ และทำการชอนไชไปยังผนังลำไส้เล็ก จากนั้นตัวอ่อนจะกลับเข้ามาอยู่ในลำไส้เล็กอีกครั้ง และจะเคลื่อนที่ไปยังลำไส้ใหญ่ส่วน caecum เพื่อยึดเกาะ ดูดเลือด และเจริญเติบโตเป็นพยาธิตัวเต็มวัย พยาธิตัวเต็มวัยก็จะทำการออกไข่เพื่อขยายพันธุ์เช่นนี้ต่อไปเป็นวัฏจักร

พยาธิแส้ม้าก่อโรคอย่างไรในสุนัข ?

พยาธิแส้ม้าเป็นตัวการของการเกิดโรค trichuriasis ซึ่งส่งผลให้สุนัขแสดงอาการอ่อนเพลีย ท้องเสียจากลำไส้ใหญ่ (สุนัขมักแสดงอาการปวดเบ่ง) น้ำหนัดลด อัตราการเจริญเติบโตไม่สอดคล้องกับปริมาณการกิน (กินมาก แต่ไม่โต) นอกจากนี้ยังอาจพบการเกิดภาวะโลหิตจางในกรณีมีการติดพยาธิในปริมาณมากได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในสุนัขที่มีการติดพยาธิแส้ม้ามักไม่ค่อยแสดงอาการป่วยออกมาให้เห็น สัตวแพทย์จึงควรทำการดูแลตั้งแต่ต้น เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาที่ตามมาในอนาคต

สามารถตรวจวินิจฉัยการติดพยาธิแส้ม้าในสุนัขได้อย่างไร ?

การตรวจวินิจฉัยพยาธิแส้ม้าสามารถทำได้โดยการนำอุจจาระของสุนัขมาตรวจหาไข่ของพยาธิด้วยวิธีใช้การปั่นเหวี่ยง (centrifugal fecal flotation) อย่างไรก็ตามหากไม่มีเครื่องปั่นเหวี่ยงสามารถใช้วิธีการทำให้ไข่พยาธิลอยตัวแบบมาตรฐาน (simple fecal flotation) เพื่อตรวจสอบได้ โดยหากพบไข่ของพยาธิสามารถทำการให้ยาถ่ายพยาธิ และวางแผนการรักษาในกรณีสัตว์แสดงอาการได้ทันที

การรักษา และป้องกันพยาธิแส้ม้าในสุนัขสามารถทำได้อย่างไร ?

การติดพยาธิแส้ม้าในสุนัขมักไม่แสดงอาการทางคลินิก อย่างไรก็ตามหากสัตวแพทย์พบว่าสัตว์ประสบกับภาวะเลือดจาง หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น อ่อนเพลีย น้ำหนักลดลง หรือท้องเสียร่วม ควรทำการรักษาแบบประคับประคองอาการ ด้วยการให้สารน้ำและอิเล็กโทรไลต์ ธาตุเหล็กเสริม หรือพิจารณาถ่ายเลือดเพิ่มเติมในกรณีจำเป็น นอกจากนี้หากตรวจพบการติดพยาธิแส้ม้าควรให้ยาถ่ายพยาธิทันที โดยยาถ่ายพยาธิที่ออกฤทธิ์ในการควบคุมพยาธิแส้ม้าได้ ได้แก่ phthalofyne, glycobiaesol, dichlorvos, mebendazole, fenbendazole, milbemycin, moxidectin, ivermection, selamectin ตลอดจน oxibendazole ทั้งนี้สัตวแพทย์สามารถค้นหาปริมาณยาที่เหมาะสม และข้อควรระวังการใช้ยาได้จากเอกสารกำกับยาแต่ละชนิดต่อไป

การป้องกันพยาธิแส้ม้าในสุนัข ควรเน้นที่การดูแลรักษาความสะอาดของสิ่งแวดล้อมเนื่องจากระยะติดต่อของพยาธิมักพบได้ในดิน หรือสิ่งแวดล้อมที่มีความสกปรก เจ้าของควรดูแลรักษาความสะอาดของสิ่งแวดล้อม ตลอดจนอาหารการกินของสุนัขไม่ให้มีการปนเปื้อนของไข่พยาธิ ร่วมไปกับการถ่ายพยาธิเป็นประจำ โดยแนะนำให้เจ้าของพาสุนัขมาถ่ายพยาธิอย่างน้อยทุก ๆ 3 เดือน นอกจากนี้สัตวแพทย์ยังสามารถแนะนำเจ้าของให้ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันปรสิตที่ออกฤทธิ์ป้องกันทั้งปรสิตภายนอก และภายในซึ่งมีวางจำหน่ายในท้องตลาด อาทิ ผลิตภัณฑ์ที่มีตัวยา afoxolaner และ milbemycin oxime ซึ่งสามารถออกฤทธิ์ป้องกันพยาธิปากแส้ม้า อันจะเป็นการเสริมการป้องกันทั้งภายนอก และภายใน ช่วยให้สุนัขปลอดภัยจากพยาธิแส้ม้ามากยิ่งขึ้น

อ้างอิงข้อมูล

1. Andy M. 2019. Whipworms in Dogs. [online]. Available : https://todaysveterinarypractice.com/parasitology/whipworms-in-dogs/. Accessed 27 September 2022.

2. Anna B. 2017. Whipworms in Dogs: Symptoms, Treatment and Prevention. [online]. Available : https://www.akc.org/expert-advice/health/whipworms-dogs-symptoms-treatment-prevention/. Accessed 27 September 2022.

3. EIDAs. 2022. โรคพยาธิแส้ม้า (Trichuriasis). [online]. Available : http://www.eidas.vet.chula.ac.th/th/diseases/people/parasite/401. Accessed 27 September 2022.

4. Jean AN., Patrick AL., Marrisa AW., Robert CD. and Daniel DM. 2015. Parasitic Disease: Nematodes. In: Biology and Disease of Dogs. (3):528.