หนอนพยาธิเป็นสิ่งมีชีวิตกลุ่มปรสิตที่สร้างผลกระทบต่อสัตว์ต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลกมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เล็ก ปศุสัตว์ หรือสัตว์ประเภทอื่นๆ ล้วนยังต้องเผชิญกับปัญหาปรสิตเหล่านี้อยู่เสมอ ในวงจรชีวิตของพยาธินั้นมักประกอบไปด้วยระยะที่ยังเป็นไข่ ระยะตัวอ่อนที่ฟักออกจากไข่และมีการพัฒนาไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งกลายเป็นระยะตัวเต็มวัย ซึ่งในวงจรชีวิตนี้จะมีตัวอ่อนพยาธิอยู่ระยะหนึ่งถูกเรียกว่า ตัวอ่อนระยะติดต่อ (infective stage) เป็นตัวอ่อนระยะที่มักอาศัยอยู่ในโฮสต์กึ่งกลาง สัตว์พาหะ หรือในธรรมชาติ พร้อมติดเข้าสู่โฮสต์แท้และไปเจริญต่อจนกลายเป็นระยะตัวเต็มวัย พร้อมสืบพันธุ์เพิ่มจำนวนและแย่งสารอาหารจากโฮสต์แท้ทำให้เกิดพยาธิสภาพตามมา เนื่องจากพยาธิสามารถปะปนอยู่ทุกพื้นที่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทั้งยังไม่สามารถมองเห็นได้ง่ายด้วยตาเปล่าขณะอยู่ในระยะไข่หรือตัวอ่อนระยะต่าง ๆ โดยเฉพาะตัวอ่อนระยะติดต่อ ทำให้ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าสัตว์เผลอรับตัวอ่อนดังกล่าวเข้ามาในร่างกายเมื่อใด ส่วนใหญ่กว่าสัตว์จะถูกวินิจฉัยว่าอยู่ในภาวะติดพยาธิก็มักเป็นตอนที่ร่างกายเริ่มแสดงพยาธิสภาพและต้องเข้าสู่กระบวนการการรักษาแล้ว นอกจากนั้นพยาธิหลายชนิดยังเป็นสาเหตุของโรคจากสัตว์สู่คน ปัญหานี้จึงไม่เพียงเป็นปัญหาในสัตว์แต่ยังเป็นปัญหาที่สามารถส่งผลกระทบต่อตัวผู้เลี้ยงสัตว์ด้วย
สัตว์เลี้ยงกลุ่มสุนัขและแมวนั้นนับว่าเป็นโฮสต์แท้ของพยาธิหลากหลายชนิด แต่ครั้งนี้เราจะกล่าวถึงเพียงพยาธิในสุนัข ด้วยอุปนิสัยที่สามารถเอาทุกสิ่งทุกอย่างเข้าปาก ทำให้สุนัขมีโอกาสติดพยาธิประเภทดังกล่าวได้หลัก ๆ จากการกินอาหารหรือสิ่งใด ๆ ก็ตามที่ปนเปื้อนตัวอ่อนพยาธิระยะติดต่อเข้าไป แต่ก็มีพยาธิบางชนิดที่สามารถเข้าสู่ร่างกายสุนัขได้ผ่านทางอื่น เช่น ไชเข้าทางผิวหนัง เป็นต้น สุนัขทุกตัวสามารถติดพยาธิได้ไม่ว่าจะเป็นสุนัขจรจัดหรือสุนัขเลี้ยงที่มีเจ้าของ แม้ในสุนัขเลี้ยงจะมีโอกาสติดพยาธิน้อยกว่าสุนัขจร แต่เพราะบางช่วงวงจรชีวิตของพยาธิมีการปะปนอยู่ได้ในทุกพื้นที่ของสิ่งแวดล้อม มีสุนัขจรจัดที่ไม่ได้รับการป้องกันพยาธิอยู่ในสังคมอีกเป็นจำนวนมาก และวิธีการเลี้ยงสุนัขของหลายครัวเรือนไม่สามารถเลี้ยงแบบระบบปิดได้อย่างเต็มรูปแบบ จำเป็นต้องปล่อยให้สุนัขออกไปวิ่งเล่นหรือพาไปเดินเล่นข้างนอกบ้าง ทำให้สุนัขเลี้ยงยังคงมีความเสี่ยงที่จะติดพยาธิได้ทุกเมื่อหากไม่ได้รับการป้องกันอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ พยาธิในสุนัขหรือสัตว์ชนิดอื่นๆ มีตำแหน่งที่อยู่และตำแหน่งก่อพยาธิสภาพแตกต่างกันไป แต่ประเภทที่พบได้บ่อยที่สุดจะเป็นพยาธิที่อาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหาร บทความนี้เราจึงจะมาพูดถึงและยกตัวอย่างพยาธิในสุนัขโดยเน้นไปที่พยาธิกลุ่มดังกล่าวเป็นหลักรวมไปถึงการป้องกันพยาธิ
พยาธิในระบบทางเดินอาหารของสุนัข โดยทั่วไปมักอาศัยอยู่บริเวณลำไส้ของสุนัข ซึ่งชนิดของพยาธิในลำไส้ที่พบมากที่สุดมี 4 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ พยาธิไส้เดือน พยาธิปากขอ พยาธิแส้ม้า และพยาธิตัวตืด ส่วนพยาธิในลำไส้ชนิดอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวไปหรือพยาธิที่อยู่ในทางเดินอาหารส่วนอื่นนั้นสามารถพบได้บ้างแต่ไม่บ่อยนัก

1. พยาธิไส้เดือน (roundworm)

พยาธิไส้เดือนอยู่ในกลุ่มพยาธิตัวกลม (nematode) ชนิดของพยาธิไส้เดือนที่พบได้บ่อยที่สุดในสุนัข ได้แก่ Toxocara canis ซึ่งสามารถก่อโรคสัตว์สู่คนได้ พยาธิ T. canis ติดสู่สุนัขได้ผ่านการกินไข่พยาธิที่ภายในมีตัวอ่อนระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะติดต่อเข้าไปโดยตรง กินเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้รับการปรุงสุก หรือกินสัตว์เล็ก ๆ ที่เป็นโฮสต์ข้างเคียง มีตัวอ่อนระยะติดต่ออยู่ในตัว เช่น หนู เป็นต้น ตัวอ่อนระยะติดต่อยังสามารถติดผ่านทางรกหรือผ่านน้ำนม ทำให้สุนัขสามารถติดพยาธิ T. canis ได้ทุกวัยไม่ว่าจะเป็นลูกสุนัขหรือสุนัขโตเต็มวัย แต่ในลูกสุนัขจะพบบ่อยกว่าและมีอาการค่อนข้างรุนแรงมากกว่า เมื่อสุนัขหรือลูกสุนัขได้รับไข่พยาธิไส้เดือนเข้าไป ตัวอ่อนระยะติดต่อจะฟักออกจากไข่ที่ลำไส้เล็ก จากนั้นก็ชอนไชผ่านเยื่อบุลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดไปที่ปอด ขึ้นมาที่หลอดลมทำให้สัตว์เกิดอาการไอ ตัวอ่อนที่ถูกไอขับออกมาจะตกลงไปในทางเดินอาหารแล้วกลับไปเจริญต่อเป็นตัวเต็มวัยที่ลำไส้เล็ก สืบพันธุ์และปล่อยไข่ออกมาพร้อมอุจจาระของสุนัข ในสุนัขเพศเมียที่กำลังตั้งท้องนั้น ตัวอ่อนพยาธิบางส่วนหลังฟักออกจากไข่สามารถชอนไชไปที่อื่นนอกทางเดินอาหาร ปะปนผ่านทางรกกับน้ำนมมาสู่ลูกสุนัข อาการทางคลินิกในลูกสุนัขหากติดพยาธิไส้เดือนจำนวนมากจะพบว่ามีพุงกาง ตัวแคระแกร็น ยืนขาแบะหรือเดินขาหลังพันกัน เบื่ออาหาร ท้องเสีย หรืออาเจียนซึ่งอาจมีตัวพยาธิปะปนออกมาด้วย และในบางรายที่ได้รับตัวอ่อนพยาธิผ่านทางรกตั้งแต่อยู่ในท้องแม่อาจเสียชีวิตแบบเฉียบพลันหลังเกิดมาไม่กี่วันเนื่องจากพยาธิทำให้เกิด ลำไส้อักเสบ ทางเดินอาหารอุดตัน และปอดอักเสบ ส่วนอาการทางคลินิกในสุนัขโตเต็มวัยไม่ค่อยจำเพาะทำให้วินิจฉัยเบื้องต้นได้ยาก จำเป็นต้องอาศัยการซักประวัติเพิ่มเติมกับตรวจอุจจาระหาไข่พยาธิ โดยไข่ของพยาธิไส้เดือนเมื่อส่องดูภายใต้กล้องจุลทรรศน์จะเห็นเป็นลักษณะกลม เปลือกไข่ค่อนข้างหนาทำให้มีความคงทนสูง สามารถปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้เป็นระยะเวลานานเป็นปี ๆ และทำลายหรือกำจัดได้ยาก

2. พยาธิปากขอ (hookworm)

พยาธิปากขอจัดอยู่ในกลุ่มพยาธิตัวกลม มีความชุกชุมมากในสภาพภูมิอากาศเขตร้อนหรือกึ่งเขตร้อน และโดยเฉพาะในพื้นที่ที่การจัดการด้านสุขอนามัยไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ พยาธิปากขอที่พบในสุนัขจะเป็นชนิด Ancylostoma caninum, Ancylostoma ceylanicum, Ancylostoma braziliense และ Uncinaria stenocephala ซึ่งในประเทศไทยส่วนใหญ่มักพบ A. ceylanicum กับ A. caninum โดยทั้งสองชนิดสามารถก่อโรคสัตว์สู่คนได้ โดยความแตกต่างของพยาธิทั้งสองชนิดนี้ คือ A. ceylanicum สามารถพบได้ทั้งในสุนัข แมว และคน โดยพยาธิสามารถเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยภายในร่างกายมนุษย์ได้ แต่ A. caninum มักพบได้ในสุนัขเป็นหลัก และหากมีการติดในมนุษย์จะไม่สามารถพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยได้ พยาธิปากขอเข้าสู่ร่างกายสุนัขได้ผ่านการกินอาหารหรืออุจจาระตามพื้นดินที่ปนเปื้อนตัวอ่อนพยาธิระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะติดต่อเข้าไป หรือตัวอ่อนระยะดังกล่าวไชเข้าผ่านผิวหนัง และในส่วนของ A. caninum นั้นยังสามารถติดสู่ลูกสุนัขผ่านน้ำนมแม่สุนัขได้ด้วย ตัวอ่อนพยาธิปากขอที่ไชเข้าร่างกายสุนัขจะไปเจริญเป็นตัวเต็มวัยที่ลำไส้เล็กโดยใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ ตัวเต็มวัยจะสืบพันธุ์และปล่อยไข่ออกมากับอุจจาระ ไข่ของพยาธิปากขอหากส่องดูภายใต้กล้องจุลทรรศน์จะมีลักษณะทรงรีมน เปลือกบาง และภายในมี embryonated cells ตัวอ่อนระยะแรกจะฟักออกจากไข่ภายใน 1-2 วัน แล้วลอกคราบต่อไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อ ปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอถูกกินหรือไชเข้าสู่ตัวสุนัขต่อไป พยาธิปากขอตัวเต็มวัยมีโครงสร้างเป็นฟันที่งองุ้มเป็นทรงตะขอในช่องปากซึ่งกลายเป็นที่มาของชื่อ โครงสร้างนี้เป็นสิ่งที่พยาธิปากขอใช้ยึดเกาะเยื่อบุลำไส้ของสุนัข สร้างความเสียหายให้เนื้อเยื่อและดูดเลือดกับสารอาหารต่าง ๆ กินเป็นอาหาร ด้วยพฤติกรรมการหาอาหารแบบนี้นี่เองทำให้ลูกสุนัขหรือสุนัขโตเต็มวัยที่ติดพยาธิปากขอมักมีภาวะเสียเลือดจากเลือดออกในลำไส้ ในลูกสุนัขสามารถพบอาการถ่ายเหลวปนเลือด ภาวะโลหิตจาง ซึม อ่อนแรง เยื่อเมือกซีด ร่างกายสูญเสียน้ำ มีภาวะโปรตีนในเลือดต่ำ ขนหยาบ โตช้า และอาจเสียชีวิตได้ ส่วนในสุนัขโตนอกจากอาการเลือดออกในลำไส้ก็อาจพบว่าถ่ายอุจจาระเหลวเป็นสีดำปนเลือด มีภาวะโลหิตจาง ภาวะขาดสารอาหาร เบื่ออาหาร น้ำหนักลด แห้งน้ำ อ่อนแรง และอาจมีอาการผิวหนังอักเสบร่วมด้วยซึ่งเกิดจากการชอนไชของตัวอ่อนพยาธิ

3. พยาธิแส้ม้า (whipworm)

พยาธิแส้ม้า หรือ Trichuris vulpis เป็นพยาธิตัวกลมในทางเดินอาหารสุนัขอีกชนิดที่สามารถก่อโรคสัตว์สู่คนแต่ในคนจะพบไม่บ่อย ส่วนหัวของพยาธิชนิดนี้มีขนาดเรียวเล็กกว่าส่วนท้าย ลักษณะคล้ายแส้จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกดังกล่าว สุนัขสามารถติดได้โดยการกินไข่ที่มีตัวอ่อนพยาธิระยะที่ 1 ซึ่งเป็นระยะติดต่อที่ปนเปื้อนอยู่ตามพื้นดินหรือแหล่งน้ำเข้าไป และเนื่องจากพยาธิแส้ม้าไม่มีการติดผ่านทางรกหรือน้ำนมแม่ ทั้งยังมีระยะฟักตัวประมาณ 10-12 สัปดาห์ ทำให้มีโอกาสพบการติดพยาธิชนิดนี้ในลูกสุนัขค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับสุนัขโต เมื่อสุนัขกินไข่พยาธิเข้าไป ตัวอ่อนพยาธิจะฟักออกจากไข่แล้วไปลอกคราบเจริญต่อเป็นตัวเต็มวัยอาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ส่วน caecum หรือ colon สามารถผสมพันธุ์ปล่อยไข่ออกมากับอุจจาระได้อีกเป็นระยะเวลานาน โดยไข่จะเป็นสีน้ำตาล เปลือกหนา ลักษณะทรงรีคล้ายผลเลม่อนหรือลูกรักบี้ และมีจุกอยู่ที่ขั้วทั้งสองด้าน ไข่ของพยาธิแส้ม้ามีความคงทน สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้เป็นปี ๆ แม้สภาพแวดล้อมจะไม่เหมาะสมอย่างเช่น อากาศแห้ง หรือมีแดดส่อง ส่งผลให้กำจัดหรือทำลายได้ค่อนข้างยาก ทำให้สุนัขมีโอกาสกลับมาติดพยาธิได้ทุกเมื่อแม้เคยเป็นมาก่อนและรักษาจนหายแล้ว อาการของสุนัขที่เป็นโรคพยาธิแส้ม้ามีตั้งแต่ไม่แสดงอาการและแสดงอาการทางคลินิก ขึ้นอยู่กับจำนวนมากน้อยของพยาธิในลำไส้ อาการทางคลินิกที่พบได้นั้นมีทั้งอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ถ่ายเบ่ง อุจจาระมีเลือดสดหรือเมือกปน เบื่ออาหาร เสียดท้อง ในรายที่เป็นหนักอาจพบน้ำหนักลดและภาวะโลหิตจางร่วมด้วย ส่วนลูกสุนัขแม้มีโอกาสน้อยในการติดพยาธิแส้ม้า แต่หากติดขึ้นมาก็สามารถพบว่ามีน้ำหนักลดลง โตช้า และอาจเกิดภาวะติดเชื้อแทรกซ้อนชนิดอื่น นอกจากนั้นหากมีพยาธิเป็นจำนวนมากอาจพบการอักเสบแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรังของลำไส้ใหญ่ส่วน caecum หรือ colon ด้วยจากการเคลื่อนที่ชอนไชของพยาธิตัวเต็มวัยไปตามเยื่อบุลำไส้

4. พยาธิตัวตืด (cestode; tapeworm)

4.1 พยาธิเมล็ดแตงกวา หรือ พยาธิตืดหมัด (Dipylidium caninum) เป็นพยาธิตัวตืดที่มีโฮสต์กึ่งกลางเป็นตัวหมัด จึงพบได้บ่อยมากในสุนัขที่มีประวัติไม่ได้รับการกำจัดหมัดหรือรับยาถ่ายพยาธิอย่างสม่ำเสมอโดยติดผ่านการกินตัวหมัดที่มี cysticercoid ซึ่งเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อเข้าไป แมวเองก็สามารถติดพยาธิชนิดนี้ได้ คนก็เช่นกันแต่ไม่พบรายงานบ่อยนักหากไม่เผลอกินหมัดเข้าไปตรง ๆ ตัวอ่อน cysticercoid จะใช้เวลา 2-3 อาทิตย์ในการเจริญเป็นตัวเต็มวัยที่ลำไส้เล็ก พยาธิตืดหมัดตัวเต็มวัยจะใช้ส่วนหัว (scolex) ที่มีโครงสร้าง rostellum ซึ่งเต็มไปด้วยตะขอ และ suckers อีก 4 อันยึดเกาะผนังลำไส้กับดูดซึมสารอาหาร มีการสืบพันธุ์แล้วปล่อยปล้องสุกปนออกมากับอุจจาระ ภายในปล้องสุกจะมีถุงไข่ซึ่งแต่ละถุงจะบรรจุไข่ประมาณ 25-30 ฟอง ไข่พยาธิที่ถูกปล่อยออกมาในสิ่งแวดล้อมจะถูกตัวอ่อนหมัดกินเข้าไป จากนั้นไข่ก็จะฟักเป็นตัว เจริญต่อจนกลายเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อ รอติดไปยังสุนัขผ่านการกินตัวหมัดโตเต็มวัยต่อไป สุนัขที่ติดพยาธิตืดหมัดมักไม่ค่อยแสดงอาการทางคลินิกชัดเจน แต่ในรายที่ติดพยาธิจำนวนมากโดยเฉพาะในลูกสุนัขอาจพบปัญหาโตช้าจากการถูกแย่งสารอาหาร ลำไส้อักเสบ และลำไส้อุดตัน สำหรับปล้องสุกที่ถูกปล่อยออกมาข้างนอกนั้นจะมีสีขาว ลักษณะเรียวคล้ายเมล็ดแตงกวาซึ่งเป็นที่มาของชื่อพยาธิ และมี genital pore 2 ตำแหน่ง ปล้องสุกจะติดอยู่ตามขนบริเวณก้นหรือรอบ ๆ รูทวารของสุนัข หรือปะปนอยู่ในกองอุจจาระซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ และบางครั้งอาจทำให้สุนัขเกิดอาการคันระคายจนต้องหย่อนก้นถูไปกับพื้นด้วย

4.2 พยาธิตืด Taenia spp. เป็นพยาธิที่มีลักษณะลำตัวเป็นเส้นแบนยาว ถูกเป็นออกเป็นท่อน ๆ ซึ่งส่วนต้นที่ต่อจากลำคอจะเป็นปล้องอ่อน (immature segment) ช่วงกลางลำตัวจะเป็นปล้องแก่ (mature segment) และช่วงท้ายลำตัวจะเป็นปล้องสุก (gravid segment) พยาธิตืดชนิดนี้พบในสุนัขไม่บ่อยเมื่อเทียบกับ D. caninum ต้องมีโฮสต์กึ่งกลางแบบจำเพาะอยู่ในวงจรชีวิต โดยสุนัขเป็นโฮสต์แท้ของพยาธิ Taenia หลายสปีชีส์ แต่ละสปีชีส์จะอาศัยโฮสต์กึ่งกลางจำเพาะที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่ Taenia hydatigena กับ Taenia multiceps มีโฮสต์กึ่งกลางเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น โค แกะ และแพะ เป็นต้น และยังพบได้ในสุกรด้วย ส่วน Taenia ovis มีโฮสต์กึ่งกลางเป็นแกะกับแพะ และ Taenia pisiformis กับ Taenia serialis เป็นกระต่ายกับสัตว์ฟันแทะ เมื่อโฮสต์กึ่งกลางกินไข่พยาธิเข้าไป ตัวอ่อนพยาธิก็จะไปเจริญเป็นระยะติดต่อฝังตัวในเนื้อเยื่ออวัยวะ ซึ่งสุนัขสามารถติดได้จากการกินเนื้อดิบของโฮสต์กึ่งกลางเหล่านั้นที่มีตัวอ่อนพยาธิฝังตัวอยู่ พยาธิตืด Taenia จะเจริญเป็นตัวเต็มวัยในลำไส้เล็กและปล่อยปล้องสุกซึ่งภายในมีมดลูกบรรจุไข่พยาธิออกมากับอุจจาระ โดยปล้องสุกจะมีสีขาว ลักษณะแบนยาวคล้ายทรงสี่เหลี่ยม มี genital pore 1 ตำแหน่ง นอกจากในอุจจาระก็สามารถพบปล้องสุกติดอยู่ตามขนบริเวณรอบๆ รูทวารของสุนัขซึ่งส่งผลให้เกิดความระคายเคือง จึงอาจเห็นสุนัขใช้ก้นไถไปกับพื้น ส่วนไข่จะมีลักษณะกลม เปลือกหนามีลายขีดขวาง เรียกว่า radial striation และภายในไข่จะมีตัวอ่อนที่มีตะขอ 6 อัน (hexacanth embryo) พยาธิตืด Taenia ตัวเต็มวัยไม่ค่อยทำให้เกิดอาการทางคลินิกรุนแรงในสุนัข ส่วนใหญ่ก็มักไม่แสดงอาการ ยกเว้นในกรณีที่มีพยาธิภายในลำไส้เป็นจำนวนมาก อาจทำให้สุนัขพุงกาง ท้องเสียไม่ก็ท้องผูก มีอาการเจ็บท้อง อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้ก็ยังไม่จำเพาะต่อโรค หากต้องการยืนยันการติดโรคเพื่อวางแผนการรักษาอาจจำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เช่น ตรวจอุจจาระหาไข่หรือปล้องสุกของพยาธิ

5. พยาธิเส้นด้าย (threadworm)

Strongyloides stercoralis หรือ พยาธิเส้นด้าย เป็นพยาธิตัวกลมที่พบในลำไส้เล็กของสุนัข เป็นอีกชนิดที่สามารถพบได้ในแมวและติดต่อสู่คน สุนัขจะติดพยาธิชนิดนี้ได้จากการถูกตัวอ่อนพยาธิระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะติดต่อไชผ่านผิวหนังเข้าร่างกาย กับกินตัวอ่อนที่ปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อมหรือได้รับผ่านทางน้ำนมแม่ เมื่อตัวอ่อนพยาธิเข้ามาในร่างกายแล้วก็จะเคลื่อนที่ไปบริเวณปอดและหลอดลม ทำให้สุนัขระคายคอ เกิดการไอขับตัวอ่อนย้อนกลับขึ้นมาแล้วถูกกลืนลงไปในทางเดินอาหาร จากนั้นก็ไปเจริญต่อเป็นตัวเต็มวัยในลำไส้เล็ก พยาธิเพศเมียตัวเต็มวัยจะปล่อยไข่ออกมา โดยไข่หรือตัวอ่อนพยาธิระยะแรกที่ฟักออกมาแล้วสามารถปะปนออกมาในอุจจาระ หรืออาจพัฒนาต่อภายในลำไส้จนเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อแล้วเจริญต่อไปตามวงจรชีวิตจนกลายเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งรูปแบบอย่างหลังนี้เองถูกเรียกว่าเป็น autoinfection หรือ การติดเชื้อที่เกิดขึ้นในตัวสัตว์ที่ไม่ต้องมีวงจรชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมภายนอก อาการของสุนัขที่ติดพยาธิเส้นด้ายหากมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงในระดับหนึ่งก็มักไม่แสดงอาการมาก แต่สำหรับสุนัขอายุน้อยโดยเฉพาะลูกสุนัขซึ่งมีระดับภูมิต้านทานร่างกายต่ำจะมีอาการหนักกว่า กล่าวคือ อาจมีอาการท้องเสียถ่ายเหลวเป็นน้ำ และในรายที่มีการติดพยาธิเป็นจำนวนมากนอกจากมีอาการทางระบบทางเดินอาหารแล้ว ก็สามารถพบอาการในระบบทางเดินหายใจหรือระบบผิวหนังได้ เช่น ปอดและหลอดลมอักเสบจากการเคลื่อนย้ายตำแหน่งของตัวอ่อนพยาธิ ผิวหนังอักเสบจากการชอนไชของตัวอ่อนพยาธิ เป็นต้น

6. พยาธิหลอดอาหาร (esophageal worm)

Spirocerca lupi อยู่ในกลุ่มพยาธิตัวกลม เป็นพยาธิหลอดอาหารที่พบได้ทั้งในสุนัขและแมว ซึ่งสุนัขติดได้จากการกินโฮสต์กึ่งกลางจำพวกแมลงปีกแข็งที่อยู่กับอุจจาระ หรือโฮสต์ข้างเคียงจำพวกไก่ สัตว์ฟันแทะ และกิ้งก่าที่มีตัวอ่อนพยาธิระยะติดต่อเข้าไป พยาธิตัวเต็มวัยจะสร้างถุงกระเปาะขึ้นที่หลอดอาหารหรือผนังกระเพาะอาหารของสุนัข แต่ส่วนใหญ่จะเป็นที่หลอดอาหาร โดยก้อนดังกล่าวอาจมีรูสำหรับปล่อยไข่พยาธิหรือไม่มีก็ได้ ภายในก้อนจะมีพยาธิตัวเต็มวัยทั้งเพศผู้และเพศเมียซึ่งมีลำตัวสีแดงอมชมพู ในกรณีที่ก้อนมีรู พยาธิจะสามารถสืบพันธุ์ปล่อยไข่ปนออกมากับอุจจาระได้ เมื่อนำไปส่องภายใต้กล้องจุลทรรศน์จะเห็นไข่มีลักษณะยาวรี เปลือกหนา และข้างในมีตัวอ่อนพยาธิระยะที่ 1 ในระยะแรก ๆ สุนัขที่ติดพยาธิหลอดอาหารจะไม่ค่อยแสดงอาการทางคลินิกให้เห็นชัดเจน แต่เมื่อเวลาผ่านไปอาจพบว่าสุนัขมีพฤติกรรมขย้อน อาเจียน น้ำหนักลด ซึ่งเกิดจากก้อนเนื้อของพยาธิที่กีดขวางอยู่ภายในหลอดอาหาร นอกจากนั้นการชอนไชของตัวอ่อนพยาธิยังทำให้เกิดพยาธิสภาพได้อีกหลายบริเวณ เช่น เกิดก้อนเนื้อบริเวณอื่นนอกเหนือที่หลอดอาหารหรือกระเพาะอาหาร เช่น อวัยวะในช่องอก ลำไส้ โครงสร้างในระบบขับถ่ายปัสสาวะ และเนื้อเยื่อผิวหนัง เป็นต้น มีอาการไอ หายใจลำบากเพราะการอักเสบที่เยื่อหุ้มปอด หลอดเลือดแดงใหญ่ aorta โป่งพอง โดยหากหลอดเลือดแดงใหญ่ได้รับความเสียหาย มีการปริแตกจะทำให้เกิดเลือดออกในช่องอกซึ่งอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต นอกจากนั้นก้อนเนื้อของพยาธิในหลอดอาหารอาจถูกเหนี่ยวนำให้กลายเป็นก้อนมะเร็งในภายหลังและสามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายสุนัขได้ด้วย

การป้องกันพยาธิ

- ดูแลไม่ให้สุนัขล่าหรือสัมผัสสัตว์เล็ก ๆ ที่เป็นโฮสต์กึ่งกลางหรือโฮสต์ข้างเคียงของพยาธิ

- เก็บกวาดอุจจาระสุนัขเป็นประจำทุกวัน และหมั่นทำความสะอาดพื้นที่บริเวณที่สุนัขพักอาศัย

- ให้การป้องกันปรสิตภายนอกที่เป็นโฮสต์กึ่งกลางของพยาธิในระบบทางเดินอาหารบางชนิดและวางแผนถ่ายพยาธิแก่สุนัขอย่างสม่ำเสมอโดยใช้ยาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีทั้งรูปแบบใช้ภายนอกและแบบกิน โดยตัวยาที่นิยมใช้ในการป้องกันปรสิตภายนอกอันเป็นพาหะของพยาธิภายใน ได้แก่ ยาในกลุ่ม pyrethrins และ pyrethoids เช่น permethrin, immidacloprid, fipronil, amitraz และยาในกลุ่ม isoxazoline เช่น afoxolaner, fluralaner และ sarolaner เป็นต้น และตัวยาที่มีฤทธิ์ในการกำจัดพยาธิภายใน ได้แก่ ยาในกลุ่ม benzimidazoles และยาในกลุ่ม macrocyticlactone เป็นต้น นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมียาในรูปแบบ combination หรือ combination drugs ซึ่งเป็นการใช้ยามากกว่า 1 ชนิดในการต้านปรสิต เช่น การใช้ afoxolaner ร่วมกับ milbemycin oxime ซึ่งจะช่วยเสริมฤทธิ์ในการป้องกันทั้งปรสิตภายนอก และพยาธิภายในได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

อ้างอิงข้อมูล

1. Abou El Naga I. 2018. Developmental stages and viability of Toxocara canis eggs outside the host. Biomédica. 38. 189-197.

2. Aziz PR, Marodia S and Meena S. 2020. HOOKWORM INFECTION IN A DOG – A CASE REPORT. Haryana Vet. 59(2). 283-284.

3. Banga H, Goswami P, Sharma D, Borkataki S, India K, Anand A, Brar R and Deshmukh S. 2019. Pathological observation of incidental Spirocerca lupi infection with associated spontaneous cellulitis in a mongrel dog.

4. Kladkempetch D, Tangtrongsup S and Tiwananthagorn S. 2020. Ancylostoma ceylanicum: The Neglected Zoonotic Parasite of Community Dogs in Thailand and Its Genetic Diversity among Asian Countries. Animals. 10(11):2154.

5. Nijsse R, Mughini-Gras L, Wagenaar JA, et al. 2015. Environmental contamination with Toxocara eggs: a quantitative approach to estimate the relative contributions of dogs, cats and foxes, and to assess the efficacy of advised interventions in dogs. Parasites Vectors 8. 397.

6. Psáder R, Balogh M, Pápa K, et al. 2017. Occurrence of Spirocerca lupi Infection in Hungarian Dogs Referred for Gastroscopy. Parasitol Res 116. 99–108.

7. Raza A, Rand J, Qamar AG, Jabbar A and Kopp S. 2018. Gastrointestinal Parasites in Shelter Dogs: Occurrence, Pathology, Treatment and Risk to Shelter Workers. Animals : an open access journal from MDPI. 8(7). 108.

8. Thakre B, Joseph J, Kumar B, Brahmbhatt N and Gamit K. 2019. Taeniasis in a German Shepherd Pup: A Case Report. THE INDIAN JOURNAL OF VETERINARY SCIENCES AND BIOTECHNOLOGY. 15. 83-84.

9. Unterköfler MS, Eipeldauer I, Merz S, et al. 2022. Strongyloides stercoralis infection in dogs in Austria: two case reports. Parasites Vectors 15. 168.

10. https://capcvet.org/guidelines/

11. https://www.esccap.org/guidelines/

12. https://www.troccap.com/canine-guidelines/