การดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะการป้องกันปรสิตนับเป็นอีกหนึ่งการดูแลที่สัตวแพทย์ควรแนะนำให้เจ้าของทำเป็นประจำสม่ำเสมอ เนื่องจากการดำรงชีวิตของสัตว์โดยเฉพาะสุนัข และแมวนั้นมีความเสี่ยงต่อการติดพยาธิได้สูง หากปล่อยทิ้งไว้ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว ทำให้เกิดโรค หรืออาจติดต่อมาสู่มนุษย์ได้ หนึ่งในชนิดของพยาธิที่พบได้ และมีความสำคัญ คือ พยาธินัยน์ตา
พยาธินัยน์ตา มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Thelazia callipaeda จัดอยู่ในกลุ่มของพยาธิตัวกลม และมีโฮสต์ (host) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว กระต่าย สุนัขจิ้งจอก หรือแม้กระทั่งมนุษย์ สามารถพบได้ทั่วไปในเขตทวีปยุโรป อเมริกา และเอเชีย รวมถึงประเทศไทย เป็นสาเหตุของการเกิดโรคพยาธินัยน์ตา (ocular thelaziosis) เนื่องจากอวัยวะเป้าหมายของพยาธิชนิดนี้ชอบอาศัยอยู่ที่บริเวณถุงเยื่อบุตาขาว (conjunctival sac) พื้นผิวของดวงตา และใต้เปลือกตาที่สาม (third eyelid) บริเวณหัวตา ส่งผลให้ดวงตาเกิดการระคายเคือง เกิดภาวะเยื่อบุตา และกระจกตาอักเสบ เกิดแผลที่กระจกตา ในรายที่รุนแรงอาจถึงขั้นตาบอดได้ อาการที่สามารถพบได้ เช่น มีน้ำตาไหลมาก ดวงตาแดง อักเสบ สัตว์เกิดอาการคันตา มีพฤติกรรมการเกาตา มองเห็นไม่ชัด มีหนองในดวงตา และตาปิด
พยาธินัยน์ตาสามารถติดต่อกันได้ผ่านทางพาหะนำโรค อันได้แก่ แมลงวันผลไม้ (Phortica variegata) ที่มีพฤติกรรมการกินสารคัดหลั่งจากต่อมน้ำตาของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นอาหาร แมลงจะรับตัวอ่อนของปรสิตจากการกินสารคัดหลั่งจากต่อมน้ำตาของสัตว์ป่วย จากนั้นจะแพร่ตัวอ่อนของปรสิตต่อไปยังสัตว์ตัวอื่น ๆ ด้วยการตอมตา แต่เนื่องด้วยวงจรชีวิตของแมลงวันผลไม้นั้นมีการวางไข่ใต้ผิวผลไม้ จึงทำให้มีการพบพยาธิชนิดนี้ในเขตชนบทมากกว่าเขตเมือง อย่างไรก็ตามการให้ความสำคัญกับการป้องกันพยาธิชนิดนี้ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสนใจ อันเนื่องมาจากโรคพยาธินัยน์ตาเป็นหนึ่งในโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (zoonosis) ซึ่งมีความสำคัญทางการจัดการด้านสาธารณสุข
ในสัตว์ที่มีความเสี่ยง หรือแสดงอาการ สามารถทำการวินิจฉัยได้โดยการตรวจดวงตา พยาธิจะชอนไช และหลบซ่อนอยู่บริเวณอวัยวะเป้าหมาย อันได้แก่ ถุงเยื่อบุตาขาว พื้นผิวของดวงตา และใต้เปลือกตาที่สาม (third eyelid) บริเวณหัวตาอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังอาจพบตัวอ่อนของพยาธิในระยะแรกในสารคัดหลั่งบริเวณดวงตาได้อีกด้วย
สำหรับการรักษา มีรายงานว่าการหยดยา imidacloprid 10% เฉพาะที่ร่วมกับยา moxidectin (2.5 mg/kg) สามารถกำจัดพยาธินัยน์ตาได้ภายใน 7 วัน หรือการให้ยา milbemycin oxime (0.5 mg/kg) ชนิดรับประทาน 2 ครั้ง ห่างกัน 1 สัปดาห์สามารถกำจัดพยาธินัยน์ตาได้ภายในวันที่ 28 ภายหลังการรักษา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพยาธินัยน์ตาเป็นพยาธิที่มีการติดต่อผ่านทางพาหะที่พบได้ในสิ่งแวดล้อม การจัดการที่เหมาะสมยังควรแนะนำให้เจ้าของใช้ยาต้านปรสิตภายในเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำในอนาคต และดูแลป้องกันแมลงวันผลไม้ในสิ่งแวดล้อมเพื่อลดจำนวนของพาหะร่วมด้วย
ปัจจุบัน คำแนะนำในการการป้องกันพยาธินัยน์ตาสามารถทำได้โดยการให้สัตว์เลี้ยงรับยาต้านปรสิต เช่น ยาในกลุ่มของ milbemycin oxime และ afoxolaner เป็นประจำสม่ำเสมอ เนื่องจากเป็นวิธีที่ปลอดภัย และยังสามารถป้องกันการติดพยาธิภายในชนิดอื่นได้อีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น พยาธิปากขอ พยาธิไส้เดือน พยาธิแส้ม้า พยาธิหลอดอาหาร หรือพยาธิในปอด โดยก่อนหน้านี้มีการเก็บข้อมูลจากสุนัขในเขตพื้นที่ที่มีการระบาดในประเทศฝรั่งเศสและประเทศสเปน เพื่อประเมินประสิทธิภาพของการป้องกันการติดพยาธินัยน์ตาโดยการใช้ยา milbemycin oxime และ afoxolaner เป็นประจำทุกเดือนเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับยา พบว่าสุนัขในกลุ่มที่ได้รับยาเป็นประจำทุกเดือนสามารถป้องกันการติดพยาธินัยน์ตาได้ 100% จึงกล่าวได้ว่าการให้ยาป้องกันปรสิตเป็นทางเลือกที่ควรแนะนำให้เจ้าของดูแลสัตว์เลี้ยงของตนเพื่อป้องกันการเกิดโรคพยาธินัยน์ตา นอกจากนี้ยังควรหยดยา ร่วมไปกับการจัดการทางด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันการแพร่พันธุ์ของแมลงวันผลไม้ซึ่งเป็นพาหะนำพยาธิอันจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามหากมีการใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลงควรคำนึงถึงผลกระทบที่อาจตามมาโดยเฉพาะสุขภาพสัตว์เลี้ยงที่อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ เป็นสำคัญ
พยาธินัยน์ตา นับเป็นอีกหนึ่งชนิดของพยาธิที่มีความสำคัญเพราะก่อให้เกิดโรคพยาธินัยน์ตาได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะในสุนัข และแมวที่นับเป็นสัตว์เลี้ยงคู่ใจของเจ้าของหลาย ๆ ท่าน อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนซึ่งมีความสำคัญทางด้านสาธารณสุข การป้องกันจึงเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการพยาธิดังกล่าว สัตวแพทย์จึงควรแนะนำให้เจ้าของเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับมาตรฐาน และป้องกันการแพร่ระบาดอย่างถูกวิธี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของสัตว์เลี้ยงต่อไป
บรรณานุกรม
1. Lebon, W., Guillot, J., Álvarez, M.J., Bazaga, J.A., Cortes-Dubly, M.L., Dumont, P., Eberhardt, M., Gómez, H., Pennant, O., Siméon, N., Beugnet, F. and Halos, L. 2019. "Prevention of canine ocular thelaziosis (Thelazia callipaeda) with a combination of milbemycin and afoxolaner (Nexgard spectra) in endemic areas in France and Spain." Parasite. 26 (1). doi. 10.1051/parasite/2019001.
Accessed May 1, 2022.
2. Viriyavejakul, P., Krudsood, S., Monkhonmu, S., Punsawad, C., Riganti, M. and Radomyos, P. 2012. Thelasia callipaeda: a human case report. Southeast Asian J. Trop. Med. Public Health. 43 (4): 851-856.
3. Schwartz, A.B., Lejeune, M., Verocai, G.G., Young, R. and Schwartz, P.H. 2021. "Autochthonous Thelazia callipaeda Infection in dog New York USA 2020." [Online]. Available: https://wwwnc.cdc.gov/eid/article/27/7/21-0019_article. Accessed May 1, 2022.