พยาธิ นับเป็นปรสิตภายในที่มีความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพของสุนัข เนื่องจากสามารถพบได้ทั่วไปในธรรมชาติ ติดต่อได้ง่าย อีกทั้งยังก่อโรค หรือนำมาซึ่งผลเสียต่อสุขภาพนานานับประการ นอกจากนี้พยาธิบางชนิดยังอาจติดต่อจากสุนัขมาสู่คน ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพของผู้เลี้ยงตามมาได้ บทความนี้จะพาคุณหมอไปทำความรู้จักกับพยาธิภายใน ชนิด พยาธิปากขอ ซึ่งนับว่ามีความสำคัญ สามารถพบเจอได้บ่อย อีกทั้งยังสามารถติดต่อมาสู่คนได้อีกด้วย

พยาธิปากขอคืออะไร ?

พยาธิปากขอ (hookworm) คือพยาธิภายในที่อยู่ในกลุ่มพยาธิตัวกลม (nematodes) โดยชนิดที่สามารถพบได้บ่อยในสุนัขมีชื่อว่า Ancylostoma caninum และ Ancylostoma ceylanicum สามารถพบได้ทั่วไปในสุนัข โดยเฉพาะสุนัขที่มีการเลี้ยงปล่อย สามารถก่อโรคได้ในสุนัขทุกเพศ ทุกวัย ลักษณะภายนอกโดยทั่วไปมีลำตัวเรียวยาว ทรงกระบอก ลำตัวไม่มีการแบ่งเป็นข้อปล้อง กระพุ้งแก้มมีฟันสำหรับเกาะยึดกับผนังลำไส้เล็กของสุนัข

วงจรชีวิตของพยาธิปากขอเป็นอย่างไร ?

วงจรชีวิตของพยาธิปากขอเริ่มจากการที่พยาธิตัวเต็มวัยที่อาศัยอยู่บริเวณผนังสำไล้เล็กทั้งเพศผู้ และเพศเมียเกิดการผสมพันธุ์กัน และออกไข่ โดยรายงานพบว่าพยาธิปากขอสามารถออกไข่ได้สูงถึง 16,000 ใบต่อวัน ไข่เหล่านั้นจะออกสู่สิ่งแวดล้อมผ่านทางอุจจาระของสุนัข เมื่อไข่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม (ความชื้นสูง และอุณหภูมิประมาณ 23-30 องศาเซลเซียส) ตัวอ่อน (larvae) จะฟักออกจากไข่ภายใน 1-2 วัน ตัวอ่อนที่เพิ่งฟักออกมานี้ มีชื่อเรียกเฉพาะว่า rhabditiform larvae ซึ่งเป็นตัวอ่อนระยะที่ 1 ตัวอ่อนจะเจริญเติบโตภายในอุจจาระหรือดิน และทำการลอกคราบ 2 ครั้ง เพื่อกลายเป็นตัวอ่อนระยะที่ 3 หรือที่เรียกว่า filariform larvae ซึ่งระยะนี้เป็นระยะติดต่อ (infective stage) ที่สามารถติดต่อไปยังโฮสต์ตัวอื่น ๆ ได้ ตัวอ่อนในระยะนี้จะสามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมได้นานถึง 3-4 สัปดาห์ หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เมื่อตัวอ่อนระยะติดต่อสัมผัสกับผิวหนังของโฮสต์ ตัวอ่อนจะทำการชอนไชผ่านผิวหนังเข้าไปยังหลอดเลือดและไหลเวียนตามกระแสเลือดไปยังหัวใจ และปอด จากนั้นจะทำการชอนไชผ่านทางหลอดลมไปยังคอหอย สุนัขจะเกิดการสำลักและกลืนตัวอ่อนเข้าไปยังลำไส้เล็ก ซึ่งในบริเวณนี้เองที่ตัวอ่อนของพยาธิปากขอจะเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยเพื่อสืบพันธุ์และออกไข่ ขยายพันธุ์เป็นวงจรเช่นนี้ต่อไป

นอกจากการชอนไชผ่านทางผิวหนังแล้ว พยาธิปากขอยังสามารถติดต่อไปสู่โฮสต์ผ่านทางช่องทางอื่น เช่น การกินไข่ระยะติดต่อ หรือการกินตัวอ่อนระยะติดต่อ (ทั้งจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนไข่/ตัวอ่อนพยาธิ และการกินโฮสต์ข้างเคียง (paratenic host) บางชนิด เช่น หนูที่มีตัวอ่อนของพยาธิแอบแฝงอยู่ภายในร่างกาย) การติดผ่านทางน้ำนมแม่ โดยเฉพาะในแม่ที่เลี้ยงแบบปล่อย หรือไม่ได้รับการถ่ายพยาธิ โดยพบว่าในช่วง 20 วันแรกของการให้นม ลูกสุนัขที่ดูดนมแม่อาจได้รับตัวอ่อนของพยาธิเข้าไปโดยบังเอิญ ตลอดจนการติดผ่านทางรก เนื่องจากพยาธิปากขอสามารถชอนไชผ่านรกไปสู่ลูกสุนัขที่อยู่ภายในท้องแม่ได้

แผนภาพแสดงวงจรชีวิตของพยาธิปากขอ (ที่มา : Centers for Disease Control and Prevention)

พยาธิปากขอก่อโรคอย่างไรในสุนัข ?

สำหรับการก่อโรคของพยาธิปากขอมักแสดงออกอย่างชัดเจนผ่านทางลำไส้เล็กซึ่งเป็นบริเวณที่พยาธิอาศัยอยู่ พยาธิปากขอตัวแก่จะใช้ฟันเกาะบริเวณลำไส้เพื่อดูดเลือดสุนัขกินเป็นอาหาร ส่งผลทำให้ลำไส้ของสุนัขเกิดแผลบริเวณเยื่อบุลำไส้ หากปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลานาน หรือร่างกายสุนัขมีพยาธิสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก อาจนำมาซึ่งการเกิดภาวะโลหิตจาง และแผลเลือดออกบริเวณลำไส้ได้ ทั้งนี้ในสุนัขที่มีพยาธิปากขอในร่างกายจะแสดงอาการเหงือกซีด ผอม อ่อนเพลีย หายใจผิดปกติ ขนกระด้าง ผิวหยาบ ท้องเสีย และขับถ่ายเป็นเลือดได้

สามารถตรวจวินิจฉัยการติดพยาธิปากขอในสุนัขได้อย่างไร ?

การตรวจวินิจฉัยหาการติดพยาธิปากขอในสุนัขสามารถทำได้โดยการนำอุจจาระของสุนัขมาตรวจหาไข่ของพยาธิด้วยวิธีการทำให้ไข่พยาธิลอยตัวแบบมาตรฐาน (simple fecal flotation) โดยหากพบไข่ของพยาธิสามารถทำการให้ยาถ่ายพยาธิ และวางแผนการรักษาในกรณีสัตว์แสดงอาการ

การรักษา และป้องกันพยาธิปากขอในสุนัขสามารถทำได้อย่างไร ?

ในกรณีตรวจพบว่าสุนัขมีการติดพยาธิปากขอ สัตวแพทย์ควรทำการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ร่วมกับการให้ยาถ่ายพยาธิ เช่น หากสัตว์มีภาวะโลหิตจางอาจพิจารณาการถ่ายเลือด หรือให้ธาตุเหล็กเพิ่มเติม ให้สารน้ำและอิเล็กโทรไลต์ ตลอดจนให้อาหารที่มีโปรตีนสูงร่วมด้วย สำหรับการถ่ายพยาธิในสุนัขสามารถทำได้ทันทีที่ตรวจพบการติดพยาธิ โดยตัวยาที่สามารถออกฤทธิ์จัดการพยาธิปากขอได้ ได้แก่ pyrantel pamoate, pyrantel embonate, disophenol, mebendazole, fenbendazole, milbemycin, moxidectin, ivermection, selamectin ตลอดจน oxibendazole ทั้งนี้สัตวแพทย์สามารถค้นหาปริมาณยาที่เหมาะสม และข้อควรระวังการใช้ยาได้จากเอกสารกำกับยาแต่ละชนิดต่อไป

การป้องกันพยาธิปากขอควรทำร่วมกันทั้งการดูแลความสะอาดของสิ่งแวดล้อมไม่ให้มีสิ่งสกปรก หรืออุจจาระอันเป็นที่มาของการสะสมของพยาธิ ตลอดจนดูแลความชื้นของกรงไม่ให้มีน้ำขัง หรือความชื้นสะสมซึ่งเอื้อให้พยาธิสามารถเจริญเติบโตได้ ร่วมกับการถ่ายพยาธิเป็นประจำทั้งในลูกสุนัข และสุนัขโต ทั้งนี้สำหรับลูกสุนัขแนะนำให้ถ่ายพยาธิอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยเริ่มถ่ายพยาธิครั้งแรกตั้งแต่อายุได้ 2 สัปดาห์ จากนั้นถ่ายซ้ำในอีก 2 สัปดาห์ต่อมา และสุนัขโตควรถ่ายพยาธิทุก ๆ 3 เดือน นอกจากนี้สัตวแพทย์ยังสามารถแนะนำเจ้าของให้ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันปรสิตที่ออกฤทธิ์ป้องกันทั้งปรสิตภายนอก และภายในซึ่งมีวางจำหน่ายในท้องตลอด อาทิ ผลิตภัณฑ์ที่มีตัวยา afoxolaner และ milbemycin oxime ซึ่งสามารถออกฤทธิ์ป้องกันพยาธิปากขอ อันจะเป็นการเสริมการป้องกันทั้งภายนอก และภายใน ช่วยให้สุนัขปลอดภัยจากพยาธิปากขอมากยิ่งขึ้น

อ้างอิงข้อมูล

1. Aziz PR, Marodia S and Meena S. 2020. HOOKWORM INFECTION IN A DOG – A CASE REPORT. Haryana Vet. 59(2). 283-284.

2. Centers for Disease Control and Prevention. 2019. Zoonotic Hookworm. [online]. Available : https://www.cdc.gov/parasites/zoonotichookworm/biology.html. Accessed 26 September 2022.

3. Raza A, Rand J, Qamar AG, Jabbar A and Kopp S. 2018. Gastrointestinal Parasites in Shelter Dogs: Occurrence, Pathology, Treatment and Risk to Shelter Workers. Animals : an open access journal from MDPI. 8(7). 108.