พยาธิภายในเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดอาการป่วยได้ในสัตว์เลี้ยง ในบทความนี้จะกล่าวถึงพยาธิภายในที่สามารถติดต่อได้จากแม่ไปสู่ลูกสุนัขที่มีความสำคัญ ซึ่งจะกล่าวถึงทั้งกลุ่ม helminths และ protozoa ที่สามารถพบเจอได้บ่อยและมีความสำคัญทางคลินิคให้คุณหมอทุกท่านได้รู้จักกัน
1. Toxocara canis
Toxocara spp. เป็นพยาธิตัวกลม อยู่ใน order Ascaridida สปีชีส์สำคัญที่ติดในสุนัขคือ Toxocara canis พยาธิตัวกลมชนิดนี้มีความสำคัญในแง่ zoonosis เนื่องจากสามารถเกิดการติดต่อจากสุนัขสู่คนได้โดยการกินไข่พยาธิเข้าไป ในคนส่วนมากมักไม่แสดงอาการทางคลินิก หรือแสดงเป็นกลุ่มอาการ visceral larva migration สำหรับในสัตว์เลี้ยงพยาธิชนิดนี้เป็นพยาธิอันดับต้นๆ ที่ทำให้ลูกสุนัขเสียชีวิตได้ตั้งแต่แรกคลอด แต่ในสุนัขโตเมื่อติดมักไม่ค่อยแสดงอาการทางคลีนิก หากมีการติดมักมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าในลูกสุนัข
โดยปกติแล้วสุนัขสามารถติดพยาธินี้ได้โดยการกินไข่พยาธิหรือกิน parenetic host เช่น หนู ที่มีไข่พยาธิระยะติดเชื้อเข้าไปและจะเกิดการฟักตัวในลำไส้ จากนั้นตัวอ่อนจะไชไปยังอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย สำหรับในแม่สุนัขที่ตั้งท้องหากมีการติดพยาธิจะสามารถติดต่อไปยังลูกได้โดยวิธี transplacental transmission โดยตัวอ่อนพยาธิจะเคลื่อนตัวไปยังลูกที่กำลังโต (developing fetus) โดยผ่านรก ทำให้การติดต่อผ่านรกเป็นการติดต่อที่สำคัญสำหรับพยาธิชนิดนี้ ซึ่งทำให้สามารถพบพยาธิได้ในลำไส้ลูกสุนัขตั้งแต่อายุ 1 สัปดาห์แรกหลังคลอด นอกจากนี้ตัวอ่อนพยาธิจะไปอยู่ที่ต่อมน้ำนมของแม่ทำให้ลูกสุนัขสามารถติดพยาธินี้หลังคลอดเมื่อมีการกินนมจากแม่ด้วย ซึ่งคือการติดต่อแบบ transmammary transmission
ลูกสุนัขที่มีการติดพยาธินี้จะมีตัวอ่อนพยาธิในลำไส้จะมีความเสี่ยงสูงในการเกิดภาวะลำไส้อุดตัน หรือหากพยาธิมีจำนวนมากจนลำไส้แตกจะทำให้เกิดภาวะช่องท้องอักเสบและทำให้ไข่พยาธิสามารถเข้าไปอยู่ในช่องท้องของลูกสุนัขได้ ลูกสุนัขจะมีอาการซึม เบื่ออาหาร ท้องเสีย อ่อนแรง ผอม ท้องมาน (pot-bellied) ascites fatty liver และ mucoid enteritis นอกจากนี้ยังสามารถพบภาวะ verminous pneumonia และ eosinophilic pneumonia ร่วมกับการไอได้เนื่องจากตัวอ่อนพยาธิมีการไชผ่านปอด ในส่วนของค่าเลือดสามารถพบภาวะ anemia และ eosinophilia ได้ นอกจากนี้ยังสามารถพบค่าเอนไซมตับเพิ่มสูงขึ้นได้เนื่องจากตัวอ่อนพยาธิมีการไชผ่านตับ แต่ค่าตับจะสามารถกลับสู่ภาวะปกติหลังจาก 1- 2 สัปดาห์หลังคลอด
สำหรับการวินิจฉัยสัตวแพทย์สามารถตรวจอุจจาระเพื่อหาไข่พยาธิได้ด้วยการใช้วิธี centrifugal floatation ไข่พยาธิที่พบจะมีลักษณะกลมผนังหนา มีตัวอ่อนสีเข้มอยู่ภายใน
มียาหลายตัวที่ใช้สำหรับกำจัด Toxocara canis ยาที่ผ่านการรับรองเพื่อใช้ในการกำจัดพยาธิตัวกลมนี้ประกอบด้วย fenbendazole, milbemycin, moxidectin, piperazine และ pyrantel โดยให้ยา 2 ครั้งห่างกัน 10-14 วัน หลังจากนั้นควรมีการตรวจอุจจาระเพื่อหาไข่พยาธิหลังจากการให้ยาครั้งที่สองใน 7-14 วัน เพื่อดูประสิทธิภาพของยาในการกำจัดพยาธิ ในลูกสุนัขสามารถเริ่มการให้ถ่ายพยาธิได้ตั้งแต่อายุ 2 สัปดาห์ จากนั้นให้ยาถ่ายพยาธิซ้ำทุกๆ 2 สัปดาห์จนอายุครบ 3 เดือน หลังจากนั้นให้ยาถ่ายพยาธิทุกๆเดือนจนครบ 6 เดือน เช่นเดียวกับแม่สุนัขให้นมควรมีการถ่ายพยาธิไปพร้อมๆ กับลูก สำหรับยาที่ใช้ในแม่สุนัขตั้งท้องเพื่อป้องกันพยาธิที่จะติดต่อมาสู่ลูก สามารถเลือกใช้ได้หลายทางเลือก ได้แก่
1. fenbendazole 25 mg/kg SID PO ตั้งแต่วันที่ 40 ของการตั้งท้องจนถึง 2 สัปดาห์หลังคลอด
2. Ivermectin 0.3 mg/kg SC ที่วันที่ 0, 30, 60 วันของการตั้งท้อง และ วันที่ 10 หลังคลอด
3. Ivermectin 0.5 mg/kg SC ที่วันที่ 38, 41, 44, 47 วันของการตั้งท้อง
4. Ivermectin 1 mg/kg SC ที่วันที่ 20 และ 42 วันของการตั้งท้อง
2. Ancylostoma caninum
Ancylostoma spp. เป็นพยาธิปากขอ อยู่ใน order strongylida มีหลายสปีชีส์ เช่น A.caninum A. brasiliense A. tubaeformae A. ceylanicum และ Uncinaria stenocephala ซึ่งสปีชีส์ที่สามารถมีการติดต่อจากแม่สุนัขไปลูกสุนัขได้คือ Ancylostoma caninum การติดต่อในสุนัขมักเกิดในสุนัขที่มีการเลี้ยงจำนวนมาก เช่นในกลุ่ม kennel dog นอกจากนี้พยาธิชนิดนี้ยังมีความสำคัญในการเป็นพยาธิที่ติดต่อจากสัตว์สู่คนซึ่งในคนจะทำให้เกิดภาวะ visceral larva migrans ได้เช่นเดียวกับ Toxocara canis ในส่วนของวงจรชีวิตของพยาธิตัวนี้ พยาธิตัวโตเต็มวัยจะอยู่ในลำไส้ของสุนัขและจากนั้นไข่ออกมาปนกับอุจจาระไปสู่สิ่งแวดล้อม การติดต่อที่สำคัญของพยาธิชนิดนี้คือการเกิดการไชผ่านผิวหนัง (direct skin penetration) หรือการกิน parentenic host เช่น หนู หรือกินตัวอ่อนระยะติดต่อเข้าไป ในลูกสุนัขสามารถติดพยาธิชนิดนี้จากแม่ได้เช่นกันโดยการติดผ่าน transmammary และ transplacental transmission ลูกสุนัขที่มีการติดพยาธิปริมาณมากสามารถเสียชีวิตได้จากภาวะ anemia จากการที่พยาธิดูดเลือดและเกิด hemorrhagic enteritis หรือหากติดปริมาณไม่มากนักสามารถทำให้เกิดภาวะท้องเสียเรื้อรัง และ hypoproteinemia ได้ นอกจากนี้สามารถพบการไอได้จากพยาธิที่มีการไชผ่านปอด
สำหรับการวินิจฉัยสัตวแพทย์สามารถตรวจอุจจาระเพื่อหาไข่พยาธิได้ด้วยการใช้วิธี centrifugal floatation หรือ simple floatation ซึ่งไข่ที่พบจะมีลักษณะเป็น elliptical shape ผนังบางและมี molura คล้ายพวงองุ่นอยู่ภายใน
การรักษาและป้องกันพยาธิปากขอในสุนัขสามารถใช้ยาถ่ายพยาธิได้หลายทางเลือก เช่น fenbendazole 50 mg/kg PO q24h 3 วันติดกัน หรือ Milbemycin oxime 0.5 mg/kg PO q1m หรือ moxidectin 0.17 mg/kg Sc q6m สำหรับแม่สุนัข สามารถใช้ Fenbendazole 50 mg/kg PO sid ตั้งแต่วันที่ 40 ของการตั้งท้องจนถึง 2 สัปดาห์หลังคลอด และในลูกสุนัขสุนัขจะใช้ยา pyrantel pamoate เนื่องจากมีความปลอดภัยที่ค่อนข้างสูงและฤทธิ์เร็ว โดสที่ใช้คือ 10 – 20 mg/kg PO โดยเริ่มการถ่ายพยาธิตั้งแต่อายุ 2 สัปดาห์ ถ่ายพยาธิทุกๆ 14 วัน จนหย่านม หลังจากนั้นทำการถ่ายพยาธิในทุกๆเดือนจนอายุครบ 6 เดือน หากมีภาวะโลหิตจางก็สามารถพิจารณาถ่ายเลือด และรักษาประคองอาการอื่นๆ ตามความเหมาะสม
3. Strongyloides stercoralis
Strongyloides stercoralis เป็นพยาธิเส้นด้ายในลำไส้ (intestinal threadworms) ถูกจัดอยู่ใน order Rhabditida พยาธิตัวนี้สามารถติดต่อสู่คนได้เช่นเดียวกับ Toxocara spp. แต่การติดต่อสู่คนมักจะเกิดการติดได้ในกลุ่มคนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และทำให้เกิดภาวะ visceral larva migrans ได้เช่นเดียวกับ Ancylostoma caninum และ Toxocara canis การติดต่อระหว่างสัตว์หลักๆจะเป็นการไชผ่านผิวหนังเป็นหลักคล้ายกับการติดต่อสู่คน สำหรับการติดต่อจากแม่สุนัขสู่ลูกสามารถเกิดได้จาก transmammary transmission หากแม่สุนัขเกิดการติดพยาธิตัวนี้ในช่วงให้นม ในส่วนของวงจรชีวิตนั้น พยาธิตัวเมียตัวโตเต็มวัยจะอาศัยในลำไส้เล็กของสุนัขและจะปล่อยตัวอ่อนพยาธิออกมา โดยตัวอ่อนสามารถเติบโตในลำไส้และเกิดวงจรการผสมพันธุ์เพื่อกำเนิดตัวอ่อนพยาธิต่อเนื่องไปหรือเกิดตัวอ่อนระยะติดต่อ (infective parasitic larvae) และออกสู่สิ่งแวดล้อมต่อไปได้
อาการทางคลีนิกที่แสดงมักไม่ชัดเจนยกเว้นมีการติดปริมาณมาก สุนัขสามารถแสดงความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เช่น ลำไส้อักเสบได้ จากพยาธิตัวโตเต็มวัยที่อาศัยในลำไส้ นอกจากนี้ยังสามารถแสดงอาการทางระบบทางเดินหายใจ คือภาวะ bronchopneumonia ได้เนื่องจากการเคลื่อนที่ของตัวอ่อนพยาธิผ่านปอด
สำหรับการวินิจฉัยนั้นสามารตรวจอุจจาระและพบตัวอ่อนระยะที่ 1 ได้โดยใช้ Baermann test เป็นตัวทดสอบ หากผลการตรวจอุจจาระไม่สามารถวินิจฉัยได้แน่นอนจะใช้การ culture และ identified 3rd stage larvae เพื่อเป็นเครื่องมือในการวินิจฉัยร่วมด้วย การตรวจอุจาระเพื่อติดตามการรักษาควรทำทุกเดือนเป็นเวลา 6 เดือนต่อเนื่อง
ในสุนัขที่มีการติดพยาธิชนิดนี้การรักษาพยาธิชนิดนี้ทำให้โดยการให้ยาถ่ายพยาธิ แต่ยาถ่ายพยาธิที่มีการยังคงเป็น extra-labeled use สำหรับ Strongyloides stercoralis ยาที่สามารถเลือกใช้ได้แก่ fenbendazole 50 mg/kg PO q24h ติดกัน 5 วันเป็นอย่างน้อย และ ivermectin 0.2 mg/kg SC ซึ่ง fenbendazole จะเป็นยาที่ถูกเลือกใช้ในลูกสัตว์ที่มีการติดเชื้อเพื่อกำจัดตัวอ่อนพยาธิที่มีการไชผ่านปอด
4. Neospora caninum
Neospora caninum เป็น coccidia protozoa ความสำคัญของ N. caninum คือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการแท้งในโค สำหรับในสุนัขนั้นสามารถเป็นทั้ง intermediate และ definitive host ของโปรโตซัวชนิดนี้ มักเจอการติดในสุนัขที่อยู่ในฟาร์มโค การติดต่อจะคล้ายกับ Toxoplasma gondii ในแมว คือติดผ่านการกิน intermediate host ที่มี sporulated oocyst หรือ tissue cyst เข้าไป นอกจากนี้ลูกสุนัขยังสามารถติด N. caninum จากแม่สุนัขได้โดยผ่าน transplacental และ transmammary transmission ได้
หากลูกสุนัขเกิดการติดจากแม่ผ่านรกตั้งแต่ในท้องส่วนมากจะเกิดภาวะ polyradiculitis และทำให้เกิดอัมพาต (ascending paralysis) ได้ ซึ่งจะมีลักษณะจำเพาะคือมีการอัมพาตร่วมกับกล้ามเนื้อฝ่อและแข็งตัว (muscle atrophy and stiffness) ซึ่งเกิดจากการเกิด scar ที่กล้ามเนื้อและเกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อร่วมกันโดยมักพบว่าเป็นกับขาหลังมากกว่าขาหน้าทำให้อาการแสดงมักเกิดภาวะ hyperextension ของขาหลัง ลูกสุนัขที่ติดเชื้อบางตัวจะเกิดข้อต่อผิดรูป (joint deformation) หรือ เกิด genu recurvatum ได้ หากเชื้อไม่ได้เข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลางลูกสัตว์จะยังคงมีการรู้สึกตัวที่เป็นปกติ อาการแสดงทางคลินิกนี้สามารถพบได้ตั้งแต่อายุ 3-9 สัปดาห์ จนถึงก่อนอายุ 6 เดือน ส่วนน้อยที่ไม่แสดงอาการจะเกิดการติดเชื้อแบบ subclinical และจะมีอาการแสดงขึ้นมาเมื่อภูมิคุ้มกันต่ำลง หรือมีการใช้ยากลุ่ม glucocorticoid หรือมีการฉีดวัคซีน modified live virus หากเชื้อมีการติดเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลางเชื้อสามารถไปอยู่ที่ cerebellum , cerebral cortex หรือ brain stem ซึ่งอาการแสดงสามารถเกิดเป็น multifocal disease ได้ และสัตว์ที่ไม่ได้รับการรักษามักเสียชีวิต
การตรวจวินิจฉัยสามารถทำได้โดยการตรวจหา oocyst ในอุจจาระ ด้วยวิธี centrifugal หรือ simple floatation ซึ่งรูปร่างของ oocyst จะเป็น spherical-shaped ผนังเรียบและมี sporoblast อยู่ภายใน แต่อย่างไรก็ตาม oocyst ของ Neospora spp. มักตรวจพบได้ค่อนข้างยาก ซึ่งนอกจากตรวจอุจจาระแล้วยังสามารถตรวจ antibody ต่อ N. caninum ได้แต่ต้องระวังการเกิด cross-react กับ N. hughesi หากสามารถเก็บ CSF หรือ serum ได้ก็สามารถนำไปตรวจ serologic testing เช่น IFA ELISA และ immunoprecipitation ได้ ในส่วนของผลเลือดสามารถพบค่า creatinine kinase และ aspartate transaminase สูงได้ในสัตว์ที่มีภาวะ myositis และใน CSF สามารถพบความเข้มข้นของโปรตีนมากกว่าปกติร่วมกับพบกลุ่มเซลล์อักเสบร่วมด้วยได้
สำหรับการรักษานั้น ในลูกสุนัขที่มีอาการอัมพาตและกล้ามเนื้อหดเกร็งแล้วการพยากรณ์โรคมักไม่ค่อยดีเนื่องจากมักไม่ตอบสนองต่อการรักษา จะมุ่งเน้นไปที่การรักษาตัวที่ยังไม่แสดงอาการหากมีการวินิจฉัยว่ามีตัวใดตัวหนึ่งในครอกมีการติดเชื้อโดยยาที่จะใช้จะมี clindamycin 25 – 50 mg/kg/day PO, IM แบ่งให้ 2 เวลา ให้จนอาการดีขึ้นและให้ต่อ 2 สัปดาห์หลังจากไม่มีอาการทางคลินิก
5. Babisiosis
Babesia spp. เป็นโปรโตซัวที่อยู่ใน phylum Apicomplexa ระบาดได้ทั่วไปโดยเฉพาะในพื้นที่เขต tropical – subtropical สุนัขทุกอายุทุกสายพันธุ์สามารถเป็น babisiosis ได้ แต่จากการศึกษาพบอุบัติการของ Babesia canis มากในสุนัขพันธุ์ Greyhounds และ พบอุบัติการณ์ของ Babesia gibsoni ในสุนัข American pitbull terrier โปรโตซัวชนิดนี้จะอยู่ในเม็ดเลือดแดงของสุนัข ทำให้เกิดภาวะ mediated hemolytic anemia (IMHA) ระยะฟักตัวของโรคอยู่ที่ 2สัปดาห์ การติดต่อเกิดได้ผ่านเลือดจากการกัดกัน จากการถ่ายเลือด และจากเห็บกัด จากรายงานส่วนมากพบว่าเกิดการติดจากเห็บ Rhipicephalus sanguineus นอกจากนี้ในยุโรปพบการติดจาก Dermacentor reticulatus และ จาก Haemaphysalis leachi ในแอฟริกา และนอกจากนี้พอการติดต่อจากแม่สู่ลูกใน ทั้ง Babesia canis และ Babesia gibsoni โดยวิธี transplacental infection การทดลองในประเทศญี่ปุ่นพบว่า แม่สุนัขที่มีการติด B. gibsoni 2 ปี ก่อนการตั้งท้องจะให้กำเนิดลูกที่เกิดมาเป็น stillborn ส่วนลูกที่คลอดมาปกติก็เสียชีวิตด้วยภาวะ congenital babesiosis อาการแสดงที่พบในลูกสุนัขประกอบด้วย ซึม เบื่ออาหาร ผอม ม้ามโต tachycardia หรือ heart murmur หากตรวจเลือดสามารถพบภาวะ anemia และ thrombocytopenia ได้ ในส่วนของการวินิจฉัยสามารถทำในคลินิกได้จากการหา Babesia spp. จาก thin blood smear ย้อมด้วยสี Wright stained หรือ Wright Giemsa-stained แต่ว่า sensitivity จากการตรวจด้วยวิธีดังกล่าวค่อนข้างน้อย หากสงสัยการติดเชื้อสามารถเก็บเลือดส่งตรวจ PCR ร่วมด้วยได้เนื่องจากมี sensitivity ที่สูงกว่า ในส่วนของการรักษาเป็นการรักษาตามอาการ ถ่ายเลือด แก้ไขภาวะแห้งน้ำ ส่วนยาที่ใช้สำหรับ B. canis คือ Imidocarb dipropionate 6.6 mg/kg SC,IM q1-2week โดยจะต้องมีการให้ atropine 0.02 mg/kg SC ก่อน 30 นาที เพื่อลด cholinergic effect ที่เกิดจากยา สำหรับ B.gibsoni คือ azithromycin 10 mg/kg PO q24h 10 วัน และ atovaquone 13.5 mg/kg PO q8h 10 วัน
6. Leismaniasis
Leismania spp. เป็น protozoa กลุ่ม hemoflagellate สุนัขมีความสำคัญในการเป็น reservoir host ที่ทำให้เชื้อติดต่อจากสัตว์มาสู่คน การติดต่อจะติดต่อจากการที่โดน sand fly ซึ่งเป็น intermediate host กัด ส่วนการติดต่อจากแม่ไปลูกในสุนัขนั้น สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นได้ผ่านทาง transplacental infection เนื่องจากมีการพบการระบาดของ Leismania spp. ในกลุ่ม foxhounds โดยที่ไม่พบ sand fly ซึ่งเป็น vectorในพื้นที่ เมื่อเกิดการติดต่อแล้ว amastigote จะเข้าไปอยู่ใน macrophage และเซลล์ใน reticuloendothelial system เช่น ที่ผิวหนัง ม้าม ตับ ไขกระดูก และต่อมน้ำเหลือง สุนัขที่ติดมักไม่แสดงอาการทางคลินิก เนื่องจากมักเป็นการติดแบบ subclinical infection หากมีอาการจะแสดงได้จากหลายอวัยวะตั้งแต่มี cutaneous lesions, ซึม น้ำหนักลดต่อเนื่องไปจนถึงเสียชีวิต ตรวจเลือดสามารถพบภาวะ nonregenerative anemia, mild thrombocytopenia, mild hyponatremia และ elevated liver enzyme ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกภาวะ hepatocellular injury หากตรวจปัสสาวะมักพบภาวะ proteinuria ร่วมด้วย การวินิจฉัยสามารถ FNA จากต่อมน้ำเหลือง ไขกระดูก ม้าม หรือ impression smear จากรอยโรคบนผิวหนังเพื่อตรวจหา amastigote ใน macrophages เนื่องจาก amastigote ไม่ค่อยพบใน peripheral blood smear หรือจะทำการตรวจหาเชื้อด้วย PCR ก็ได้ ในส่วนของยาที่ใช้ในการรักษายังไม่มียาที่ใช้จำเพาะ
7. Dirofilariasis
Dirofilaria spp. หรือ พยาธิหนอนหัวใจ เป็นพยาธิตัวกลมอยู่ order Spirurida การติดต่อที่สำคัญคือการติดผ่านยุงซึ่งเป็น intermediate host ซึ่งสุนัขจะได้รับ microfilaria ที่เป็นระยะติดต่อ (3rd stage larvae) จากยุงที่มาดูดเลือด ระยะ prepatent period ในสุนัขประมาณ 6 เดือน พยาธิตัวโตเต็มวัยจะพบได้ที่ pulmonary arteries และ หัวใจห้องล่างขวา ทำให้สุนัขที่ติดพยาธิหนอนหัวใจแสดงอาการหัวใจฝั่งขวาล้มเหลวได้ ส่วนการติดต่อจากแม่สู่ลูกนั้นพบว่าลูกสามารถได้รับ microfilaria จาก transplacental infection ทำให้ลูกสุนัขจะสามารถมี circulating microfilaria ในกระแสเลือดตั้งแต่เกิด จากรายงานพบว่าสามารถมีการพบ microfilaria ได้ที่อายุ 6 เดือน อย่าไรก็ตาม microfilaria เหล่านี้จะถูกกำจัดด้วยยาที่ใช้ในการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจตั้งแต่โดสแรกของลูกสุนัขหรือหากไม่มีการใช้ยาใดๆเลย microfilaria ก็จะไม่พัฒนาและหายไปเองใน 1-2 ปี
การวินิจฉัยสามารถทำได้ในคลินิกโดยการใช้ชุดตรวจซึ่งจะเป็นตัวที่ตรวจหา antigen ของพยาธิหนอนหัวใจจากตัวอย่าง serum, plasma หรือ whole blood ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่มี sensitivity สูงที่สุด หรือสามารถใช้วิธี Knott’s test ได้หากต้องการทราบ species โดยจะแยกชนิดจากการดู morphology ของพยาธิ
สำหรับการรักษาในลูกสุนัขที่ตรวจพบผลบวกต่อ microfilaria จะต้องมีการใช้ยาสำหรับการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจและมีการตรวจติดตามจนกว่า microfilaria จะหมดไป ในส่วนของแม่สุนัขที่ตั้งท้องรวมไปถึงแม่สุนัขให้นมนั้นสามารถใช้ยาสำหรับป้องกันพยาธิหนอนหัวใจได้ตามปกติ แต่ยาสำหรับ adulticide เช่น melarsomide ยังไม่มีการศึกษาการใช้ในแม่สุนัขตั้งท้อง ดังนั้นหากแม่สุนัขมีการติดพยาธิหนอนหัวใจ มักจะให้รอครบกำหนดคลอดก่อนค่อยทำการรักษา ยกเว้นมีอาการทางคลินิกรุนแรงที่มีความจำเป็นจะต้องพิจารณาใช้ยาเพื่อรักษาชีวิตเอาไว้
References
1. Bowman D.D. 2016. “Top 5 Transplacental Parasitic Infections in Dogs.” [Online]. Available: https://www.cliniciansbrief.com. Accessed October 23, 2022.
2. Dubey J.P. 2003. Review of Neospora caninum and neosporosis in animals. KJP. 41(1): 1.
3. Ettinger S.J. and Feldman E. 2017. Textbook of Veterinary Medicine. 8th ed. St. Louis; Elsevier 5875pp.
4. Peregrine A.S. 2022. “Roundworms in Small Animals.” [Online]. Available: https://www.msdvetmanual.com Accessed October 23, 2022.
5. Tilley L.P. and Smith Jr. F.W. 2016. Blackwell's five-minute Veterinary Consult: cCanine and Feline. 6th ed. Oxford; John Wiley & Sons 1622pp.
6. TroCCAP. 2017. "Guidelines for the diagnosis, treatment and control of canine endoparasites in the tropics.” Available: http://www.troccap.com. November 1, 2022.
7. Zajac A.M., Conboy G.A., Little S.E. and Reichard M.V. 2021. Veterinary Clinical Parasitology. 8th ed. Oxford; John Wiley & Sons 354pp.