พยาธิภายใน คือหนึ่งในชนิดของปรสิตที่ส่งผลเสียต่อร่างกายสัตว์ โดยจะอาศัยอยู่ภายในร่างกาย คอยดูดซึมสารอาหาร ดูดเลือด หรือก่อให้เกิดความผิดปกติภายในอวัยวะส่วนต่าง ๆ ส่งผลต่อสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของสัตว์ ทั้งนี้พยาธิสามารถเข้าสู่ร่างกายสัตว์ได้หลายวิธี โดยวิธีที่สามารถเกิดขึ้นได้บ่อย คือ การได้รับพยาธิ หรือไข่ของพยาธิผ่านทางการกิน หรือการโดนสัตว์พาหะกัด บทความนี้จะพาคุณหมอไปทำความรู้จักสัตว์พาหะที่อาจเป็นสาเหตุของการติดพยาธิภายในได้ในสุนัข อันได้แก่ แมลงวัน และหมัด เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตรวจวินิจฉัย และหาสาเหตุของโรคที่เกิดขึ้นต่อไป
สัตว์พาหะที่อาจเป็นสาเหตุของการติดพยาธิภายใน ได้แก่
1. แมลงวัน : แมลงวันเป็นสัตว์ที่สามารถพบได้ทั่วไปในธรรมชาติ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท มีขนาดลำตัว ลักษณะการกินอาหาร และพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันไปตามแต่ละแฟมิลี่ ทั้งนี้แมลงวันที่สามารถพบได้บ่อย คือแมลงวันบ้าน (house fly) ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Musca domestica จัดอยู่ในแฟมิลี่ Muscidae โดยแมลงวันชนิดนี้เป็นแมลงวันชนิดที่ไม่ดูดเลือดเป็นอาหาร มีวงจรชีวิตแบบ complete metamorphosis อันประกอบไปด้วยระยะต่าง ๆ 4 ระยะ ได้แก่
a .ระยะไข่ (egg) : ไข่แมลงวันมีลักษณะรูปร่างยาว รี สีขาวขุ่น หรือครีม มีขนาดประมาณ 1 มิลลิเมตร โดยแมลงวันเพศเมียจะวางไข่ครั้งละประมาณ 100-150 ฟองต่อครั้ง และตัวอ่อนจะฟักออกจากไข่ที่ระยะเวลาประมาณ 8 ชั่วโมงหลังจากตัวเมียวางไข่ในสิ่งแวดล้อม
b. ระยะตัวอ่อน (larva) : ตัวอ่อนของแมลงวันมีลักษณะเป็นตัวหนอน (maggot) สีขาว รูปร่างเรียว ยาว โดยในระยะนี้จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะย่อย นั่นคือ ตัวอ่อนระยะที่ 1-3 ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการพัฒนาประมาณ 3-4 วัน
c. ระยะตัวกลางวัย หรือดักแด้ (pupae) : หลังจากผ่านระยะตัวอ่อน ตัวอ่อนจะเริ่มสร้างดักแด้ หรือที่เรียกว่า puparium โดยดักแด้จะมีลักษณะแข็ง มีสีขาวครีมในระยะแรก และเข้มขึ้นเมื่อระยะเวลาผ่านไปจนเปลี่ยนเป็นสีดำในท้ายที่สุด โดยในระยะนี้ตัวอ่อนจะเข้าสู่ระยะจำศีล ไม่เคลื่อนไหว และไม่กินอาหาร
d. ตัวเต็มวัย (adult) : เมื่อตัวอ่อนออกจากดักแด้ จะเข้าสู่ระยะตัวเต็มวัย โดยในระยะนี้แมลงวันจะเริ่มขยายขนาดโดยการสูดเอาอากาศเข้าไปภายในร่างกาย เพื่อกระตุ้นการสูบฉีดน้ำเลือด (hemolymph) เข้าสู่ปีก และทำให้ปีกสามารถกางออกได้ต่อไป
ความสำคัญของแมลงวันต่อการติดพยาธิภายในสัตว์เลี้ยง คือ แมลงวันเป็นพาหะของพยาธิแส้ม้า (Trichuris trichiura) พยาธิปากขอ (Ancylostoma duodenale) รวมทั้งพยาธิตัวกลม เช่น พยาธิไส้เดือน (Toxocara canis) นอกจากนี้ยังเป็นพาหะของเชื้อโรคอื่น ๆ เช่น ไวรัส แบคทีเรีย และโปรโตซัวซึ่งอาจปนเปื้อนมากับอาหาร หรือน้ำดื่มที่ไม่สะอาด ส่งผลให้สัตว์เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้
2. หมัด : หมัด คือแมลงขนาดเล็ก ไม่มีปีก เป็นปรสิตภายนอกที่ดำรงชีวิตด้วยการกินเลือดเป็นอาหาร การมีหมัดอาศัยอยู่ในร่างกายเป็นจำนวนมากจึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของเกิดภาวะโลหิตจาง (anemia) ในสัตว์ นอกจากนี้โปรตีนในน้ำลายหมัดยังสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ หรือที่เรียกว่าภาวะแพ้น้ำลายหมัด (flea bite hypersensitivity) ได้อีกด้วย โดยหมัดมีวงจรชีวิตด้วยกันทั้งหมด 4 ระยะ ได้แก่
a .ระยะไข่ (egg) : ไข่ของหมัดมีลักษณะมันวาว และเกาะติดอยู่กับเส้นขนของสัตว์ โดยหลังจากที่แม่หมัดวางไข่บนเส้นขนของสัตว์แล้ว ไข่หมัดจะหล่นลงสู่สิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาเป็นระยะต่อไป โดยแม่หมัดจะสามารถผลิตไข่ได้มากถึง 40-50 ฟองต่อวัน และต่อเนื่องได้ยาวนานถึง 100 วัน
b. ระยะตัวอ่อน (larva) : หลังจากตัวอ่อนฟักออกจากไข่ ตัวอ่อนจะกินเศษอินทรียวัตถุเป็นอาหาร และพัฒนาต่อไปเพื่อเข้าสู่ระยะดักแด้ โดยตัวอ่อนของหมัดมักหลบซ่อนอยู่ตามซอก หรือหลืบมุมในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในบริเวณที่อับแสง และเย็น (negative phototaxis) เช่น ซอกโซฟา พื้นบ้าน หรือพรม และมีพฤติกรรมในการมุดลงด้านล่างในสิ่งแวดล้อม (positive geotaxis) จากนั้นจะมีการลอกคราบก่อนที่จะเข้าสู่ระยะดักแด้ต่อไป
c. ระยะตัวกลางวัย หรือดักแด้ (pupae) : ในระยะนี้ตัวอ่อนจะสร้างเปลือก หรือรังดักแด้ (cocoon) ขึ้นมาห่อหุ้ม เมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้น เช่น แรงสั่นสะเทือน แสง หรือแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวอ่อนจะออกจากเปลือกแล้วเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยได้ภายใน 7-14 วัน โดยในระยะนี้ ตัวอ่อนอาจอยู่ในระยะสงบ (dormant) ได้นานหลายเดือนหากไม่มีสิ่งเร้ามากระตุ้น ส่งผลให้การดูแลรักษาความสะอาดของสิ่งแวดล้อมเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยป้องกันการติดหมัดได้
d. ตัวเต็มวัย (adult) : เมื่อเข้าสู่ระยะตัวเต็มวัย หมัดที่ก่อนหน้านี้อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมจะกลับเข้าสู่ร่างกายสัตว์เพื่อดูดเลือดเป็นอาหารต่อไป โดยในระยะนี้ถือเป็นระยะเดียวที่สามารถพบได้บนร่างกายสัตว์
ความสำคัญของหมัดต่อการติดพยาธิภายในสัตว์เลี้ยง คือ หมัดบางชนิดเป็นโฮสต์กึ่งกลาง (intermediate host) ของพยาธิตัวตืด โดยเฉพาะพยาธิตืดแตงกวา หรือ Dipylidium caninum ส่งผลให้สัตว์เกิดอาการความผิดปกติ เช่น ซึม น้ำหนักลด อาเจียน โดยการติดพยาธิดังกล่าวจากหมัดมักเกิดขึ้นจากการที่สัตว์กินตัวหมัดเข้าไปโดยตรง
นอกจากสัตว์พาหะเหล่านี้จะเป็นตัวการนำมาซึ่งพยาธิภายในหลายชนิดแล้ว ยังมักเป็นสาเหตุของการติดเชื้อชนิดอื่น ๆ เช่น เชื้อไวรัส แบคทีเรีย และโปรโตซัว ส่งผลให้สัตว์เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้อีกมาก การดูแลสิ่งแวดล้อมที่สัตว์อาศัยให้ห่างไกลจากสัตว์พาหะ ร่วมไปกับการแนะนำให้เจ้าของป้องกันปรสิตภายนอกในสัตว์อยู่เสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สัตวแพทย์ควรให้คำแนะนำ

เอกสารอ้างอิง

1. ESCCAP. 2022. Control of Ectoparasites in Dogs and Cats. ESCCAP Guideline (7), 7-10. Available online at: https://www.esccap.org/uploads/docs/4ce0ad9k_0720_ESCCAP_GL3__English_v17_1p.pdf

2. Tiawsirisup S. 2011. Flies. Ectoparasites of Domestic Animals. (2), 83-89.