1. benzimidazoles (BZD) และ pro-BZDs
กลไกการออกฤทธิ์คือ จับกับโปรตีน tubulin ของพยาธิตัวกลม ซึ่งเป็นองค์ประกอบของไมโครทูบูล ทำให้ไมโครทูบูลของพยาธิตัวกลมเสียหาย ไม่สามารถขนส่งสารภายในเซลล์ รวมถึงเอนไซม์ในการดำรงชีวิต และตัวยายังจับกับเอนไซม์ fumarate reductase ทำให้พยาธิขาดพลังงานและตายในที่สุด
1.1 thiabendazole
ในสุนัขใช้เป็นยาถ่ายพยาธิตัวกลมหลายชนิด เช่น Strongyloides stercoralis นอกจากนี้ยังอยู่ในรูปยาหยอดหู เพราะมีฤทธิ์ต้านเชื้อราได้ ข้อควรระวังคือ อาจเกิดอาการท้องเสีย อาเจียนได้
1.2 albendazole
เป็นยาถ่ายพยาธิที่ออกฤทธิ์กว้าง ได้ผลทั้งกับ พยาธิตัวกลม พยาธิตืด พยาธิใบไม้ และโปรโตซัว สามารถรักษา giardiasis ในสุนัขและแมว แต่ควรหลีกเลี่ยงในสัตว์ท้อง โดยเฉพาะระยะแรกของการตั้งท้อง
1.3 fenbendazole
ในสุนัขและแมว ออกฤทธิ์ได้ดีกับ พยาธิไส้เดือน พยาธิปากขอ พยาธิแส้ม้า รวมไปถึงพยาธิตัวตืด คือ Taenia spp. นอกจากนี้ยังรักษา giardiasis ที่ดื้อยา metronidazole ได้ และยังปลอดภัยกับสัตว์ท้อง
1.4 oxibendazole
เป็นยาถ่ายพยาธิที่ออกฤทธิ์ได้ดีและขอบเขตความปลอดภัยสูงกับพยาธิตัวกลม เช่น พยาธิไส้เดือน พยาธิปากขอ พยาธิแส้ม้า นอกจากนี้ยังได้ผลกับพยาธิตัวตืดและพยาธิหัวหนามในสุนัขด้วย
1.5 mebendazole
นิยมใช้ในสุนัขและแมว มีขอบเขตการออกฤทธิ์กว้าง ทั้งพยาธิไส้เดือน พยาธิปากขอ พยาธิแส้ม้า และพยาธิตัวตืด แต่อาจมีความเป็นพิษต่อตับ และห้ามใช้ในสัตว์ท้องและให้นมลูก
1.6 febantel
ยาจะถูกเมทาบอไลท์เป็น fenbendazole และ oxibendazole เมื่อใช่ร่วมกับ pyrantel และ praziquantel จะต้านพยาธิปากขอ พยาธิไส้เดือน พยาธิแส้ม้า และพยาธิตัวตืดได้ดีกว่าเมื่อใช้ยาเดี่ยว ไม่ควรใช้ในสัตว์ท้องและสัตว์ที่ร่างกายอ่อนแอ
2. praziquantel และ epsiprantel
2.1 praziquantel
เป็นยาสำหรับพยาธิตัวตืด และพยาธิใบไม้ ออกฤทธิ์ได้ดีกับทั้งพยาธิตัวแก่ และพยาธิระยะที่ยังอยู่ในเนื้อเยื่อ กลไกการออกฤทธิ์คือ ทำให้แคลเซียมเข้าเซลล์ของพยาธิมากขึ้น เกิดอัมพาตแบบชักเกร็ง (spastic paralysis) และตายในที่สุด มีความปลอดภัยกับสัตว์ท้อง และสัตว์ให้นมลูก
2.2 epsiprantel
เป็นยาที่กลไลการออกฤทธิ์คล้ายกับ praziquantel ใช้สำหรับพยาธิตัวตืดเท่านั้น และได้ผลกับพยาธิตัวตืดที่ดื้อยา praziquantel
3. pyrantel
เป็นอนุพันธ์ของ imidazothiazole อยู่ในรูปเกลือ pamoate หรือ tartrate ซึ่งในรูปเกลือ pamoate จะมีความปลอดภัยสูงในลูกสัตว์ สัตว์ท้อง และสัตว์ให้นม กลไกการออกฤทธิ์คือ เป็น nicotinic agonist ทำให้หนอนพยาธิเกิดอัมพาตแบบชักเกร็ง และตายในที่สุด ออกฤทธิ์ต้านพยาธิตัวกลม เช่น พยาธิไส้เดือน และพยาธิปากชอ ในสุนัขและแมว
ข้อควรระวังคือ ห้ามให้ร่วมกันกับ morantel และ levamisole เนื่องจากออกฤทธิ์เสริมกันอาจเกิดความเป็นพิษต่อระบบประสาทได้ นอกจากนี้การให้ยาในขนาดสูงเกินไปอาจลดความไวของพยาธิต่อยา (desensitization) ได้
4. emodepside
เป็นยาต้านพยาธิตัวกลม และอยู่ในรูปของยาหยดหลังเท่านั้น กลไกการออกฤทธิ์คือ จับกับ Latrophillin-like receptor ซึ่งพบในพยาธิตัวกลมเท่านั้น ส่งผลให้ GABA อยู่หลั่งมากขึ้น เกิดอัมพาต (flaccid paralysis) และตายในที่สุด
มักอยู่ในรูปของยา emodepside ร่วมกับ praziquantel เพื่อเพิ่มขอบเขตการออกฤทธิ์ และควรระวังในสุนัขที่เกิดการกลายพันธุ์ของยีนส์ ABCB1 เพราะอาจเกิดความเป็นพิษต่อระบบประสาทได้
5. arsenical compounds
ถูกใช้เป็นยาฆ่าพยาธิตัวแก่ของพยาธิหนอนหัวใจ (Dirofilaria immitis) ในสุนัขและแมว อยู่ในรูปยาฉีดเท่านั้น ตัวอย่างของยาในกลุ่มนี้คือ melarsomine กลไกการออกฤทธิ์คือ arsenic และ sulfhydryl group ในโมเลกุลยาจะจับกับเอนไซม์ของพยาธิ ข้อควรระวังคือ เมื่อผสมยาแล้วสามารถเก็บได้ 24 ชม. ห้ามใช้ในสัตว์ท้อง ขอบเขตความปลอดภัยต่ำ ควรมีระยะพัก1เดือนเพื่อลดการเกิด pulmonary thromboembolism
อาการอันไม่พึงประสงค์ที่พบได้คือ เบื่ออาหาร น้ำลายไหลมาก อาเจียน กล้ามเนื้อสั่น ซึ่งเป็นผลมาจากพิษของโลหะหนัก ยาแก้พิษคือ dimercaprol (BAL) ขนาดยา 3 mg/kg ทางการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
6. pyrethrins and synthetic pyrethroids
กลไกการออกฤทธิ์คือ ทำให้โซเดียมเข้าเซลล์ของปรสิตภายนอกมากขึ้น ส่งผลให้การส่งกระแสประสาทผิดปกติ และตายในที่สุด ตัวอย่างของยาในกลุ่มนี้ เช่น permethrin deltamethrin cypermethrin etofenprox มักอยู่ในรูปแบบสเปรย์ แชมพู ปลอกคอ และยาหยดหลัง
ข้อควรระวังคือ ห้ามใช้ในแมวเพราะเกิดความเป็นพิษได้ ยกเว้น flumethrin ที่สามารถใช้ได้ปลอดภัยทั้งสุนัขและแมว
7. indoxacarb
เป็นยาที่ได้ผลกับหมัดเท่านั้น ถูกสร้างมาเพื่อจัดการกับหมัดที่ดื้อต่อยา pyrethroid สามารถฆ่าหมัดได้อย่างมีประสิทธิภาพและทุกระยะของการเติบโตของหมัด กลไกการออกฤทธิ์คือยับยั้งช่องทางโซเดียม โดยยาจะถูกเปลี่ยนเป็นรูปที่ออกฤทธิ์โดยเอนไซม์ในตัวของหมัด หมัดจะเป็นอัมพาตและตายในที่สุด indoxacarb จะอยู่ในรูปแบบของยาหยดหลัง และสำหรับแมวเท่านั้น
8. macrocyclic lactones
ยาในกลุ่มนี้ออกฤทธิ์ได้ดีกับทั้งปรสิตภายนอกและภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อพยาธิตัวกลมและสัตว์ขาปล้อง เช่น แมลง แต่ไม่มีฤทธิ์ต่อพยาธิตัวแบน พยาธิตัวตืด และโปรโตซัว
กลไกการออกฤทธิ์คือ ยาจะทำการเปิดช่องทางของคลอไรด์ในเซลล์ประสาทของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ส่งผลทำให้การส่งกระแสประสาทผิดปกติ เป็นอัมพาต และตายในที่สุด
8.1 avermectins
8.1.1 ivermectin
ในสุนัข ไว้ใช้ป้องกันการติดต่อของตัวอ่อน (microfilaria, L3, L4) ของพยาธิหนอนหัวใจ รวมไปถึงพยาธิตัวกลมในทางเดินอาหาร และปรสิตภายนอก เช่น หมัด ไรขี้เรื้อน ไรหู ในประเทศไทยมีทั้งรูปแบบฉีด และกิน
ความเป็นพิษต่อสุนัขที่มีการกลายพันธุ์ของยีนส์ ABCB1 โดยเฉพาะในสุนัขพันธุ์คอลลี่ ส่งผลให้ P-glycoprotein ในสมองมีปัญหาต่อการขับยาออกจากระบบประสาท ทำให้ยาผ่านเข้าสู่สมองของสุนัข และเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ม่านตาขยาย ตาบอด ซึม สั่น หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ โดยในสุนัขดังกล่าวจะมีความไวต่อยามากกว่าสุนัขปกติ 15-30 เท่า โดยมีรายงานขนาดของยาที่ทำให้เกิดพิษอยู่ที่ 0.1-0.2 mg/kg ซึ่งขนาดของยา รivermectin ที่กินเพื่อป้องกันพยาธิหนอนหัวใจจะอยู่ที่ 0.006 mg/kg เท่านั้น ดังนั้นสุนัขที่มีปัญหาเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของยีนส์ดังกล่าวสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย
8.1.2 doramectin
อยู่ในรูปยาฉีดเท่านั้น โดยออกฤทธิ์ได้ยาวนานกว่า ivermectin โดยพบระดับสูงสุดในเลือด 3 วันหลังฉีด สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยในสัตว์ท้อง ห้ามใช้ในสุนัขพันธุ์คอลลี่และลูกผสมคอลลี่
8.1.3 selamectin
ดูดซึมได้ดีทางผิวหนัง ทำให้ง่ายต่อการใช้ ระดับยาสูงสุดในเลือดภายใน 72 ชม. หลังจากหยดผ่านผิวหนัง และสามารถมีฤทธิ์ต้านปรสิตทั้งภายนอกและในทางเดินอาหารได้อย่างน้อย 30 วัน สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยกับสุนัขพันธุ์คอลลี่และแมว
8.2 milbemycins
ตัวยาที่สำคัญในกลุ่มนี้คือ milbemycin oxime สามารถฆ่าตัวอ่อนพยาธิหนอนหัวใจได้แรงและเร็วกว่า ivermectin ใช้ได้ในสัตว์ท้อง สัตว์ให้นมลูก และลูกสัตว์อายุ 2 เดือนขึ้นไป
8.3 nemadectins
ตัวยาที่สำคัญในกลุ่มนี้คือ moxidectin มีความสามารถในการสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อไขมันและน้ำในร่างกายสัตว์ได้นานกว่ายาในกลุ่มอื่น พบค่าครึ่งชีวิตที่ 19 วัน และขับออกทางอุจจาระเป็นหลัก
รูปแบบของยาของ moxidectin มีทั้งรูปแบบฉีด กิน และหยดหลัง โดยเฉพาะรูปแบบฉีดพิเศษที่จะค่อยๆปลดปล่อยตัวยาออกมา (slow release) เพื่อป้องกันพยาธิหนอนหัวใจและพยาธิปากขอ โดยจะฉีดเข้าใต้ผิวหนังทุก 6-12 เดือน แต่มีข้อควรระวังคือ ควรใช้ในสุนัขที่ตรวจแล้วว่าไม่มีพยาธิหนอนหัวทั้งตัวอ่อนและตัวแก่ในร่างกาย
9. fipronil
เป็นสารในกลุ่ม phenylpyrazole ออกฤทธิ์ได้กับเห็บและหมัดเท่านั้น และปลอดภัยกับสุนัขและแมว กลไกการออกฤทธิ์คือ เป็นยับยั้ง GABA ส่งผลให้เห็บหมัดเกิดอัมพาตแบบชักเกร็ง และตายในที่สุด โดยยาจะอยู่ในรูปของยาหยดหลังเท่านั้น
ข้อควรระวังคือ ห้ามใช้ในลูกสุนัขอายุต่ำกว่า 10 สัปดาห์ และลูกแมวอายุต่ำกว่า 12 สัปดาห์ รวมไปถึงระวังการใช้ยานี้ในสัตว์ท้อง สัตว์ที่กำลังให้นมลูก และห้ามใช้ยานี้เด็ดขาดในกระต่าย
10. spinosad
เป็นยาที่ได้ผลกับหมัดตัวเต็มวัยและใช้กับสุนัขเท่านั้น ยาจะอยู่ในรูปแบบของยากินแบบเม็ดเคี้ยว โดยกินเดือนละ 1ครั้ง โดยเป็นยาที่ออกฤทธิ์เร็วในการฆ่าหมัดตั้งแต่ 30 นาทีแรกหลังกิน
ข้อควรระวังคือ เมื่อให้ในขนาดยาที่สูง อาจเกิดอาการอาเจียน คลื่นไส้ เบื่ออาหาร และซึมได้
11. imidacloprid
เป็น neurotoxin ของหมัดทั้งในระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัย มักอยู่ในยาหยดหลังที่มีส่วนผสมของ moxidectin รวมอยู่ด้วย เพื่อให้สามารถออกฤทธิ์ครอบคลุมทั้งหมัด ไรขี้เรื้อน ไรในหู รวมถึงพยาธิทางเดินอาหาร และพยาธิหนอนหัวใจ
ข้อควรระวัง คือ ห้ามใช้ในลูกสัตว์อายุต่ำกว่า 4 เดือน
12. isoxazolines
เป็นยาที่ค้นพบเมื่อในปี 2013 ยาในกลุ่มนี้ เช่น afoxolaner fluralaner และ sarolaner โดย afoxolaner และ sarolaner จะอยู่ในรูปแบบยาเม็ดเคี้ยวสำหรับบสุนัข ส่วน fluralaner มีทั้งรูปยากินสำหรับสุนัข และรูปแบบยาหยดหลังสำหรับแมว ขอบเขตความปลอดภัยสูง และสามารถใช้กับสัตว์ท้องได้สำหรับ fluralaner เท่านั้น
กลไกการออกฤทธิ์คือ ยับยั้งที่ตัวรับของ GABA ของเซลล์ประสาทของสัตว์ขาปล้อง ส่งผลให้ระบบประสาทถูกกระตุ้นง่ายขึ้น เกิดอัมพาตแบบชักเกร็ง และตายในที่สุด
ยาในกลุ่มนี้ออกฤทธิ์ได้ดีมากกับปรสิตภายนอก เช่น เห็บ หมัด ไรขี้เรื้อน ไรในหู และมีการให้ร่วมกันกับยาต้านปรสิตอื่นๆเพื่อเพิ่มขอบเขตการออกฤทธิ์กับพยาธิในทางเดินอาหาร และพยาธิหนอนหัวใจ เช่น afoxolaner ร่วมกับ milbemycin หรือ fluralaner ร่วมกับ moxidetin เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง :
ปิยะรัตน์ จันทร์ศิริพรชัย. ยาต้านปรสิตทางสัตวแพทย์. พิมพ์ครั้งที่ 4. มีนาคม 2558 บริษัทตีรณสารจำกัด จำนวน 70 หน้า
Zhou X, Hohman AE and Hsu WH 2022. Current review of isoxazoline ectoparasiticides used in veterinary medicine. Jounal of Veterinary Pharmacology and Therapeutics. 45(1): 1-15.