ยาถ่ายพยาธิหรือยาต้านปรสิตในทางสัตวแพทย์สัตว์เล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสุนัขและแมวนั้นมีหลากหลายชนิดมาก ทั้งกับออกฤทธิ์ต้านปรสิตภายนอก เช่น เห็บ หมัด เหา ไร และยาต้านปรสิตภายใน เช่น พยาธิตัวกลมในทางเดินอาหาร พยาธิตัวตืด พยาธิใบไม้ รวมไปถึงการใช้ยาหลายกลุ่มในหนึ่งผลิตภัณฑ์ (combination drug) เพื่อให้ขอบเขตการออกฤทธิ์กว้างและครอบคลุมกับทุกพยาธิมากขึ้น ปรสิตภายนอกและพยาธิภายในนั้นควรทำการป้องกันและถ่ายพยาธิเป็นประจำเพื่อลดโอกาสการเกิดโรคจากปรสิตดังกล่าว
ยาต้านปรสิตภายนอก (anti-ectoparasitic drugs) ที่นิยมใช้ในสุนัขและแมว

1. fipronil

เป็นสารในกลุ่ม phenylpyrazoles ออกฤทธิ์ได้กับเห็บและหมัดเท่านั้น และปลอดภัยกับสุนัขและแมว กลไกการออกฤทธิ์คือ เป็นยับยั้ง GABA ส่งผลให้เห็บหมัดเกิดอัมพาตแบบชักเกร็ง (spastic paralysis) และตายในที่สุด โดยยาจะอยู่ในรูปของยาหยดหลังเท่านั้น
ข้อควรระวังคือ ห้ามใช้ยานี้เด็ดขาดในกระต่าย

2. imidacloprid

เป็น neurotoxin ของหมัดทั้งในระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัย มักอยู่ในยาหยดหลังที่มีส่วนผสมของ moxidectin รวมอยู่ด้วย เพื่อให้สามารถออกฤทธิ์ครอบคลุมทั้งหมัด ไรขี้เรื้อน ไรในหู รวมถึงพยาธิทางเดินอาหาร และพยาธิหนอนหัวใจ ข้อควรระวัง คือ ห้ามใช้ในลูกสัตว์อายุต่ำกว่า 4 เดือน

3. isoxazolines

เป็นกลุ่มยาต้านปรสิตภายนอกที่ค้นพบใหม่ล่าสุด มีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยสูง ออกฤทธิ์ต้านปรสิตภายนอกหลายชนิด กลไกการออกฤทธิ์ของยาในกลุ่ม isoxazolines นี้จะทำการยับยั้งตัวรับของ GABA (GABA receptors) ทำให้ระบบประสาทของสัตว์ขาปล้องถูกกระตุ้นง่ายขึ้น จนเกิดอัมพาตแบบชักเกร็ง และตายในที่สุด ข้อควรระวังคือ ผลิตภัณฑ์ที่มีใช้ในตอนนี้ใช้กับสุนัข และแมวอายุ 8 สัปดาห์ขึ้นไป
ยาถ่ายพยาธิ (anti-endoparasitic drugs) ที่นิยมใช้ในสุนัขและแมว

1. benzimidazoles (BZD) และ pro-BZDs

กลไกการออกฤทธิ์คือ จับกับโปรตีน tubulin ของพยาธิตัวกลม ซึ่งเป็นองค์ประกอบของไมโครทูบูล ทำให้ไมโครทูบูลของพยาธิตัวกลมเสียหาย ไม่สามารถขนส่งสารภายในเซลล์ รวมถึงเอนไซม์ในการดำรงชีวิต และตัวยายังจับกับเอนไซม์ fumarate reductase ทำให้พยาธิขาดพลังงานและตายในที่สุด ตัวอย่างของยาในกลุ่มนี้ เช่น

1.1 febantel

ยาจะถูกเมทาบอไลท์เป็น fenbendazole และ oxibendazole ไม่ควรใช้ในสัตว์ท้องและสัตว์ที่ร่างกายอ่อนแอ

1.2 fenbendazole

ในสุนัขและแมว ออกฤทธิ์ได้ดีกับ พยาธิไส้เดือน พยาธิปากขอ พยาธิแส้ม้า รวมไปถึงพยาธิตัวตืด คือ Taenia spp. นอกจากนี้ยังรักษา giardiasis ที่ดื้อยา metronidazole ได้ และยังปลอดภัยกับสัตว์ท้อง

1.3 mebendazole

นิยมใช้ในสุนัขและแมว มีขอบเขตการออกฤทธิ์กว้าง ทั้งพยาธิไส้เดือน พยาธิปากขอ พยาธิแส้ม้า และพยาธิตัวตืด แต่อาจมีความเป็นพิษต่อตับ และห้ามใช้ในสัตว์ท้องและให้นมลูก

1.4 oxibendazole

เป็นยาถ่ายพยาธิที่ออกฤทธิ์ได้ดีและขอบเขตความปลอดภัยสูงกับพยาธิตัวกลม เช่น พยาธิไส้เดือน พยาธิปากขอ พยาธิแส้ม้า นอกจากนี้ยังได้ผลกับพยาธิตัวตืดและพยาธิหัวหนามในสุนัขด้วย

2. praziquantel

เป็นยาสำหรับพยาธิตัวตืด และพยาธิใบไม้ ออกฤทธิ์ได้ดีกับทั้งพยาธิตัวแก่ และพยาธิระยะที่ยังอยู่ในเนื้อเยื่อ กลไกการออกฤทธิ์คือ ทำให้แคลเซียมเข้าเซลล์ของพยาธิมากขึ้น เกิดอัมพาตแบบชักเกร็ง และตายในที่สุด มีความปลอดภัยกับสัตว์ท้อง และสัตว์ให้นมลูก

3. pyrantel

เป็นอนุพันธ์ของ imidazothiazole ซึ่งในรูปเกลือ pamoate จะมีความปลอดภัยสูงในลูกสัตว์ สัตว์ท้อง และสัตว์ให้นม กลไกการออกฤทธิ์คือ เป็น nicotinic agonist ทำให้หนอนพยาธิเกิดอัมพาตแบบชักเกร็ง และตายในที่สุด ออกฤทธิ์ต้านพยาธิตัวกลม เช่น พยาธิไส้เดือน และพยาธิปากชอ ในสุนัขและแมว
ข้อควรระวังคือ การให้ยาในขนาดสูงเกินไปอาจลดความไวของพยาธิต่อยา (desensitization) ได้ ควรคำนวณปริมาณของยาให้มีความเหมาะสม
ยาที่ออกฤทธิ์ต้านได้ทั้งปรสิตภายนอก และถ่ายพยาธิตัวกลม รวมทั้งพยาธิหนอนหัวใจ (anti-endectoparasitic drugs)

1. macrocyclic lactones

กลไกการออกฤทธิ์คือ ยาจะทำการเปิดช่องทางของคลอไรด์ในเซลล์ประสาทของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง (ทั้งปรสิตภายนอกและพยาธิตัวกลม) ส่งผลทำให้การส่งกระแสประสาทผิดปกติ (hyperpolarization) เป็นอัมพาต (flaccid paralysis) และตายในที่สุด

1.1 avermectins

1.1.1 ivermectin

ในสุนัข ไว้ใช้ป้องกันการติดต่อของตัวอ่อน (microfilaria, L3, L4) ของพยาธิหนอนหัวใจ รวมไปถึงพยาธิตัวกลมในทางเดินอาหาร และปรสิตภายนอก เช่น หมัด ไรขี้เรื้อน ไรหู ในประเทศไทยมีทั้งรูปแบบฉีด และกิน ควรระวังการใช้ในสุนัขที่มีการกลายพันธุ์ของยีนส์ ABCB1 โดยเฉพาะในสุนัขพันธุ์คอลลี่ ส่งผลให้ต่อการขับยาออกจากระบบประสาท ทำให้ยาผ่านเข้าสู่สมองของสุนัข และเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ม่านตาขยาย ตาบอด ซึม สั่น หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้

1.1.2 eprinomectin

อยู่ในรูปแบบของยาหยดหลังสำหรับแมว พบว่าแมวสามารถทนต่อยา eprinomectin ได้ดีทั้งในแมวโตเต็มวัย และลูกแมว ระดับยาสูงสุดในเลือดภายใน 48 ชม. มีความสามารถจับกับโปรตีนในเลือดสูง (>99%) ขับออกทางอุจจาระเป็นหลักโดยไม่มีการเปลี่ยนรูป

1.1.3 doramectin

อยู่ในรูปยาฉีดเท่านั้น โดยออกฤทธิ์ได้ยาวนานกว่า ivermectin โดยพบระดับสูงสุดในเลือด 3 วันหลังฉีด สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยในสัตว์ท้อง ห้ามใช้ในสุนัขพันธุ์คอลลี่และลูกผสมคอลลี่

1.1.4 selamectin

ยาดูดซึมได้ดีทางผิวหนัง ทำให้ง่ายต่อการใช้ ระดับยาสูงสุดในเลือดภายใน 72 ชม. หลังจากหยดผ่านผิวหนัง และสามารถมีฤทธิ์ต้านปรสิตทั้งภายนอกและในทางเดินอาหารได้อย่างน้อย 30 วัน สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยกับสุนัขพันธุ์คอลลี่และแมว

1.2 milbemycins

ตัวยาที่สำคัญในกลุ่มนี้คือ milbemycin oxime สามารถฆ่าตัวอ่อนพยาธิหนอนหัวใจได้แรงและเร็วกว่า ivermectin ใช้ได้ในสัตว์ท้อง สัตว์ให้นมลูก และลูกสัตว์อายุ 2 เดือนขึ้นไป

1.3 nemadectins

ตัวยาที่สำคัญในกลุ่มนี้คือ moxidectin มีความสามารถในการสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อไขมันและน้ำในร่างกายสัตว์ได้นานกว่ายาในกลุ่มอื่น พบค่าครึ่งชีวิตที่ 19 วัน และขับออกทางอุจจาระเป็นหลัก
โดยผลิตภัณฑ์ยาถ่ายพยาธิที่มีใช้ในทางสัตวแพทย์สัตว์เล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสุนัขและแมว มักจะอยู่ในรูปแบบของการใช้ยาหลายกลุ่มร่วมกันเพื่อขยายขอบเขตการออกฤทธิ์ของยา ตัวอย่างเช่น afoxolaner 2.5 mg/kg ร่วมกับ milbemycin 0.5 mg/kg ในรูปแบบเม็ดเคี้ยวสำหรับสุนัข โดยให้สุนัขกินทุก 1 เดือน ซึ่ง afoxolaner เป็นยาในกลุ่ม isoxazolines ดูดซึมได้อย่างรวดเร็วทางการกิน สามารถให้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ ขับออกทางอุจจาระเป็นหลัก มีประสิทธิภาพสูงในการฆ่าปรสิตภายนอก เช่น เห็บ หมัด ไรขี้เรื้อน ไรในหู ส่วนยา milbemycin เป็นยาในกลุ่ม macrocyclic lactones มีประสิทธิภาพในการฆ่าปรสิตภายนอก เช่น ไรขี้เรื้อน ไรในหู และถ่ายพยาธิตัวกลมในทางเดินอาหาร พยาธิตัวกลมในปอด พยาธิตัวกลมในหลอดอาหาร รวมไปถึงพยาธิหนอนหัวใจ ใช้ได้กับสุนัขอายุ 8 สัปดาห์ขึ้นไป มีความปลอดภัยสูง โดยไม่พบความผิดปกติจากการให้ยาเกินขนาด 5 เท่าของขนาดยาสูงสุดที่ระบุใช้ได้คือ 6.3 mg/kg ทางการกิน รวมไปถึงมีความปลอดภัยสูงในสุนัขพันธุ์คอลลี่ในขนาดยาปกติ
จากการศึกษาประสิทธิภาพของ afoxolaner 2.5 mg/kg ร่วมกับ milbemycin 0.5 mg/kg ทางการกินในสุนัข พบว่า พบว่า ประสิทธิภาพในการกำจัดปรสิตภายนอกอย่างเช่น หมัด (Ctenocephalides felis) เห็บ (Rhipicephalus sanguineus) ได้มากกว่า 93-100% ส่วนประสิทธิภาพต่อไรขี้เรื้อน (Demodex spp.) พบว่าจำนวนไรลดลง 87.6% 96.5% และ 98.1% หลังจากการได้รับยาในวันที่ 28 56 และ 84 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบประสิทธิภาพในการถ่ายพยาธิปากขอ (Ancylostoma ceylanicum) พยาธิไส้เดือน (Toxocara canis และ Toxascaris leonina) พยาธิตัวกลมในปอด (Capillaria aerophile และ Capillaria boehmi) และพยาธิตัวกลมหลอดอาหาร (Spirocerca lupi) ได้มากกว่า 97-99%
fipronil 10 mg/kg – (S)-methoprene 12 mg/kg – eprinomectin 0.5 mg/kg – praziquantel 10 mg/kg ในรูปแบบยาหยดหลังสำหรับแมว โดยทำการหยดหลังแมวทุก 1 เดือน ซึ่ง fipronil และ (S)-methoprene เป็นยาที่ทำการฆ่าปรสิตภายนอกของแมว เช่น หมัด ไข่ของหมัด เหา ส่วนยา eprinomectin เป็นยาในกลุ่ม macrocyclic lactones ที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าปรสิตภายนอก เช่น ไรในหู ไรขี้เรื้อน ไรใบหน้า และยังทำการถ่ายพยาธิตัวกลมในทางเดินอาหาร พยาธิตัวกลมในปอด พยาธิตัวกลมในกระเพาะปัสสาวะ รวมไปถึงป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ นอกจากนี้ยา praziquantel จะทำการถ่ายพยาธิตัวตืด พยาธิตืดหมัน และพยาธิหัวหนามได้อีกด้วย ใช้ได้กับแมวอายุ 8 สัปดาห์ขึ้นไปได้อย่างปลอดภัย
จากการศึกษาประสิทธิภาพการให้ร่วมกันของ fipronil 10 mg/kg – (S)-methoprene 12 mg/kg – eprinomectin 0.5 mg/kg – praziquantel 10 mg/kg ทางการหยดหลังในแมว พบว่า ประสิทธิภาพในการกำจัดปรสิตภายนอกอย่างเช่น หมัดตัวเต็มวัย รวมถึงไข่หมัด (Ctenocephalides felis) และไรในหู (Otodectes cynotis) มากกว่า 99% และ 96% ตามลำดับ ส่วนประสิทธิภาพในการถ่ายพยาธิปากขอ (Ancylostoma spp.) พยาธิไส้เดือน (Toxocara cati) พยาธิตัวกลมในปอด (Capillaria spp.) และพยาธิตัวตืด (Taenia taeniaeformis และ Dipylidium caninum) ได้มากกว่า 95-99%

แหล่งอ้างอิง

1. ปิยะรัตน์ จันทร์ศิริพรชัย. ยาต้านปรสิตทางสัตวแพทย์. พิมพ์ครั้งที่ 4. มีนาคม 2558 บริษัทตีรณสารจำกัด จำนวน 70 หน้า

2. Baker C, Tielemans E, Prullage JB, Chester ST, Knaus M, Rehbein S, Fourie JJ, Young DR, Everett WR and Rosentel JK 2014. Efficacy of a novel topical combination of fipronil, (S)-methoprene, eprinomectin and praziquantel against adult and immature stages of the cat flea (Ctenocephalides felis) on cats. Vet Parasitol. 202(1-2): 54-58.

3. Beugnet F, Bouhsira E, Halos L and Franc M 2014. Preventive efficacy of a topical combination of fipronil--(S)-methoprene--eprinomectin--praziquantel against ear mite (Otodectes cynotis) infestation of cats through a natural infestation model. Parasite. 21: 40.

4. Beugnet F, Crafford D, de Vos C, Kok D, Larsen D and Fourie J 2016. Evaluation of the efficacy of monthly oral administration of afoxolaner plus milbemycin oxime (NexGard Spectra®), Merial) in the prevention of adult Spirocerca lupi establishment in experimentally infected dogs. Vet Parasitol. 226: 150-161.

5. Beugnet F, Meyer L, Fourie J and Larsen D 2017. Preventive efficacy of NexGard Spectra® against Dipylidium caninum infection in dogs using a natural flea (Ctenocephalides felis) infestation model. Parasite. 24.

6. Di Cesare A, Morelli S, Morganti G, Simonato G, Veronesi F, Colombo M, Berlanda M, Lebon W, Gallo M, Beugnet F and Traversa D 2021. Efficacy of milbemycin oxime/afoxolaner chewable tablets NexGard Spectra® against Capillaria aerophila and Capillaria boehmi in naturally infected dogs. Parasit Vectors. 14(1): 143.

7. Drag M, Tielemans E and Mitchell E 2022. Safety of oral afoxolaner formulated with or without milbemycin oxime in homozygous MDR1-deficient collie dogs. J Vet Pharmacol Ther. 45(4): 373-379.

8. Fankhauser R, Hamel D, Dorr P, Reinemeyer CR, Crafford D, Bowman DD, Ulrich M, Yoon S and Larsen DL 2016. Efficacy of oral afoxolaner plus milbemycin oxime chewables against induced gastrointestinal nematode infections in dogs. Vet Parasitol. 225: 117-122.

9. Knaus M, Abu-Madi MA, Ibarra-Velarde F, Kok DJ, Kusi I, Postoli R, Chester ST, Rosentel J, Alva R, Irwin J, Visser M, Winter R and Rehbein S 2014. Efficacy of a novel topical fipronil, (S)-methoprene, eprinomectin and praziquantel combination against naturally acquired intestinal nematode and cestode infections in cats. Vet Parasitol. 202(1-2): 18-25.

10. Kvaternick V, Kellermann M, Knaus M, Rehbein S and Rosentel J 2014. Pharmacokinetics and metabolism of eprinomectin in cats when administered in a novel topical combination of fipronil, (S)-methoprene, eprinomectin and praziquantel. Vet Parasitol. 202(1-2): 2-9.

11. Lebon W, Beccati M, Bourdeau P, Brement T, Bruet V, Cekiera A, Crosaz O, Darmon C, Guillot J and Mosca M 2018. Efficacy of two formulations of afoxolaner (NexGard® and NexGard Spectra®) for the treatment of generalised demodicosis in dogs, in veterinary dermatology referral centers in Europe. Parasit Vectors. 11(1): 1-10.

12. Letendre, L., Huang, R., Kvaternick, V., Harriman, J., Drag, M., & Soll, M. (2014). The intravenous and oral pharmacokinetics of afoxolaner used as a monthly chewable antiparasitic for dogs. Vet Parasitol, 201(3-4), 190-197.

13. McTier, T. L., Chubb, N., Curtis, M. P., Hedges, L., Inskeep, G. A., Knauer, C. S., ... & Woods, D. J. (2016). Discovery of sarolaner: a novel, orally administered, broad-spectrum, isoxazoline ectoparasiticide for dogs. Vet Parasitol, 222, 3-11.

14. Molina V, Pérez D, Prada J, Cogollo LCP, Pedraza N, Perozo F and Beugnet F 2022. Efficacy of Afoxolaner Alone or in Combination with Milbemycin Oxime against Rhipicephalus sanguineus Lato Sensu in Naturally Infested Dogs in Colombia. Open J Vet Med. 12(4): 27-36.

15. Rehbein S, Capari B, Duscher G, Keidane D, Kirkova Z, Petkevicius S, Rapti D, Wagner A, Wagner T, Chester ST, Rosentel J, Tielemans E, Visser M, Winter R, Kley K and Knaus M 2014. Efficacy against nematode and cestode infections and safety of a novel topical fipronil, (S)-methoprene, eprinomectin and praziquantel combination product in domestic cats under field conditions in Europe. Vet Parasitol. 202(1-2): 10-17.

16. Tielemans E, Lebon W, Dumont P, Taweethavonsawat P, Larsen D and Rehbein S 2017. Efficacy of afoxolaner plus milbemycin oxime chewable tablets (NexGard Spectra®, Merial) against adult Ancylostoma ceylanicum hookworm, in dogs. Vet Parasitol. 238: 87-89.