สพ.ญ.ดร.ณัฐรดา คันทวี
ผู้ช่วยปฏิบัติงานวิจัยธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งประเทศไทย (NBT) และ

สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์สนั่นรักษ์

Adjuvant vaccine คืออะไร ?

Adjuvant vaccine คือวัคซีนที่มีการเติมสารเคมี ส่วนประกอบของแบคทีเรีย หรือโปรตีนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพื่อช่วยให้วัคซีนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ (adaptive immunity) ทั้งชนิด humoral immune response (HMI) และชนิด cell mediated immune response (CMI) ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมักพบในวัคซีนชนิดเชื้อตาย (killed vaccine) หรือวัคซีนชนิดซับยูนิต (subunit vaccine) เนื่องจากวัคซีนทั้งสองชนิดนี้ไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ และมักเสื่อมสภาพได้ง่ายเมื่อบริหารเข้าสู่ร่างกายสัตว์ เพราะจะถูกภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด (innate immunity) กีดขวางและกำจัดไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เช่น สารคัดหลั่งของเยื่อเมือก เหงื่อ ซิเลีย เอนไซม์ ไลโซไซม์ และกระบวนการ phagocytosis เพื่อเก็บกินเชื้อ เป็นต้น ทำให้เชื้อตายหรือแอนติเจนเหล่านั้นสูญเสียสภาพคงอยู่ไม่ได้นานพอที่จะเป็น microbe-associated molecular patterns (MAMPs) จึงทำให้ไม่สามารถเหนี่ยวนำให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะได้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการเติมสารเสริมกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (adjuvant) เข้าไปช่วย ซึ่งมีหลายชนิดด้วยกัน เช่น aluminum salt (alum), Freund’s adjuvant, liposomes nanoparticles หรือ immune-stimulating complexes (ISCOMs) เป็นต้น โดยวัคซีนเชื้อตายในสัตว์เลี้ยงสำหรับสุนัขและแมวที่มีในประเทศไทยส่วนใหญ่จะใช้ alum เป็นสารเสริมกระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยเฉพาะวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าและวัคซีนป้องกันมะเร็งเม็ดเลือดขาว FeLV พบได้บ้างที่เป็น oil-in-water emulsion (EMULSIGEN®) ในวัคซีนเชื้อตายป้องกันโรคหัดหวัดแมว
การใช้วัคซีนที่มีการเติมสารเสริมกระตุ้นภูมิคุ้มกัน อาจทำให้มีอาการข้างเคียงจากการทำวัคซีนได้ (adverse postvaccination reactions) ทั้งในสุนัขและแมว โดยอาจมีอาการตั้งแต่ระดับเล็กน้อยจนไปถึงระดับรุนแรง โดยมากจะพบว่า บริเวณที่ฉีดวัคซีนจะอักเสบ บวมแดง (injection site reactions) โดยจะมีอาการประมาณ 1-3 วันหรืออาจอักเสบเรื้อรังจนเป็นก้อน granuloma นานหลายสัปดาห์ซึ่งมักสร้างความกังวลใจให้กับเจ้าของสัตว์ โดยเฉพาะเมื่อใช้วัคซีนเชื้อตายป้องกันพิษสุนัขบ้าหรือวัคซีนเชื้อตายป้องกันมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีส่วนประกอบของ alum พบว่าสัมพันธ์กับการเกิดเนื้องอกมะเร็งชนิด feline injection-site sarcomas (FISS) ในแมวทุก 5,000-12,500 ตัวที่ได้รับวัคซีนเหล่านี้ ปัจจุบันจึงมีคำแนะนำจากลุ่มผู้ผลิตวัคซีน จาก AAHA /WSAVA Vaccination Guidelines และผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ให้หลีกเลี่ยงการใช้วัคซีนที่มีการเติมสารเสริมกระตุ้นภูมิคุ้มกันในแมว

Non-adjuvant vaccine คืออะไร?

Non-adjuvant vaccine คือวัคซีนที่ไม่มีการเติมสารเสริมกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพราะด้วยคุณลักษณะของวัคซีนเอง สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ (adaptive immunity) ทั้งชนิด HMI และชนิด CMI ได้อยู่แล้ว โดยวัคซีนที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้จะได้แก่ วัคซีนเชื้อเป็น (attenuated/ modified live vaccine) และวัคซีนชนิดรีคอมบิแนนที่มีไวรัสเป็นพาหะ (recombinant viral vector vaccine) วัคซีนชื้อตายชนิดที่เป็น non-adjuvant vaccine จะจัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วยแต่จะกระตุ้นได้เฉพาะ HMI โดยปกติสัตวแพทย์ส่วนใหญ่มักจะคุ้นเคยกับวัคซีนชนิดเชื้อเป็น เพราะเป็นวัคซีนรุ่นแรกและ WSAVA Vaccination Guidelines จะแนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิดนี้สำหรับกลุ่มวัคซีนหลัก (core vaccine) เพื่อป้องกันโรคติดต่อจากเชื้อไวรัสที่สำคัญเพราะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีทั้งชนิด CMI และ HMI ภูมิจากวัคซีนอยู่ได้นาน ป้องกันการติดเชื้อหรือลดอาการจากการติดเชื้อไวรัสได้ดี ทำให้อาการของโรคไม่รุนแรง ลดการระบาดของไวรัสได้ จึงเป็นที่นิยมใช้ แต่วัคซีนเชื้อเป็นมักมีข้อจำกัดคือห้ามให้ในสัตว์ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันไม่ดี เช่น กลุ่มสัตว์เปราะบางและอ่อนแอ อาทิ ลูกสัตว์อายุน้อย ๆ สัตว์ที่สูงอายุ สัตว์ตั้งท้อง หรือแมวที่ติดเชื้อโดยมีผล FelV/FIV เป็นบวก เป็นต้น เพราะการให้วัคซีนเชื้อเป็นจะทำให้มีอาการข้างเคียงจากการทำวัคซีนได้ เช่น มีไข้ ไม่สบาย ภูมิคุ้มกันถูกกด ทำให้ง่ายต่อการติดเชื้อแทรกซ้อนจากเชื้ออื่น ๆ หรือเกิดการแพ้วัคซีนทำให้คัน เป็นผื่น หน้าบวม หรือเกิดการแพ้รุนแรงชนิด anaphylaxis เนื่องด้วยคุณลักษณะของไวรัสเชื้อเป็นเองที่สามารถก่อโรคหรือ turn virulent ได้ถ้ากระบวนการผลิตไม่เหมาะสม หรืออาจจะเป็นผลจากการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันชนิด innate immune/ adaptive immune responses ที่มากเกินไปต่อเชื้อหรือองค์ประกอบของวัคซีน ทำให้เหนี่ยวนำการสร้าง Interleukin 1 (IL-1), IL-6 และ tumor necrosis factor α (TNF-α) ปริมาณมาก โดย cytokines เหล่านี้จะทำให้สัตว์ไม่อยากอาหาร ซึม มีไข้ อ่อนแรง กระตุ้นการอักเสบเฉพาะที่หรือทั่วร่างกายได้ โดยมากอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะอยู่ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลางประมาณ 1-3 วัน แต่อาจพบมีอาการรุนแรงได้บ้างบางราย อาการข้างเคียงเหล่านี้จึงเป็นข้อควรระวังของการใช้วัคซีนเชื้อเป็น
ในปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ จึงมีการพัฒนาวัคซีนชนิดรีคอมบิแนนที่มีไวรัสเป็นพาหะ ที่สามารถกระตุ้นภูมิทั้งชนิด CMI และ HMI ได้เหมือนวัคซีนชื้อเป็น แต่มีข้อดีคือสามารถใช้ในสัตว์ที่มีภาวะภูมิบกพร่อง หรือสัตว์ที่อ่อนแอได้ เพราะวัคซีนชนิดนี้จะใช้ไวรัสที่ไม่ก่อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นตัวนำส่งแอนติเจน โดยมีหลักการคือ ตัดต่อ DNA ที่สำคัญของเชื้อไวรัสก่อโรคที่ต้องการเข้าไปใน DNA ของไวรัสขนส่งที่ไม่ก่อโรค (viral vector) เพื่อให้ไวรัสขนส่งช่วยผลิตโปรตีนหรือคีย์แอนติเจน (key antigen) ของเชื้อก่อโรคนั้น เมื่อ viral vector เข้าสู่เซลล์จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและก่อโรคในเซลล์โฮสต์ไม่ได้เพราะไม่ใช่โฮสต์แท้ของ viral vector นั้น แต่เนื่องจากคุณสมบัติที่มันมีชีวิตและเข้าสู่เซลล์ได้ทำให้สามารถนำเสนอคีย์แอนติเจนผ่าน MHC Class I ได้และบางส่วนที่ตายอยู่ภายนอกเซลล์จะถูกนำเสนอผ่าน MHC class II ส่งผลให้สามารถกระตุ้นการสร้าง CMI และ HMI ได้ ทำให้ร่างกายสัตว์สร้างภูมิคุ้นกันที่จำเพาะต่อแอนติเจนของเชื้อก่อโรคได้เช่นวัคซีนเชื้อเป็น วัคซีนชนิดนี้มักใช้ canarypox virus เป็น viral vector ซึ่งเป็นไวรัสก่อโรคในสัตว์ปีกแต่ไม่ก่อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทำให้มีความปลอดภัยสูง การกระตุ้นภูมิไม่ถูกรบกวนด้วย maternally derived antibodies (MDA) จึงเป็นที่นิยมและหันมาเลือกใช้มากขึ้นในกลุ่มสัตว์เปราะบาง วัคซีนชนิดรีคอมบิแนนที่มีไวรัสเป็นพาหะ สามารถเริ่มใช้ได้ตั้งแต่ลูกสัตว์อายุ 6-8 สัปดาห์หรือสัตว์สูงอายุได้ ทำให้ช่วยลดความกังวลเรื่องภาวะ immunosuppression ที่เกิดจากการทำวัคซีนเชื้อเป็นบางชนิดได้ อีกทั้งช่วยลดความกังวลเรื่อง FISS ในแมวได้ด้วย การใช้วัคซีนชนิดนี้อาจพบก้อนนูนขนาดเล็กในบริเวณที่ฉีดชั่วคราวได้บ้างบางราย ปัจจุบันจะพบวัคซีนชนิดนี้ในวัคซีนป้องกันไข้หัดสุนัขที่เป็น distemper recombinant canarypox vector (Recombitek® CDV) โดยที่ canarypox virus จะนำเสนอแอนติเจนที่ผิวของไวรัสเป็น HA และ F glycoproteins ของ canine distemper virus เริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์ ในขณะที่แมวจะพบในวัคซีนป้องกันมะเร็งเม็ดเลือดขาว leukemia recombinant canarypox vector (PureVAX® Recombinant FeLV) โดยที่ canarypox virus จะนำเสนอแอนติเจนผิวของไวรัสเป็น env และ gag ของ FeLV subgroup A เริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 8 สัปดาห์ และพบในวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าที่เป็น rabies recombinant canarypox vector (PureVAX® Feline Rabies) โดยที่ canarypox virus จะนำเสนอแอนติเจนผิวของไวรัสเป็น glycoprotein G ของ rabies virus เริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 12 สัปดาห์ ซึ่งวัคซีนรีคอมบิแนนที่กล่าวข้างต้นเหล่านี้มีผล challenge study แล้วว่าหลังฉีดวัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจที่สัตวแพทย์ในประเทศไทยจะหันมาใช้วัคซีนชนิดนี้กันมากขึ้น เนื่องกระตุ้นภูมิแบบจำเพาะได้ดี เน้นเฉพาะการสร้างภูมิคุ้มกันต่อ key antigen หรือ virulent factor ของเชื้อ ทำให้ร่างกายไม่ต้องสร้างภูมิคุ้มกันต่อแอนติเจนอื่น ๆ เกินความจำเป็น ให้ duration of immunity นานไม่ต่ำกว่า 1-3 ปี แต่อย่างไรก็ดีการเลือกใช้วัคซีนชนิดรีคอมบิแนนที่มีไวรัสเป็นพาหะนี้ ควรจะทราบประวัติวัคซีนที่ชัดเจนก่อนเลือกใช้ และไม่ให้ใช้วัคซีนชนิดนี้ในสัตว์ตั้งท้องหรือสัตว์ที่อยู่ระยะให้นม เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาเรื่องความปลอดภัยในสัตว์กลุ่มนี้

เอกสารอ้างอิง

1. Day, M.J. and et al. 2014. WSAVA. Recommendations on vaccination for Asian small animal practitioners: a report of the WSAVA vaccination guidelines group. Journal of Small Animal Practice. 1-19

2. Schultz, R.D. 2006. Duration of immunity for canine and feline vaccines: A review. Veterinary Microbiology 117; 75–79.

3. Aida, V. and et al. 2021. Novel Vaccine Technologies in Veterinary Medicine: A Herald to Human Medicine Vaccines. Frontiers in Veterinary Science; 8: 654289.