สพ.ญ. ดร.ปรารถนา ตัญญะปัญญาชน
โรคลิวคีเมียในแมวนั้นเกิดจากเชื้อเรโทรไวรัส (Retrovirus) ไวรัสชนิดนี้โดยมากติดต่อจากแมวตัวหนึ่งไปสู่แมวอีกตัวหนึ่งผ่านทางสารคัดหลั่งของร่างกาย เช่น น้ำลาย น้ำมูกปัสสาวะ อุจจาระ น้ำนม⁽¹⁾⁽²⁾ ด้วยลักษณะดังกล่าวส่งผลให้ลิวคีเมียนั้นสามารถติดต่อกันระหว่างแมวได้ง่ายมาก จากการสำรวจโดยคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงปี พ.ศ. 2556-2557 พบว่า แมวในจังหวัดกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีความชุกของการเป็นลิวคีเมียสูงถึง 16%⁽³⁾ หากแมวได้รับเชื้อไวรัสชนิดนี้ในช่วงเวลาที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ ไวรัสจะก่อให้เกิดการติดเชื้อในลักษณะ progessive infection ส่งผลให้เกิดอาการป่วยต่าง ๆ เช่น เนื้องอก (แมวที่มีปัญหา progressive infection มีโอกาสเกิดเนื้องอกได้ง่ายกว่าแมวที่แข็งแรงถึง 60 เท่า), ไขกระดูกทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ (ส่งผลให้แมวเกิดภาวะโลหิตจาง, เกล็ดเลือดต่ำ และภูมิคุ้มกันต่ำ), ปัญหาภายในช่องปาก (เช่น เหงือกอักเสบ แผลในช่องปาก) ปัญหาทางคลินิกเหล่านี้ส่งผลให้แมวมีคุณภาพชีวิตต่ำลง อีกทั้งอายุขัยยังสั้นลงอีกด้วย⁽⁴⁾ ดังนั้นแล้วการป้องกันไม่ให้แมวติดเชื้อลิวคีเมียจึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง
ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันลิวคีเมียที่ให้ผลการป้องกันเต็ม 100% แต่ความชุกของโรคลิวคีเมียในแมวนั้นมีแนวโน้มลดลงภายหลังจากการคิดค้นและการผลิตวัคซีน⁽⁵⁾ โดยวัคซีนลิวคีเมียจัดอยู่ในประเภทของวัคซีนหลัก (Core vaccine) ในลูกแมวทีต้องได้รับ⁽⁶⁾ อย่างไรก็ตามก่อนที่สัตวแพทย์จะพิจารณาให้วัคซีนลิวคีเมียแก่แมว สัตวแพทย์พึงระลึกถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1.สุขภาพโดยรวมของแมว: การให้วัคซีนลิวคีเมียแก่แมวนั้นมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นให้แมวสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อลิวคีเมียขึ้น หรือที่เรียกว่า Active immunization ซึ่งกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันนี้อาจเกิดได้ไม่ดีนักในแมวที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง ดังนั้นแล้วสัตวแพทย์ควรหลีกเลี่ยงการทำวัคซีนลิวคีเมียแก่แมวที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพ นอกจากนี้สัตวแพทย์ยังไม่ควรทำวัคซีนลิวคีเมียแก่แมวที่มีปัญหาโรคลิวคีเมียอยู่แล้ว เนื่องจากไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด
2. อายุและลักษณะการใช้ชีวิตของแมว: ตามคำแนะนำของ American Animal Hospital Association (AAHA) และ American Association of Feline Practitioners (AAFP) อายุและลักษณะการใช้ชีวิตของแมวมีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจทำวัคซีนลิวคีเมีย โดย AAHA และ AAFP ระบุว่าในลูกแมวนั้นวัคซีนลิวคีเมียจัดเป็นวัคซีนหลักที่ต้องทำ เนื่องจากลูกแมวมีความเสี่ยงอย่างมากต่อการป่วยด้วยโรคลิวคีเมีย ส่วนแมวที่โตแล้วให้พิจารณาตามลักษณะการใช้ชีวิตของแมวแทน โดยมีรายละเอียดดังนี้
2.1 ลูกแมว: ลูกแมวมักได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่แมว (Maternal derived antibody) จากทางน้ำนมเหลือง (Colostrum)⁽⁷⁾ โดยภูมิคุ้มกันดังกล่าวจะค่อย ๆ ลดลงเมื่อลูกแมวโตขึ้น การให้วัคซีนแก่ลูกแมวที่ยังมีภูมิคุ้มกันจากแม่แมวนั้นมักทำให้การทำวัคซีนไม่ได้ผล เนื่องจากภูมิคุ้มกันจากแม่แมวสามารถรบกวนกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันของลูกแมวเอง โดยพบว่าการให้วัคซีนในช่วงที่ลูกแมวยังมีภูมิคุ้มกันจากแม่แมวอยู่ เป็นสาเหตุสำคัญลำดับต้น ๆ ที่ทำให้การทำวัคซีนไม่ได้ผล โดยทาง AAHA และ AAFP แนะนำให้สัตวแพทย์ทำวัคซีนลิวคีเมียในลูกแมวที่อายุมากกว่า 2 เดือน โดยทำ 2 ครั้ง ห่างกัน 3 – 4 สัปดาห์6⁽⁶⁾
2.2. แมวที่โตแล้ว: หากไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อลิวคีเมียจากแมวอื่นเลย (เช่น เลี้ยงระบบปิดตลอดเวลา) ทาง AAHA และ AAFP จัดให้วัคซีนลิวคีเมียนั้นอยู่ในกลุ่มที่ไม่ใช่วัคซีนหลัก (Non-core vaccine)6 แต่หากแมวมีการเลี้ยงในระบบเปิด ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อลิวคีเมียสัตวแพทย์ก็สามารถพิจารณาให้วัคซีนแก่แมวนั้นได้⁽⁶⁾
3. ชนิดของวัคซีน: ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์วัคซีนที่ช่วยป้องกันลิวคีเมียในแมวอยู่หลัก ๆ 2 ชนิด ดังนี้
3.1. วัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine) เป็นวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อลิวคีเมียที่ตายแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีการเพิ่มจำนวนไวรัสในร่างกายแมว โดยร่างกายมักใช้ระยะเวลาในการสร้างภูมิคุ้มกันประมาณ 2 – 3 สัปดาห์หลังการได้รับวัคซีนอย่างไรก็ตามวัคซีนชนิดเชื้อตายนั้นต้องอาศัย Adjuvant ในการกระตุ้นปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกัน จึงอาจก่อให้เกิดการแพ้ได้ หลังจากลูกแมวได้รับวัคซีนชนิดเชื้อตายตามที่กล่าวไปในข้างต้นแล้ว AAHA และ AAFP ได้มีข้อแนะนำให้สัตวแพทย์ให้วัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิซ้ำในช่วง 1 ปีถัดมา และอาจพิจารณาให้ซ้ำต่อจากนั้นทุกปีในกรณีที่แมวถูกเลี้ยงในระบบเปิด หรือในแมวที่อาศัยร่วมกับแมวที่เป็นโรคลิวคีเมีย สำหรับแมวที่มีโอกาสในการสัมผัสกับแมวอื่นค่อนข้างน้อย สัตวแพทย์อาจพิจารณาให้วัคซีนซ้ำทุก 2 หรือ 3 ปี ก็ได้
3.2. วัคซีนรีคอมบิแนนท์ (Recombinant vaccine) เป็นวัคซีนชนิดใหม่ที่ประกอบไปด้วยสารพันธุกรรมบางส่วนของเชื้อลิวคีเมีย โดยอาศัยเทคนิคพันธุวิศวกรรม โดยวัคซีนรีคอมบิแนนท์มีจุดเด่นคือเป็นวัคซีนที่ปราศจาก Adjuvant ดังนั้นแล้วโอกาสในการแพ้วัคซีนจึงค่อนข้างน้อย นอกจากนี้ร่างกายมักมีกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันที่รวดเร็วอีกด้วย หลังจากลูกแมวได้รับวัคซีนรีคอมบิแนนท์ตามโปรแกรมที่กล่าวไปในข้างต้นแล้ว AAHA และ AAFP ได้แนะนำให้สัตวแพทย์พิจารณาให้วัคซีนซ้ำเพื่อกระตุ้นภูมิในช่วง 1 ปีถัดมาเช่นเดียวกันกับวัคซีนชนิดเชื้อตาย และอาจให้วัคซีนซ้ำทุก 1 ปี หากเป็นแมวที่มีความเสี่ยงในการเจอเชื้อลิวคีเมียจากแมวอื่นสูง
4. ผลอันไม่พึงประสงค์จากการได้รับวัคซีน: เช่นเดียวกับวัคซีนชนิดอื่น สัตวแพทย์ควรอธิบายและสื่อสารกับเจ้าของแมวให้เข้าใจถึงความเสี่ยงของการเกิดผลไม่พึงประสงค์ต่อการได้รับวัคซีนทุกครั้ง โดยผลไม่พึงประสงค์ที่อาจพบได้ในแมวได้แก่ แมวมีอาการอ่อนแรง ความอยากอาหารลดลง มีไข้ แสดงอาการคัน หน้าบวม เป็นต้น นอกจากอาการดังกล่าวแล้ว สัตวแพทย์ และเจ้าของควรร่วมกันเฝ้าระวังเรื่องของการเกิดก้อนเนื้อบริเวณที่แมวได้รับการฉีดวัคซีน โดยอาจอาศัยหลักการอย่างง่ายที่เรียกว่า “3-2-1” ซึ่งมีความหมายดังต่อไปนี้ 3 หมายถึง ก้อนเนื้อดังกล่าวยังคงอยู่ภายหลังจากการได้รับวัคซีนผ่านไป 3 เดือน 2 หมายถึง ก้อนเนื้อดังกล่าวมีขนาดใหญ่กว่า 2 เซนติเมตร และ 1 หมายถึง ขนาดของก้อนเนื้อมีการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆหลังการให้วัคซีนไปแล้ว 1 เดือน หากสัตวแพทย์พบว่าแมวมีก้อนเนื้อในลักษณะ “3-2-1” ดังกล่าว ควรพิจารณาเก็บชิ้นเนื้อ (Incision biopsy) เพื่อไปวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการต่อ ทั้งนี้ไม่แนะนำให้เก็บตัวอย่างด้วยวิธี Fine needle aspiration เนื่องจากอาจทำให้การแปลผลนั้นไม่ถูกต้อง
5. ตำแหน่งการฉีดวัคซีน: ผลไม่พึงประสงค์ประการหนึ่งของการทำวัคซีนคือ Feline injection-site sarcomar ปัจจุบันกลไกในการเหนี่ยวนำให้เกิดมะเร็งดังกล่าวยังไม่ละเอียดนัก ดังนั้นแล้วทาง AAHA และ AAFP จึงแนะนำให้สัตวแพทย์ฉีดวัคซีนบริเวณค่อนไปทางปลายขา หรือบริเวณหางแทนการฉีดวัคซีนบริเวณระหว่างสะบัก (Interscapular area) เนื่องจากหากวัคซีนมีการเหนี่ยวนำให้เกิด Sarcoma สัตวแพทย์จะมีโอกาสผ่าตัดก้อนเนื้อรวมถึงขา หรือหางของแมวออกได้
โรคลิวคีเมียนั้นเป็นโรคที่ติดเชื้อที่พบได้บ่อยในแมว โดยอาจก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสุขภาพที่รุนแรงถึงชีวิตได้ แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีผลิตภัณฑ์วัคซีนลิวคีเมียที่มีประสิทธิภาพสูงถึง 100% แต่การทำวัคซีนลิวคีเมียแก่แมวนั้นมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของการป่วยเป็นลิวคีเมียได้ ดังนั้นแล้ววัคซีนนี้จึงถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับเจ้าของแมว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของแมวที่ไม่ได้เลี้ยงในระบบปิดวนำให้เกิด Sarcoma สัตวแพทย์จะมีโอกาสผ่าตัดก้อนเนื้อรวมถึงขา หรือหางของแมวออกได้

เอกสารอ้างอิง :

1. Pacitti AM, Jarrett O, Hay D. 1986. Transmission of feline leukemia virus in the milk of a nonviraemic cat. Vet Rec 118:381–384.

2. Levy J, Crawford C, Hartmann K, Hofmann-Lehmann R, Little S, Sundahl E, Thayer V. 2008. American Association of Feline Practitioners’ feline retrovirus management guidelines. J Feline Med Surg 10:300–316.

3. Nedumpun T, Piamsomboon P, Chanchaithong P, Taweethavonsawat P, Chungpivat S, Suradhat S. 2015 Prevalence and Distributions of Feline Immunodeficiency Virus and Feline Leukemia Virus Infections in Bangkok and Its Vicinity, Thailand During 2013-2014. Thai J Vet Med 45(3): 449-453.

4. Hartmann K. 2012. Clinical aspects of feline retroviruses: a review. Viruses 4(11): 2684–2710.

5. Levy J, Crawford C, Hartmann K, R Hofmann-Lehmann, S Little, Sundahl E, Thayer V. 2008 American Association of Feline Practitioners Feline Retrovirus Management Guidelines https://catvets.com/public/PDFs/PracticeGuidelines/RetrovirusGLS.pdf

6. Stone AE, Brummet GO, Carozza EM, Kass PH, Petersen EP, Sykes J, Westman ME. 2020 2020 AAHA/AAFP Feline Vaccination Guidelines. J Feline Med Surg. Sep;22(9):813-830.

7. Casal ML, Jezyk PF and Giger U. 1996 Transfer of colostral antibodies from queens to their kittens. Am J Vet Res 57: 1653–1658.